CUDDLING SPACE บ้านโมเดิร์นไซส์มินิ โอบกอดด้วยมุมมอง

CUDDLING SPACE  : บ้านโมเดิร์น ไซส์มินิ โอบกอดคู่รักไว้ในสเปซแสนอบอุ่นของ นพ.เศรษฐพงศ์ – พญ.พรพิมล ศรีสุภรวาณิชย์

บ้านโมเดิร์น ที่งานดีไซน์ไม่เพียงตอบโจทย์การใช้ชีวิต แต่ยังส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดกันและกันมากขึ้น

บ้านโมเดิร์น

ด้วยเวลาทำงานที่ไม่ตรงกันทำให้ใน 24 ชั่วโมงของ นพ.เศรษฐพงศ์ และ พญ.พรพิมล ศรีสุภรวาณิชย์ ได้พูดคุยหรือเห็นหน้ากันน้อยมาก จึงกลายมาเป็นโจทย์ของงานออกแบบครั้งนี้ว่าจะทำอย่างไรให้คู่สามีภรรยาได้พบหน้ากัน แม้จะมีช่วงเวลาว่างไม่ตรงกันก็ตาม

“เมื่อแต่งงานและเริ่มต้นชีวิตคู่ ผมกับภรรยาอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง พื้นที่ที่มองไว้คือสวนหน้าบ้านที่อยู่ในบริเวณบ้านเดิมของครอบครัวครับ” ใช่! สวนหน้าบ้านพื้นที่ที่หลายคนมองข้าม เพราะมักมีความกว้างไม่เพียงพอซึ่งที่นี่มีขนาดเพียง 8 x 20 เมตรเท่านั้น

คุณวรพงศ์ ทีรฆวงศ์สกุล คือหนึ่งในทีมสถาปนิกที่ออกแบบ เขาบอกว่า “ถ้ายกบ้านหลังนี้ออก คุณไม่มีทางนึกได้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้จะสร้างอะไรได้”

นอกจากความต้องการพื้นฐานในแง่ของรูปแบบและการใช้งานแล้ว ผู้ออกแบบยังมองเห็นภาพการใช้ชีวิตของคู่สามีภรรยาได้ชัดเจนมากขึ้นทุกครั้งที่สนทนากัน แม้ภาพนั้นจะไม่ได้ขอให้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบแต่สถาปนิกกลับพบว่าเป็นจุดที่น่าสนใจและคงจะทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์มากขึ้น

“ถ้าพูดถึงที่อยู่อาศัยทั่วไปอย่างบ้านจัดสรร คนที่อาศัยอยู่ในบ้านแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลย เพราะตัวบ้านไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น เช่น ถ้าคุณอยู่คนละชั้น เวลาจะคุยกันต้องเดินขึ้นลงเพื่อไปหากัน ทำให้เหนื่อย และสุดท้ายเราจะไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กัน

“ในขณะที่คุณหมอและภรรยาแม้ยังไม่มีบ้าน แต่พวกเขาก็ได้เจอกันน้อยมาก ถ้ายิ่งอยู่ในบ้านที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมันคงจะกระไรอยู่”

บ้านหลังนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของการโอบกอด(Cuddling Space) สร้างให้พื้นที่ภายในและภายนอกมีความเชื่อมโยงสอดประสานระหว่างกัน มีช่องปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องเปิดจำนวนมากเพื่อให้คนภายในบ้านได้มองเห็นกัน และรับทราบความเป็นไปของกันและกันตลอดเวลา

สถาปนิกอาศัยความยาวของที่ดินจัดสรรให้บริเวณกลางบ้านเป็นพื้นที่ส่วนกลาง (Public Zone) เพื่อให้เจ้าของบ้านและคนที่มาหาเปิดเข้าสู่ตัวบ้านที่ส่วนนี้ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่ใช้งานฝั่งซ้ายและขวาตามลำดับ

“นอกจากนี้การเปิดพื้นที่ให้มองเห็นกันช่วยในเรื่องของการแบ่งฟังก์ชันด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อใช้ชีวิตไปได้สักระยะ ภาพจะเริ่มชัดเจนขึ้นว่าใครใช้ชีวิตตรงส่วนใดบ่อยที่สุด เช่น สามีชอบมานั่งบริเวณบาร์เครื่องดื่มด้านขวาของบ้าน ส่วนภรรยาชอบใช้งานห้องครัวและห้องกินข้าวทางด้านซ้าย แต่ทั้งคู่จะยังมองเห็นหรือพูดคุยกันได้ เพราะทั้งสองเชื่อมต่อกันด้วยคอร์ตกลางบ้านที่เป็นสวนแบบเรียบ ๆ ไม่ใช่ห้องปิดทึบที่มองไม่เห็นหรือต้องเดินอ้อมไปหากัน”

ชมห้องต่างๆ ต่อ คลิ๊ก ที่นี่