ART-LIFE HARMONY บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ที่ตั้งใจออกแบบให้ทุกภาพมีความเสมอภาคกัน

“อยู่อย่างเป็นศิลปะ” คือนิยามการอยู่อาศัยในฝันของใครหลายคนในยุคนี้ หากแต่ความหมายของคำนี้ได้ถูกแปลภาพแตกต่างกันไปอย่างอิสระ ตามแต่การตีความจากประสบการณ์และรสนิยมของแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมที่แม้หลายชิ้นจะได้รับการพูดถึงว่าเป็นงานนอกกรอบ แต่จุดประสงค์ของผู้ใช้งานเองต่างหากที่เป็นปลายทางสำคัญ โดยมีวิธีการทางสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ปลายทางนั้นเป็นไปตามความตั้งใจ เช่นเดียวกันกับ บ้านกึ่งแกลเลอรี่ หลังนี้

Zimmermann Private Contemporary Art Collection คือตัวอย่างที่ดีของการใช้เนื้อหาจากผลงานศิลปะของเจ้าของ อย่าง
คุณคริสตอฟ – คุณรานี ซิมเมอร์มานน์ ซึ่งเป็นนักสะสมผลงานศิลปะร่วมสมัย มาเป็นหัวใจสำคัญเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับส่งเสริมงานศิลปะทุกชิ้นได้อย่างเท่าเทียม ตามที่ คุณศิริศักดิ์ ธรรมะศิริ สถาปนิกผู้ออกแบบที่นี่ได้กล่าวกับเราไว้ว่า

“ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะทำอาคารให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม แต่มีเจตนาคืออยากให้ภาพทุกภาพที่อยู่ในนี้มีความเสมอภาคกัน เพราะศิลปินแต่ละคนมีแพสชั่นและความตั้งใจเหมือนกัน แต่วิธีการอาจจะแตกต่างกัน ผมว่ามันไม่มีดัชนีชี้วัดว่ารูปนี้สวยกว่ารูปนี้เพราะอะไร”

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry

ความต้องการแรกของเจ้าของคือ ต้องการแกลเลอรี่มากกว่าบ้าน จึงเลือกส่วนพักอาศัยเป็นเรื่องรอง แล้วไปโฟกัสเรื่องการออกแบบสเปซสำหรับผลงานศิลปะ และเพราะงานศิลปะส่วนใหญ่เป็นงานร่วมสมัย สถาปนิกจึงนำความเป็นนามธรรมของงานศิลปะมาถ่ายทอดผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่มีลำดับขั้น ไม่มีฟอร์ม หรือมิติซับซ้อน

“ผมเลือกฝีแปรงของการ stroke งานแบบแอ๊บสแตร็กต์ที่เน้นความรู้สึกล้วน ๆ มาเป็นต้นแบบ โดยทดลองตัดแปะฟังก์ชันและความต้องการต่าง ๆ เข้าไปตามขอบเขตของที่ดิน แบ่งตามโปรแกรมได้ 2 อาคาร หลังหนึ่งใช้เป็นแกลเลอรี่เพื่อเปิดเป็นสาธารณะ อีกหลังเป็นที่พักอาศัยและแกลเลอรี่ส่วนตัวสำหรับเก็บภาพที่มีมูลค่าสูง”

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry

อาคารหลังแรกที่เปิดเป็นแกลเลอรี่สาธารณะ รูปลักษณ์การออกแบบเปรียบเหมือนการทดลองปาดฝีแปรงลงกระดาษในน้ำหนักที่หนาหนักและรุนแรง จนเกิดเป็นอาคารที่มีแต่ละด้านไม่เท่ากันเลย หรือที่คุณโต้งเรียกว่า “ไม่มีรูปร่าง” ส่วนภายในให้ความรู้สึกเหมือนกับตัวสถาปัตยกรรมถูกทำลายทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่เป็นเพียงฉากของงานศิลปะเท่านั้น ไม่เน้นให้สถาปัตยกรรมมีบทบาทเด่นไปกว่าชิ้นงานศิลปะที่จัดแสดง พื้นที่ภายในจึงเหมือนกับเป็นเขาวงกตสลับซับซ้อน ไม่ให้เห็นชิ้นงานทั้งหมดในคราวเดียว ทางสัญจรแบบนี้ทำให้ผู้ชมต้องใช้สมาธิ เพื่อค่อย ๆ ชมผลงานแต่ละชิ้นไปจนกว่าจะสุดทาง

อาคารหลังที่สองแตกต่างจากหลังแรกโดยสิ้นเชิง ถ้าอุปมาว่าหลังแรกคือความรุนแรงและซับซ้อน อาคารหลังนี้ก็คือความกลมกลืนกันระหว่างเจ้าของบ้านและงานศิลปะ หากมองจากด้านนอกก็เหมือนเป็นอาคารโค้งหลังหนึ่ง แต่ความโค้งนี้มีที่มาที่ลึกซึ้ง ทั้งในเชิงสถาปัตยกรรม การใช้ชีวิต และคุณค่าต่องานศิลปะ

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry

“ในส่วนไพรเวตแกลเลอรี่ ผมเลือกความมีพลวัตของหยิน-หยางมาใช้ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าไม่มีที่สิ้นสุดของศิลปะ เราจึงออกแบบให้ทางลาดตวัดไปตามเข็มนาฬิกาวนรอบอาคารด้านนอก โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่อาคารแกลเลอรี่หลังแรก ซึ่งเป็นพับลิค สู่ส่วนเซมิ-พับลิคตรงทางเข้าอาคารหลังไพรเวต แล้วค่อยทะยานขึ้นไปสู่ท้องฟ้าในส่วนพักอาศัย โดยส่วนฟังก์ชันต่าง ๆ ก็เกาะไปตามทางลาดนี้”

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry ห้องสมุด บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry บ้านกึ่งแกลเลอรี่ zimmermann gallerry

“พื้นเล่นระดับตามการทะยานของทางลาด ตั้งแต่ส่วนครัว ส่วนรับประทานอาหาร ส่วนนั่งเล่น จนเข้าไปถึงส่วนห้องนอน แล้วใช้ผนังของอาคารที่เริ่มตั้งแต่ส่วนเตี้ยที่สุดไปถึงสูงที่สุดเป็นฉากหลังของพื้นที่สำหรับแกลเลอรี่ ขนาดของภาพที่ติดจึงเรียงลำดับตั้งแต่ภาพเล็กไปจนถึงภาพใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาเดินเข้าไป สเปซจะค่อย ๆ เผยตัวเองขึ้นทีละส่วน เหมือนกับงานศิลปะที่ดูตอนแรกอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตัวศิลปินเขาคิดอะไร แต่ถ้าเพ่งมองและใช้สมาธิดี ๆ ความเข้าใจก็จะผุดขึ้นมา แม้จะไม่เข้าใจทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าบรรลุตามคอนเซ็ปต์ของการออกแบบอาคารแห่งนี้แล้ว”บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ห้องนอน ศิลปะ

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ห้องน้ำ ศิลปะ บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ห้องน้ำ ศิลปะ

บทสรุปของการใช้งานฟังก์ชันส่วนพักอาศัยคือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แต่เพียงน้อยชิ้นเท่าที่ใช้งานเท่านั้น ท่ามกลางวงล้อมของผลงานศิลปะที่เจ้าของพากเพียรสะสมมาตลอดทั้งชีวิต จึงนับว่าบรรลุจุดประสงค์ในการสร้างพื้นที่เพื่อสอดประสานไปกับการใช้ชีวิต ความรัก และแพสชั่นได้อย่างลงตัว

 

Did You Know?  : Circulation for Emotional Architecture

นิยามของงานออกแบบเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับงานสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นครั้งแรกผ่านบทบันทึกของ Luis Barragan สถาปนิกชาวเม็กซิโกที่ว่า  “I have worked with total freedom to make work whose function is to produce emotion.” “ผมทำงานด้วยอิสระอย่างสูงสุด โดยมีฟังก์ชันช่วยส่งเสริมให้เกิดอารมณ์ร่วมตามไปได้ด้วย” สถาปัตยกรรมของเขาจึงเป็นการเล่นกับระนาบ สีสัน และทางสัญจร เพื่อสร้างเซอร์ไพร้ส์ที่แตกต่างไปจากบริบทรอบ ๆ

การใช้ทางสัญจรเป็นแกนหลักเพื่อสร้างอารมณ์ประกอบขึ้นจากทั้งบริบททางธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาหรือฤดูกาล และบริบทที่มนุษย์เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งสัดส่วนหรือสเกลถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างความตื่นเต้นได้อย่างดี  ทั้งยังเล่นได้กับทุกระนาบไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บีบแคบในสัดส่วนใกล้เคียงกับมนุษย์เพื่อสร้างความรู้สึกอึดอัด หรือการเปิดพื้นที่แบบฉับพลันในสัดส่วนโอเวอร์สเกลขนาดมหึมาชวนตื่นตะลึง การสร้างอารมณ์ร่วมเช่นนี้เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับสถานที่ อีกทั้งการใช้องค์ประกอบของสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะในงานออกแบบพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ ยังช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้เข้าหาชิ้นงาน และมีส่วนร่วมกับผลงานที่จัดแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บ้านกึ่งแกลเลอรี่ บ้านกึ่งแกลเลอรี่

เจ้าของ : คุณคริสตอฟ – คุณรานี ซิมเมอร์มานน์
ออกแบบ :  คุณศิริศักดิ์ ธรรมะศิริ


เรื่อง : skiixy
ภาพ : ศุภกร

อ่านต่อ บ้านกึ่งแกลเลอรี่ ทรงกล่องโมเดิร์นสีขาว