Design Plant

สัญชาตญาณไทย ในดีไซน์ “READY-MADE”, BANGKOK DESIGN WEEK 2019

Design Plant
Design Plant

เวลาอันแสนสั้นของสัปดาห์งานออกแบบ “ Bangkok Design Week 2019 ” ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว น่าเสียดายว่าหลายนิทรรศการงานออกแบบที่เตรียมกันมาแรมเดือนกำลังจะจบลงแล้วในอีกไม่กี่วัน

หนึ่งในนั้น คือหนึ่งนิทรรศการ ของกลุ่ม Design Plant” กลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ไฟแรง ผู้มักมาพร้อมกับไอเดียสดใหม่ไม่ซ้ำกันในทุก ๆ เทศกาล

Bangkok Design Week 2019 ปีนี้ Design Plant ได้ชื่อหัวข้อนิทรรศการว่า “Design Instinct” มีจุดประสงค์ร่วมกันคือการค้นหาสัญชาตญาณงานดีไซน์ไทย เริ่มต้นด้วยคำถามเช่นว่า ดีไซน์ไทยโดยแท้จริงคืออะไร จริงหรือไม่ว่าไทยมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนที่อื่น และมันจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่นักออกแบบเข้าไปถึงได้ เมื่อใช้สัญลักษณ์ สี หรือสัดส่วนลวดลายแบบใดสร้างสรรค์

Bangkok Design Week 2019

คอนเซ็ปต์นี้ตกผลึกออกมาเป็นงานออกแบบ 33 ชิ้น จาก 33 นักออกแบบ จัดแสดงใน “บ้านพักตำรวจน้ำ” บ้านไม้เก่าอายุกว่า 100 ปี ที่น่าสนใจคือ หลายชิ้นงานในนั้นเป็นการหยิบจับเอาของใช้รอบตัวอย่างโต๊ะเหล็ก ถาดสังกะสี ถังพลาสติก มาประกอบ ประยุกต์ หรือแม้แต่นำมาใช้เป็น “งานออกแบบ” ใหม่ อย่างตรงไปตรงมา

เราเรียกดีไซน์เหล่านี้ได้ว่า เป็นดีไซน์ Ready-made” หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า เป็นการใช้ของสำเร็จรูป ที่มีหน้าที่ใช้สอยที่เข้าใจกันอยู่แล้ว แต่ถูกนำมาพลิกแพลงใหม่ บางครั้งก็ใช้ตามหน้าที่ใช้สอยเดิม หรือบางครั้งก็ถูกบิดพลิ้วไปตามไอเดีย

อันที่จริง ศิลปะหรืองานออกแบบแบบ “Ready-made” ไม่ใช่ของใหม่ หากใครคุ้นเคยกับบรรดาผลงานศิลปะในอดีต ก็น่าจะต้องรู้จักโถฉี่ชิ้นดังเมื่อปีค.ศ.1917 ในชื่อ “น้ำพุ” หรือ “Fountain” โดยศิลปิน Marcel Duchamp งานนี้ศิลปินนำโถฉี่เซรามิกสีขาว มาวางราบลงกับพื้น เซ็นชื่อกำกับเหมือนยามที่ศิลปินเซ็นชื่อตัวเองลงไปบนผลงานศิลปะทั่วไป ก่อนจะเตรียมนำไปจัดแสดงในนิทรรศการหนึ่งในนิวยอร์คทั้งอย่างนั้น

Bangkok Design Week 2019
Fountain โดย Marcel Duchamp ในปี 1917

โถฉี่ของ Duchamp ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะถูกคณะกรรมการห้ามไม่ให้นำไปจัดแสดงร่วมกับศิลปะชิ้นอื่น ๆ ในท้ายที่สุด หากหลังจากนั้น มันก็ได้ชวนให้ผู้คนตั้งคำถามกับความเป็น “ศิลปะ” ขนานใหญ่ จนโถฉี่ของ Duchamp ได้รับการยกย่องว่าเป็นชิ้นงานที่ล้มเลิกความสูงส่งของศิลปะและศิลปินที่มีแต่เดิม เปิดไปสู่การนำเสนอแนวคิดและรูปแบบของศิลปะที่กว้างขวางหลากหลาย

ในทำนองเดียวกัน หลายงานที่ปรากฏในนิทรรศการ Design Instinct ก็จะพบว่าเป็นแนวคิดที่ตกทอดมาจากศิลปะชิ้นดังว่า การจับเอาสิ่งของข้างทางที่ไม่ได้ถูกนับว่ามีมูลค่าสูงส่ง เป็นของใช้ในครัวเรือนหรือของชาวบ้าน มาโยนไว้ในนิทรรศการงานออกแบบ ก็ชวนให้ผู้ชมรู้สึกฉงน และตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน

หลายงานที่น่าสนใจ เช่น งาน “มธุรส” โดย Mahasamut เป็นโต๊ะขนาดเล็กซึ่งเริ่มไอเดียจากการประยุกต์ “ที่รองขาโต๊ะกันมด” ซึ่งมักพบในบ้านคนไทยหลาย ๆ บ้าน นำฟังก์ชันนั้นมาออกแบบให้เป็นโต๊ะพร้อมที่รองจริง ๆ ด้วยการประกอบถาดสังกะสี แจกัน เข้ากับฐานปูนและเสาไม้ เป็นโต๊ะวางของเอนกประสงค์ หรือที่มีหน้าตาคล้ายกัน คือ “ ‘n joint” โดย Kinpin ใช้ถาดสังกะสีมาประกอบกับฐานจากวัสดุรอบตัว เป็นไอเดียการมอบหน้าที่ใช้สอยใหม่ให้กับสิ่งของที่มีอยู่แล้ว จากการพบเห็นการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย

Bangkok Design Week 2019
“มธุรส” โดย Mahasamut
Bangkok Design Week 2019
“ ‘n joint” โดย Kinpin

หรือผลงาน Upgrade” โดย Atelier 2+ ทำอ่างล้างหน้า จากสิ่งของที่พวกเขาตั้งใจตะลุยหาในเฉพาะร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดราคาเดียว ซึ่งมีทั้งถังพลาสติก ขาจากโต๊ะเหล็ก รวมไปถึงกระจกส่องหน้าราคาถูก กล่าวได้ว่าทั้งหมดครอบคลุมฟังก์ชันการล้างหน้าล้างมือได้ครบถ้วน ด้วยรูปลักษณ์ดิบ ๆ จากสิ่งของธรรมดา ๆ

Bangkok Design Week 2019
“Upgrade” โดย Atelier 2+
Bangkok Design Week 2019
“Upgrade” โดย Atelier 2+

อีกผลงานที่น่าสนใจ คือ “ซู ฉี” โดยดุลยพล ศรีจันทร์ สะท้อนการรับประทานข้างทางในสังคมผ่านการนำโต๊ะเหล็กพับได้ที่แสนคุ้นตา มาเจาะรูใส่เตาไฟฟ้าซึ่งมักใช้ในร้านจิ้มจุ่ม วิธีที่แสนเรียบง่ายนี้ ดูจะไม่ต้องใช้การ “ออกแบบ” ใด ๆ เลย ทว่าฟังก์ชันการใช้งานที่เกิดขึ้นใหม่ คือการเป็นเตาไฟฟ้าพร้อมโต๊ะที่เคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ ก็ชวนให้ทึ่งอยู่ไม่น้อย

Bangkok Design Week 2019
“ซู ฉี” โดยดุลยพล ศรีจันทร์

หรือผลงาน “สิ่งนี้ไม่ใช่ท่อประปา” โดย FLO ที่หยิบเอาการใช้วัสดุก่อสร้างพื้นฐานอย่างท่อพีวีซีสีฟ้า อันเป็นความเข้าใจร่วมกันในสังคมไทยว่า มันคือท่อประปา นักออกแบบนำเอาท่อเหล่านี้มาจัดวางและประกอบใหม่ เป็นชั้นวาง เป็นตั่ง และเป็นโต๊ะ คล้ายบอกผู้ชมว่า หากเราไม่คิดว่ามันคือ “ท่อประปา” แล้ว มันก็อาจกลายเป็นสิ่งของใช้งานใด ๆ ก็ได้ เหมือนที่หลายครัวเรือนมักนำมันไปใช้แก้ปัญหาอื่นนอกจากใช้เป็นท่อ จนปรากฏเห็นอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

Bangkok Design Week 2019
“สิ่งนี้ไม่ใช่ท่อประปา” โดย FLO

พอมาถึงตรงนี้ ก็น่าสนใจว่าวิธีการประกอบ ประยุกต์ หรือสร้างชิ้นงานหลาย ๆ งานในที่นี้ เป็นวิธีที่เราพบเห็นอยู่หรือไม่ก็คุ้นเคยเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่เคยเรียกสิ่งเหล่านั้นเลยว่า “การออกแบบ” อย่างจงใจมาก่อน

Bangkok Design Week 2019
“Mediator” โดย ODA ปูนหล่อเข้ากับหูจับถังพลาสติก เป็นที่หยุดประตู

เพราะ “งานออกแบบ” หรือ “การออกแบบ” ในความเข้าใจโดยทั่วไป กล่าวได้ว่ามักจะอยู่ในสตูดิโอ อยู่ในโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ หรือไม่ก็อยู่ในนิทรรศการ ใช้วัสดุที่ดี ผ่านการออกแบบและกระบวนการผลิตซับซ้อน จึงทำให้มีมูลค่าสูง จนเรียกได้ว่าถูกจัดวางไว้บนชนชั้นของศิลปะ

อย่างไรก็ตาม ก็น่าสนใจที่เราได้เห็นการแก้ปัญหาแบบพื้นฐานซึ่งปราศจากนักออกแบบแต่แรกเริ่ม หรือการใช้ “สัญชาตญาณ” แบบไทย ๆ ของคนทั่วไป ถูกพัฒนา ประยุกต์ หรือต่อยอดโดยนักออกแบบกลายเป็นวัตถุใหม่ที่น่าทึ่ง ดูใกล้ตัว และน่าลองใช้ ไม่ว่าวิธีการเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นไทยหรือไม่ก็ตาม

Bangkok Design Week 2019
ผลงานที่ไม่ได้หยิบเอาของทั่วไปมาใช้อย่างตรงไปตรงมา แต่จำลงรูปลักษณ์มาได้อย่างน่าสนใจ ผลงาน “ฃวด” โดย blend.ceramics หยิบเอาไอเดียการใช้ปากขวดแก้วเป็นที่วางยาจุดกันยุง มาออกแบบเป็นงานเซรามิกด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชันเดียวกัน
Bangkok Design Week 2019
อีกหนึ่งผลงานที่ไม่ได้ใช้ของ “Ready-made” โดยตรง แต่จำลองเอารูปลักษณ์และไอเดียการตัดปากขวดเพื่อใช้ก้นขวดเป็นแก้วมาออกแบบ ซึ่งเห็นมากโดยเฉพาะในวงกินดื่ม เหมือนชื่อผลงาน “เอา! ชนนน คอลเล็คชั่น” นั่นเอง งานนี้ออกแบบโดย near a-round

หากมากกว่านั้น ก็เช่นเดียวกันกับประเด็นและปรากฏการณ์ที่เกิดกับน้ำพุของ Duchamp วัตถุสิ่งของในนิทรรศการก็ชวนให้ผู้ชมสงสัยใคร่รู้ ว่าหากสิ่งของใด ๆ ก็ตามจะเรียกว่าเป็น “งานออกแบบ” ได้แล้ว เช่นนั้น ใครบ้างที่จะถูกเรียกว่านักออกแบบ ใช่ช่างผลิตโต๊ะเหล็ก หรือต้องเรียนจากมหาวิทยาลัย อะไรคือกระบวนการการออกแบบที่แท้ หรือสิ่งที่จะเรียกว่าเป็นงานออกแบบ แท้จริงแล้วต้องประกอบด้วยคุณค่าใดบ้าง และใครบ้างเป็นคนวัด

การได้ไปดู “สัญชาตญานดิบ” ในดีไซน์ในงานนี้ ก่อน Bangkok Design Week 2019 จะจบลง นอกจากจะได้เห็นไอเดียสนุก ๆ ก็น่าจะทำให้วิธีมองสิ่งของและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนไปบ้างไม่น้อย


เรื่อง: กรกฎา

ภาพ: ศุภกร, ดำรง, นวภัทร

อ่านต่อ

Bangkok Design Week 2019

นิทรรศการดี ๆ ที่ต้องไปดูให้ได้ในงาน BANGKOK DESIGN WEEK 2019

 

Bangkok Design Week 2019

BELONG EXHIBITION นิทรรศการแสดง “ที่นั่ง” 50 ตัว ของ “ช่าง