EKAMAI LOFXURY – รีโนเวตบ้านปูน ให้กลายเป็นบ้านลอฟต์โครงสร้างเหล็ก

รีโนเวต บ้านปูน ข้ามทศวรรษให้กลายเป็นบ้านลอฟต์โครงสร้างเหล็ก

มุมมองจากหน้าบ้านจะเห็นว่าผนังบ้านด้านซ้ายอยู่ติดกับรั้วมากซึ่งตามกฎหมายการก่อสร้างอาคารด้านที่อยู่ติดกับรั้วต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ถ้ามีระยะห่างน้อยกว่านี้ห้ามทำช่องเปิดสถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดไว้ในส่วนอื่นของบ้านแทน เพื่อช่วยระบายอากาศและความร้อน

OWNER
เจ้าของ : คุณวินิตา เลขะวณิช
ผู้ออกแบบ : สุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์ บริษัทอาคิสมิธ จำกัดโทร. 08-6551-9191 [email protected]

REQUIREMENT
เจ้าของบ้านต้องการปรับปรุงบ้านชั้นเดียว อายุหลายสิบปีที่ปลูกสร้างมาตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่าให้กลายเป็นที่พักอาศัยและสตูดิโอสำหรับออกแบบเสื้อผ้าที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยและโปร่งโล่ง

DESIGN CONCEPT
Lofxury คือคำที่สถาปนิกใช้เรียกการออกแบบบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์ Loft กับ Luxuryเข้าด้วยกัน เนื่องมาจากเจ้าของบ้านต้องการรีโนเวตบ้านให้มีรูปลักษณ์เรียบนิ่งแฝงความดิบเท่สไตล์ลอฟต์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินและของตกแต่งขอเน้นสไตล์ลักชัวรีจึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะต้องดึงจุดเด่นของทั้งสองสไตล์นี้มาปรับใช้เพื่อให้ลงตัวกับเจ้าของบ้านมากที่สุด

SOLUTION

  • หลังจากดูหน้างานและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วสถาปนิกจึงตัดสินใจเก็บโครงสร้างพื้นและฐานรากเดิมไว้ทั้งหมด หลีกเลี่ยงการรื้อถอนเพื่อไม่ให้รบกวนบ้านหลังอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากตัวบ้านอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบ้านหลังอื่นของครอบครัว ส่วนโครงสร้างที่เหลือได้ใช้โครงเหล็กต่อเข้ากับฐานรากเดิม ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ วิศวกรโครงสร้างจึงต้องเข้ามาช่วยคำนวณความเป็นไปได้ของโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย
  • แม้ขั้นตอนการรีโนเวตบ้านเก่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อถึงเวลาต้องรื้อถอนบางส่วนออก ก็มักจะเจอปัญหาในส่วนต่าง ๆ อย่างคาดไม่ถึง เช่น มีเสาซ่อนไว้ในผนังสองชั้น หรือระยะห่างของเสาเดิมที่แคบและไม่เท่ากันดังนั้นผู้ออกแบบจึงต้องติดตามการดำเนินการหน้างานอยู่เสมอเพื่อแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด
  • เมื่อตัดสินใจใช้โครงสร้างฐานรากและพื้นเดิม แม้จะประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมจ่ายค่าดูแลโครงสร้างเดิมในกรณีจ้างผู้รับเหมา เพราะการรีโนเวตจะมีเรตราคาที่สูงกว่าการรื้อทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ หากเจ้าของบ้านอยากเก็บของบางอย่างไว้เป็นคุณค่าทางจิตใจ อย่าลืมเผื่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ด้วย
  • ในขั้นตอนการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สถาปนิกได้เลือกใช้โครงสร้างเหล็กมาต่อกับฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็กเนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าพื้นและฐานรากเดิมจะรับน้ำหนักของบ้านหลังใหม่ได้มากแค่ไหน อีกทั้งการใช้โครงสร้างเหล็กจะมีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีตและก่อสร้างได้รวดเร็วกว่า แต่ก็มีราคาสูงกว่าเช่นกัน
  • งานระบบสุขาภิบาลและไฟฟ้าถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ นอกจากจะต้องคำนวณปริมาณการใช้ไฟและน้ำให้เหมาะสมแล้ว งานระบบบางส่วนยังพ่วงอยู่กับบ้านหลังเดิม จึงต้องขอรับคำปรึกษาจากวิศวกรเฉพาะด้าน เพื่อให้การเดินงานระบบต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีปัญหากวนใจภายหลัง

MATERIAL

  • เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการให้พื้นที่ชั้น 1 โปร่งโล่งสำหรับใช้เป็นพื้นที่ทำงาน สถาปนิกจึงออกแบบให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นดับเบิ้ลสเปซ แล้วกรุผนังกระจกหนา 8 – 10มิลลิเมตร เพื่อให้มีความแข็งแรงเหมาะกับความสูง7 เมตรของห้องโถง
  • แม้ว่ากรอบอาคารจะดูหนักแน่นด้วยโครงสร้างเหล็กดิบเท่แต่การเลือกวัสดุกรุผิวภายในที่เรียบหรูและการใช้เฟอร์-นิเจอร์สไตล์โมเดิร์น ก็ช่วยลดความเคร่งขรึมให้บ้านมีบรรยากาศอบอุ่นลงตัวขึ้นได้

Tip
หากคุณต้องการรีโนเวตโดยเก็บโครงสร้างเดิมไว้ เรื่องความปลอดภัยถือเป็นสิ่งแรกที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ และต้องยอมรับข้อจำกัดของโครงสร้างเดิมว่าทำอะไรเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน หรือหากมีแบบแปลนเดิมก็ควรนำมาให้สถาปนิกและวิศวกรช่วยพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงสร้าง ที่สำคัญอย่าลืมเผื่อค่าใช้จ่ายเอาไว้ เพราะงานรีโนเวตมักจะมีราคาสูงกว่างานทุบแล้วสร้างใหม่

พื้นที่ : 345 ตารางเมตร
งบประมาณ : 10-11 ล้านบาท
ระยะเวลา : ออกแบบ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี

รีโนเวต บ้านปูน
สถาปนิกออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่บนกรอบอาคารเดิมเพื่อทำเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีส่วนอาคารยื่นออกนอกแนวเดิมเล็กน้อย และยังเก็บต้นไม้รอบ ๆ อาคารไว้ตามเดิม
สตูดิโอออกแบบเสื้อผ้าเป็นโถงโปร่งสูง 2 ชั้น กรุกระจกบานใหญ่เปิดมุมมองสู่สวนกลางที่ดิน มีทางเข้า – ออกและที่จอดรถแยกต่างหากเพื่อรองรับลูกค้าและผู้มาติดต่องาน
กำหนดให้พื้นที่พักอาศัยอยู่ด้านหลังของบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว และมีทางเข้า – ออกเชื่อมต่อกับบ้านอีกหลัง ประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และห้องครัว แม้ว่าตัวโครงสร้างและกรอบอาคารจะดูหนักแน่น ดิบเท่ แต่เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งดีไซน์เรียบหรูก็ช่วยเติมความอบอุ่นได้อย่างลงตัว
บริเวณโถงชั้น 1 มีลักษณะเป็นโอเพ่นแปลนเพื่อให้บ้านมีบรรยากาศโปร่งโล่งและตอบโจทย์การใช้งานพร้อมกันทุก ๆ พื้นที่ เหมาะสำหรับเวลาที่เจ้าของบ้านมีเพื่อนมาเยี่ยมเยือนหรือจัดงานเลี้ยง
กรุกระจกเงาสีเข้มที่หน้าบานตู้บิลท์อินช่วยลวงตาให้รู้สึกว่าพื้นที่มีขนาดกว้างกว่าความเป็นจริงเป็นเทคนิคที่นิยมใช้เพื่อเพิ่มมิติให้สเปซ
จัดวางพื้นที่ที่มีฟังก์ชันใช้งานต่อเนื่องกันอย่างห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ตกแต่งสไตล์ลักชัวรีด้วยเฟอร์นิเจอร์ไลท์ติ้ง และของตกแต่ง
ห้องแต่งตัวขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยกระจกเงาบานใหญ่ คุมโทนให้อบอุ่นด้วยแสงไฟวอร์มไวท์
ตำแหน่งหน้าต่างห้องนอนสามารถเปิดออกสู่สวนกลางที่ดินและอยู่ตรงกับยอดไม้พอดี สร้างความสดชื่นได้ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า
ตำแหน่งหน้าต่างห้องนอนสามารถเปิดออกสู่สวนกลางที่ดินและอยู่ตรงกับยอดไม้พอดี สร้างความสดชื่นได้ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า เลือกบันไดแบบโปร่งเป็นบันไดหลักของบ้าน โดยใช้เหล็กไอบีมมารับน้ำหนักแม่บันไดพร้อมราวจับไม้และลูกกรงบันไดที่ทำจากอะลูมิเนียม

 

เรื่อง :  Ektida N., ปลากริมไข่เต่า, polarpoid
ภาพ : เกตน์สิรี วงศ์วาร
เรียบเรียง : Parichat K.

บ้านรีโนเวตหลังอื่นๆ คลิก