งานดีไซน์ยั่งยืนจาก SUSTAINABLE DESIGN EXHIBITION

งานดีไซน์ยั่งยืนจาก Sustainable Design Exhibition สีสันส่วนหนึ่งในงาน Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX)

“Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX)” มหกรรมร้านค้าและงานจัดแสดงนวัตกรรมและแนวคิดเรื่องความยั่งยืนโดยกลุ่มความร่วมมือหลักจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (มหาชน) จัดขึ้นครั้งแรกภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) ระหว่างวันที่ 1-4 ตุลาคม 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์

หนึ่งในนิทรรศการที่น่าสนใจในงานนี้ คือ Sustainable Design Exhibition Curated by บ้านและสวน / room” ซึ่งได้รวบรวมกว่า 40 ชิ้นงานออกแบบจากแบรนด์และดีไซเนอร์ทั่วประเทศ จัดแสดงเป็นนิทรรศการที่ครอบคลุมเรื่องการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ภูมิปัญญาชาวบ้าน งานหัตถกรรมพื้นถิ่น ไปจนถึงนวัตกรรมที่ช่วยเปลี่ยนวัสดุไร้ค่ากลับมาสร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ โดยทั้งหมดจะคัดเลือกให้สอดคล้องไป 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ Sustainable Development Goals: SDGs ที่แบ่งกลุ่มเพื่อความชัดเจนขึ้นออกเป็น 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่

  • People งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน
  • Prosperity งานออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
  • Planet งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
  • Peace งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมเรื่องสันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม
  • Partnership งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือของนักออกแบบ องค์กร หรือชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 ชิ้นที่ถูกยกมาให้ชมจริงภายในงาน ทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและแนวคิดดีๆ ด้านความยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่ในด้านสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นเคย แต่รวมถึงด้านคุณภาพชีวิตและด้านสังคมที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน

PLANKTON COLLECTIVES

นักวิจัยและนักออกแบบ รวมตัวกันเปลี่ยนขยะและเศษวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม กระตุ้นจิตสำนึกในการแก้ปัญหาขยะอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อสุขภาพโลกและชีวิตผู้คน

ออกแบบ: วิลาศินี จอนเจิดสิน และมนัสนิสภ์ ศีระจงดี ร่วมด้วย ผศ. ดร.อนินท์ มีมนต์ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และผศ.ดร.สุมนมานย์ เนียมหลาง จากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
แบรนด์: Plankton Collectives

โทร.088-641-9299, 090-908-5566
FB & IG: @plankton.collectives
อีเมล: [email protected]

BOPE’S ART INSTALLATION

งานศิลปะจัดวางจากแผ่นพลาสติกรีไซเคิ่ล 100% ที่ผ่านกระบวนการบดย่อยและหลอมขยะและเศษพลาสติก จนเกิดสีสันและลวดลายที่แตกต่างกันไปตามสีของวัตถุดิบเดิม นอกจากผลงานชิ้นนี้ ผลิตภัณฑ์จาก BOPE ยังรวมไปถึงจานรองแก้ว กระเบื้อง กระเป๋า แจกัน และเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนการจัดเวิร์กช็อปสอนทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิ่ลอีกด้วย

ออกแบบ: ศุภฤกษ์ ทาราศรี / เปมิกา สุตีคา
แบรนด์: BOPE (โบเป)
โทร.089-890-8473
IG: bope_bopeshop
FB: @bopeshopcm
อีเมล: [email protected]

UNDER COVERCOLLECTION

คอลเล็กชั่นที่นำแนวคิดการลดขยะ รวมถึงเรื่องราวของช่างก่ออิฐ ฉาบปูน คนงานในไซต์ก่อสร้างผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของสถาปัตยกรรมในภาพจบ มาสะท้อนให้เห็นคุณค่า ผ่านการนำถุงปูนค้างสต๊อกที่ยังไม่ได้ใช้งาน และรอการทำลายมาออกแบบเป็นเสื้อผ้า และแอ็คเซสซอรีส์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่มีความทนทานและกันความชื้นให้สามารถใช้งานได้จริง

ออกแบบ: RENIM PROJECT ร่วมกับ ปูนตราเสือ
แบรนด์: RENIM PROJECT
โทร.087-563-5309
FB: @renimproject
เว็บไซต์: www.renimproject.com

SAN-PAD

กระเป๋าถือที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสานพัดไม้ไผ่ นำเทคนิคการสานพัดซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์กับการสานผืนผ้าจากกางเกงยีนส์มือสองจำนวน 5 ตัว สานร่วมกับถุงปูนซีเมนต์เหลือใช้ที่รอการทำลาย เป็นการยืดวงจรชีวิตวัสดุที่ตอบโจทย์แนวคิด zero-waste เพื่อช่วยลดขยะให้กับโลก

แบรนด์: RENIM PROJECT
โทร.087-563-5309
FB: @renimproject
เว็บไซต์: www.renimproject.com

CORAIL / FEVRIER / CHARL / CHARLOTTE

คอลเล็กชั่นกระถางต้นไม้ ภาชนะใส่ของอเนกประสงค์ และแจกันสำหรับการตกแต่งบ้าน ที่ผลิตจากกระบวนการพิมพ์สามมิติ หรือ 3D Printing ซึ่งประหยัดพลังงานและไม่ก่อมลพิษในขั้นตอนผลิต โดยใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติกชีวภาพประเภท PLA (Polylactic Acid) ซึ่งมีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพด และชานอ้อย ซึ่งไม่มีส่วนผสมจากปิโตรเลียมเหมือนพลาสติกทั่วไป ทั้งยังสามารถนำกลับมารีไซเคิ่ลได้ 100%

แบรนด์: GALLOEUR
โทร. 080-770-5722
IG: galloeur
FB: @Galloeur
เว็บไซต์: http://galloeur.wixsite.com/homedecor

HUSK OBJECT

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมจากเปลือกข้าว อันเกิดจากกระบวนการผลิตข้าวที่ทำให้เกิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในปริมาณมาก SONITE จึงพัฒนากรรมวิธีรีไซเคิ่ลเปลือกข้าวให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งย่อยสลายง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยในการใช้งาน นอกเหนือจากเปลือกข้าวยังมีการนำเส้นใยมะพร้าว จนถึงขยะพลาสติกในทะเล มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย

แบรนด์: SONITE DECOR
โทร. 081-838-7912
FB: @Sonitedecor
เว็บไซต์: www.sonitesurfaces.com

ARTWORK TOMii และ KAMii

กระเป๋าสะพายและกระเป๋าคลัชสำหรับ MacBook ขนาด 13 นิ้ว ผ้าสักหลาด (Felt) ทำจากเส้นใยรีไซเคิ่ลจากขวดพลาสติก 100% ซึ่งสามารถนำกลับไปรีไซเคิ่ลอีกได้ สายหูหิ้วและสายสะพายเป็นวัสดุหนังไมโครไฟเบอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้หนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award 2020 จากไต้หวัน

ออกแบบ: สิริวรรณ ชิวารักษ์
แบรนด์: ARTWORK
โทร.098-936-2663
IG: artworkbypom
FB: @loveartwork
เว็บไซต์: https://artworklabbkk.com/

AQOUSTIQO

Eco Felt Acoustic Modular Panel หรือแผ่นซับเสียง ขนาด 50 x 50 ซม. หนา 1.5 ซม. ผลิตจากเส้นใยรีไซเคิ่ลจากขวดพลาสติก 100% สามารถนำแต่ละพาเนลมาเสียบต่อกันเป็นฉากกั้นพื้นที่ชั่วคราว ถอดเก็บง่าย หรือใช้ติดผนังเพื่อลดเสียงรบกวนและเสียงสะท้อน [มีค่าการดูดซับเสียง NRC (Noise Reduction Coefficient) = 0.45] มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ มีน้ำหนักเบา ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล Golden Pin Design Award 2020 จากไต้หวัน

ออกแบบ: สิริวรรณ ชิวารักษ์
แบรนด์: ARTWORK
โทร.098-936-2663
IG: artworkbypom
FB: @loveartwork
เว็บไซต์: https://artworklabbkk.com/

ROCK SCULPTURE / RIPPLE Collection

แจกันกึ่งประติมากรรมจากดินกระดาษ ที่ผลิตจากเศษกระดาษใช้แล้วชนิดต่าง ๆ รวมถึงฉลากเครื่องดื่ม แปรสภาพเป็นวัสดุใหม่ที่มีความทนทาน ใช้งานได้จริง ริ้วลายที่สวยงามเหมือนหินแร่ธรรมชาติบนพื้นผิวของแจกันเกิดจากกระดาษชนิดที่ต่างกัน พร้อมเติมแต่งด้วยลวดลายที่คงความเป็นไทย

ออกแบบ: วิทยา ชัยมงคล
แบรนด์: 103PAPER
โทร. 063-635-9905
FB: @103paper
เว็บไซต์: /www.103paper.com/

ARMSHARE

เก้าอี้แห่งการแบ่งปันที่เกิดจากการนำผ้าทอมือซาโอริ ซึ่งเป็นกิจกรรมศิลปะบำบัดของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและพิการซ้ำซ้อน จากโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ มาบุกับพนักไม้กลึงชิ้นใหญ่สำหรับพักแขนและเบาะที่นั่ง ผ้าทอแต่ละผืนเกิดจากจินตนาการไร้ขีดจำกัดของเด็ก ๆ จึงมีลวดลายและสีสันเพียงหนึ่งเดียวในโลก เป็นหนึ่งในแนวคิดการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอซาโอริ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับเยาวชนในระยะยาว

ออกแบบ: Armadillo Team และ ธิติปวินท์ ทัศน์ชัยคมน์
แบรนด์: THITIPAWIN
โทร. 088-854-2265
IG: thitipawin_brand
FB: @Thitipawin

JOURNEY LAMP / CRAFTSMANSHIP COLLECTION

โคมไฟรางวัล DEmark Award 2020 ประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ และ PM Award ปีล่าสุด ที่ออกแบบระบบเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อเลือกประกอบได้ตามต้องการ แต่ละชิ้นสามารถเลือกงานหัตถกรรมสำหรับเล่าเรื่องราวให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์การตกแต่งได้อีกด้วย อาทิ เลือกชิ้นฐานเป็นงานจักสานจากภาคกลาง คู่กับเลือกเฉดโคมไฟเป็นงานจักสานจากภาคอีสาน ซึ่งแนวคิดและกระบวนการนี้จึงสามารถกระจายการผลิตสู่ชุมชนได้หลากหลาย ปรับแบบให้เข้ากับผู้ใช้งานได้จากการคัดสรรและประสานงานในเครือข่ายผู้ผลิต พร้อมขยายดีไซน์เป็นทั้งโคมไฟตั้งโต๊ะและแขวนเพดานต่อไป

ออกแบบ: Salt and Pepper
แบรนด์: Brezza Dee
โทร. 081-825-9254
FB: @BrezzaDee
อีเมล:[email protected]
เว็บไซต์: www.brezzadee.com

KUPREE

ต่อยอดมาจากม้านั่ง Kupree ดีไซน์ดั้งเดิมที่มีการออกแบบข้อต่อเหล็กเพื่อเชื่อมระหว่างท็อปกับขา ลดทอนขั้นตอนการเข้าไม้เพื่อให้ง่ายต่อการการจัดการโดยยังคงมาตราฐานและความแข็งแรงไว้ โดยใช้ไม้เก่ามาทำเป็นชิ้นงาน ต่อมาคุณศุภพงศ์ สอนสังข์ ได้นำเสนอแนวคิดการปลูกป่าขึ้นมาเพื่อนำไม้มาใช้งานเอง จึงได้นำไม้กระถินเทพา ซึ่งปลูกเองมาเป็นทางล์อกให้กับผู้บริโภค โดยปัจจุบันทาง Jird Design Gallery ได้มีการปลูกป่าไปแล้วกว่า 70 ไร่ เพื่อเตรียมมาใช้งานในอนาคต

ออกแบบ: ศุภพงศ์ สอนสังข์
แบรนด์: Jird Design Gallery
โทร. 086 303 6200
FB: @jirddesign
[email protected]

บักเฟือง

วัตถุดิบสาดจากอีสานฝีมือชุมชนจังหวัดขอนแก่นถูกถ่ายทอดเป็นสีสดใสจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สนุกสนาน รื่นเริง เสื่อกกหรือสาดถูกผลิตขึ้นอย่างแพร่หลายจากทรัพยากรที่สามารถจัดหาได้ในท้องถิ่นสร้างให้เกิดการจ้างงานในชุมชน บนพื้นฐาน Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเพิ่มมูลค่าจากการปรับเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นวัสดุหุ้มเบาะที่ให้ผิวสัมผัสที่แตกต่างและคงทน ออกแบบทำให้สามารถใช้เสื่อทอมือที่มีหน้าไม่กว้างนำมาผลิตเป็นที่นั่งได้โดยให้เหลือเศษน้อยที่สุด ในรูปฟอร์มที่เชื่อมโยงมาจากอาหารขึ้นชื่อ ยำบักเฟียง หรือ ยำมะเฟือง

ออกแบบ: รัฐ เปลี่ยนสุข
แบรนด์: Sumphat Gallery
โทร. 081-171-2553
FB: @sumphatgallery
IG: sumphat_gallery
เว็บไซต์: www.sumphat.com
อีเมล: [email protected]

NEW NORMAL T-SHIRT

การอยู่กับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องเผชิญหน้ากับโควิด 19 อย่างเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในปี 2020 Osisu จับมือกับ moreloop ผลิตเสื้อยืด Upcycled จากผ้าฝ้ายส่วนเกิน เกรด A “Pima Cotton” เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นงานออกแบบที่ช่วยสร้างรอยยิ้มในวิกฤตครั้งนี้

ออกแบบ: ดร. สิงห์ อินทรชูโต
แบรนด์: Osisu
โทร. 02 149 7222
FB: @osisu
เว็บไซต์: www.osisu.com
อีเมล:[email protected]

THE ASPEN TREE ASSISTANCE TABLEWARE

ชุดรับประทานอาหารที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ จากงานวิจัยและทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ RISC ช้อนบรรจุอาหารได้ไม่เกิน 5 มิลลิลิตรเพื่อป้องกันการสำลัก มีการโค้งงอเข้าหาตัวเพื่อลดการเหยียดของไหล่ สะบัก และข้อศอก ส่วนจานมีองศาลาดเอียงที่ก้นจานเพื่อช่วยในการตัก และแก้วน้ำที่มีสัดส่วนที่ทำให้ยกได้ง่าย ได้มีการส่งมอบให้ชุดทานอาหารนี้เป็นจำนวน 4,000 ชุด ให้แก่สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

ออกแบบ: ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ และดร.สิงห์ อินทรชูโต
แบรนด์: RISC
โทร. 02-012-4555
FB: @riscwellbeing
เว็บไซต์: www.risc.in.th
อีเมล: [email protected]

RUSH CHAIR

จากแนวคิดที่ต้องการให้ทุกคนสามารถทำเก้าอี้ได้ด้วยตัวเอง เปลี่ยนคุณค่าจากมูลค่าของวัสดุ มาเป็นคุณค่าจากการลงมือทำ ซึ่งสามารถนำไม้ง่ายๆ อาทิ ท่อนไม้ยูคาลิปตัสจากร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป หรือแม้แต่กิ่งไม้จากการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่โดยไม่ต้องตัดทั้งต้นก็ยังได้ เป็นการเคารพต่อทรัพยากรที่มีและใช้งานรอบตัว ไม้นำมาเผาเพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับกิ่งไม้สด มีการเข้าเดือยแบบไม่ยาก เบาะสามารถถักสานได้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดเป็น open source ทางออนไลน์ที่สอนการทำเก้าอี้แบบนี้ให้ทุกคนได้เรียนรู้

ออกแบบ: ปิติ อัมระรงค์ และจุฑามาศ บูรณะเจตน์
แบรนด์: o-d-a
เว็บไซต์: www.objectdesignalliance.com
โทร. 081-712-9998, 081-629-7299
อีเมล: [email protected]

SRISANGDAO RICE

บรรจุภัณฑ์ข้าวที่ผลิตจากแกลบเหลือใช้จากโรงงานผลิต ขึ้นรูปเป็นเมล็ดข้าวเพื่อสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์ภายในอย่างเด่นชัด ภายในเป็นข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้คุณภาพดีปลูกแบบวิถีธรรมชาติ บรรจุอยู่ภายในกระสอบข้าวพร้อมพิมพ์ข้อมูลล็อตการผลิตอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ตัวกล่องบรรจุภัณฑ์ยังสามารถแปลงใช้เป็นที่ใส่กระดาษทิชชู่ได้อีกด้วย

ออกแบบ: สมชนะ กังวารจิตต์
แบรนด์: Prompt Design
โทร. 02-946-6980
FB: @promptdesign
IG: promptdesign
เว็บไซต์: www.prompt-design.com
อีเมล: [email protected]

WHIP CREAM LOUNGE CHAIR

Least Studio เริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์จากแผ่นยางรองตัดนำมาผลิตเป็นกระเป๋าใส่ของ ได้พัฒนาสูตรยางพาราที่จะมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหายางพารามีราคาตกต่ำ พร้อมหาหนทางว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้ยางพาราในปริมาณที่มากขึ้นในสเกลของตนเอง อาร์มแชร์และสตูลคอลเล็กชั่นนี้เกิดจากการร่วมมือกับ Filobula โดยนำแบบเดิมมาผลิตเพื่อประกวดในรายการธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อสังคม Win Win War Season 2 และค้นพบว่ายางพาราที่ใช้หุ้มมีคุณสมบัติทนทานต่อรอยขีดข่วน เหมาะกับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ภายในบ้าน

ออกแบบ: Filobula
แบรนด์: Least x Filobula
โทร. 084-134-1432
FB: @Leaststudio, @Filobula
IG: Leaststudio, filobula_offical
เว็บไซต์: www.leaststudio.com,
อีเมล: management @leaststudio.com, [email protected]

SIAM BOOKSHELF

ชั้นวางหนังสือรางวัล DEmark 2020 กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ขนาดกว้าง 1,790 มม. ลึก 300 มม. สูง 1,200 มม. จากความร่วมมือของ “มูนเลอร์” และ “สยามศิลาดล” นำ “ไม้จามจุรี” และ “ศิลาดล” มาสร้างคุณค่าใหม่ผ่านงานหัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่สะท้อนความเป็นไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ชั้นวางออกแบบให้สามารถโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่คั่นหนังสือและแจกันศิลาดลได้ตามการใช้งาน หรือความชื่นชอบ โดยช่องที่เจาะไว้ของแต่ชั้นได้รับการออกแบบให้มีสัดส่วน ความลึก และความสูงในขนาดที่พอดีกันช่วยให้ชั้นวางไม่ล้ม

ออกแบบ: รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ
แบรนด์: MOONLER COLLECTION CO., LTD.
โทร. 096-556-3978
FB: https://www.facebook.com/moonler.furniture/
เว็บไซต์: https://www.moonler.com
อีเมล: [email protected]

LISU COLLECTION

คอลเลคชั่นเก้าอี้ หมอนอิง เบาะรองนั่ง และกระบุงสำหรับใส่ของ ที่ THINKK STUDIO นำความประทับใจในศิลปะการเย็บผ้าปะติดของชนเผ่าลีซอที่ได้รับการสืบสานมาจากรุ่นสุ่น มาเป็นเอกลักษณ์ในการออกแบบ โดยใช้เทคนิคการตัดผ้าที่มีสีสันสดใสเป็นริ้วเล็ก ๆ แล้วนํามาเย็บติดกันขึ้นเป็นรูปร่าง และลวดลายต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนาน รื่นเริง เพื่อให้ของแต่งบ้านเหล่านี้สามารถเพิ่มสีสันให้บ้านมีความสดใส เหมือนมีงานเทศกาลรื่นเริงในทุก ๆ วัน

ออกแบบ: THINKK STUDIO
แบรนด์: ICONCRAFT x THINGG
FB: https://www.facebook.com/ICONCRAFTTHAILAND/
อีเมล: [email protected]

LOVE SEAT

โซฟาคู่รัก ที่ ศรัณย์ เย็นปัญญา นำผ้าทอกระเหรี่ยงที่ดูเหมือนพยายามจะทำให้ทุก ๆ Stripe เป็นแถวตรงแบบงานอุตสาหกรรม หากแต่เป็น “หัตอุตสาหกรรม” ของพี่น้องชาวกระเหรี่ยงทางภาคเหนือ ศรัณย์ จึงนำความไม่แน่ใจด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งเขามองว่ามันคือผ้าทอที่เข้าได้กับทุกมุมของบ้าน ตั้งแต่เป็นโซฟาในห้องนั่งเล่น ไปจนถึงโซฟาพักผ่อนสักมุมใดมุมหนึ่งในห้องนอน จึงได้ถูกออกแบบคู่กับผ้าทอกระเหรี่ยงเพื่อวัตถุประสงค์ในการนั่งอย่างตั้งใจ

ออกแบบ: 56thStudio
แบรนด์: ICONCRAFT x 56thStudio
FB: https://www.facebook.com/ICONCRAFTTHAILAND/
อีเมล: [email protected]

PABAJA

คอลเล็กชั่นเก้าอี้และม้านั่งสามขาที่สะท้อนเอกลักษณ์ของ Pabaja Studio ในการผสานงานคราฟต์ ศิลปะ และการวาดภาพทีละเส้นทีละจุดจนเกิดลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความงามของธรรมชาติรอบตัว พิมพ์ลงผ้าซาตินบุบนเบาะรองนั่ง ตัดครึ่งกับผ้าไหมแต้มหมี่ทอมือจากชุมชนบ้านหัวฝาย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ออกแบบ: Pabaja Studio
แบรนด์: ICONCRAFT x Pabaja Studio
FB: https://www.facebook.com/ICONCRAFTTHAILAND/
อีเมล: [email protected]

NOODLE STOOL

ภาพจำใหม่ของเก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว ที่ยกระดับจากเก้าอี้ข้างถนนทั่วไป ศรัณย์ เย็นปัญญา นำมันมาหุ้มเบาะด้วยผ้าทอจากฝีมือชนเผ่าอาข่า ราหู่ และลีซอ ปรับ ขยับ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าชนเผ่า เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่นอกเหนือจากการเป็นของฝากทั่วไปที่เห็นกันจนชินตา

ออกแบบ: 56thStudio
แบรนด์: ICONCRAFT x 56thStudio
FB: https://www.facebook.com/ICONCRAFTTHAILAND/
อีเมล: [email protected]

SIDE TABLE – SERIES

โต๊ะข้างที่เป็น Collaboration project ระหว่างแบรนด์ MANY GO ROUND ที่มีจุดแข็งเรื่อง Prefabricated model ถอดประกอบง่าย และมีรูปทรงเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน กับแบรนด์ SAAN THORR ที่ต่อยอดมาจากแบรนด์ THORR ที่นำกก วัสดุจากงานจักสานลวดลายกราฟฟิคขี้เล่น มาเติมลงไปคู่กับความโดดเด่นของสีสัน ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับการใช้งาน และที่วางได้ในพื้นที่จำกัด

ออกแบบ: SAAN THORR x MANY GO ROUND
แบรนด์: SAAN THORR
โทร. 096-810-2070
FB: SAAN THORR
เว็บไซต์: www.thorrliving.com

ปิ่นโตจักสาน

ปิ่นโตจักสาน ที่นำภาพจำของการหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียนในวัยเด็ก มาตั้งคำถามกับความสะดวกในมิติต่างๆ ของการออกแบบ ทั้งการใช้วัสดุที่สะดวกต่อการเสาะหา และสะดวกต่อการผลิต ผลงานชิ้นนี้ริเริ่มด้วยการใช้วัสดุไม้ไผ่จากแหล่งผลิตในแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีทักษะฝีมือการสานที่สืบทอดมาตั้งแต่เด็ก จึงสอดคล้องกับผลงานปิ่นโตที่ทำจากการสานไม้ไผ่ ที่สะดวกต่อการพกพา และช่วยจัดเก็บอาหารให้เป็นระเบียบ

ออกแบบ: พิบูลย์ อมรจิรพร
แบรนด์: Plural designs
โทร. 081-833-4566
FB: https://www.facebook.com/pluraldesigns/
เว็บไซต์: www.pluraldesigns.net
อีเมล: [email protected]

RAY PLANTER

กระถางต้นไม้รางวัล DEmark 2020 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล ที่ผลิตจากพลาสติก PE คุณภาพสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทนแดด และยังสามารถผลิตจากพลาสติกเหลือใช้ หรือขยะพลาสติกตามแนวคิด Circular economy ออกแบบสามารถนำต้นไม้พร้อมกระถางสวมลงได้เลยโดยไม่ต้องทิ้ง ทั้งยังเพิ่มมูลค่าด้วยการที่กระถางทั้งสองขนาดสามารถนำมาซ้อนกันให้เกิดรูปทรงใหม่ สำหรับการใช้งานในพื้นที่สาธาณะ หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยที่มีถาดรองน้ำที่มีฟังก์ชันการให้น้ำในตัวเอง หรือ self watering และสามารถพลิกกลับมาใช้เป็นเก้าอี้สตูลได้ในตัว

ออกแบบ: พิบูลย์ อมรจิรพร
แบรนด์: Plural designs
โทร. 081-833-4566
FB: https://www.facebook.com/pluraldesigns/
เว็บไซต์: www.pluraldesigns.net
อีเมล: [email protected]

LOOM CHAIR

ใช้เก้าอี้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนงานฝีมือทั่วประเทศ ทำหน้าที่บันทึกงานฝีมือของแต่ละชุมชน ผ่านการผสานไม้ เหล็ก และสานด้วยผักตบชวา โครงเก้าอี้ไม้ผลิตโดยใช้ทักษะของช่างไม้ดั้งเดิม โดยใช้ไม้ขนาดเท่ากัน และออกแบบให้เป็นเส้นตรง แนวตั้ง และแนวนอน คล้ายลักษณะของกี่ทอผ้า ยึดไม้ทั้งหมดด้วยการเข้าเดือย มีที่เท้าแขนที่ใช้พักและช่วยพยุงตัวขึ้นยืนได้อย่างสะดวกและรับน้ำหนักได้ดีขณะนั่งพัก พนักพิงและที่นั่งเหล็กผลิตด้วยเครื่องจักรที่แม่นยำ เพื่อให้ได้ความโค้งที่รับกับสรีระของชาวเอเชีย พร้อมทำหน้าที่เป็นเส้นตั้งของการสาน ถัก ลวดลาย อันเป็นงานฝีมือของชุมชนต่าง ๆ ลงไป เก้าอี้นี้ได้รับรางวัล DEmark 2020 กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์

ออกแบบ: พิบูลย์ อมรจิรพร
แบรนด์: Plural designs
โทร. 081-833-4566
FB: https://www.facebook.com/pluraldesigns/
เว็บไซต์: www.pluraldesigns.net
อีเมล: [email protected]

ถุงยางรักษ์โลก

นำยางพาราที่มีคุณสมบัติทนทาน ยืดยุ่น และเช็ดล้างทำความสะอาดง่าย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแหล่งปลูกและผลิตยางอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งทำให้ยางเป็นวัสดุหาได้ง่ายสำหรับการออกแบบผลิตภัฑณ์ และการสร้างต้นแบบ นอกเหนือจากนั้น ยางพาราเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ และสามารถนำกลับมารีไซเคิ่ลได้ จึงเกิดมาเป็นไอเดีย “ถุงยางรักษ์โลก”

ออกแบบ: RBI Design Team
แบรนด์: Rubber Idea
โทร. 02-892-1905 ต่อ 202
IG: rubber_idea
FB: @rubber_idea
เว็บไซต์:www.rubber-idea.com

OCEAN COLLECTION

ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่เน้นการใช้งานที่ดี สร้างรอยยิ้ม ไปพร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวแรงบันดาลใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อมในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คอลเล็กชั่นนี้เป็นการ upcycling จากวัสดุใช้แล้ว เช่น ขวดน้ำพลาสติก, ถุงพลาสติกที่เลิกใช้จากการรับบริจาคผ่านโครงการ “วน” หรือเศษแหอวนจากชาวประมงในโครงการ Net free sea โดย EJF ( Environmental justice foundation)

ออกแบบ: Qualy Design Team
แบรนด์: Qualy
โทร. 02 689 8531
FB : @qualydesign
www.qualydesignstore.com

MORE

เก้าอี้ที่ใช้วัสดุหุ้มที่ผลิตด้วยเส้นใยพลาสติกจากขยะพลาสติกประเภท PET มาผ่านกระบวนการ Upcycling ทดแทนการใช้ผ้าหุ้มบุที่ผลิตจากเส้นด้ายใหม่ ขนาดและสัดส่วนของที่นั่งได้แรงบันดาลใจมาจากม้านั่งโบราณ มีขนาดกะทัดรัดแต่พอดีและพอเพียง ให้ความรู้สึกสบายขณะใช้งาน และเป็นเจ้าของรางวัล DNA Paris Design Awards 2020 จากประเทศฝรั่งเศส ประเภท Product Design: Furniture and Lighting และรางวัล DEmark 2020 กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์

ออกแบบ: ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
แบรนด์: Modernform
โทร. 02-094-9999
FB: @modernformcompany
เว็บไซต์: www.modernform.co.th

ชุดเสื้อผ้า SUSTAINABLE TEXTILE

SC Grand เริ่มต้นจากการรับซื้อของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทั้งจากโรงงานปั่นด้าย ทอผ้า ตัดเย็บ รวมทั้งเสื้อผ้าเก่า นำมาคัดแยกสีและรีไซเคิ่ลเป็นเส้นด้ายใหม่ที่ให้เฉดสีในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันไป ทอเป็นผ้าผืนใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการย้อมสี โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วไปถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลกใบนี้

ออกแบบ: SC Grand
แบรนด์: SC Grand Design Team
โทร.02-463-5161
FB: @scgrandcircular

ต่อลาย

คอลเล็กชั่น “ต่อลาย” จากโครงการ “SACICT Concept 2020” โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผ้าไหมแพรวาแม่ประคอง จากบ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ กับนักออกแบบจาก Mobella Design Team โดยนอกจากจะสนับสนุนการสานต่อลวดลายแบบดั้งเดิมของ ยังเป็นการเลือกใช้เศษเหลือผ้าไหมที่มีมูลค่าสูง มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใช้แขวนของ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับส่วนของผ้าที่ไม่ต้องการอีกด้วย

ออกแบบ : พิมวดี จันทะมาตย์ ร่วมด้วย Mobella Design Team
แบรนด์ : ผ้าไหมแพรวาแม่ประคอง
โทร.08-5449-0487
FB: @ThaiSilk.Kalasin

PARA

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับสูตรน้ำยางให้สามารถนำไปใช้แบบฟู้ดเกรด และสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้บนโต๊ะอาหารอย่างที่รองจาน ที่รองแก้ว รวมถึงจุกขวดแก้ว (หน้าที่คล้ายจุกไม้คอร์ก) โดยมีเป้าหมายคือการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพายา นอกจากนั้นยังเป็นเป็นสนับสนุนการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีปริมาณมากในประเทศไทยอีกด้วย

ออกแบบ: อรกานต์ สายะตานันท์
แบรนด์: PARA
IG: theparastory
FB: @theparastory
เว็บไซต์: www.parastory.com
อีเมล: [email protected]

ทะเลจร

จากเครือข่ายขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนักอนุรักษ์ธรรมชาติ Trash Hero ปัตตานี สู่การรวบรวมขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แปรรูปเป็นพื้นรองเท้าและการทำรองเท้าแตะคู่ใหม่ โดยนอกจากประโยชน์ทางตรงในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดเจน กิจกรรมนี้ยังได้รับความสนับสนุนโดยกลุ่มชุมชน โรงเรียนสอนทำรองเท้า ไปจนถึงแบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ ที่มาร่วมต่อยอดไปจนถึงผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งกับกลุ่มได้อย่างเป็นภาพรวม

ออกแบบ : ดร.ณัฐพงค์ นิธิอุทัย
แบรนด์ : ทะเลจร
โทร.081-543-3177
FB: @Tlejourn
เว็บไซต์: www.tlejourn.org
อีเมล: [email protected]

A TOUCH OF MOTIF

คอลเล็กชั่นจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มผ้าทอไตลื้อ แม่ดอกแก้ว ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับนักออกแบบ Atelier2+ ในโครงการ “SACICT Concept 2020” โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ (องค์การมหาชน) ที่นักออกแบบได้จัดวางลวดลายผ้าทอของชาวไตลื้อให้ร่วมสมัยขึ้น เพื่อให้ทางชุมชนนำไปสร้างสรรค์และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเสริมชุมชนได้ในระยะยาว

ออกแบบ: อัญชลี ธีระโคตร ร่วมกับ Atelier 2+
แบรนด์: ผ้าทอไตลื้อ แม่ดอกแก้ว
โทร: 086-195-5331
FB: @แม่ครูดอกแก้ว-ผ้าทอไตลื้อ-214146682694341
อีเมล: [email protected]

มิว (MUTANT)

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดปัตตานี ที่เริ่มจากการตัดหลอดที่เป็นขยะที่รวบรวมในตัวจังหวัดมาเป็นไส้หมอนเพื่อจำหน่ายโดยไม่แสวงหาผลกำไร พวกเขายังได้ต่อยอดการตัดหลอดมาเป็นความเคลื่อนไหวรูปแบบอื่นอย่างตุ๊กตาปลาวาฬ “มิว” ที่มาจากคำว่า Mutant ซึ่งเป็นการสื่อสารเรื่องปัญหาขยะหลอดพลาสติกที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล โดยผ้าก็ได้มาจากเสื้อผ้าเก่า นอกจากนั้นพวกเขาก็ยังเคลื่อนไหวในรูปแบบสื่ออื่นๆ อย่างวิดีโอ ผ่านโซเชียลมีเดียของกลุ่มอีกด้วย

ออกแบบ : Pattani Landlord
แบรนด์ : Pattani Landlord
FB: @PattaniLandlord
อีเมล: [email protected]

HUH.WHAT DO YOU SAY?

แบรนด์สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นการนำเอาเศษวัสดุในพื้นที่มารีไซเคิ่ลเป็นของใช้ในสไตล์ที่ไม่มีใครเหมือน ไม่ว่าจะเป็นกระสอบข้าว แผ่นพลาสติก ถุงกระดาษ ถุงปูน โดยมีคอลเลกชั่นล่าสุดเป็นการนำกระสอบสีน้ำตาลที่เคยใช้บรรจุพลาสติก มาแปรรูปโดยการสานและเย็บเป็นกระเป๋า กระถาง รวมถึงเก้าอี้ได้อย่างมีเอกลักษณ์

ออกแบบ: นภัทร แสนศิริพันธุ์
แบรนด์: HUH.What do you say?
IG: huh.wdus
FB: @huh.wdus
อีเมล: [email protected]

ชมผลงานทั้งหมดซึ่งถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Sustainable Design Exhibition Curated by บ้านและสวน / room” ใน Samyan Mitrtown Hall บนชั้น 5 ของ สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1 – 4 ตุลาคม 2563 โดยนอกจากผลงานการออกแบบทั้งหมดแล้ว ภายในงาน “Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX)” ก็ยังมีร้านค้า เวทีการเสวนา รวมถึงกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันสานต่อความยั่งยืนในสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/baanlaesuanmag/ และ https://www.facebook.com/roomfan/

และติดตามกิจกรรมของ Thailand Sustainability Expo 2020 (TSX) ได้ที่ https://www.facebook.com /tsxofficial และ https://tsx.thailandsustainability.com