Bangkok Design Week 2019

CITY MATERIALS งานออกแบบเชิงทดลองจาก 6 วัสดุตัวแทนกรุงเทพมหานคร

Bangkok Design Week 2019
Bangkok Design Week 2019

หากจะมีสักนิทรรศการหนึ่งซึ่งเมื่อผ่านพ้นสัปดาห์แห่งเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2019 ไปแล้ว เราจะยังคงอยากติดตามความคืบหน้าว่าสิ่งที่ “Thinkk Studio” สตูดิโอออกแบบช่างคิดกลุ่มนี้ทุ่มแรงลงมือทำ จะถูกนำไปพัฒนาต่อหรือมีผู้เห็นด้วยกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือไม่ ตามจุดมุ่งหมายที่พวกเขาตั้งไว้ก่อน “Thinkk Together” นิทรรศการแห่งความร่วมมือครั้งที่ 2 ต่อจากปีก่อนจะเริ่มต้นขึ้นในชื่อตอนว่า “Think Ahead”

จุดมุ่งหมายนั้นคือ งานออกแบบที่สามารถมอบโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเมือง สังคม และวงการสร้างสรรค์

Bangkok Design Week 2019

นิทรรศการ Thinkk Together ตอน Think Ahead แบ่งส่วนย่อยออกเป็น 5 ส่วน โดยหนึ่งในนั้นคือการจัดแสดงงานออกแบบเชิงทดลองในหัวข้อ “City Materials” ที่ว่าด้วยเรื่องวัสดุตัวแทนกรุงเทพมหานคร ที่ทาง Thinkk Studio ร่วมมือกับกลุ่มอาสาสมัครในการทํารีเสิร์ช 4 คน และทดลองวัสดุ 4 คน โดยมี Studio 150 เป็นผู้ควบคุมทิศทางในการเก็บข้อมูลและนําเสนอข้อมูลของงานนี้ โดยมีวัสดุตัวแทนกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 6 วัสดุ คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ต้นไม้ที่เก็บในพื้นที่กทม. ถุงพลาสติก ก้านธูปและฝุ่นธูป  กากกาแฟ และเศษจากการทุบรื้อ

Bangkok Design Week 2019

“อย่างล็อตเตอรี่ต่องวดมี 90 ล้านใบ หนึ่งเดือนก็ 180 ล้านใบ มันเยอะมหาศาลและเป็นวัสดุที่ไม่มีวันหมด ล็อตเตอรี่คือตัวแทนของกระดาษอย่างหนึ่ง มีคาแรกเตอร์น่าสนใจ เราเลยนำมาทดลองในครั้งนี้” เดชา อรรจนานันท์ นักออกแบบผู้ร่วมก่อตั้ง Thinkk Studio ขยายความถึงข้อมูลที่รีเสิร์จและเหตุผลที่เขาเลือกวัสดุกระดาษแห่งความหวังที่ทุก ๆ สองงวดต่อเดือน ชาวกรุงเทพฯจะเสี่ยงดวงซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อลุ้นรางวัล ซึ่งกระดาษเหล่านั้นมันแทบจะไร้ค่าในทันทีที่ตัวเลขบนสลากไม่ตรงกับตัวเลขที่ออก

Bangkok Design Week 2019

หรือกระทั่งวัสดุที่สามารถพบได้ทั่วไปอย่าง “ไม้” Thinkk Studio เองเลือกหยิบนำต้นไม้ในเขตกรุงเทพฯ ตามริมถนนหนทางกลับมาทดลองหาผลลัพธ์ที่มันจะเป็นได้แค่เศษซากของการตัดทิ้งอย่างไร้ค่า เดชา กล่าวว่า “เมื่อก่อนกรุงเทพฯอาจจะมีป่าไม้ขึ้นอยู่ข้าง ๆ โรงงาน แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นป่าริมท้องถนนแทน ซึ่งเขาก็ตัดทิ้งกันอยู่ประจำ เราลองไปศึกษาหาความเป็นไปได้ หาความน่าสนใจจากไม้ที่มันยังสดและยังเป็นไม้ที่ติดเปลือกอยู่ เรานำกลับมาทดลองเรื่อง Joint เรื่องการยืดหดของไม้ ลองดัดด้วยความร้อน ซึ่งไม้ที่เรานำมามันยังดัดได้ดีเนื่องจากเซลลูโลสมันยังอยู่ครบเพราะยังไม่ถูกอบจนแห้ง ดัดแล้วจึงอยู่ตัวทันที หรือว่าการแกะไม้ที่มันยังชื้นเพื่อเอาเปลือกมาใช้งาน มันก็จะต่างจากไม้ที่เราไปซื้อมาซึ่งมันจะเป็นไม้สำเร็จ”

อีกหนึ่งวัสดุที่ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรเริ่มตระหนักถึงเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีการรณรงค์ให้ช่วยกันลดการใช้ลงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “ถุงพลาสติก” Thinkk Studio นำวัสดุตัวแทนกรุงเทพฯเหล่านี้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ด้วยวิธีการง่าย ๆ อย่างเช่น การรีดร้อนด้วยเตารีดไฟฟ้า เครื่องมือเครื่องไม้ใกล้ตัวที่เราใช้ประจำวัน

“เราพยายามนำถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันที่มันเป็นปัญหาในสังคมของเรากลับมาใช้ให้มากที่สุด ถ้ามันได้ผล มันสามารถพัฒนาไปใช้กับเครื่องมืออุตสาหกรรมหรือการรีไซเคิ่ลถุงพลาสติกได้ในอนาคต หรือในมุมที่เป็นงานคราฟต์เราก็สามารถนำมาถักหรือนำกลับมาทำเป็นอาชีพของคนกทม.ได้” เดชาตั้งความหวัง

ถุงพลาสติกใบใหญ่จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ผ่านการรีดร้อนจนหดตัวเหลือขนาดเท่าฝ่ามือ
งานทดลองจากการถักพลาสติก ผ่านการรีดร้อน แล้วนำมาขึ้นฟอร์มเป็นโครงสร้างในตัวเอง
งานสานจากเศษถุงพลาสติก
กระเป๋าทำมือที่ลวดลายเกิดจากการรีดร้อนถุงพลาสติกซ้อนทับกันเป็นหลายเลเยอร์ ส่วนก้นถุงเป็นการนำพลาสติกยัดเข้าไปด้านเพื่อให้เกิดความนุ่มแล้วเย็บติดให้เหมือนเป็นการวิธีการหุ้มบุ

ถัดมาคือ ธูป สิ่งที่ใช้เป็นเครื่องกราบไหว้สักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา เศษฝุ่งผง ตลอดจนก้านสีแดงสด ถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างน่าทึ่งในนิทรรศการเชิงทดลองครั้งนี้

“ในกรุงเทพฯเรามีวัดอยู่เยอะมาก แต่ละวัดโดยเฉพาะยิ่งวัดดัง ๆ เวลาเราจุดธูป ปักปุ๊ป เขาเก็บทิ้งเลย เพราะว่า Traffic มันแน่นมาก ๆ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นขยะที่มีทุกวัน ในปริมาณที่เยอะมาก ๆ ความน่าสนใจมันประกอบด้วยฝุ่นที่มันเผาเสร็จแล้ว หรือตัวมันเองที่ยังไม่ถูกเผาแต่ถูกทิ้งไปก่อน หรือตัวก้านซึ่งก็คือไม้ไผ่เส้นเล็ก ๆ ที่เราเอามาทำงานต่อได้ ทั้งหล่อเรซิ่น บดเป็นผง หรือลองขึ้นรูปฟอร์มเป็นงานปั้น” เดชาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างงานปั้นรูปม้าจากวัสดุหลงเหลือจากสถานที่มงคลเหล่านี้

“ปกติมันจะมีรูปปั้นม้าวางตามสถานที่มงคล มันสามารถเอาพวกนี้แหละกลับไปอยู่ในบริบทเดิมได้โดยที่เราไม่ต้องไปปั้นปูนขึ้นมาใหม่ เราใช้ฝุ่นธูปที่เหลือ ๆ ทุกวันปั้นมันขึ้นมา”

งานทดลองจากก้านธูปอัดเป็นบล็อกเพื่อทำโครงสร้างเฟอร์นิเจอร์ การทดลองครั้งนี้เดชามองว่าจะนำไปปรับใช้กับโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งสอดคล้องกับธูป ซึ่งเขามองว่าดูมีความเป็นไปได้เลยทีเดียว  
แจกันจากก้านไม้ไผ่ของธูป
BANGKOK DESIGN WEEK 2019
งานทดลองวัสดุจากกากกาแฟ
BANGKOK DESIGN WEEK 2019
โคมไฟกากกาแฟผสมเยื่อกระดาษและกาว ที่เดชาตั้งความหวังว่า มีความเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งมันอาจจะกลับไปอยู่ในคาเฟ่
BANGKOK DESIGN WEEK 2019
เศษวัสดุจากไซต์ก่อสร้างที่ถูกนำกลับมาทำลองวัสดุใหม่อีกครั้ง
BANGKOK DESIGN WEEK 2019
ผลลัพธ์บางส่วนจากการทดลองวัสดุใหม่จากเศษวัสดุเหลือ Thinkk Studio พยายามคอนโทรลก้อนอิฐที่มันแตกกลับมาเป็นก้อนอีกครั้ง พวกเขาคาดหวังถึงความเป็นไปได้ในการนำกลับไปก่อผนังได้ใหม่ แต่โดยฟังก์ชันแล้วมันมีมูลค่ามากกว่าการก่อแล้วฉาบ ถ้ามีจำนวนมากพอก็สามารถสร้างผนังที่มีลวดลายในตัวเองได้

“เราคาดหวังให้คนเห็นความเป็นไปได้ เก็บของหรือเศษขยะเหลือใช้ที่มันมีอยู่ในชีวิตประจำวันให้มีระบบระเบียบ” เดชาทิ้งท้าย “สมมุติถ้าเขารู้แล้วว่าของนั้นมันสามารถเอาไปใช้ทำกระเป๋าได้ เขาควรเก็บแยกแบบไหน หรือก้านธูปมันสามารถเอามาใช้งานได้เขาจะเก็บแยกอย่างไร กากกาแฟก่อนที่มันจะขึ้นรามันควรมีวิธีเก็บแบบไหนเพื่อให้คนสามารถเอาไปใช้งานต่อได้ ถ้าโมเดลนี้มันประสบความสำเร็จผมว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อเมืองของเราเอง แล้วมันสามารถจะย้ายไปตามเมืองต่าง ๆ ได้โดยที่วัสดุมันอาจจะไม่เหมือนกันเลยด้วยซ้ำ ผมว่ามันก็ยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่เป็นของเมืองนั้น ๆ นำกลับมาทำประโยชน์ได้อีกเรื่อย ๆ”


เรื่อง / ภาพ : นวภัทร

THINKK Together: Think Ahead
สถานที่: โกดังบ้านเลขที่ 1 ตรอกกัปตันบุช
จัดแสดงถึงวันที่ 3 ก.พ. 62

Thinkk Together นิทรรศการผลลัพธ์จากการสมรู้ร่วมคิดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่

Design Plantสัญชาตญาณไทย ในดีไซน์ “READY-MADE”, BANGKOK DESIGN WEEK 2019