โซลาร์เซลล์: พลังงานไฟฟ้าทางเลือกบนเกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่

บนเกาะอันเงียบสงบที่ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายตามวิถีมุสลิม รายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของผู้คนนอกจากจะมาจากการทำการเกษตรและการประมงแล้ว ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแบบโฮมสเตย์ ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้รักความสงบเงียบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เดิมทีแหล่งพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดบนเกาะถูกส่งผ่านสายเคเบิลใต้น้ำมาจากจังหวัดภูเก็ต แต่มักจะประสบปัญหาไฟฟ้าตก ไฟดับและเกิดเหตุขัดข้องบ่อยครั้งในช่วงฤดูมรสุมเนื่องจากผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งกว่าจะซ่อมแซมจนกลับมาใช้ได้ก็ต้องใช้เวลานานส่งผลต่อการใช้ชีวิตและธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จึงอยู่ในความสนใจของชาวบ้านบนเกาะมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่ได้รับการใช้งานจริงอย่างกว้างขวางนัก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทั้งการติดตั้งและการดูแลรักษา อีกทั้งชาวบ้านยังขาดความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่มั่นใจในการลงทุน  โซลาร์เซลล์

โครงการ Clean Energy , Green Island หรือเรียกสั้นๆว่า “โครงการเกาะพลังงานสะอาด” จึงเกิดขึ้นที่นี่ด้วยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการไฟฟ้าของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ โดยมีสถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการ ตลอดระยะเวลา 15 เดือน(สิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2563) ผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานทางเลือก ออกสำรวจเพื่อคัดเลือกพื้นที่ทำโครงการต้นแบบ จัดทำประชามติแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาข้อสรุปเรื่องในการออกแบบ จนถึงติดตั้งและใช้งานจริง สรุปเป็นบทเรียนผ่านโครงการต้นแบบในรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่าง 3 โครงการ ดังนี้

โซลาร์เซลล์
อาคารแห่งนี้ออกแบบให้พื้นที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดเพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศและสร้างภาวะสบายในการใช้งาน (Thermal Comfort) โดยอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติอย่างลมและแดดเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการใช้พลังงาน
  1. ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาะยาวและพลังงานโซลาร์เซลล์ต้นแบบอาคาร “Zero Energy”
    โจทย์แรกที่สำคัญที่สุดในโครงการนี้คือการจัดทำพื้นที่ต้นแบบเพื่อเป็นใช้เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาข้อมูล ร่วมกันนำเสนอความต้องการและความคิดในการออกแบบอาคาร มีส่วนร่วมในการสร้างและติดตั้ง ตลอดจนช่วยกันดูแลรักษา เริ่มต้นจากทางทีมอาศรมศิลป์ออกได้สำรวจจนค้นพบทำเลยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมคือพื้นที่ว่างตรงข้ามโรงเรียนเกาะยาววิทยาจึงนำโครงการเข้าหารือกับ ดร.ฐิติพร เปกะมล ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น ซึ่งมีโครงการจะสร้างพื้นที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีตเพื่อให้เด็กๆในชุมชนได้ศึกษาความเป็นมาของถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงพัฒนาโครงการร่วมกันเป็น “ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาะยาวและพลังงานโซลาร์เซลล์”อาคารสาธารณะที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว จุดนัดพบ และเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของทุกคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเกาะยาวน้อยผ่านสิ่งของที่จัดแสดงอยู่แล้ว ยังให้ข้อมูลเรื่องพลังงานทางเลือกสร้างภาพลักษณ์เกาะพลังงานสะอาดให้เกาะยาวน้อยอีกด้วย หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องความต้องการชัดเจน ทีมสถาปนิกจากอาศรมศิลป์จึงออกแบบอาคารเป็น 3 ทางเลือกแล้วเปิดโอกาสให้คนในชุมชนซึ่งเป็นผู้ใช้อาคารตัวจริงพิจารณาร่วมกัน โดยทีมสถาปนิกจากอาศรมศิลป์เน้นวิธีการออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานด้วยแนวคิดวิธีธรรมชาติเป็นหลัก (Passive Design)ด้วยการใช้ลมและแดดเพื่อให้เกิดภาวะสบายและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดก่อนติดตั้งพลังงานระบบโซลาร์เซลล์ ทำให้อาคารนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 225 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh)ต่อเดือน ซึ่งใช้แผงโซลาร์เซลล์เพียง 4 กิโลวัตต์ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสหลักเลย
โซลาร์เซลล์
ด้านทิศตะวันออกของอาคารเป็นพื้นที่ที่เปิดมากที่สุดและเป็นมุมเดียวที่จะได้รับแสงอาทิตย์จึงเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ที่โดยออกแบบชายคาของอาคารให้ยื่นยาวเพื่อเป็นการกางร่มให้อาคาร ช่วยลดความร้อนที่มาพร้อมแสงแดด
จัดวางอาคารให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศเพื่อช่วยลดพลังงานความร้อนภายในอาคาร โดยเน้นการเปิดพื้นที่ด้านทิศเหนือซึ่งไม่โดดแดดตลอดทั้งวัน เพราะอยู่ติดกับเนินเขาเพื่อให้ลมพัดผ่านดินเย็นๆก่อนถ่ายเทเข้าสู่อาคาร ทำให้สามารถนั่งพักผ่อนบริเวณนี้ได้แบบสบายๆตลอดทั้งวัน
ด้านหน้าอาคารและด้านข้างอาคารซึ่งเป็นทางเข้าหลักออกแบบโดยใช้ผนังแบบโปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดการสะสมความร้อนและยังสามารถเปิดพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับระเบียงภายนอกในกรณีที่มีผู้ใช้งานอาคารจำนวนมากได้ด้วย
ออกแบบช่องแสงแบบสกายไลต์บนหลังคาเพื่อเปิดรับแสงแดดแล้วติดตั้งฉนวนไว้บนฝ้าเพดานเพื่อช่วยลดความร้อนที่มาพร้อมแสงแดด โดยเว้นฝ้าเพดานบางส่วนให้โปร่งแสงทำให้ภายในอาคารได้รับแสงสว่างเพียงพอสำหรับใช้งานโดยไม่ต้องเปิดไฟ

2. สวนเกษตรต้นแบบพื้นที่เรียนรู้พลังงานสะอาด

 

บ้านสวนฟาร์ม ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชุมชน หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบในโครงการซึ่งนำพลังงานโซลาร์เซลล์เพื่อใช้กับปั๊มน้ำในการเกษตร โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดต้นทุนการใช้พลังงานคน แต่ยังมีพลังงานเหลือเพียงพอสำหรับใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย

อาชีพหลักของคนบนเกาะยาวน้อยคืออาชีพเกษตรกร ซึ่งปัญหาหลักของการเกษตรบนเกาะคือขาดแหล่งน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีทำแหล่งน้ำใต้ดินแล้วใช้ปั๊มน้ำดูดน้ำมาเก็บไว้ในถังน้ำ ก่อนที่จะทำระบบจ่ายน้ำไปสู่พืชในสวนซึ่งทั้งหมดนี้ใช้พลังงานไฟฟ้า และแรงงานคนเป็นหลัก การสร้างพื้นที่เกษตรกรรมต้นแบบเพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้พลังงานทางเลือก จึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญเพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากหากสามารถขยายผลในวงกว้างได้ในอนาคต

หนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ รักผักฟาร์ม ฟาร์มขนาดเล็กบนพื้นที่เพียง 2 งาน ที่แบ่งพื้นที่เพื่อใช้ในการปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ และใช้พื้นที่ด้านหน้าเป็นร้านค้าจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร โดยมินิฟาร์มแห่งนี้ที่เลือกใช้ระบบพลังงานทางเลือกเข้ามาเป็นพลังงานหลัก โดยติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ชนิด poly ขนาด 345 วัตต์ไว้บนหลังคาเล้าไก่ เพื่อจ่ายไฟให้มอเตอร์ปั๊มที่ใช้ดูดน้ำจากถังน้ำใต้ดิน ไฟฟ้าแสงสว่างในเล้าไก่ รวมถึงใช้กับระบบ Smart Farm ซึ่งใช้วัดความชื้นและปั๊มพ่นหมอกเพื่อให้น้ำผักปลอดสารพิษ นอกจากนั้นยังมีพลังงานส่วนที่เหลือเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อกับตู้แช่ผักสดในส่วนร้านค้าได้อีกด้วย

แม้ว่าการใช้ระบบโซลาร์เซลล์กับพื้นที่เกษตรจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นทางเลือกที่เกษตรกรรุ่นใหม่หลายคนให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยลดทั้งต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตได้แล้ว ยังช่วยการใช้พลังงานคนในการทำงานทำให้เกษตรกรได้เวลากลับคืนเพื่อไปทำงานในส่วนอื่น ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในเกาะยาวน้อยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพใดเพียงอาชีพหนึ่ง ซึ่งใน “โครงการเกาะพลังงานสะอาด” ได้มีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านการเกษตรทั้งหมด 4 แห่ง คือ รักผักฟาร์ม, บ้านสวนฟาร์ม ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชุมชน, ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงพรุใน และ ถิ่นเกาะยาวโซลาร์แอนด์ฟาร์ม ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาศึกษาและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยในระหว่างขั้นตอนดำเนินโครงการได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายช่างชุมชนเข้ามาร่วมเรียนรู้และมีส่วนร่วมกับการติดตั้งจริง จนเกิดการรวมตัวและต่อยอดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao เครือข่ายประชาชนที่มีความรู้ด้านโซลาร์เซลล์เที่สามารถให้คำปรึกษา ซ่อมแซม และให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรและคนทั่วไปที่สนใจทั้งในพื้นที่เกาะยาวและบริเวณใกล้เคียง

รักผักฟาร์มพื้นที่ตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานทดแทนในการทำเกษตรกรรม โดยติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานพื้นฐานและใช้ระบบ Smart Farm มาช่วยดูแลการผลิตโดยเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนทำให้สามารถสั่งการได้จากทุกที่

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพรุใน พื้นที่ตัวอย่างในเชื่อมโยงการจัดการสวนที่ผสมผสานแนวความคิดการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง
(โคก หนอง นา โมเดล)โดยใช้วิธีการจัดการสวนแบบธรรมชาติร่วมกับการติดตั้งแผ่นเซลล์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต
เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ตลอดทั้งปี

 

กระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรที่สนใจทำให้เกิดการรวมตัวกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องการทำการเกษตรเป็นวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ถิ่นเกาะยาวโซลาร์แอนด์ฟาร์ม

3. ศาลาคาเฟ่ร้านเล็กคิดใหญ่

คาเฟ่เล็กๆที่ขับเคลื่อนด้วยสมาชิกในครอบครัวของ ประพันธ์ เบ็นอ้าหมาด หรือผู้ใหญ่หยา อดีตผู้ใหญ่บ้านท่าเขาบนเกาะยาวน้อย ซึ่งมีความสนใจเรื่องพลังงานทางเลือกมานานแล้วเมื่อมีโครงการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะเข้ามาหาถึงจึงเข้าร่วมกระบวนการมีส่วนร่วมของโครงการรวมทั้งเสนอพื้นที่เข้าร่วมพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบด้วยทุนของตัวเอง

  “ศาลาคาเฟ่” เป็นจุดแวะพักริมชายหาดบ้านท่าเขาที่เปิดให้บริการอาหารเครื่องดื่มและมีห้องพักอีก13  หลัง โดยปัญหาใหญ่ในการดำเนินกิจการของที่นี่คือการขาดความมั่นคงด้านพลังงานเพราะต้องจ่ายค่าไฟสูงถึงประมาณสองหมื่นกว่าบาทต่อเดือนแถมในช่วงมรสุมยังต้องลุ้นว่าไฟฟ้าอาจจะดับเมื่อไหร่ก็ได้ พลังงานทางเลือกจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาโดยได้รับการสนับสนุนจากทีมสถาปนิก สถาบันอาศรมศิลป์ในการให้คำปรึกษาด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์รวมทั้งการออกแบบปรับปรุงอาคารในกระบวนการออกแบบทีมอาศรมศิลป์เริ่มต้นใช้วิธีการออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานด้วยการปรับปรุงอาคารให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม (Passive Design) ซึ่งปัญหาหลักของที่นี่คือพื้นที่ให้บริการลูกค้ามีอุณหภูมิสูงเกินไปทั้งภายในและภายนอกร้านซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกไม่สบายแล้วยังทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการปรับอากาศค่อนข้างสูง โดยการแก้ปัญหาเริ่มจากพื้นที่ภายนอกที่จากเดิมใช้วัสดุมุงหลังคาโปร่งแสงทั้งหมดเพื่อรับแสงธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปิดรับความร้อนที่มาพร้อมกับแสงกระจายสู่ห้องด้านในที่เป็นห้องแอร์ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก จึงปรับแก้ด้วยการเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาที่โปร่งแสงให้เป็นแบบทึบและต่อชายคาบริเวณด้านหน้าอาคารให้ยื่นยาวออกมามากขึ้นโดยทำเป็นไม้ระแนงแบบโปร่งแล้วติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ไว้ด้านบน ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมแล้วยังเป็นการช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคารทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลงช่วยลดค่าไฟที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วย 

ส่วนพื้นที่ภายในปัญหาหลักเกิดจากบริเวณพื้นที่ครัวที่อยู่ด้านหลังซึ่งมีพื้นที่คับแคบและมีการเปิดช่องสำหรับระบายอากาศน้อยเกินไปเมื่อมีประกอบอาหารทำให้เกิดความร้อนและกลิ่นที่สะสมอยู่ในห้อง  ทุกครั้งที่เปิดประตูเพื่อนำอาหารไปเสิร์ฟทั้งความร้อนและกลิ่นอาหารจะกระจายสู่พื้นที่นั่งของลูกค้าในห้องแอร์ที่อยู่ติดกัน  ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการขยายพื้นที่ครัวออกไปด้านหลังแล้วเปลี่ยนผนังเดิมที่เป็นผนังทึบให้มีความโปร่งมากขึ้น 50% ช่วยในการหมุนเวียนอากาศเพื่อถ่ายเททั้งความร้อนและกลิ่นสู่ภายนอกได้ดีขึ้นทั้งยังเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในห้องครัวทำงานแม่ครัวทำงานได้สะดวกและมีบรรยากาศดีขึ้นอีกด้วย ส่วนการสร้างความยั่งยืนด้านการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี (Passive Design) ทางทีมงานผู้เชี่ยวชาญได้การคำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งและระยะเวลาของจุดคุ้มทุนเพื่อเสนอทางเลือกให้ผู้ใหญ่หยาและครอบครัวพิจารณา โดยในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงอาคารไปเรียบร้อย เหลือเพียงการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ซึ่งรอดำเนินการหลังสถานการณ์โควิด -19

การเลือกใช้วัสดุเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการลดความร้อน โดยเลือกกระเบื้องมุงหลังคาชนิดที่มีการกรุฉนวนกันความร้อน รวมถึงการเปิดช่องโปร่งบริเวณด้านหลังที่ติดกับเนินเขา ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่และมีร่มเงาช่วยให้พื้นที่นั่งบริเวณนี้อากาศถ่ายเทและนั่งพักผ่อนได้สบายมากขึ้น

ภาพเปรียบเทียบมุมด้านหน้าร้านก่อนและหลังจากได้รับการออกแบบเพื่อปรับปรุงการใช้งานจากทีมสถาปนิก อาศรมศิลป์


เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์

โคมไฟ โซล่า โคมไฟโซลาร์เซลล์ ติดตั้งเองได้ ไม่ง้อช่าง
แผงโซลาร์เซลล์ มีกี่แบบ ควรเลือกอย่างไร?
ติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างไรให้คุ้มทุน

  เรื่อง: ดำรง ลี้ไวโรจน์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ