บ้าน…คือ พื้นที่ส่วนตัวที่ให้ความสบายได้มากกว่าสถานที่ไหน ๆ จึงไม่แปลกที่จะต้องมีการวางแผนหรือผ่านการออกแบบเพื่อให้ตรงตามโจทย์ของผู้อยู่อาศัยให้มากที่สุด โดยบางทีอาจต้องมีศาสตร์ต่าง ๆ ตามหลักความเชื่อมาช่วย เพิ่มความสบายใจ
เช่นเดียวกับ แบบบ้านสองชั้นโมเดิร์น ของ ครอบครัวเตชะไพบูลย์ ที่นําหลักฮวงจุ้ยมาผสมผสานกับแนวคิดของผู้ออกแบบ และปรับใช้ให้เข้ากับความทันสมัยของบ้านสไตล์ โมเดิร์นมินิมัลที่มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นแฝงอยู่ ส่งเสริมให้บ้านหลังนี้มีคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจนและโดดเด่นในเรื่อง ความสมดุลทั้งภายนอกและภายใน
“บ้านหลังนี้เราวางแผนกันไว้นานมากครับ คุยกันก่อนแต่งงานประมาณ 1 ปีถึงได้เริ่มสร้างจริงบนที่ดินเดิมซึ่งเคยเป็นสนามหญ้าไว้วิ่งออกกําลังกายในบ้านมาก่อน และพอดีทางภรรยาของผมเขามีเพื่อนที่รู้จักกับ คุณบิว – มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา สถาปนิกจาก Hypothesis เมื่อเราได้ดูผลงานของเขาแล้วก็เกิดชอบ จึงตัดสินใจให้คุณบิวมาช่วย ดูแลออกแบบบ้านหลังนี้ให้ โดยมีโจทย์ว่าผมชอบญี่ปุ่นและอยากได้บ้านกว้าง ๆ สไตล์โมเดิร์น เข้ากันดีกับธรรมชาติ ซึ่งต้องมีหลักฮวงจุ้ยเข้ามาช่วยนิดหน่อย ตามหลักหน้าน้ำหลังเขา แล้วให้เขาประสานงานต่อกับซินแสเพื่อช่วยกําหนดตำแหน่งต่าง ๆ ของบ้าน รวมระยะเวลาทั้งหมดก็ประมาณ 4 ปี เพราะติดปัญหาเรื่องน้ำท่วมและการต่อเติม แม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เมื่อแล้วเสร็จเราค่อนข้างพอใจมากครับ”
ภายใต้อาคารทรงสี่เหลี่ยมดีไซน์เรียบง่ายตามสไตล์บ้านโมเดิร์น บนเนื้อที่กว่า 900 ตารางเมตร ได้รับการสอดแทรก กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นลงไปตามความตั้งใจของเจ้าของบ้าน เห็นได้จากห้องแรกสุดบริเวณหน้าบ้าน คุณบิวออกแบบและ ตกแต่งให้เป็นห้องชงชาสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมาจากความชอบ ส่วนตัวของภรรยาเจ้าของบ้านที่หลงใหลการดื่มชาเป็นพิเศษ มีประตูบานเลื่อนระแนงไม้ซ้อนกับประตูกระจกอีกชั้นให้เกดิ ความน่าสนใจ และใช้เสื่อทาตามิปูพื้นทั่วทั้งห้อง พร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่มีทั้งของใหม่ไปจนถึงมรดกตกทอดจากรุ่นคุณปู่ ห้องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ใครไปใครมาจะต้องแวะเข้ามา นั่งเล่นหรือเยี่ยมชมก่อนเสมอ และเมื่อเดินเข้ามาภายใน จะพบกับสวนหินกลางบ้านที่ตกแต่งแบบเซนด้วยหินกรวด สีขาวตัดกับหินก้อนใหญ่สีดํา เสมือนเป็นจุดศูนย์กลาง ก่อนแยกย้ายไปยังห้องต่าง ๆ ซึ่งยังคงมีความเป็นญี่ปุ่นแฝง อยู่อย่างต่อเนื่อง
/ ถึงจะชอบความโมเดิร์นทันสมัย แต่ถ้าบางอย่างไม่เหมาะ
ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อความสบายกายสบายใจไปพร้อมกัน /
“สวนหินนี้ผมไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องถูกต้องตามหลักการ แต่ก็ศึกษามาบ้างว่าต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร พวกหินต่าง ๆ นี้ผมเป็นคนเลือกเองครับ แล้วให้คุณบิวช่วยออกแบบจัดวางอีกที แต่หลักของสวนเซนจริง ๆ ก็คือการฝึกสมาธิ เพ่งจิตไปที่หินก้อนใหญ่ซึ่งเปรียบเหมือนเกาะกลางทะเล สวนหินไม่ใช่แค่ศิลปะการตกแต่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังทําให้เราได้คิดและมีสติทุกครั้งที่ได้มอง” จากมุมนี้สามารถเชื่อมพื้นที่กับภายนอกได้ด้วยการเปิดประตูไม้ที่เลื่อนได้กว้างกว่า 8 เมตรจนสุดผนัง ช่วยให้ลมพัดผ่านเข้า-ออกได้เต็มที่จนแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย
อีกฝั่งหนึ่งของสวนหินได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่ พักผ่อน รวมห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัวไว้ด้วยกันเป็นโถงยาว บานกระจกทั้งสองด้านสามารถเลื่อนเปิดรับลมได้ไม่ต่างจากมุมอื่น ๆ ช่วยเติมเต็ม ประจุบวกและลบให้สมดุลซึ่งกันและกัน ส่วนวัสดุต่าง ๆ ที่นํามาใช้ตกแต่งมีทั้งการผสมผสานวัสดุสังเคราะห์ตาม ยุคสมัยกับวัสดุธรรมชาติที่ให้ความสวยงามแบบยั่งยืนอย่างงานไม้ต่าง ๆ ที่มีให้เห็นเกือบทุกมุมของบ้าน ตั้งแต่บานประตู บันไดวน ไปจนถึงพื้นชั้นสองซึ่งปูด้วยไม้ทั้งหมด
เจ้าของบ้านเล่าว่า “ตอนแรกพื้นข้างบนปูไม้ไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ผมไม่ชอบสีจึงรื้อออกแล้วปูใหม่ ผมเป็นคนชอบไม้ที่ออกดิบ ๆ โชว์เท็กซ์เจอร์ตามธรรมชาติ ไม้ที่เลือกมาใช้เป็นไม้ฮิโนกิ ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอมที่จะเห็นได้ตามวัด และบ่อออนเซ็นในญี่ปุ่น พอนํามาใช้ก็ช่วยให้บ้านมีความเป็นธรรมชาติและมีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังนําไม้มาใช้กรุตกแต่งผนังในห้องนอน ทุกห้องเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้มีอารมณ์อย่างเดียวกัน จนลืมภาพของงานโมเดิร์นที่แข็งทื่อไปเลย
ความลงตัวขององค์ประกอบหลากหลายในบ้านหลังนี้ ทําให้เราได้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ความสวยงามจากการออกแบบ เท่านั้นที่ช่วยเติมเต็มบ้านให้น่าอยู่ แต่ความสวยงามจากความเข้าใจต่างหากคือส่วนสําคัญที่ช่วยให้งานออกแบบมีความสมดุลระหว่างผู้อยู่อาศัยกับธรรมชาติ