KAOMAI ESTATE 1955 ก้าวใหม่ของ เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ต

หากนับการเปลี่ยนโรงบ่มใบยาสูบให้กลายเป็นห้องพักตั้งแต่ยุคก่อตั้งรีสอร์ต การปรับปรุงอาคารและพื้นที่สวนโดยรอบของ “เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ต” ในนามKAOMAI ESTATE 1955 ” ครั้งนี้จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ตลอดการดำเนินกิจการมานานกว่า 20 ปีของบูทีกโฮเทลที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

KAOMAI ESTATE 1955

 

1.

“เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ต” เกิดขึ้นจากการพลิกฟื้นพื้นที่ปลูกและบ่มใบยาสูบเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว อายุกว่า 60 ปี หรือที่เรียกว่า  “โรงบ่มฟาร์มทุ่งเสี้ยว” ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 หรือ ค.ศ.1955 ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับญาติมิตรและเพื่อนฝูง ในช่วงแรกขณะที่ คุณธวัช เชิดสถิรกุล เป็นผู้บริหารเมื่อ 40 ปีก่อน จนกระทั่งได้รับการพัฒนาต่อยอดจากทายาทรุ่นที่สอง เพื่อเปิดเป็นธุรกิจโรงแรมอย่างจริงจังในเวลาต่อมา

KAOMAI ESTATE 1955

KAOMAI ESTATE 1955

“เป็นปณิธานของคุณพ่อว่าอยากจะสร้างสิ่งที่ทำให้คนจดจำ

“เราก็อยากจะทำที่นี่ให้สำเร็จค่ะ”

ขัตติรัตน์ เชิดสถิรกุล กล่าวกับ room เมื่อครั้งที่เราไปเยือนสถานที่เขียวชอุ่มแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ไกลราวครึ่งชั่วโมงระหว่างเดินทางด้วยรถยนต์ ผนังโรงบ่มที่เขียวครึ้มไปด้วยต้นตีนตุ๊กแกยังคงไม่ต่างจากเดิม หากแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการออกแบบให้มีลานโล่งกว้าง รอบ ๆ จากเนินดินปนหญ้าได้เปลี่ยนเป็นสนามหญ้าใต้ร่มไม้ใหญ่ ให้ผู้คนได้แวะเวียนมานั่งเล่น ดื่มกาแฟ และถ่ายรูปท่ามกลางบรรยากาศสุดร่มรื่น

ระหว่างนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ เจ้าของสถานที่ยังกล่าวกับเราเพิ่มเติมอีกว่า

“คนมักจะมองว่าเก๊าไม้เป็นที่ปิด เราจึงมีไอเดียว่าอยากเปิดใช้งานพื้นที่ด้านหลังมากขึ้น และเราก็อยากทำให้อาคารโรงบ่มนั้นเป็นที่รู้จัก เพราะคนรุ่นหลังแทบไม่มีใครรู้จักกันแล้ว”

ก่อนที่จะปิดท้ายว่า “ภาพรวมอันดับหนึ่งคงเป็นเรื่องของชุมชน ต่อมาก็คือให้อาคารกับธรรมชาติกลมกลืนกันมากที่สุด”

 

2.

“เราไม่ได้มองว่าเราจะสร้างอะไรเพิ่ม แต่พยายามจะเน้นตัวโรงบ่มที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เราจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นพระเอก”

กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิกหนึ่งในทีมออกแบบจาก ShmaSoen เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการที่เขาได้รับมอบหมาย นอกจากขนาดของพื้นที่ซึ่งเป็นความท้าทายลำดับต้น ๆ แล้ว ความเก่าแก่ของสถานที่ยังเป็นอีกข้อควรระวัง แต่ด้วยเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กลับยิ่งช่วยขับให้งานออกแบบครั้งนี้มีรายละเอียดน่าจดจำและโดดเด่นขึ้น

KAOMAI ESTATE 1955

KAOMAI ESTATE 1955

“ในการออกแบบเรามีคอนเซ็ปต์ว่า “Travel Through Time” จากโรงบ่มที่มีหลายยุค และมีหลายเซ็ต เราค่อย ๆ ให้คน เข้าไปสัมผัสบรรยากาศและประสบการณ์ในแต่ละพื้นที่ เปรียบเหมือนเดินเข้าไปในอดีต และพบว่าแต่ละยุคของสถานที่แห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

“เราคิดว่า ‘หญ้า’ นี่แหละ คือพระเอก เราจึงเปลี่ยนจากลานดินเดิมแล้วทำตรงนั้นเป็นสนามหญ้า จัดการทางสัญจรของถนนใหม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ คือ “Master Planning” ปรับให้ตรงนี้เกิดเป็นสเปซหลัก แทนการใส่องค์ประกอบอื่นที่อาจไม่เข้ากันลงไปเยอะ ๆ

“อุปสรรคในการทำงานครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในไซต์ที่มีความเก่าแก่  เราจึงต้องรู้จักลิมิต ไม่ควรออกแบบอะไรที่ดูเยอะเกินไป เพื่อให้สถานที่ได้ทำงานด้วยตัวเอง”

หากดูจากผังโดยรวมสิ่งที่ภูมิสถาปนิกสร้างใหม่สิ่งเดียวมีเพียงลานหญ้าแบบอัฒจรรย์ หรือ Amphitheater ขนาดใหญ่ตรงกลาง  นอกเหนือจากนั้นเป็นเพียงการปรับปรุงพื้นที่ทางเดิน และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามสะอาดตา จากตำแหน่งลานหญ้านี้นับได้ว่าเป็นพื้นที่หัวใจของโครงการก็ว่าได้ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ได้ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1. ช่วยสร้างพื้นที่ศูนย์กลางรองรับคนจำนวนมาก (Main Space) ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโครงการเก๊าไม้ และ 2. ยังช่วยควบคุมคนที่จะเข้าถึงโครงการ โดยสามารถแยกการเข้าถึงได้ชัดเจน ระหว่างพื้นที่สาธารณะ อย่าง KAOMAI ESTATE 1955 และส่วนที่เป็นส่วนตัวของโรงแรมเดิม นอกจากนี้สนามหญ้ายังช่วยเปิดโอกาสในการจัดกิจกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมสำหรับสาธารณะ ทั้งที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงประโยชน์ในเชิงธุรกิจตามไอเดียของเจ้าของ

การสร้างลานสนามหญ้ายังตอบสนองการใช้งานใหม่แม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อย่างคาเฟ่ และพิพิธภัณฑ์ที่เจ้าของต้องการให้มีเพิ่ม เพื่อช่วยให้ที่นี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อ่านต่อ