สวนน้ำตก บรรยากาศธรรมชาติสุดร่มรื่น

สวนน้ำแห่งนี้อยู่ในร้านคาเฟ่อเมซอน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เช้าวันอาทิตย์สบายๆเช่นนี้  มีผู้คนแวะเวียนมานั่งเล่นจิบกาแฟกันไม่ขาดสาย มีทั้งขี่จักรยานมานั่งพักชิล บ้างก็มากันแบบครอบครัว การได้มาพักชม สวนน้ำตก จึงเหมือนได้มาผ่อนคลาย ณ ริมธารน้ำธรรมชาติ

DESIGNER DIRECTORY: เจ้าของ: บริษัทอภิสิทธิ์รุ่งรัตน์ (2008) ครบุรี จำกัด / จัดสวน : อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย

มนตร์เสน่ห์แห่งไอหมอกและภาพสะท้อนน้ำที่ชวนให้น่าเข้าไปค้นหา

เราพบกับ อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย ผู้ออกแบบสวนซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคการทำ สวนน้ำตก และลำธาร ได้เล่าให้ฟังว่า “สวนแห่งนี้เป็นสวนน้ำตกที่มีทั้งผนังน้ำตก ลำธาร และบ่อแบบครบองค์ประกอบ ไม่ได้เลี้ยงปลา แต่มีระบบทำให้น้ำใสโดยไม่ใช้บ่อกรอง แต่จะทำอย่างไรนั้นเดี๋ยวต้องไปดูกัน” อาจารย์ขวัญชัยกล่าวทิ้งท้ายในสิ่งที่เรากำลังสงสัย เพราะสังเกตเห็นน้ำในบ่อของที่นี่ใสจนอยากลงไปย่ำเล่น แต่ก็เพียงได้แค่คิด

อาจารย์ขวัญชัยเล่าถึงสภาพโดยรวมของพื้นที่ว่า ตัวร้านกาแฟได้รับแสงแดดจัด มีระเบียงและหลังคาสูงแคบจึงเผชิญกับปัญหาความร้อน อีกทั้งหากฝนตกลมแรง มักสาดเข้ามาทำให้ใช้สอยระเบียงได้อย่างไม่เต็มที่

ความต้องการของเจ้าของสถานที่ชอบสวนแนวธรรมชาติ ร่มรื่น มีน้ำตกลำธารและบ่อ ให้ผู้เข้ามารู้สึกผ่อนคลาย โดยเจ้าของมีศาลานั่งพักเป็นซุ้มเหล็กหลังคาโค้งอยู่แล้ว ซึ่งผู้ออกแบบต้องหาตำแหน่งจัดวางให้ดูลงตัว นอกจากนี้ยังพบว่าบ่อบำบัดน้ำเสียจากห้องน้ำถูกวางไว้ในพื้นที่ที่ต้องจัดสวน และบ่อบำบัดนี้ก็กินพื้นที่มาก จนทำให้เกิดปัญหากับตำแหน่งไม้ยืนต้นและทิศทางของลำธารอีกด้วย

เมื่อทราบถึงข้อจำกัดต่างๆแล้ว ก่อนจะออกแบบ อาจารย์ขวัญชัยจึงได้วางแนวคิดของสวนไว้เป็นข้อๆดังนี้

“ข้อแรกเลยคือ สร้างร่มเงาให้ร่มรื่นและเย็นสบาย ข้อสองมีที่นั่งพักผ่อนเพียงพอและมีทางเดินเชื่อมต่อจุดต่างๆ  และข้อถัดไปคือเมื่อนั่งมองจากระเบียงและห้องกระจกในร้านจะเห็นสวนได้ทุกมุม

“ผมเน้นปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงา แต่ไม่ใช้ไม้ขนาดกลางที่บดบังสายตา เลือกใช้ไม้ที่มีพุ่มใบโปร่ง เช่น พุดร้อยมาลัย ปรงเขา รวมถึงใช้ระบบพ่นหมอกเพื่อรักษาความชื้นและลดอุณหภูมิในสวน ทั้งหมดเพื่อสร้างบรรยากาศเย็นสบาย ส่วนเรื่องบ่อปลา หลังหารือกับเจ้าของสถานที่ได้ข้อสรุปว่า สวนน้ำตกนี้จะไม่เลี้ยงปลา จึงไม่ต้องมีบ่อกรอง แต่ที่สำคัญน้ำต้องใส เป็นโจทย์ต่อเนื่องที่เจ้าของให้มาครับ”

พื้นที่สวนด้านในเป็นลานหินเกล็ดสำหรับวางชุดสนาม ซึ่งเมื่อนั่งตรงนี้ก็ยังได้ยินเสียงน้ำตกไหลเอื่อยๆมาจากด้านใน บริเวณใกล้กับน้ำตกมองเห็นซุ้มศาลาเหล็กโค้ง มีทางเดินเชื่อมต่อแต่ละพื้นที่ให้สามารถเข้าไปใช้สวนได้อย่างสะดวก
มุมมองจากบ่อรับน้ำหน้าระเบียงซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบ มองเห็นน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำซ่อนตัวอยู่ด้านใน ตัวลำธารได้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่สองฟากฝั่ง ด้านล่างปลูกไม้คลุมดินปกคลุมแทรกไปกับหินข้างลำธารอย่างเป็นธรรมชาติ
พื้นที่บริเวณนี้มองเห็นต้นพุดร้อยมาลัยทรงสวยหลายต้น ไม่ปลูกไม้พุ่มขนาดกลางที่บดบังสายตาเลย ด้านล่างปลูกไม้คลุมดินสีเขียวปกคลุมดูชุ่มชื้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดไอหมอก

อาจารย์ขวัญชัยย้ำว่า เรื่องสำคัญอันดับต้นๆก่อนออกแบบ คือการสำรวจพื้นที่ ต้องวัดระยะให้ชัดเจน เนื่องจากมีการวางระบบท่อ ระบบไฟ ระบบบ่อบำบัดน้ำของปั๊มน้ำมันแห่งนี้ มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียว คือพื้นที่ที่จะจัดสวน

“หลังจากนั้นจึงมาออกแบบโดยใช้พื้นที่ระเบียงร้านกาแฟนั่นละครับเป็นจุดตั้งต้น เป็นมุมมองที่สำคัญว่าอะไรควรวางไว้ตรงไหน เริ่มจากตำแหน่งของตัวน้ำตกซึ่งเป็นจุดต้นน้ำกำหนดให้มองเห็นไกลๆจากระเบียง โดยอยู่เกือบสุดพื้นที่ ซึ่งบริเวณใกล้กันนั้นกำหนดตำแหน่งวางซุ้มพักผ่อนสำหรับนั่งชมน้ำตกอีกจุดหนึ่ง มีแอ่งน้ำกว้างๆ ซึ่งวางตำแหน่งให้โอบพื้นที่ตั้งซุ้ม เพื่อให้ผู้ที่นั่งอยู่ในซุ้มนี้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

“จากนั้นก็วาดลำธารให้ไหลเลาะเลี้ยวไป ในขณะที่ลากเส้นลำธารซึ่งยาวถึง 20 กว่าเมตรนั้นก็ต้องกำหนดตำแหน่งไม้ยืนต้นเพื่อกันแสงแดดที่จะเข้าถึงระเบียงและพื้นที่โดยรอบร้านกาแฟ และกำหนดตำแหน่งไม้ยืนต้นประกอบลำธารไปด้วย การกำหนดไม้ยืนต้นในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมโดยรวมให้พื้นที่ร่มรื่นขึ้นมาก่อน ลำธารสายนี้จะไหลลัดเลาะลดระดับลงมาเป็นช่วงๆ สุดท้ายจึงลงมารวมกันที่บ่อใหญ่ริมระเบียง

“บริเวณพื้นที่ระเบียงร้าน เจ้าของอยากได้หน้าผาน้ำตก จึงนำภาพมาให้ผมดู ซึ่งเป็นผาน้ำตกในธรรมชาติ ดูแล้วเป็นหินผาทั้งสูงและกว้าง แต่มีน้ำไหลตกแบบเป็นเส้น ไม่ใช่เป็นแผ่นผืน ตอนนั้นผมคิดว่า ถ้าจะให้เหมือนภาพก็ต้องหาหินแผ่นแบนๆ ขนาดใหญ่ๆ มาวางต่อกัน คิดกันแล้วเกินกำลังประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่หากใช้ปูนปั้นแต่งสีเลียนแบบหน้าผา  ก็คิดว่าจะอย่างไรมันก็เป็นปูนปั้นอยู่ดี ไม่ได้ให้ความรู้สึกธรรมชาติแท้ๆ เลยร่วมกันตัดสินใจใหม่ โดยใช้หินจริง คือหินทรายเหลืองในจังหวัด โดยเลือกก้อนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 0.60-1เมตรมาวางซ้อนต่อขึ้นไป วิธีนี้จึงต้องคำนวณโครงสร้างฐานราก พื้นรับหิน และผนังคอนกรีตด้านหลังอย่างดีก่อนจึงนำหินขึ้นมาเรียงต่อกัน ส่วนนี้ออกแบบเป็นผาให้น้ำตกไหลเป็นเส้นสายลงมารวมกันที่แอ่งพัก ก่อนล้นลงมา ณ บ่อล่างสุด ซึ่งบ่อล่างนี้มีขนาดกว้างโอบระเบียงร้าน ทำให้คนที่เข้ามานั่งเห็นผืนน้ำอย่างเต็มที่

สร้างบรรยากาศของป่าธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ชวนให้คนเข้ามานั่งพักใจ จากมุมนี้มองเห็นลำธารสายนี้ที่ยาวกว่า 20 เมตร
แนวธารน้ำตกข้างตัวร้านรับแสงแดดอ่อนที่ผ่านการกรองของพุ่มไม้ เมื่อมองจากภายในจะเห็นสวนและธารน้ำที่สวยงาม โดยเฉพาะเมื่อเปิดระบบพ่นหมอกจะได้ภาพสวยงามน่าประทับใจ
บ่อรับน้ำหน้าระเบียงมีฉากเป็นผนังน้ำตกที่ก่อหินซ้อนเข้าไป ตัวผนังด้านหน้าปลูกเฟินแทรกเพื่อลดความแข็งกระด้างของหิน ตัวผนังหินผาออกแบบให้มีน้ำตกลงเป็นสายเล็กๆสู่บ่อด้านล่าง
ลักษณะของบ่อนี้เป็นบ่อตื้นแต่กว้าง มีน้ำใสสะอาดมองเห็นกรวดก้นบ่อ ช่วงเย็นหลังปิดระบบน้ำตก น้ำทั้งหมดจะไหลกลับไปยังช่องรับน้ำมุมซ้ายด้านหน้าซึ่งโรยกรวดปิดไว้ เพื่อกลับไปยังบ่อเก็บน้ำ

ต่อไปเป็นขั้นตอนของการก่อสร้าง ซึ่งบ่อและลำธารน้ำตกทั่วไปแม้ไม่ได้เลี้ยงปลา ถ้าไม่มีบ่อกรองที่ดีน้ำจะขุ่นเขียวได้ง่าย อาจารย์ขวัญชัยจึงเผยเคล็ดลับที่ทิ้งข้อสงสัยให้เราในตอนต้นว่า

  “เราทำระบบเก็บน้ำทั้งหมดเข้าบ่อพักในช่วงที่หยุดระบบน้ำตกแล้ว  ดังนั้นจึงออกแบบให้แต่ละชั้นที่เก็บน้ำ เช่น แอ่งพักน้ำ ลำธาร และบ่อไม่ลึกมากนัก โดยความลึกของน้ำเฉลี่ย 15-30 เซนติเมตรเท่านั้น เน้นให้เห็นพื้นลำธารที่คละด้วยก้อนกรวดน้อยใหญ่ ในแต่ละช่วงชั้นที่มีน้ำไม่ว่าจะเป็นชั้นน้ำตก ลำธาร และบ่อ จะใช้ท่อน้ำเข้าและน้ำกลับเป็นท่อเดียวกัน เมื่อเปิดระบบทำงาน น้ำจากบ่อเก็บน้ำจะถูกดูดขึ้นไปจนเต็มทุกช่วงชั้นของน้ำตกและลำธาร แล้วไหลล้นลงมาตามลำดับเช่นเดียวกับระบบน้ำตกทั่วไป พอมาถึงบ่อล่างสุด น้ำจะไหลล้นผ่านผนังบ่อนี้ลงสู่บ่อเก็บน้ำที่ซ่อนปั๊มไว้ บ่อนี้ก็คล้ายกับบ่อกรอง แต่ภายในไม่มีห้องกรองและวัสดุกรอง เป็นบ่อโล่งๆที่มีท่อน้ำไหลกลับรับน้ำจากที่ล้นผนังบ่อล่างลงมา เมื่อหยุดน้ำตกเท่านั้น น้ำจากทุกชั้นจะไหลย้อนกลับลงมา(ทางท่อน้ำเข้า)ในบ่อเก็บ ซึ่งมีฝาบิดไว้สนิทไม่ให้มีแสงสว่างลอดเข้าไปได้

เมื่ออธิบายถึงตรงนี้ เราก็เริ่มเข้าใจหลักการของอาจารย์ขวัญชัยได้กระจ่างขึ้น เพราะเมื่อน้ำไม่ได้รับแสงตลอดทั้งวัน โอกาสที่จะเกิดตะไคร่น้ำก็ลดน้อยลงนั่นเอง

หลังจากทดลองระบบน้ำตกและลำธารจนลงตัวแล้ว ก็ถึงขั้นตอนวางระบบพ่นหมอก ซึ่งอาจารย์ขวัญชัยอธิบายว่า “สวนนี้ใช้ระบบแรงดันสูง ใช้หัวพ่นเบอร์2แบบมีระบบกรองน้ำในตัว ปั๊มน้ำแรงดันสูงจะดันน้ำออกไปยังหัวพ่น  ตามเวลาทำงานที่ตั้งไว้ ซึ่งสามารถปรับให้เหมาะกับช่วงวันและฤดูกาลได้”

นอกจากได้มาชมน้ำตกสวยๆในวันนี้แล้ว  ทีมงานยังได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการทำน้ำตกและลำธารจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริงอีกด้วย…

ไอหมอกเมื่อต้องแสงอาทิตย์ยามเช้า ส่องประกายเชื้อเชิญให้เราก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้  การได้ใช้เวลาผ่อนคลายอยู่ในสวน ได้ยินเสียงน้ำไหลเบาๆสบายๆ เหมือนได้เติมพลังอีกครั้ง  จึงไม่แปลกใจเลยที่พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนมากหน้าหลายตาในแถบนี้

 

 

เติมธรรมชาติด้วยไอหมอก (สวนสวย ก.ค.62)

สถานที่ :คาเฟ่อเมซอน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
เจ้าของ: บริษัทอภิสิทธิ์รุ่งรัตน์ (2008) ครบุรี จำกัด
จัดสวน : อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย

เรื่อง: ทิพาพรรณ

ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย  


เรื่องที่น่าสนใจ