เมื่อศิลปินงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 x แฟชั่นสุดหรู

ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ครั้งนี้มีศิลปินร่วมงานมากมายกว่า 75 คน ที่มาร่วมแสดงงานในสถานที่สำคัญ 20 แห่งทั่วกรุงเทพ โดยหลายท่านเคยได้ไปร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับแนวหน้าของโลกมามาแล้ว หรือ บางท่านก็สร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นด้วยความคิดสร้างสรรค์จากผลงานศิลปะของตัวเอง ศิลปะกับแฟชั่น บางครั้งก็เป็นเส้นบางๆระหว่างกัน วันนี้  baanlaesuan.com จะพาทุกท่านไปชมกันว่าเมื่อสองสิ่งนี้ได้ประสานมือกัน เมื่อศิลปะได้ออกจากนอกแกลลอรี่ มาอยู่ติดตัวผู้สวมใส่ใช้สอย จะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง

01 | Christian Dior x Lee Bul

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
THE LADY DIOR SEEN โดย อี บุล | เครดิตภาพ  ©LEE BUL จาก Dior

อี บุล คือศิลปินรุ่นใหญ่ชาวเกาหลีใต้วัย 54 ปี เธอเป็นที่ยอมรับในฝีมือที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้หลากหลายแขนง แถมทำได้ดีทุกอย่างเสียด้วย หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้กับเธอไม่น้อยคือ การเป็นศิลปินชาวเกาหลีที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์หรูระดับโลกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Christian Dior แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส  โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว เธอออกแบบกระเป๋าคอลเล็คชั่นพิเศษในชื่อ “DIOR LADY ART #2” ซึ่งได้พลิกรูปโฉมกระเป๋า Lady Dior ให้ดูล้ำสมัยด้วยการใช้เทคนิคการนำ Plexiglas หรือแผ่นกระจกทนความร้อนในรูปทรงเรขาคณิต เธอจับชิ้นเล็กมาเรียงต่อชิ้นน้อยจนเกิดรูปทรงแปลกตาแต่น่าดึงดูดใจตั้งแต่แรกเห็น ซึ่งแนวคิดนี้นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะ ‘Cella’ ที่ประกอบไปด้วยแผ่นกระจกเล็กๆมาเรียงต่อกันเป็นรูปทรง ซึ่งศิลปินมากประสบการณ์ท่านนี้ได้ใช้ความพยามถึง 60 ครั้งในสร้างผลงานประติมากรรมจัดวางชิ้นนี้ให้ได้อย่างที่ต้องการ เราได้สอบถามกับ คุณ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์ บรรณาธิการฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ของเรา ผู้ที่ได้เคยเข้าไปยืนอยู่ภายในผลงานศิลปะ ‘Cella’ มาแล้ว ซึ่งได้อธิบายความรู้สึกขณะนั้นว่า “มันเกิดความรู้สึกเงียบสงบอย่างประหลาด ที่ได้เห็นวัตถุชิ้นเดียวกันสะท้อนกันไปมาในหลายแง่มุม ผมใช้เวลายืนอยู่ในนั้นนานพอประมาณเลยทีเดียว”

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
ผลงาน Cella โดย อี บุล | เครดิตภาพ  ©LEE BUL จาก Dior

Clip VDO ที่ อี บุล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวการทำงาน โดยเธอบอกว่าเธอมักจะบันทึก ไอเดียในการสร้างงานทุกเช้า จดบันทึกไว้แล้วพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆจนกลายเป็นงานศิลปะของเธอในที่สุด

สำหรับใครที่ชอบการถ่ายทอดแนวคิดในการเล่นกับมิติและมุมมองของ อี บุล ที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุแปลกแต่ล้ำสมัย ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นี้สามารถไปถ่ายรูปและชื่นชมงาน Diluvium ศิลปะจัดวางด้วยเทปเงินที่เธอเนรมิตพื้นที่ภายในอาคารอีสต์ เอเชียติก ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดูล้ำสมัยภายใต้บรรยากาศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของอาคารเก่าแก่

ผลงานศิลปะ Diluvium ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Diluvium โดย อี บุล | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 

ผลงานศิลปะ Diluvium ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Diluvium โดย อี บุล | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

02 | Louis Vuitton x Yayoi Kusama

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
Louis Vuitton – Yayoi Kusama Collection | เครดิตภาพ LOUIS VUITTON

ถ้านึกถึงลายจุด หรือ Polka dot จะนึกถึงศิลปินคนไหนไปไม่ได้เลยนอกจาก คุณป้ายาโยอิ คุซามะ เช่นเดียวกับถ้าเรานึกถึงการร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นชั้นแนวหน้าของโลกของคุณป้าลายจุด ก็คงต้องนึกถึงการร่วมงานกับแบรนด์ดังแห่งเมืองน้ำหอม Louis Vuitton ก่อนใคร

สำหรับคอลเล็คชั่นพิเศษที่ทำให้วงการแฟชั่นหรูต้องสั่นสะเทือนเมื่อปี 2012 เมื่อสองผู้นำในวงการของตัวเองอย่าง Louis Vuitton และ ยาโยอิ คุซามะ ได้ร่วมมือกันสร้างคอลเล็คชั่น  “Louis Vuitton – Yayoi Kusama” อันเกิดจากการนำเอกลักษณ์อย่าง “Dots Infinity” ของคุณป้าที่เคยปรากฏลงบนกระเป๋าหนัง รุ่น Vernis ของ Louis Vuitton มาแล้วครั้งหนึ่ง กลับมาสร้างสรรค์ลงบนผืนผ้าใบลายโมโนแกรมสีสันสดใส เช่น กระเป๋าถือทรง Speedy กระเป๋าสะพาย รุ่น Neverfull ตลอดจนรองเท้า กระเป๋าสตางค์ ผ้าพันคอ ฯลฯ ซึ่งนอกจากสินค้าแฟชั่นเหล่านี้แล้ว ผลงานของเจ้าแม่ลายจุดผู้นี้ยังลามไปถึงการตกแต่งร้าน และ สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆของแบรนด์ ซึ่งวันนี้เรามีคลิป VDO จาก stylerumor ใน วันที่ ยาโยอิ คุซามะ ไปเปิดตัว คอลเล็คชั่นนี้ที่ Louis Vuitton สาขา Fifth Avenue ที่ New York เมื่อปี 2012 มากฝากกัน

สำหรับใครที่อยากชมผลงานของคุณป้ายาโยอิ คุซามะ แบบใกล้ชิด โอกาสนี้มาถึงแล้ว พับเก็บเรื่องกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้าไว้สักครู่ แล้วตามไปดูเหล่าฟักทองลายจุดอันเลื่องชื่อลือนามของเธอกันได้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และสยามพารากอน

ผลงานศิลปะ ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin)ที่ สยามพารากอน (ชั้น 1 บริเวณ Fashion Gallery 3) | เครดิตภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

 

ผลงานศิลปะ ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin) ที่ สยามพารากอน (ชั้น 1 บริเวณ Fashion Gallery 3) | เครดิตภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

 

ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

 

ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

03 | Prada x Elmgreen & Dragset

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
ผลงานศิลปะ Prada Marfa | เครดิตภาพ The Lyda Hill Texas Collection of Photographs in Carol M. Highsmith’s America Project, Library of Congress, Prints and Photographs Division.

Elmgreen & Dragset สองคู่หูศิลปินร่วมสมัยชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์ ซึ่งมีผลงานเลื่องชื่อในด้านศิลปะจัดวางก็แสบใช่ย่อยกับผลงานที่พวกเขาฝากเอาไว้กับแบรนด์ดังอย่าง Prada นั่นคือผลงาน “Prada Marfa” งานศิลปะจัดวางที่เรียกเสียงแซ่ซ้องไปทั่ววงการศิลปะและแฟชั่น เนื่องจากพวกเขานำช็อปของ Prada ไปตั้งอยู่กลางทะเลทรายในเทกซัส ซึ่งห่างออกไปจากสนามบินราว 42 กิโลเมตร และต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึง โดยใจความสำคัญของงานนี้ก็คือการสื่อสารให้เห็นถึงกระแสทุนนิยมที่หลั่งไหลเข้าครอบงำจิตใจมนุษย์ แต่พวกเขาไม่ได้สร้างสรรค์มันขึ้นโดยพละการแต่อย่างใด งานนี้ได้รับการสนับสนุนด้วยความเต็มใจโดย Prada นั่นเอง

ผลงานศิลปะ Zero ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Zero โดย Elmgreen & Dragset | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ Zero ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Zero โดย Elmgreen & Dragset | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ใครชอบงานศิลปะความคิดสร้างสรรค์ในแบบ Elmgreen & Dragset ห้ามพลาดเลยกับประติมากรรม Zero รูปทรงสระว่ายน้ำแนวตั้ง ความสูงกว่า 8 เมตร ที่จัดวางด้านหน้าอาคาร อีสต์ เอเชียติก ตลอดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้

04 | Marina Abramovic

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
ภาพหน้าปก สารคดี Marina Abramović: The Artist Is Present” (2012) ที่ถ่ายทำจากการแสดงเมื่อปี 2010 ซึ่งภาพนี้ถ่ายโดย Marco Anelli

มารีนา อบราโมวิช ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะร่วมสมัย เจ้าของผลงาน The Artist is Present ที่จัดแสดงไปเมื่อปี 2010 ที่ The Museum of Modern Art โดยครั้งนั้นมารีนาได้ทำการแสดงสดด้วยการนั่งนิ่ง ๆ จ้องตากับผู้คนที่วนเวียนกันมานั่งเก้าอี้ตลอดการจัดแสดงเป็นเวลา 736 ชั่วโมง 30 นาที โดยที่มีคนรอต่อคิวเพื่อมานั่งจ้องตากับเธอนับพันคนทีเดียว

ล่าสุดแบรนด์สุดหรูจากอิตาลีอย่าง Gucci นึกสนุกจัดนิทรรศการ ‘The Artist is Present’ เลียนแบบ เพื่อสื่อถึงประเด็นสินค้าลอกเลียนแบบ โดยได้ ศิลปินร่วมสมัย Maurizio Cattelan ผู้สร้างผลงานประติมากรรมที่แดกดันสังคมไว้มากมาย มาเป็นพ่องานในการจัดงานนี้ ซึ่งแน่นอนจะเห็นได้ว่าจากผลงาน Gucci ArtWall ที่วาดจากรูปโฆษณาที่ล้อเลียนรูปถ่าย The Artist is Present ของ มารีนา อบราโมวิช ได้ถูกวาดขึ้นตามเมืองแฟชั่นต่างๆทั่วโลก เพื่อโปรโมทนิทรรศการนี้ ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ Yuz ใจกลางเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งแต่วันนี้ – 16 ธันวาคม 2018

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
ภาพที่ถูกทำขึ้นใหม่ในนิทรรศการ The Artist Is Present ของ Gucci โดยอิงจากภาพปกด้านบนของ Marco Anelli | เครดิตภาพ Ronan Gallagher, inspired by Marco Anelli’s original portrait of Marina Abramović.

 

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
(ฮ่องกง) ผลงานศิลปะที่วาดจากภาพถ่ายของ Ronan Gallagher ที่ทำล้อเลียนภาพของ มารีนา ที่ถ่ายโดย Marco Anelli | เครดิตภาพ Gucci

 

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
(มิลาน) ผลงานศิลปะที่วาดจากภาพถ่ายของ Ronan Gallagher ที่ทำล้อเลียนภาพของ มารีนา ที่ถ่ายโดย Marco Anelli | เครดิตภาพ Gucci

 

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
(ลอนดอน) ผลงานศิลปะที่วาดจากภาพถ่ายของ Ronan Gallagher ที่ทำล้อเลียนภาพของ มารีนา ที่ถ่ายโดย Marco Anelli | เครดิตภาพ Gucci

นอกจาก 4 ศิลปินต่างประเทศข้างต้นที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีศิลปินชาวไทยในงานบางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่สร้างสรรค์ผลงานสะท้อนการผสานศิลปะกับแฟชั่นเข้าด้วยกันอย่างลงตัวอีกหลายๆ งานน่าสนใจให้ไปติดตามชมกัน อาทิ จิตต์สิงห์ สมบุญ ศิลปิน และ แฟชั่นดีไซเนอร์ อดีต Creative Director แบรนด์ Playhound by Greyhound ซึ่งในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่ครั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงาน #Faithway (Paths of Faith) ที่สะท้อนความเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์แบบเข้มข้น โดยเขาจับโยงเรื่องราวของความเชื่อ ศิลปะกับแฟชั่นมาผสานรวมกันจนกลมกล่อมออกมาเป็นเสื้อคลุมที่ด้านหลังเสื้อพิมพ์คำว่า “ศรัทธา” เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนไว้ตรงกลาง จัดแสดง(แขวน)ไว้ด้านหน้าประตูทางเข้าวิหารพระนอนของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน เพื่อรอให้ผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาและนักท่องเที่ยวได้สวมมันเข้าวิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมจิตใจหรือความเชื่อ

ผลงาน Faithway โดย จิตต์สิงห์ สมบุญ
จิตต์สิงห์ สมบุญ ขณะกำลังสาธิตใส่รองเท้าเข้าไปในเสื้อ Faithway | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 

ผลงานศิลปะ #Faithway ของ จิตต์สิงห์ สมบุญ
ภาพ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใส่ผลงานศิลปะ #Faithway ของ จิตต์สิงห์ สมบุญ | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

และล่าสุดกับเสื้อยืดของศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง คมกฤษ เทพเทียน ที่นำผลงาน Giant Twins หรือ สองเกลอ ของตนเองที่สร้างขึ้นเพื่องาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ออกแบบใหม่ให้เป็นลาย Graphic ตัวการ์ตูนน่ารักๆสีสันสดใส เอามาทำเสื้อยืด ซึ่งทำให้ได้สัมผัสกับความเป็น “สองเกลอ” ในอีกอารมณ์หนึ่ง สำหรับใครที่่สนใจอยากจะหาใส่ไปชมงานกัน สามารถติดต่อไปได้ที่แฟนเพจของ คมกฤษ

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
เสื้อยืดลาย Giant Twins หรือ สองเกลอ ของ คมกฤษ เทพเทียน | เครดิตภาพ ศุภกร ศรีสกุล

 

Bangkok Art Biennale 2018 ศิลปะ กับ แฟชั่น
เสื้อยืดลาย Giant Twins หรือ สองเกลอ ของ คมกฤษ เทพเทียน | เครดิตภาพ ศุภกร ศรีสกุล

ไม่ว่าจะคุณจะชอบ ศิลปะ แฟชั่น หรือ งานออกแบบ หรือ สนใจของสวยๆงามๆ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นับเป็นโอกาสพิเศษ กับการได้ชื่นชมผลงานของศิลปินระดับโลกแบบใกล้ชิดโดยไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ในเมื่อผลงานของพวกเขาถูกนำมาจัดแสดงให้ชมกันอย่างใกล้ชิดขนาดนี้ ไม่แวะไปชมเสียหน่อยคงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆ ปักหมุดในปฏิทินเอาไว้เลย ตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ 2562 เท่านั้น!

เรื่อง: นวภัทร


จัดเต็ม Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)

พบกับเรื่องราวของ อาคาร อีสต์ เอเชียติก หนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ ใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

หวง หย่ง ผิง ปรมาจารย์ แห่ง ความขบถ ย้อนแย้ง และ การพลัดถิ่น ใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x