ทําความรู้จัก“Permaculture” วัฒนธรรมใหม่ของโลก ที่แก้ปัญหาปากท้องและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จากปัญหาวิกฤตโควิด-19 และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ความสวยงามและการใช้งานอาจไม่เพียงพอเสียแล้วสําหรับการออกแบบสวนในปัจจุบัน สิ่งสําคัญคือสวนนั้นต้องช่วยให้เรามีชีวิตรอดในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง คําว่า“Permaculture”จึงเริ่มเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างทั่วทั้งโลก ใครที่ยังไม่เคยรู้จักหรือรู้จักเพียงผิวเผิน เรามาเริ่มทําความรู้จักไปพร้อมๆกันเลย

พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนจะส่งเสริมด้านความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการปลูกไม้พื้นถิ่นที่มีอยู่เดิม ปลูกต้นไม้หลายระดับ และไม่ปรับเปลี่ยนลักษณะเดิมของพื้นที่ เช่น การถมหรือขุดดินออกมากจนเกินไป

ที่มาที่ไป

เพอร์มาคัลเจอร์เกิดขึ้นเมื่อราวปีค.ศ.1978 โดยบิลมอลลิสันและ มาซาโนบุ ฟุกุโอกะ ซึ่งต้องการศึกษาหาแนวทางที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อทําการเกษตรแบบยั่งยืน(Permanent Agriculture) ต่อมาจึงได้เกิดความเข้าใจว่า การจะทําการเกษตรรูปแบบนี้จําเป็นต้องทําวิถีชีวิตในทุกด้านให้ยั่งยืนด้วย แนวคิดดังกล่าวเริ่มแพร่หลายไปจนเป็นที่ยอมรับและศึกษาต่อไปในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตก หากจะสรุปสั้นๆ เพอร์มาคัลเจอร์คือการทําเกษตรกรรมผสมผสานรูปแบบหนึ่งที่คนไทยก็คุ้นเคย ขนานไปกับวิถีชีวิตที่เป็นการรวมศาสตร์ในด้านต่างๆมาใช้ออกแบบวัฒนธรรมในทุกด้านของการดํารงชีวิตประจําวัน เพื่อผลิตอาหารและพลังงานให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล พร้อมรับมือสู่อนาคตที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนและปัญหาพลังงานที่ลดลงไปในทุกวัน จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ของวิถีชีวิตแบบเพอร์มาคัลเจอร์ไม่มีหลักตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม สถานการณ์หรือความเหมาะสม เราได้รวบรวมไอเดียที่น่าสนใจของวัฒนธรรมสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์ที่สามารถประยุกต์ใช้กับสวนที่บ้านคุณได้ไม่ยาก ดังนี้

พื้นที่สําหรับปลูกผักลาดเอียงไปทางบ่อน้ํา จึงออกแบบแปลงผักให้โค้งเอียงขวางทางน้ํา เพื่อชะลอความแรงของน้ําไม่ให้ชะล้างแร่ธาตุบริเวณหน้าดินและให้ต้นไม้ได้ดูดซับน้ําที่ไหลผ่านไปด้วยในตัว
บริเวณที่คนอยู่อาศัยออกแบบให้มีแปลงผักสวนครัว ถัดไปคือทุ่งนา ตามความถี่ในการออกไปเก็บผลผลิตและดูแลความเรียบร้อยได้อย่างทั่วถึง โดยบริเวณที่อยู่ไม่ไกลจากที่ที่มีคนอยู่อาศัย ก็ช่วยป้องกันไม่ให้นกลงมากินผลผลิต

ลําดับการวางผังสวน

การวางผังหรือแบ่งสัดส่วนภายในสวนเป็นหัวใจสําคัญของการทําสวนแบบเพอร์มาคัลเจอร์รูปแบบที่นิยมทํากันจะเริ่มจากการเลือกบริเวณที่ตั้งของบ้านที่อยู่อาศัยให้อยู่ตรงกลาง มีทางเข้า-ออกที่เชื่อมกับพื้นที่สาธารณะได้สะดวก ก่อนกําหนดโซนอื่นๆให้แผ่ออกเป็นรัศมีวงล้อมขยายซ้อนออกไปเรื่อยๆ โดยแต่ละลําดับของชั้นต่างๆ ด้านที่อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยคือการทําเกษตรที่ต้องการการดูแลหรือนํามาใช้ประโยชน์มากที่สุด เช่น ผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ขณะที่วงนอกสุดออกแบบให้มีลักษณะเป็นสวนป่าเพื่อรักษาและสร้างความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศเดิมหรือสวนป่าที่อยู่รอบๆ ทําให้สิ่งมีชีวิตสามารถใช้พื้นที่ในบริเวณนี้แบบเชื่อมถึงกันได้

การวางผังในลักษณะนี้นอกจากจะง่ายต่อการจัดการดูแลสวนที่ใช้พลังงานน้อยลงแล้ว ยังสอดคล้องกับการวางระบบอื่นๆ ทั้งการระบายน้ํา ให้แสงสว่าง และสาธารณูปโภค ซึ่งในโซนต่างๆที่มีกิจกรรมที่สามารถผลิตปัจจัย4ในการดํารงชีวิตได้ ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เพื่อใช้ทําอาหาร ต้นไม้ที่มีใยหรือสีสําหรับทําเครื่องนุ่งห่ม ไม้หรือดินสําหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัย และสมุนไพรสําหรับเป็นยารักษาโรค สร้างวงจรทรัพยากรที่เลียนแบบธรรมชาติ เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรกันในพื้นที่

ลําธารที่ขุดสําหรับรับน้ําฝนที่ระบายบนพื้นผิว ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่และต้นไม้ขนาดอื่นๆได้ดูดซับความชุ่มชื้นโดยไม่ต้องรดน้ํา ขณะเดียวกันก็ช่วยให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้อยู่อาศัยและหากินเหมือนในธรรมชาติ

ป่าอาหาร

บางครั้งการทําเกษตรกรรมก็เป็นการทําลายทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทําลายความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มสารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ผิดแปลกไปจากในธรรมชาติ ไม่นับการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่นที่ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบจัดวางพรรณไม้และรูปแบบการปลูกให้มีความใกล้เคียงกับในธรรมชาติให้มากที่สุดโดยเฉพาะบริเวณขอบเขตรอบที่ดินซึ่งมีหลักการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดร่วมกัน เพื่อให้รากต้นไม้สามารถยึดเหนี่ยวกันทั้งแนวดิ่งและแนวแผ่เพิ่มประสิทธิภาพของการยึดดิน เพิ่มสารอาหารในดิน ขณะเดียวกันเราก็สามารถเก็บผลผลิตและใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นในขนาดพื้นที่ที่ไม่ต้องใหญ่มากนัก โดยมีแนวทางในการปลูกต้นไม้ 7 ระดับในสวน ดังนี้

ไม้เรือนยอด เป็นต้นไม้อายุยืนขนาดใหญ่สามารถนําไปใช้ทําเครื่องเรือนหรือผลิตอาหารและยารักษาโรคได้ เช่น ยางนา มะค่า สัก สะตอ เหลียง พะยูง มะพร้าว หมากสง

ไม้ผล ไม้ยืนต้นระดับกลางที่ให้ผลผลิตสําหรับเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล และใช้ไม้ทําเป็นเชื้อเพลิงหรือเครื่องเรือนที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมาก เช่น ขนุน ทุเรียน ลําไย กล้วย มะละกอ ไผ่ มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่

ไม้พุ่ม ส่วนมากจะเป็นไม้พุ่มที่สามารถนํามาใช้เป็นอาหารหรือยาสมุนไพรได้ สามารถปลูกแทรกสลับกันไปกับต้นไม้ใหญ่ได้ เช่น มะนาว ตะลิงปลิง ชุมเห็ดเทศ ชะอม

ไม้ล้มลุก พวกผักชนิดต่างๆและไม้ดอกที่มีอายุสั้น โดยเป็นที่อยู่อาศัยและล่อแมลงขนาดเล็กให้มาอยู่อาศัยแทนการกัดกินผลผลิต ซึ่งแต่ละชนิดก็สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้ต่างกัน เช่น โหระพา พริก กะเพรา คราม ดาวเรือง

ไม้หัว ใช้เป็นอาหารบริโภคหัวและสมุนไพร บางชนิดมีช่วงพักตัว เปิดโอกาสให้ต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นแทรกได้ เช่น ขิง ข่า กระชาย ตะไคร้ว่านหลายชนิด มันเทศ หัวไช้เท้า

ไม้คลุมดิน เป็นอาหาร สมุนไพร และสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน เช่น บัวบก อ่อม พลู ผักเป็ดเขียว ผักเป็ดแดง ขาไก่

ไม้เลื้อย สามารถปลูกแซมให้เกาะเกี่ยวต้นไม้ระดับอื่นได้ง่ายโดยใช้พื้นที่ไม่มาก เพื่อเก็บผลผลิตและความสวยงาม เช่น พริกไทย ตําลึง มะระ ถั่วชนิดต่างๆ

นอกจากนี้ยังควรรักษาพวกต้นไม้อิงอาศัย ทั้งกล้วยไม้ เฟินบางชนิด และมอสส์ที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือนํามาเพาะปลูกเพื่อรักษาและสร้างคุณค่าจากความหลากหลายทางระบบนิเวศของสวนแห่งนี้

แปลงผักที่เพิ่งอนุบาลเพาะกล้า ชอบแสงแดดรําไร สามารถทําซุ้มสําหรับปลูกผักซึ่งเป็นไม้เลื้อยอย่างตําลึงคลุมเพื่อพรางแสงให้ผักด้านล่าง ทําให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในการใช้ประโยชน์พื้นที่ขนาดเท่าเดิม
มะระ หนึ่งในผักสวนครัวและสมุนไพรที่นิยมนํามาทําอาหาร สามารถปลูกให้เลื้อยขึ้นไปยังไม้พุ่มขนาดใหญ่ไปจนถึงไม้ยืนต้นขนาดอื่นๆ เมื่อให้ผลผลิตแล้วก็จะตายไปเอง ไม่เป็นภาระแก่ต้นไม้ที่ยึดเกาะมากนัก
เมื่อมีความชื้นที่เหมาะสมก็จะเกิดมอสส์ขึ้นในธรรมชาติ ซึ่งทําหน้าที่คล้ายฟองน้ําช่วยดูดซับความชุ่มชื้นและเก็บกักน้ําไว้ในดินได้มากยิ่งขึ้น จึงควรเก็บรักษาเอาไว้