องค์อัครศิลปิน กับนักดนตรีระดับตำนานของโลก

ตั้งแต่ครั้งยังเด็ก พระปรีชาสามารถอย่างแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เด็กๆ อย่างเราเข้าใจได้ง่าย นั่นคือ การเป็น “องค์อัครศิลปิน” ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ในบทเรียน แม้ในเวลานั้นจะยังแยกแยะแนวดนตรีไม่ออก แต่ก็สัมผัสได้ถึงความเพราะพริ้งกับจังหวะที่ลื่นไหลของทำนอง และยังได้เรียนรู้ภาษาจากถ้อยคำแสนไพเราะของเนื้อร้อง จวบจนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ บทเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลง ตัวโน้ตทุกห้อง เสียงจากทุกเครื่องดนตรี บอกเราได้ทันทีว่า บทเพลงเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นจากผู้มีความรู้และความเข้าใจในดนตรีอย่างถ่องแท้

ความสนุกของดนตรีแจ๊ส อยู่ที่การแสดงดนตรีสด นักดนตรีได้ใช้ทักษะของตนเองในการด้นสด หรือ Improvisation และจะยิ่งสนุกยิ่งขึ้น ถ้าได้มีแขกรับเชิญเข้าร่วมแจมการเล่นดนตรี นี่เองที่ทำให้บรรดาศิลปินนักดนตรีแจ๊สในตำนานระดับโลกหลายต่อหลายคน ได้กราบบังคมทูลเชิญองค์อัครศิลปินของเราให้ทรงร่วมบรรเลงเพลงร่วมกับสมาชิกของวง room จึงขอรวบรวมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ด้านดนตรีเหล่านี้ เพื่อถ่ายทอดให้กับพสกนิกรชาวไทยได้รับชมถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

BENNY GOODMAN

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2503

องค์อัครศิลปิน

การแสดงที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุด นั่นคือการที่ได้ทรงร่วมบรรเลงกับ Benny Goodman นักคลาริเน็ตชาวอเมริกันผู้ถูกขนานนามให้เป็น King of Swing พระองค์ทรงร่วมบรรเลงแซ็กโซโฟนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ร่วมกับ Gene Krupa มือกลอง, Urbie Green มือทรอมโบน, และ Jonah Jones มือทรัมเป็ต ในระหว่างช่วงพระกระยาหารค่ำที่บ้านของ Goodman ใน New York City ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้น การร่วมทรงดนตรีได้เคยเกิดขึ้นในปี 2499 ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อครั้ง Goodman มาเยือนกรุงเทพมหานคร
(ภาพ : the U.S. Information Agency)

บทเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น บรรเลงโดย Benny Goodman เมื่อปี 2499 ที่กรุงเทพมหานคร

 


THE PRESERVATION HALL JAZZ BAND

พ.ศ.2531

ในวโรกาสครบรอบปีที่ 60 แห่งพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช The Preservation Hall Jazz Band วงดนตรีแจ๊สจากนิวออร์ลีนส์ ได้ถูกรับเชิญเข้าร่วมเล่นดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ที่พระราชวังสวนจิตรลดา

 


MAYNARD FERGUSON

3 ตุลาคม พ.ศ.2540

องค์อัครศิลปิน

นักทรัมเป็ตชาวแคนาดา พร้อมกับคณะดนตรีแบบเต็มวง ได้รับเชิญเข้าร่วมพระกระยาหารค่ำเป็นการส่วนพระองค์ที่พระราชวังสวนจิตรลดา และร่วมทรงดนตรีในช่วงเวลา 5 ทุ่มยาวไปจนถึงเช้า ในบทเพลงพระราชนิพนธ์ไร้จันทร์ (No Moon) และสายลม (I Think of You) โดยเมนาร์ดได้บอกเล่าถึงความประทับใจ ว่าทรงร่วมโซโล่และปะทะแจมตลอดทั้งบทเพลง “ถ้ามีคนถามผมว่า สมาชิกในวงมีใครบ้าง ผมจะตอบว่า Slide Hampton และในหลวงของประเทศไทย”

(อ้างอิงจาก ChicagoTribune และ Maynard.ferguson.net)

 


BENNY CARTER 

22 พฤศจิกายน พ.ศ.2539

องค์อัครศิลปิน

ก่อนหน้านี้ Benny Carter นักแซ็กโซโฟนแจ๊สชาวอเมริกัน เคยได้รับเชิญเป็นการส่วนพระองค์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม และในครั้งนี้ Benny พร้อมเพื่อนสมาชิก Carter’s Group อันได้แก่ Warren Vache, Scott Hamilton, and Urbie Green, Chris Neville, John Heard และ Sherman Ferguson ได้ถูกรับเชิญอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสที่ได้กลับมาร่วมแสดงในงาน The First International Thailand Jazz Festival ในวโรกาสเฉลิมฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในการร่วมทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ครั้งนี้ เป็นเวลาตั้งแต่ 5 ทุ่มยาวไปจนถึงตี 5 ซึ่งบทเพลงที่บรรเลง มีทั้งบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงของคาร์เตอร์เอง บทเพลงของ Duke Ellington และเพลงในสไตล์ Dixieland ที่ทรงโปรดปราน และคาร์เตอร์เองก็ไม่ได้เล่นมานานแล้ว

(อ้างอิงจาก bennycarter.com)

 


LIONEL HAMPTON

พ.ศ.2510

king-of-jazz-02

นักไวบราโฟนและเปียโนแจ๊สชาวอเมริกัน ผู้ขนานนามพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า “He is simply the coolest king in the land. – ทรงเป็นกษัตริย์ที่เจ๋งที่สุดในแผ่นดิน”  ได้วางแผนการบันทึกเสียงดนตรีร่วมกับพระองค์ในช่วงฤดูร้อนในปี พ.ศ.2510 โดยรายได้จากการจำหน่ายแผ่นเสียงโดยเสด็จพระราชกุศล

(ข่าวจาก นิตยสาร JET ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2510)

 


STAN GETZ

พ.ศ.2509

องค์อัครศิลปิน

พระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ Stan Getz นักแซ็กโซโฟนในตำนานชาวอเมริกัน ครั้งที่เขาได้รับเชิญให้ไปเล่นที่ทำเนียบขาวในคราวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2509 ตามคำเชิญของประธานาธิบดี Lyndon Johnson

 


เรื่องและรวบรวม : skiixy