บ้านตีนดอย ความพอดีระหว่าง”บ้านไทย”กับ”บริติชสไตล์”

หลังจากตั้งคำถามเรื่องความเป็น “บ้านไทย” ผ่านงานออกแบบมาหลายต่อหลายครั้ง โครงการล่าสุดของสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม Site-Specific ดูเหมือนจะได้ชุดคำตอบใหม่ เพื่อนำเสนอการประนีประนอมระหว่างโจทย์ด้านรูปลักษณ์กับความสอดคล้องด้านบริบท โดยมีวัสดุร่วมสมัยอย่าง “อิฐ” เป็นสื่อกลางสะท้อนให้เห็นถึง “วัฒนธรรมร่วม” ได้อย่างน่าสนใจ

“บ้านตีนดอย” คือ บ้านอิฐ ตากอากาศมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 500 ตารางเมตร บนที่ดิน 4 ไร่ ในอำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ บ้านอิฐชั้นเดียวดูโดดเด่นด้วยรูปทรงหลังคาหน้าจั่วแหลมสูง ทว่าก็มิได้แปลกแยกจากธรรมชาติรอบข้าง

บ้านอิฐ

“เจ้าของบ้านอยากได้บ้านพักตากอากาศสไตล์อังกฤษ เรามองว่าถ้ายกสถาปัตยกรรมอังกฤษต้นตำรับมาตั้งกลางหางดงคงดูผิดที่ผิดทางพอสมควร ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอยากออกแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะกับเขตทรอปิคัลมากกว่า เพื่อให้ตอบรับกับสภาพภูมิอากาศที่ทั้งร้อน และหนาวเย็นตามฤดูกาลของเชียงใหม่”

คุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ สถาปนิกผู้นำทีมบอกเล่าถึงกระบวนการออกแบบ เริ่มตั้งแต่การตีความโจทย์ที่แสนท้าทาย ไปจนถึงแนวคิดการถ่ายทอดความเป็น “บริติชสไตล์” ให้สอดคล้องกับบริบทความเป็นไทย

“เราลองไปศึกษาบ้านชนบทในเมืองคอร์นวอลล์ (Cornwall) ของประเทศอังกฤษ พบว่ามีลักษณะเด่น ๆ อยู่ที่การใช้หลังคาหน้าจั่วทรงสูง และการผสมผสานกันของวัสดุ ทั้งผนังอิฐเปลือย ผนังอิฐฉาบขาว (Whitewashed) และการโชว์โครงสร้างไม้ภายนอกอาคาร (Half-Timbering) เราจึงพยายามดึงคาแร็กเตอร์เหล่านั้น มาประยุกต์ให้เข้ากับที่ตั้งของบ้านตีนดอย”

บ้านอิฐ ทางเข้าบ้าน บ้านอิฐ หลังคากระเบื้องดินเผา

บ้านอิฐ บันไดอิฐ

กระบวนการออกแบบดูเหมือนจะเริ่มต้นจากวัสดุเป็นหลัก อาคารอิฐหลังคาหน้าจั่วทรงสูง ผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่ อย่าง กระจก เด่นด้วยเส้นสาย และระนาบสีดำสร้างกลิ่นอายของ Half-Timbering ตั้งตระหง่านท่ามกลางกลุ่มอาคารหลังเล็กสีขาวเรียบง่าย

“อิฐ” ในที่นี้จึงทำหน้าที่นำเสนอรูปแบบของสถาปัตยกรรมอังกฤษ ไปพร้อม ๆ กับการสื่อสารถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเชียงใหม่ไปในตัว เนื่องจากแหล่งผลิตอิฐทำมือแบบโบราณที่ใช้ในโครงการนี้อยู่ถัดไปไม่ไกล ซึ่งมาจากชุมชน “เหมืองกุง” ผู้ผลิตอิฐและเครื่องปั้นดินเผาดั้งเดิมของเชียงใหม่นั่นเอง

บ้านอิฐ บ้านอิฐบ้านอิฐ ผนังอิฐโค้ง

แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากบ้านสไตล์อังกฤษ แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทที่ตั้ง แนวคิดการออกแบบตามลักษณะเรือนกลุ่มแบบ “บ้านเรือนไทย” จึงได้รับการนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการนี้ โดยทีมสถาปนิกใช้วิธีการรื้อสร้าง (Deconstruct) ผังบ้านไทยดั้งเดิม เพื่อปรับรูปแบบการอยู่อาศัยให้เข้ากับยุคสมัย ภาพรวมจึงประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 5 หลัง มีคอร์ตกลางขนาดใหญ่ แบ่งแยกพื้นที่อยู่อาศัย และโซนเซอร์วิสออกจากกัน โดยยังคงสอดแทรกแนวคิดการใช้วัสดุให้สอดคล้องไปกับรูปแบบอาคาร

“การกำหนดตำแหน่งการใช้วัสดุจะพัฒนาจากความเรียบง่ายไปสู่ความซับซ้อน เห็นได้จากโรงจอดรถ ซึ่งเป็นส่วนเซอร์วิสบริเวณทางเข้า เด่นด้วยการออกแบบอาคารให้เป็นสีขาวล้วน ไล่ไปจนมาถึงห้องนอนแขกก็ยังคงเป็นอาคารสีขาวหลังคากระเบื้องดินเผา แต่เมื่อเข้ามาสู่เรือนรับรองหลัก และเรือนนอนจะออกแบบเป็นอาคารอิฐทั้งหลัง มีลูกเล่นการก่ออิฐหลากหลายแพตเทิร์นเต็มไปหมด ซึ่งออกแบบให้มีทั้งแบบโปร่งและทึบเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน ทั้งผนังและพื้นจึงมีแพตเทิร์นกว่า 10 แบบ แต่ละแบบจะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากทางเข้าไล่ไปถึงอาคารห้องนอนหลักซึ่งมีรายละเอียดมากที่สุด”

บ้านอิฐ

ขนาดของตัวอาคารและผนังทั้งหมดเกิดจากการคำนวณให้มีสัดส่วนลงตัวกับขนาดของก้อนอิฐ เพื่อไม่ให้มีการตัดก้อนอิฐเป็นเศษ นอกจากจะเป็นรายละเอียดอันประณีต อย่างที่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพึงมี อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบที่เคารพและเข้าใจธรรมชาติของวัสดุ มากกว่าให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียว และแน่นอนว่าความเข้าใจนั้นย่อมต้องเชื่อมโยงไปถึง “ช่างฝีมือ” อีกหนึ่งผู้ช่วยสำคัญที่จะทำให้แนวคิดต่าง ๆ กลายเป็นรูปธรรม

บ้านอิฐ

บ้านอิฐ

บ้านอิฐ

“เราต้องทำแบบจำลองแพตเทิร์นการก่ออิฐแต่ละแบบ ทั้งผนังโปร่ง และผนังโค้ง เพื่อใช้สื่อสารกับช่าง โดยมีเงื่อนไขคือพยายามก่ออิฐให้เต็มก้อน โดยใช้ปูนมอร์ตาร์ก่อหนา 3 มิลลิเมตร ได้อย่างลงตัวพอดีตามที่คำนวณไว้ ปัญหาหลัก ๆ ที่พบคือ อิฐเปื่อย เนื่องจากเป็นอิฐทำมือความร้อนในการเผาไม่สม่ำเสมอ หากก้อนไหนมีปัญหาก็ต้องมาเปลี่ยนทีละก้อน 

“ดังนั้นถ้าจะออกแบบด้วยอิฐ สถาปนิกควรต้องมีความเป็นช่างสูง เราต้องเข้าใจคาแร็กเตอร์ของอิฐให้ดีก่อน และต้องเข้าใจการทำงานของช่างเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์”

บ้านอิฐบ้านอิฐ

ไม่ช้าไม่นานผนังอิฐก่อเรียบในวันนี้ คงเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำร่องรอยแห่งกาลเวลาจากธรรมชาติ และนั่นคงยิ่งช่วยให้บ้านหลังนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริบทโดยรอบมากยิ่งขึ้นตรงตามความตั้งใจของทุกคน

ชมภาพโครงการบ้านตีนดอยแบบเสร็จสมบูรณ์ 100% จาก Usssajaeree Studio เพิ่มเติมที่นี่

ออกแบบ : Site-Specific : Architecture & Research


เรื่อง : MNSD
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

อ่านต่อ COOL BRICK บ้านพักตากอากาศกลางฤดูร้อน