THE BOOK HOUSE งานบ้านและสวนแฟร์ select 2022

THE BOOK HOUSE
บ้านและสวนแฟร์ select 2022

จุดเด่นของโซนสำนักพิมพ์บ้านและสวน ในงานบ้านและสวนแฟร์ select 2022 : BETTER TOGETHER ครั้งนี้ คือ การหยิบเอาเนื้อหาของหนังสือในเครือสำนักพิมพ์บ้านและสวนที่พูดถึงเรื่องของคนกับต้นไม้มาแสดงภายใต้คอนเซ็ปต์ “Botanic Home: สวนพฤกษศาสตร์ในบ้าน” ผ่านทั้ง 4 จุด ไฮไลต์ ได้แก่

  • การอยู่ร่วมกับต้นไม้ภายในบ้านและการเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยผ่านการจำลองบรรยากาศของห้องต่าง ๆ ในบ้าน พร้อมแนะนำตัวอย่างการเลือกใช้ชนิดต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
  • รวม 6 ร้านต้นไม้ยอดฮิตที่ไม่เคยตกเทรนด์ ที่เปิดโอกาสให้คนรักต้นไม้ได้มาพบปะพูดคุย และสอบถาม ถึงวิธีการดูแลและเทคนิคการเลี้ยงกับเจ้าของร้านได้
  • เรือนกระจกที่รวม 5 กลุ่มต้นไม้ยอดฮิต ได้แก่ ไม้ใบ  กุหลาบ เฟิน บอนสี แคคตัสและไม้อวบน้ำ พร้อมให้ข้อมูลพรรณไม้ต่าง ๆ ผ่าน QR CODE
  • บ้านและสวนคลินิก หมอต้นไม้ ตอบปัญหาข้อสงสัยวิธีการรักษาและดูแลต้นไม้ให้ห่างไกลจากโรคพืช

นอกจากนี้ ภายในโซนนี้ยังมีคาเฟ่สไตล์ Botinic Garden จากร้าน Little Tree ให้คุณได้นั่งพักในบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยพืชพรรณนานาชนิดกันอีกด้วย

 

BA – 02.1 : วัสดุปลูกสำหรับ 5 กลุ่มต้นไม้ยอดฮิต

ดินหรือวัสดุปลูกที่อุดมสมบูรณ์ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการปลูกพืชทุกชนิด เพราะเป็นแหล่งสะสมสารอาหารเพื่อให้ต้นไม้สามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงและสวยงาม

ไม้ใบ (FOLIAGE PLANTS)

ไม้ใบทั่วไปชอบและเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุปลูกที่โปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับแตกราก ใบ และยอดอ่อน

ฟิโลเดนดรอนและมอนสเตอรา

สูตร 1 : ดินร่วน 2 ส่วน + ทรายหยาบ 2 ส่วน + ขุยมะพร้าว 2 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

สูตร 2 : ดินร่วน 2 ส่วน + กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน + ทรายหยาบ 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

หน้าวัวใบและอโลคาเซีย

สูตร 1 : ดินร่วน 1 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน

สูตร 2 : ดินร่วน 1 ส่วน + ใบก้ามปูผุ 1 ส่วน + กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน

ไทรประดับ (เช่น ไทรใบสัก ยางอินเดีย ไทรใบโพธิ์หัวกลับหรือสาลิกาลิ้นทอง)

สูตร 1 : ดินร่วน 1 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + ใบไม้ผุ 1 ส่วน + กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน

สูตร 2 : ดินร่วน 1 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + ขุยมะพร้าว 1 ส่วน + กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

Tips ควรแช่ขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวสับในน้ำ 3-4 วันก่อนนำมาใช้ เพื่อละลายสารแทนนินออกให้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นไม้ประดับอาจเกิดอาการใบไหม้ได้

ข้อมูลจาก หนังสือชุดข้อมูลการเกษตร : วัสดุปลูกไม้ประดับ

 

แคคตัส (CACTUS) และ ไม้อวบน้ำ (SUCCULENTS)

ดินปลูกแคคตัสที่ดีควรมีลักษณะโปร่ง ร่วนซุย อุดมไปด้วยสารอาหาร ระบายน้ำได้ดี แต่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้พอสมควร

สูตร 1 : พีตมอส 2 ส่วน + หินภูเขาไฟ 1 ส่วน + เพอร์ไลต์ 1 ส่วน

เพอร์ไลต์ (Perlite) เกิดจากการนำแร่หินภูเขาไฟตามธรรมชาติมาเผาด้วยความร้อนสูง มีน้ำหนักเบา อุ้มน้ำได้ดี แต่ระเหยออกได้เร็ว ช่วยให้เครื่องปลูกโปร่งมากขึ้น

พีตมอส (Peat Moss) เกิดจากซากสแฟกนั่มมอสที่ตายแล้วทับถมกันจนย่อยสลายกลายเป็นผงสีดำ นิยมใช้เพาะเมล็ดหรือใช้ผสมกับเครื่องปลูกชนิดอื่น เพื่อช่วยให้กักเก็บความชื้นได้ดี และอุดมไปด้วยธาตุอาหาร

สูตร 2 : ดินร่วน 3 ส่วน + แกลบเผา 1 ส่วน + ทรายหยาบ 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

สูตร 3 : ดินร่วน 2 ส่วน + ทรายหยาบ 3 ส่วน + ถ่านป่น 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

สูตร 4 : ดินร่วน 4 ส่วน + เพอร์ไลต์ 1 ส่วน + รองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟ 1 ส่วน

สูตร 5 : ดินใบก้ามปู 2 ส่วน + ทราย 3 ส่วน + ถ่านป่น 1 ส่วน

Tips สำหรับแคคตัสอิงอาศัย เครื่องปลูกที่หาได้ง่ายที่สุดคือ กาบมะพร้าว เปลือกสน หรือปลูกเกาะกับขอนไม้

ข้อมูลจาก หนังสือชุดไม้ประดับ : แคคตัส cactus และ หนังสือชุดไม้ประดับ : ไม้อวบน้ำ Succulents

 

กุหลาบ (ROSE)

ดินปลูกกุหลาบที่ดีควรมีลักษณะเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย เพราะ มีความโปร่ง ไม่แน่นทึบ ระบายน้ำและอากาศได้ดี ค่า pH 6.5-7.0 คือเป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อย มีธาตุอาหารสมบูรณ์ เพื่อให้กุหลาบเจริญเติบโตและออกดอกได้

สูตร 1 : ดินร่วน 1 ส่วน + แกลบดิน 2 ส่วน + ปุ๋ยคอก 1 ส่วน

นอกจากนี้ ยังสามารถปรับสภาพดินได้ด้วยการใส่อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายแล้ว เช่น เศษหญ้า เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ขุยหรือกาบมะพร้าว ปุ๋ยคอกเก่าหรือขี้เลื่อย เพิ่มเติมในเครื่องปลูก เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของกุหลาบได้เช่นเดียวกัน

สูตร 2 : กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน + ขุยมะพร้าว 3 ส่วน + แกลบดิน 3 ส่วน + ทรายหยาบ 1 ส่วน + ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยเคมี

Tips หากนำดินปลูกที่ยังไม่ได้หมักไปใช้ จะทำให้วัสดุปลูกมีความร้อนสะสม ส่งผลให้กุหลาบใบเหลืองและเจริญเติบโตช้าได้

ข้อมูลจาก หนังสือชุดไม้ประดับ : กุหลาบ roses

 

เฟิน (FERN)

หลักการปลูกเลี้ยงต้องคำนึงถึงรูปแบบการเจริญเติบโตและสภาพแวดล้อมในธรรมชาติของแต่ละชนิด วัสดุปลูกจะต้องสามารถเก็บความชุ่มชื้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี สะอาด และไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง

เฟินขึ้นบนดิน

สูตร 1 : ดินร่วน 1 ส่วน + ทรายหยาบ 1 ส่วน + ใบไม้ผุ 4 ส่วน

สูตร 2 : ใบไม้ผุ 1 ส่วน + กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน + ทรายหยาบ 1 ส่วน

สูตร 3 : พีตมอส 1 ส่วน + อนินทรียวัตถุ 1 ส่วน

อนินทรียวัตถุ หรือ วัสดุอนินทรีย์ เช่น ทราย เพอร์ไลต์ หินภูเขาไฟ

สูตร 4 : พีตมอส 1 ส่วน + อากะดามะ 1 ส่วน + คานูมะ ½ ส่วน + เพอร์ไลต์ ½ ส่วน

อากะดามะ (Akadama Soil) มีลักษณะเป็นชั้นดินสีแดงคล้ำ มีค่า pH 6.5-6.8

คานูมะ (Kanuma Soil) เป็นชั้นดินสีเหลืองที่อยู่ถัดจากอากะดามะ มีรูพรุนมากกว่า อุ้มน้ำได้ดีกว่า มีค่า pH 5.6-6.4

เฟินอิงอาศัย

สูตร 1 : กาบมะพร้าวสับ 3 ส่วน + ถ่านทุบ 1 ส่วน + ใบไม้ผุ 1 ส่วน

สูตร 2 : พีตมอส 1 ส่วน + เปลือกสน 1 ส่วน + เพอร์ไลต์ 1 ส่วน

ข้อมูลจาก หนังสือชุด Plant Library : เฟิน all about Ferns

 

บอนสี (CALADIUM)

บอนสีจะเติบโตและให้สีสันสวยงาม ถ้าหากดินปลูกมีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารเพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้ดินเบา เพราะ สามารถดูดซับและระบายน้ำได้ดี โดยเฉพาะดินทองหลางที่เหมาะสำหรับปลูก เพื่อให้หัวอวบสมบูรณ์

สูตร 1 : ดินขุยไผ่(กอไผ่ที่ตายแล้ว) 1 ส่วน + ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปู 2 ส่วน

สูตร 2 : ดินทราย 1 ส่วน + ใบมะขามผุ 1 ส่วน

สูตร 3 : ดินเหนียวที่ตากแดดจนแห้งแล้วทุบ 2 ส่วน + เศษหญ้าแห้งสับ 1 ส่วน

Tips โรยหน้าด้วยปุ๋ยคอก เดือนละ 1 ครั้ง จะช่วยให้ต้นสวยงามขึ้น

สูตร 4 : ดินเหนียวร่อนเป็นก้อนขนาดเล็ก 1 ส่วน + ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน

ข้อมูลจาก หนังสือชุดไม้ประดับ : บอนสี caladium

 

BA – 03.1 : ระดับความเข้มของแสงในห้อง สำหรับต้นไม้ในบ้าน

โดยทั่วไปความต้องการแสงของพืชแต่ละชนิดนั้นจะมีความแตกต่างกัน เพื่อใช้ในการคายน้ำและการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) อีกทั้งปริมาณความเข้มแสงในระดับต่าง ๆ ยังส่งผลทำให้ต้นไม้มีรูปทรงและสีของใบที่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้น การให้แสงสว่างที่เหมาะสมจะช่วยให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างดีและมีรูปทรงที่สวยงาม

1.Bright Direct Light / Full Sun แสงตรง แรงจัด

พื้นที่ที่โดนแสงแดดจัดส่องถึงโดยตรงจะเป็นพื้นที่ที่สว่างที่สุดในบ้าน มักจะอยู่บริเวณระเบียง ดาดฟ้า หรือริมหน้าต่างที่ไม่มีอะไรกั้นระหว่างต้นไม้กับแสงแดด เว้นแต่กระจกใส

พรรณไม้ที่แนะนำ : กลุ่มไม้อวบน้ำอย่าง อากาเว่ ว่านหางจระเข้ และแคคตัส
กลุ่มไม้ดอก อย่าง กุหลาบ ว่านสี่ทิศ ชวนชม เฟื่องฟ้า
กลุ่มพืชที่มีใบหลากสี อย่าง ฤาษีผสม โกสน หมากผู้หมากเมีย ดาดตะกั่ว

2.Bright Indirect Light แสงทางอ้อม สว่างและคงที่

พื้นที่ที่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอและเต็มวันประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง แต่อาจจะมีระดับความเข้มของแสงรองลงมา ส่วนใหญ่มักจะอยู่ห่างจากหน้าต่างประมาณ 1 – 2 เมตร ไม่อยู่ในเส้นทางของแสงอาทิตย์โดยตรง หรือมีการกรองแสงออกบางส่วน

พรรณไม้ที่แนะนำ : กลุ่มไม้ประดับที่มีใบสวยงาม ชอบแสงแดดเต็มวัน แต่ไม่ทนต่อแดดแรงโดยตรง เช่น ไม้จำพวกบอนสี สนฉัตร หนวดปลาหมึก กล้วยไม้ ไอวี่ ทิลแลนด์เซีย และไทรใบสัก

3.Medium Light แสงปานกลาง ร่มรำไร

บริเวณที่มีความเข้มแสงปานกลางจะได้รับแสงแดดโดยเฉลี่ยประมาณ 2 – 4 ชั่วโมงต่อวัน มักจะอยู่ในตำแหน่งกลางห้องที่ห่างจากหน้าต่างออกมา รวมไปถึงบริเวณใกล้หน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือที่ได้แสงแดดยามเช้า

พรรณไม้ที่แนะนำ : ไม้ในเขตร้อนชื้น เช่น กลุ่มปาล์ม เฟิน เศรษฐีเรือนใน สับปะรดสี ยางอินเดีย มอนสเตอรา ฟิโลเดดรอน และพลูด่าง

4.Low light แสงน้อย ในร่มเงา

พื้นที่ที่มีความเข้มแสงต่ำมักจะได้รับแสงธรรมชาติเพียงเล็กน้อย ถูกบดบังด้วยอาคารหรือต้นไม้ หรืออยู่ห่างไกลจากหน้าต่าง รวมถึงมุมมืดในบ้านที่อาจได้รับเพียงแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟเท่านั้น

พรรณไม้ที่แนะนำ : กจะเป็นพืชที่มีใบสีเขียวสดหรือเขียวเข้ม เนื่องจากจะมีคลอโรฟิลล์อยู่อย่างหนาแน่น ทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ในปริมาณมาก และเก็บสะสมอาหารไว้ได้นาน จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณที่มีแสงน้อยได้เป็นอย่างดี เช่น บัวดอย หน้าวัว คล้า ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี และกวักมรกต

 

BA – 04.1 : 10 โรคและศัตรูในไม้ประดับ

ต้นไม้ที่เป็นโรคเกิดจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ พืชอาศัย เชื้อสาเหตุ เช่น เชื้อรา เชื้อแบททีเรีย เชื้อไฟโตพลาสมา และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแพร่จำนวนและเข้าทำลายของเชื้อ

1.รากเน่า (Root Rot)

ขอบคุณภาพจาก orchidbliss.com

ข้อสังเกต : เกิดจากวัสดุปลูกที่แฉะเกินไป ทำให้เชื้อราเข้าทำลายระบบราก จนรากและโคนต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบที่โคนซีดเหลืองและร่วง มีแผลฉ่ำน้ำ และมีน้ำไหลออกมาจากแผลที่โคนต้น ซึ่งเมื่อแผลลุกลามมากจะทำให้ใบร่วงและยืนต้นตายในที่สุด

การป้องกันและรักษา :
– เตรียมวัสดุปลูก และกระถางหรือแปลงปลูกให้ดี ไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขัง
– นำต้นที่เกิดโรคไปทำลาย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
– ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์หริอสารป้องกันเชื้อรา เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) บอร์โดมิกซ์เจอร์ (Bordeaux Mixture) ไดเมโทมอร์ฟ (Dimethomorph) เป็นต้น

 

2.ราสนิม (Rust)

ขอบคุณภาพจาก mdpi.com

ข้อสังเกต : สปอร์ของเชื้อแพร่กระจายไปตามฝนและลม อาการของโรคปรากฏเป็นแผลนูนสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเหลืองอมน้ำตาล เกิดเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวกระจายทั่วใบ โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ เมื่อเชื้อราแก่จะดันผิวบให้ปริแตกปล่อยสปอร์ออกมา หากรุนแรงจะพบอาการทั่วทั้งใบ ทำให้ใบแห้งเหลืองและหลุดร่วง นอกจากนี้ ต้นที่เป็นโรคจะแคระแกร็นและใบมีลักษณะม้วนงอ

การป้องกันและรักษา :
– บริเวณที่ปลูกควรให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดสามารถส่องผ่านได้ดี
– ตัดแต่งใบที่เป็นโรค นำไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย
ควรใช้สารเคมีจำพวกกำมะถันฉีดพ่น แต่ระวังใบไหม้ อาจจะใช้ยาคาราเทน (Karathane) หรือยาแคปแทน (Captan) เฟอร์แบม (Ferbam) หรือไซเนบ (Zineb) ในอัตราส่วน 2 – 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นทุก ๆ 7 – 10 วัน

 

3.ราน้ำค้าง (Downy Mildew)

ขอบคุณภาพจาก u.osu.edu

ข้อสังเกต : เชื้อมักติดอยู่ในเศษซากพืช หรือเมล็ดพันธุ์ ทำให้ใบมีสีเหลืองด้านบน ส่วนใต้ใบจะพบกลุ่มของสปอร์สีเทาเป็นขุยฟู ต่อมาเนื้อใบส่วนที่เป็นสีเหลืองจะตาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำงขยายวงกว้างออกไปเล็กน้อยเป็นรูปสี่เหลี่ยมและร่วงหล่นลงอย่างรวดเร็ว

การป้องกันและรักษา :
– ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ หรือแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 52 – 55 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที
– ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์หริอสารป้องกันเชื้อรา เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) ไดเมโทมอร์ฟ (Dimethomorph) โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ (Propamocarb Hydrochloride) ทุก 7 วัน

 

4.ราแป้ง (Powder Mildew)

ขอบคุณภาพจาก tulsaworld.com

ข้อสังเกต : พบเส้นใยหรือสปอร์ของเชื้อเจริญปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนใบและด้านท้องใบเป็นผงขาวคล้ายแป้งหรือฝุ่น ทำให้ใบอ่อนบิดหงิกงอ อาจเป็นแผลสีม่วงแดงและดำเนื่องจากเซลล์ถูกทำลายได้ บริเวณอื่นที่เป็นโรคอาจมีเส้นใยสีขาวขึ้นปกคลุม หากเป็นโรคนาน ๆ จะทำให้ใบเหลืองแห้งกรอบ ร่วงหล่น และกิ่งแห้งตายได้

การป้องกันและรักษา :
ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ยาคาราเทน (Karathane) ไตรอะมีฟอน (Triadimefon) ไมโคลบิวทานิล (Myclobutanil) โพรพิโคนาโซล (Propiconazole) อะซอกซีสโตรบิน (Azoxystrobin) และถ้าจะให้ได้ผลดี ควรใช้ยาเคลือบติดใบผสมฉีดพ่นด้วย ประมาณ 2 – 3 ครั้ง

 

5.แอนแทรกโนส (Anthracnose)

ขอบคุณภาพจาก greenlife.co.ke

ข้อสังเกต : ใบจะเป็นแผลสีน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ขยายออกเป็นแผลใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อาจมีเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบขอบแผลได้ ยิ่งถ้าอากาศชื้นมาก แผลจะขยายกว้างออกไปมาก อาจทำให้ใบเน่าในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้าอากาศแห้ง ใบก็จะแห้ง และโรคก็จะลดน้อยหรือหยุดชะงักไปได้ระยะหนึ่ง

การป้องกันและรักษา :
– ตัดแต่งใบที่เป็นโรค นำไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย
– ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์หริอสารป้องกันเชื้อรา ประมาณ 10 – 15 วันต่อครั้ง เช่น แมนโคแซบ (Mancozeb) โพรคลอราซ (Prochloraz) ไดฟีโนโคนาโซล (Difenoconazole) เป็นต้น

 

6.ไรแดง (Red Spider Mite)

ขอบคุณภาพจาก futurcrop.com

ข้อสังเกต : เป็นแมงมุมชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นจุดสีแดงเล็ก ๆ เดินอยู่ตามใต้ใบ คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบ ทำให้ใบมีรอยเป็นจุดเล็กสีเหลืองหรือเป็นปื้นสีเหลือง ส่งผลให้พืชสังเคราะห์แสงแดดได้น้อยลง ใบเปลี่ยนจากสีขาวซีดเป็นสีน้ำตาล แห้ง และร่วงหล่น ระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ

การป้องกันและรักษา :
– ตัดแต่งใบที่เป็นโรค นำไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย
– ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยยาฆ่าแมลง แต่ให้ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์หริอสารป้องกันเชื้อรา เช่น ไพริดาเบน (Pyridaben) เฟนบูทาติน ออกไซด์ (Fenbutatin Oxide) เตตราไดฟอน (Tetradifon) สไปโรมีซิเฟน (Spiromesifen) เป็นต้น

 

7.เพลี้ยแป้ง (Mealybug)

ขอบคุณภาพจาก kiwicare.co.nz

ข้อสังเกต : เป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็กที่อยู่ร่วมกับมดแบบพึ่งพากัน ลำตัวสีขาว มีมดเป็นพาหนะนำมาเกาะอยู่ตามต้นไม้ เพื่อให้เพลี้ยดูดกินน้ำเลี้ยงโดยเฉพาะส่วนเจริญใหม่ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน หรืออยู่ใต้ใบพืช หากระบาดมากจะทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญโตและทรุดโทรมลง นอกจากนี้ น้ำหวานที่เพลี้ยแป้งผลิตออกมาจะกลายเป็นรา ซึ่งจะลุกลามจนทำให้ต้นไม้ตายได้

การป้องกันและรักษา :
– ถ้าพบเพลี้ยแป้งเป็นจำนวนน้อยเกาะอยู่ตามใบหรือส่วนที่ตัดทิ้งได้ ให้ตัดทิ้งไปก่อน
– ใช้น้ำยาล้างจานชนิดไม่มีสารฟอกขาว อัตราส่วน 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นไปตามบริเวณที่มีเพลี้ยแป้ง เพื่อลดแรงตึงผิว ทำให้ขี้ผึ้งที่เพลี้ยแป้งสร้างคลุมตัวเสียไป หายใจไม่ได้ และฝ่อแห้งไป
– ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟิโปรนิล (Fipronil) อิมิคาคลอพริด (Imidacloprid) ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran) ไวท์ออยล์ (Whiteoil) ปิโตรเลียมออยล์ (Petroleum Oil) เป็นต้น

 

8.โรคดอกเขียว (Virescence Disease)

ขอบคุณภาพจาก u-tokyo.ac.jp

ข้อสังเกต : โรคนี้ไม่แสดงอาการจนกว่าจะออกดอก เริ่มแรกต้นจะแคระแกร็น ใบซีดเหลืองด่าง ดอกมีขนาดเล็กลง ก้านดอกสั้น กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียวรูปร่างเหมือนกลีบเลี้ยงของดอก หรือเหมือนใบที่แตกเป็นฝอย ไม่เปลี่ยนสีตามลักษณะของพันธุ์

การป้องกันและรักษา :
– ตัดแต่งใบที่เป็นโรค นำไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย
– พ่นสารกำจัดแมลงและควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงที่เป็นพาหะ เช่น เพลี้ยจักจั่น

 

9.ใบจุด  (Leaf Spot)

ขอบคุณภาพจาก delightgardens.com

ข้อสังเกต : อาการเริ่มแรกใบจะเป็นจุดสีแดงหรือน้ำตาล จากนั้นจะขยายวงกว้างออกไปเป็นจุดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเนื้อ มีขอบแผลสีน้ำตาลแดงหรือสีม่วงแดงเห็นได้ชัดเจน ในเวลาที่มีอากาศชื้นจะพบผงสีน้ำตาลดำปกคลุมบาง ๆ  บนแผล ใบที่มีหลายแผลจะค่อย ๆ แห้งไป ถ้าแผลเกิดตามกิ่งและลำต้นด้วย ต้นจะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ

การป้องกันและรักษา :
– ตัดแต่งใบที่เป็นโรค นำไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อกระจาย
– ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคปเทน (Captan) ซีเนบ (Zineb) มาเน็บ (Maneb) ให้ทั่วใบที่อยู่แถวระดับดินให้มากที่สุด

 

10.โรคใบไหม้ (Leaf Blight) 

ขอบคุณภาพจาก hilo.hawaii.edu

ข้อสังเกต : ส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบของเชื้อราบางชนิด การขาดธาตุรองธาตุเสริม หรือเกิดจากการให้ปุ๋ย/สารเคมีมากเกินไปในเวลาที่มีอากาศร้อนจัด ลักษณะอาการจะมีแผลแห้งขนาดใหญ่เป็นวงกว้าง เริ่มจากบริเวณเนื้อในหรือจากขอบใบก็ได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็จะสามารถลุกลามแพร่กระจายไปยังใบอื่นหรือต้นอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันและรักษา :
– ริดใบที่ไหม้หรือตัดส่วนที่ไหม้ทิ้ง แล้วรอให้แตกใบใหม่
– คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนทำการเพาะปลูก
– บริเวณที่ปลูกควรให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดสามารถส่องผ่านได้ดี