Theme House : ORIGIN ธรรมชาติรังสรรค์

ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “ORIGIN : ธรรมชาติรังสรรค์” นำเสนอไอเดียการออกแบบและตกแต่งบ้านโดยใช้แก่นของการกลับไปศึกษาธรรมชาติ ทั้งด้านความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เพราะบางคนอาจลืมไปว่าธรรมชาตินั้นได้เตรียมพร้อมไว้ให้เราแล้ว แทนที่จะพยายามฝืน ลองมองย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่กันดีกว่า บ้านตัวอย่างในครั้งนี้จึงแฝงด้วยไอเดียการตกแต่งในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่การวางบ้านเป็นกลุ่ม เพื่อเปรียบเสมือนการแทรกอยู่กับป่า การแยกส่วนเรือนต่าง ๆ ให้เหมือนบ้านไทย การออกแบบผังให้บ้านเย็น การออกแบบห้องน้ำให้เหมือนกับการอาบป่าใกล้ชิดธรรมชาติ การใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นถิ่นไทย เช่น ไม้ไผ่ ผนังบ้านดิน การออกแบบโครงสร้างเน้นความลื่นไหล เป็นธรรมชาติแต่แข็งแรง โดยได้ศึกษาจากลักษณะโครงสร้างของต้นไม้และแรงโน้มถ่วง จนทุกอย่างออกมาเป็นความงามแบบธรรมชาติที่คุ้นเคยและคุ้นตา เพื่อให้เราไม่ลืมว่าที่มาของความงามนั้นคืออะไร

ในโซนนี้ยังมีร้านหนังสือ The BOOK HOUSE โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน ร้านกาแฟ เวทีกิจกรรม และที่นั่งพักผ่อน พร้อมรับฟังดนตรีอันผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ปรึกษาหารือ ของบ้านและสวน ที่พิเศษกว่าปีที่ผ่านมาคือ นอกเหนือจากการไขปัญหาข้องใจและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตกแต่งและซ่อมแซมบ้านแล้ว เรายังให้คำปรึกษาไปจนถึงเรื่องการเงินหรือสินเชื่อบ้านเลยทีเดียว โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทางธนาคารกสิกรไทยมาให้คำแนะนำโดยตรง

ไม้ไผ่ในงานโครงสร้าง

ไม้ไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน สามารถนำมาใช้งานได้ทุกชนิด โดยเลือกให้เหมาะกับประเภทการใช้งาน สำหรับการใช้ในเชิงอุตสาหกรรมจะใช้ไผ่ที่มีการปลูกเป็นไร่สำหรับตัดขาย เพราะสามารถสั่งซื้อจำนวนมากได้ มีลำสวยงามกว่าไผ่ตามธรรมชาติ สามารถแบ่งตามการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ ไม้ไผ่สำหรับโครงสร้าง ไม้ไผ่สำหรับงานตกแต่ง และไม้ไผ่สำหรับงานหัตถกรรม โดยเลือกใช้ตามความหนาของเนื้อไม้ เช่น ไม้ไผ่หนึ่งลำยาว 12 เมตร ส่วนโคน 6 เมตร ใช้ทำโครงสร้างได้ ส่วนปลายจะมีเนื้อบางกว่าก็นำมาทำงานตกแต่ง หรือไผ่เฮียะซึ่งมีเนื้อไม้บางก็เหมาะกับงานหัตถกรรม โดยเตรียมไม้ไผ่ให้มีความยาวมาตรฐาน 1.50 เมตร  3 เมตร  และ 6 เมตร เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้งาน และเป็นความยาวที่สามารถขนส่งด้วยรถบรรทุกได้

ข้อควรพิจารณาก่อนเลือกใช้ไม้ไผ่สร้างอาคาร

ไม้ไผ่ไม่ได้เหมาะกับการสร้างบ้านหรืออาคารทุกประเภท ดังนั้นถ้าใครอยากใช้ไม้ไผ่ควรดูข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ

-สำหรับเจ้าของอาคารที่จะเลือกใช้ไม้ไผ่ ควรเริ่มจากความชอบและเข้าใจธรรมชาติของวัสดุที่มีความอ่อนและแอ่นตัว มีการแตกได้ อาจเกิดเชื้อราซึ่งสามารถเช็ดออกหรือถ้าอากาศแห้งก็อาจหายไปเองได้ และต้องมีการเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา หากยังไม่แน่ใจเรื่องเหล่านี้ควรเลือกใช้วัสดุประเภทอื่นแทน

-ในบ้านเรายังไม่มีวิศวกรที่ชำนาญเรื่องไม้ไผ่ ผู้ออกแบบจึงอาจใช้วิธีชั่งน้ำหนักไม้ไผ่ให้วิศวกร เพื่อให้สามารถคำนวณโครงสร้างได้ อีกทั้งการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักยังไม่สามารถทำได้ หากยังไม่พร้อมแนะนำให้ก่อสร้างโครงสร้างหลักด้วยคอนกรีตหรือเหล็กตามปกติ แล้วใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างรองและส่วนตกแต่งแทนจะดีกว่า

ขนาดของไม้ไผ่

ถอดแบบโครงสร้างหลังคาไม้ไผ่

อาคารหลังนี้นำไม้ไผ่มามุงหลังคาทำโครงหลังคาและรางน้ำ โดยออกแบบร่วมกับโครงสร้างไม้ ระบบกันซึม และการรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้มีความคงทนมากขึ้น สามารถใช้งานได้ดี และสวยงามเป็นธรรมชาติ เรามาดูดีเทลการทำหลังคาไม้ไผ่กัน

1. มุงด้วยแผ่นหลังคาไม้ไผ่ทุบที่ผ่านกรรมวิธีรักษาเนื้อไม้แล้ว

2. แป ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 35×35 มิลลิเมตรสำหรับรับแผ่นหลังคา ติดตั้งทุกระยะ 15 เซนติเมตร

3. ไม้รองแป ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 10×45 มิลลิเมตร วางทุกระยะ 1 เมตร

4. กันน้ำอีกชั้นด้วยการปูแผ่นยางกันน้ำ

5. รองด้วยแผ่นไม้อัดทนความชื้นหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 10 มิลลิเมตร

6. ไม้ยึดไม้รับปลายแผ่นหลังคา ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 35×35 มิลลิเมตร ทุกระยะ 1 เมตร

7. เชิงชาย ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 25×100 มิลลิเมตร

8. กรุตาข่ายกันแมลง

9. ไม้รับปลายแผ่นหลังคา ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 25×100 มิลลิเมตร

10. รางน้ำไม้ไผ่ทุบแล้วดัดโค้งเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร

11. เคลือบด้านในรางน้ำด้วยเรซินเสริมไฟเบอร์ เพื่อป้องกันน้ำซึมและเสริมความแข็งแรง

12. ไม้ไผ่ค้ำรางน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร ทุกระยะ 1 เมตร

13. โครงคร่าวฝ้าเพดาน

14. รองด้านหลังฝ้าเพดานด้วยไม้อัดหนา 6 มิลลิเมตร

15. กรุฝ้าเพดานภายในห้องด้วยแผ่นไม้ไผ่อัด

16. จันทัน ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตัด 45×145 มิลลิเมตร ทุกระยะ 1 เมตร

17. ไม้ไผ่ครอบใต้จันทัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร

 

รู้จักผนังดินแบบต่างๆ

บ้านดิน และ ผนังดิน เป็นวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติและดูสบายตา ในโลกสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีตัวเลือกของวัสดุมากมายที่สามารถสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมให้เข้ากับสไตล์บ้านดินได้ ทั้งที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุเลียนธรรมชาติ ซึ่งขอคัด 5 วัสดุที่ให้บรรยากาศแบบบ้านดินมาให้รู้จัก

อิฐดิน ก่อฉาบดินเหนียว

เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้สำหรับทำบ้านดินและยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยเป็นทางเลือกที่สามารถสร้างบ้านเองได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อย และสามารถสร้างบ้านจากสองมือตัวเองล้วนๆได้ตั้งแต่ต้นจนจบหลักการคร่าวๆก็คือการนำดิน ทราย และแกลบมาผสมกัน ก่อนนำเข้าแม่พิมพ์ และตากให้แห้ง เมื่อได้อิฐดินแล้วก็นำไปก่อเป็นผนังโดยใช้ดินเหนียวในการก่อฉาบ และอาจใช้ปูนฉาบ หรือสีทาทับผนังให้เรียบร้อยอีกครั้งเป็นอันเสร็จ

ผนังดินอัด

Rammed Earth หรือ ผนังดินอัด เป็นวิธีการก่อสร้างที่มีมานานแล้ว นิยมใช้ในบ้านจีนโบราณ แต่ก็ยังพบได้ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ผนังดินอัดนั้นนอกจากความแข็งแรงที่มีมากกว่าผนังอิฐดินแล้วยังมีลวดลายของชั้นดินเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงาม และที่สำคัญ สีของผนังดินอัดจะแตกต่างไปตามดินในพื้นที่นั้นๆอีกด้วย การก่อสร้างผนังดินอัดนั้นมีส่วนผสม 3 ส่วนด้วยกันนั่นก็คือ ดิน ซีเมนต์ และน้ำ โดยนำไปผสมจนเนื้อดินมีความข้น จากนั้นนำไปใส่ในแบบผนังและใช้เครื่องอัดกระทุ้งจนแน่น ปัจจุบันมีบริษัทที่รับทำผนังดินอัดที่โดดเด่นคือ บริษัท ลาแตร์  (la terre) ซึ่งรับออกแบบก่อสร้างผนังดินอัด และยังมีผลิตภัณฑ์ดินฉาบอีกด้วย ข้อดีอีกอย่างของผนังดินอัดคือสามารถคงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยได้ดี และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดินฉาบสำเร็จ

ดินฉาบผิวสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาเพื่อใช้งานควบคู่กับผนังดินอัด เพราะในบางจุดที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้ผนังดินอัดสามารถใช้การก่ออิฐฉาบปูนตามปกติแต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นดินฉาบสำเร็จรูปแทนเพื่อบรรยากาศและผิวสัมผัสที่ต่อเนื่องกัน ดินฉาบสำเร็จผลิตจาก ดิน และคอนกรีตบดละเอียดที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้าง นำมาผสมเส้นใยธรรมชาติและปูนซีเมนต์เพื่อเพิ่มการยึดเกาะกับผนัง จึงทำให้สามารถฉาบติดผนังได้เหมือนวัสดุฉาบทั่วไป แต่สามารถดูดซับและคายไอน้ำได้คล้ายผนังดิน เป็นฉนวนซับเสียที่ดี มีสีตามธรรมชาติจากตัววัสดุแบบเดียวกับผนังดินทุกประการ สามารถฉาบได้ทั้งภายในภายนอกและใช้ได้ทั้งผนังและฝ้าเพดาน แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับงานพื้น ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท บริษัท ลาแตร์  (la terre) เช่นกัน

วอลล์เปเปอร์สามมิติลายดินฉาบ

ปัจจุบัน วอลล์เปเปอร์ติดผนังแบบสามมิติที่ทำมาจาก PU Foam เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการตกแต่งพื้นผิวให้กับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผนังอิฐโชว์แนว ผนังปูนเปลือย หรือแม้แต่ผนังดิน วอลล์เปเปอร์แบบสามมิติก็มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ด้วยพื้นผิวแบบนูนต่ำ และการให้สีที่ใกล้เคียงกับวัสดุจริง วอลล์เปเปอร์สามมิติลายดินฉาบจึงให้บรรยากาศแบบผนังดินได้ อาจจะขาดคุณสมบัติในแง่ของการดูดซับและคายไอน้ำ แต่ก็มีข้อดีในเรื่องของการไม่เกิดฝุ่น ซับเสียง และดูแลง่ายกว่าผนังดินจริงๆด้วยเหมือนกัน

คัลเลอร์ซีเมนต์ สีดิน

คัลเลอร์ซีเมนต์ เป็นวัสดุสำหรับทาผิวซีเมนต์ ผนังปูนฉาบ หรืออิฐแทนการทาสีทั่วไป มีความคงทนสูงสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก ใช้ผสมน้ำและทาหรือกลิ้งเหมือนกับการทาสีทั่วไป ความแตกต่างของคัลเลอร์ซีเมนต์ กับ การทาสีก็คือ คัลเลอร์ซีเมนต์จะผสานเป็นเนื้อเดียวกับผนังไม่เกิดเป็นชั้นฟิลม์ ซึ่งคัลเลอร์ซีเมนต์ที่มีคุณภาพดีจะไม่เป็นฝุ่นผงติดมืออีกด้วย นอกจากจะใช้ทาผนังได้แล้วยังสามารถทาไม้สังเคราะห์ หรือกระถางดินเผาได้ด้วยเช่นกัน

ซื้อของแต่งบ้านให้เหมือนมุมนี้

 

 

 


ก่อนจะเป็นบ้าน Origin

Books Recomend

สั่งซื้อออนไลน์

สั่งซื้อออนไลน์

สั่งซื้อออนไลน์

สั่งซื้อออนไลน์