WALLS AND TREES ธรรมชาติกับผืนผนัง

บ้านโมเดิร์น
ลมโยกกิ่งแคนาปลิดให้บางใบร่วงหล่น บางกิ่งสลัดดอกสีขาวตกตามแรงไหว แต่หญ้าในสนามกลับไม่สะทกสะท้านต่อใบและดอกที่กำลังร่วงลงมา ต่างจากน้ำในสระที่สั่นระริกเป็นระลอกคลื่น ก่อนจะค่อย ๆ เลือนหายไปกลายเป็นผืนน้ำสงบนิ่ง พร้อม ๆ กับที่ใบและดอกแคนาจะตกลงมากระทบอีกครั้ง

บ้านโมเดิร์น
แรงไหวในน้ำนั้นสะท้อนภาพกำแพงสีขาวสูงจรดฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ที่โดดเด่นแม้จะมองจากที่ไกล แถมยังทำหน้าที่เป็นเสมือนเป็นแบ๊คกราวนด์ ยามเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกิ่งก้านของแคนาที่ทำหน้าที่ช่วยกรองแสงและโยกกวนอากาศร้อน กำแพงสีขาวก็จะเปื้อนไรแดดสีเทาจากอ่อนเป็นเข้ม ตามเวลาที่เคลื่อนผ่านในแต่ละวัน

ธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมปฏิสัมพันธ์กันอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่เราขอผลุบหลบแดดเปรี้ยงเข้าไปยังเบื้องหลังกำแพงสีขาว ไม่นานนักเจ้าของบ้านก็เดินเข้ามาทักทาย

คุณป๊อก อรรถพร กับ คุณเพียวรมณี และน้องพูมิ ออกมาต้อนรับเราอย่างพร้อมหน้าในบ้านหลังใหม่ของครอบครัวคบคงสันติ ซึ่งทั้งสามเพิ่งย้ายเข้ามาพักอาศัยได้ไม่นาน หลังจากที่บ้านต้องผ่านการออกแบบและก่อสร้างยาวนานร่วม 6 ปี จนมาลงตัวกับบ้านที่โดดเด่นด้วยบรรดากำแพงสีขาวสะอาดตาสูงตระหง่าน บ้านซึ่งไม่ว่าใครที่ได้เห็นก็คงบอกได้ในทันทีว่าต้องผ่านฝีมือของนักออกแบบมือฉมังมาอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยความที่เราเป็นภูมิสถาปนิก ผมจึงอยากได้บ้านที่มีคอร์ตยาร์ด ซึ่งเป็นภาพอย่างที่ฝัน โดยได้ออกแบบร่วมกับพี่บุญเลิศ เพราะผมรู้สึกว่างานออกแบบของเขาตรงกับสไตล์ของเรา เราช่วยกันพัฒนาแบบมาเรื่อย จนมาลงตัวกับแบบที่ 4 กลายเป็นภาพของบ้านที่ลงตัวอย่างที่เห็น

คุณป๊อกภูมิสถาปนิกเจ้าของบ้านและเจ้าของสำนักงานภูมิสถาปัตยกรรม “TROP” กำลังพูดถึง คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกแห่งสำนักงาน “Boon Design” ผู้ทำหน้าที่ร่างเส้นสายของบ้านหลังใหม่ร่วมกันกับเขา โดยคุณบุญเลิศได้เล่าถึงไอเดียการออกแบบให้เราฟัง ก่อนที่จะมาพบเจ้าของบ้านราวสองอาทิตย์ให้ฟังว่าต้องการสร้างบ้านที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่นในการทำงานออกแบบของบริษัทมาโดยตลอด ส่วนความพิเศษของบ้านหลังนี้ได้ต่อยอดมาจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งบอกเขาไว้ว่าชอบบ้านสีขาวแบบเรียบ ๆ และต้องการบ้านที่มีคอร์ตยาร์ดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ใช้สอย

ความต้องการทั้งหมดจึงมาบรรจบลงตัวด้วยการใช้ กำแพงสีขาว” ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือหลักในการออกแบบสถาปัตยกรรมสุดโดดเด่นครั้งนี้ก็ว่าได้

ดังเช่นที่สถาปนิกเล่าให้ฟังว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้เริ่มจากห้อง แต่เริ่มจากการมีกำแพงขนาดใหญ่ที่เรียงตัวแบบขนานกัน เสร็จแล้วจึงค่อยมาย่อยสเปซภายในให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานต่าง เรียกได้ว่างานชิ้นนี้เกิดขึ้นจาก “Series of wall”

“Series of wall” ตามความหมายของสถาปนิก คือกำแพง 4 ชุด สูงชะลูดเป็นกรอบให้กับบ้านที่สูง 3 ชั้น แต่ละกำแพงออกแบบให้ตั้งขนานห่างกันตั้งแต่ราว 2.5 – 5 เมตร ซึ่งมีความกว้างยาว เยื้องตัวสับหว่าง และขนาดของความสูงเป็นจังหวะแตกต่างกันไปตามฟังก์ชัน ซึ่งจะได้รับการเติมเข้าไปภายในที่ว่างระหว่างแต่ละกำแพงตามความเหมาะสม โดยกำหนดโซนหลัก ๆ ไว้ดังนี้ เช่น ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหาร ส่วนห้องทำงานของสามีและภรรยากำหนดให้อยู่ที่ชั้น 2 และห้องนอนอยู่ที่ชั้น 3

บ้านโมเดิร์น

การปิดล้อมพื้นที่ด้วยการซ้อน กำแพง ก่อนจะเริ่มกำหนดฟังก์ชันของ ห้อง ต่าง ๆ นั้น ทำให้เกิดภาพที่ดูเหมือนนำคนเข้าไปอยู่ในช่องว่างของกำแพงตามคำบอกของสถาปนิก พื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาบด้วยกำแพงทึบตามแนวยาว ปิดส่วนที่เป็นด้านกว้างทั้งหน้าและหลังบ้านด้วยการกรุกระจกใสเต็มผนัง จึงสามารถจัดวางฟังก์ชันการใช้งานภายในได้อย่างอิสระปลอดโปร่ง ทุก ๆ ห้องสามารถสัมผัสกับธรรมชาติภายนอกที่ส่องผ่านผนังกระจกเข้าสู่ตัวบ้านได้แทบทั่วทุกตารางนิ้ว พร้อมกันนั้นกำแพงทึบยังช่วยกันความร้อนจากทิศเหนือใต้ ส่วนกำแพงกระจกยังเปิดรับแสงจากทิศตะวันออกตะวันตกสอดคล้องกับทิศทางของแสงแดดในธรรมชาติบ้านจึงดูสว่างไม่ทึบตันตลอดวัน

ในขณะเดียวกันกำแพงก็ยังเอื้อให้เกิดสเปซของคอร์ตยาร์ดภายในที่เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ใช้สอยโดยรวม สัมพันธ์กับสวนภายนอกด้วยงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับภาพรวมของอาคาร ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่เติมเต็มงานออกแบบรอบอาณาบริเวณของบ้านนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ภูมิสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบ้านเอง

มันยากนะ เพราะว่าเราจะอยากได้นู่นนี่เต็มไปหมด ทำไปก็กลัวว่าจะเยอะไปหรือเปล่า ทำแบบวนไปวนมา สุดท้ายเราก็เลือกแบบที่เรียบที่สุด

คุณป๊อกเล่าถึงการออกแบบสวนในบ้าน โดยวางบุคลิกให้แต่ละสวนแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ตั้ง และฟังก์ชันของสวนนั้น ๆ  เริ่มจากสวนบริเวณทางเข้าบ้านด้านทิศตะวันออก มีแนวคิดคือการผสมผสานระหว่างสวนครัวกับสวนประดับ เจ้าของบ้านเรียกชื่อสวนนี้ว่า สวนพระจันทร์ เพราะในตอนกลางคืนจะมองเห็นพระจันทร์ขึ้นได้เด่นชัดเป็นพิเศษ การออกแบบเน้นที่ความสวยงาม เนื่องจากจะเป็นสวนแรกที่สมาชิกในบ้านจะมองเห็นเมื่อลงจากรถ และเป็นจุดสุดท้ายที่มองเห็นก่อนที่ทุกคนจะออกจากที่จอดรถไป

ถัดมาคือคอร์ตสามเหลี่ยมที่แทรกตัวเข้ามาในห้องนั่งเล่น เป็นลูกเล่นของสถาปนิกที่ตั้งใจนำแสงเข้ามาในพื้นที่ที่ทึบตัน ด้วยการเปิดให้ห้องนั่งเล่นสามารถมองออกไปยังสระน้ำใกล้ ๆ ได้  ขณะเดียวกันคอร์ตสามเหลี่ยมก็ยังเป็นภาพต้อนรับอันน่าทึ่งสร้างความน่าสนใจให้สเปซทั้งภายในและภายนอกได้อย่างดี

นอกจากนี้ภายในบริเวณห้องครัว ยังมีอีกหนึ่งคอร์ตขนาดใหญ่ทำหน้าที่ดึงแสงและอากาศที่ปลอดโปร่งเข้ามาสู่ห้องต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นที่ด้านล่าง แถมยังเชื่อมไปสู่สวนป่าหลังบ้านที่ตั้งใจออกแบบให้อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นสวนขนาดกว้างคั่นกลางระหว่างตัวบ้านกับแนวรั้ว เพื่อให้ทิวไม้ช่วยกรองแดดยามบ่าย ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน หรือจัดปาร์ตี้ มีแลนด์สเคปเป็นสระว่ายน้ำรูปตัวแอล (L) และระเบียงไม้เรียบ ๆ กลมกลืนไปกับต้นไม้สูงใหญ่ที่คุณป๊อกตั้งใจปลูกให้กระจายตัวอย่างอิสระ พื้นที่สวนนี้ยังเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นแบบเดียวกับห้องครัว ผ่านประตูกระจกบานใหญ่ทะลุปรุโปร่ง เชื่อมบรรยากาศพื้นที่ภายในและภายนอกให้เป็นหนึ่งเดียว

กระจกบานใหญ่นี้ยังสะท้อนภาพป่ารกครึ้มเป็นสีเขียวอยู่ไหว ๆ ภูมิสถาปนิกเปรียบไว้ว่าคล้ายเป็นภาพวาดนามธรรมของธรรมชาติ เป็นเหตุให้เขาไม่ประดับภาพใด ๆ ลงบนผนังบ้านซึ่งเรียบโล่งดังผืนผ้าใบสีขาว มีเพียงปรากฏการณ์ของแสงเป็นงานจิตรกรรม และมีธรรมชาติเป็นจิตรกร

ไรแดดที่วูบไหวอยู่บนผนังสีขาวเด่นชัดขึ้นทันตาตามคำบอกเล่าของนักออกแบบเจ้าของบ้านโดยมีแดดบ่ายค่อยๆลามเลียพื้นหินอ่อนสีขาวของห้องครัวที่เรากำลังพูดคุยสนทนา

แอ๊ปเปิ้ลต้องปอกเปลือกไหมครับ  พูมิ ซึ่งนั่งฟังบทสนทนาอยู่ใกล้ ๆ เอ่ยถามพ่อกับแม่

ดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนลงแตะยอดไม้แสงแดดส่องผ่านใบปีบอาบสวนพอให้บรรยากาศดูอบอุ่นพูมิคว้าจักรยานออกไปปั่นในสนามหญ้าสองขากับสองล้อหมุนเร็วพอกัน ทันใดนั้นภาพวาดของบ้านก็เปลี่ยนฉาก กลายเป็นภาพเด็กชายบนพื้นหลังแนวแมกไม้ครึ้มเขียวเปี่ยมชีวิตชีวา และบนโต๊ะใต้ร่มไม้ก็เพิ่งมีแอ๊ปเปิ้ลปอกเปลือกแล้ววางอยู่พูนชาม รอใครบางคนที่เล่นสนุกจนเหนื่อยกลับมารับประทาน

เจ้าของครอบครัวคบคงสันติ
ออกแบบ: Boondesign Studio


เรื่อง:กรกฎา
ภาพ:นันทิยา,ศุภกร
สไตล์:วนัสนันท์ ธีรวิฑูล


อ่านต่อ : MODERN HOUSES


ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ใน room magazine ฉบับที่ 178 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 : LANDSCAPE ISSUE

What’s Special!!

GREEN SPACE – สวนของบ้าน สวนของเมือง
รวบรวมความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ“สวน คน และเมือง”ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเพื่อชวนให้คุณขบคิดอีกครั้ง และพาไปแลกเปลี่ยนความคิดกับ 5 นักออกแบบชั้นแนวหน้าของไทย ที่จะทําให้คุณเข้าใจศิลปะในการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติมากขึ้น

Special Scoop : URBAN GREEN IDEAS – สร้างประสบการณ์ธรรมชาติในป่าคอนกรีต
หลากหลายไอเดียที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการสัมผัสธรรมชาติในรูปแบบที่เข้ากับพื้นที่ใช้ชีวิตของคนเมืองได้อย่างลงตัว

Home : WALLS AND TREES – ธรรมชาติกับผืนผนัง
บ้านโมเดิร์นกับการออกแบบที่นําธรรมชาติให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมของคุณป๊อก – อรรถพร คบคงสันติ เจ้าของสํานักงานภูมิสถาปัตยกรรม “TROP”

Design Case : LA VELA KHAO LAK
โรงแรมสุดเท่ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางของเรือในมหาสมุทร ผสมผสานกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในบริบทใหม่ที่ดูโมเดิร์นริมชายหาดเขาหลัก จังหวัดพังงา

สอบถามสั่งซื้อนิตยสาร Room ได้ที่ช่องทางต่อไปนี้
1. ฝ่ายสมาชิกนิตยสาร Room: โทร 02-423-9889
2. ID Line : @naiinfanclub
3. Inbox FB : www.facebook.com/messages/t/Baanlaesuanbooks
4. Website naiin.com : naiin.com/category?magazineHeadCode=RM&product_type_id=2