BANGKOK-VENICE เมื่อศิลปะพาเชื่อมจิตสองฝั่งน้ำ

“เมืองที่เต็มไปด้วยคูคลอง สัญจรทางน้ำเป็นนิจ อุดมด้วยวัฒนธรรม คึกคักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และอบอวลบรรยากาศของเมืองเก่า” หากกล่าวประโยคนี้ เราอาจนึกถึง บางกอก หรือกรุงเทพฯ และหากคิดดูอีกที เราก็อาจจะคิดถึงเวนิสได้เช่นกัน

เมืองทั้งสองที่เหมือนกับเป็นพี่น้องฝาแฝดซึ่งต่างเกิดมาในต่างมุมโลก แต่มีความผูกพันอันน่าสนใจในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่ใช้คูคลองเป็นทางสัญจรหลัก การเป็นเมืองท่าที่คึกคัก จนทำให้รูปแบบอาคารโดยทั่วไปของเมืองนั้นเป็นอาคารพาณิชย์ หรือตึกแถว ดังเช่นเดียวกับบางกอกในครั้งอดีต ที่เรายังคงเห็นได้ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่เยาวราช-ตลาดน้อย แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อกว่าร้อยกว่าปีก่อน กษัตริย์ของเราก็เคยเสด็จประพาสมายังนครแห่งสายน้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ในปี ค.ศ.1897 และ ค.ศ.1907 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสด็จฯ ร่วมชมงานเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ถึงสองครั้ง และในครั้งที่ 2 นั้น รัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงทอดพระเนตรงานของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) หนึ่งในศิลปินดาวรุ่งในยุคนั้น ซึ่งต่อมา นาย กาลิเลโอ คินี คนนี้เอง ก็ได้เดินทางมายังสยามในตอนต้นของรัชกาลที่ 6 เพื่อเริ่มสัญญางานออกแบบ และวาดภาพให้กับท้องพระโรงแห่งใหม่ของสยาม อันมีนามว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม

จะเห็นได้ว่าอิทธิพลศิลปะ ความงาม และจิตวิญญาณของเวนิส และบางกอกนั้น มีความเชื่อมโยงในหลายมิติ และสำหรับในปีนี้ เมื่อมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ได้เวียนมาอีกครั้ง โดยจัดเป็นครั้งที่ 60 ประเทศไทย นำโดย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้จัดทำนิทรรศการศิลปะ The Spirits Of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร พา 15 ศิลปินไทย และอาเซียน ไปอวดศักยภาพแก่ชาวโลก โดยนิทรรศการนี้ได้เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ครั้งนี้อีกด้วย

ตัวนิทรรศการ The Spirits Of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ได้บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ 10,000 กิโลเมตร ของเมืองบางกอก และเวนิส ผ่าน 40 ผลงานศิลปะอันโดดเด่นของ 15 ศิลปินจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม สื่อผสม และวิดีโอจัดวาง ซึ่งเจาะลึกประเด็นเรื่องการพลัดถิ่น ลัทธิล่าอาณานิคม และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นไปที่สัญลักษณ์ของการข้ามน้ำ และการเดินทางทางทะเลเป็นพิเศษ ประกอบด้วยศิลปินชื่อดังมากมาย นำโดย มารีน่า อบราโมวิช (เซอร์เบีย สหรัฐอเมริกา) พิเชษฐ กลั่นชื่น (ไทย) ปรียากีธา ดีอา (สิงคโปร์) จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ไทย) นักรบ มูลมานัส (ไทย) จอมเปท คุสวิดานันโต (อินโดนีเซีย) บุญโปน โพทิสาน (ลาว) อัลวิน รีอามิลโล (ฟิลิปปินส์) คไว สัมนาง (กัมพูชา) โม สัท (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า-เนเธอร์แลนด์) จักกาย ศิริบุตร (ไทย) เจือง กง ตึง (เวียดนาม) นที อุตฤทธิ์ (ไทย) กวิตา วัฒนะชยังกูร (ไทย) และ หยี่ อิ-ลาน (มาเลเซีย)

ความพิเศษไม่ใช่แค่ในตัวนิทรรศการเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถานที่จัดงานอย่าง Palazzo Smith Mangilli Valmarana ซึ่งตั้งอยู่ริม Grand Canal หลังจากปิดตัวมายาวนานกว่า 12 ปี เป็นครั้งแรกที่ Palazzo Smith Mangilli Valmarana เปิดให้เข้าชมอีกครั้ง สถานที่ที่แห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของกงสุลชาวอังกฤษ Joseph Smith ซึ่งเป็นนักสะสมศิลปะ และเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินมากมาย อาคารแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางศิลปะ และพื้นที่แลกเปลี่ยนของนักสร้างสรรค์ทั้งหลายในยุคนั้น ต่อมาเมื่ออาคารเปลี่ยนมือมาสู่เจ้าของใหม่ Count Giuseppe Mangilli จึงได้ว่าจ้าง Giannantonio Selva ให้ตกแต่งภายในในสไตล์นีโอคลาสสิก และคงสภาพดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้

นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บริษัท วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์ จำกัด (One Bangkok) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซนทรัล จำกัด (Central Group) มูลนิธิ 100 ต้นสน Fraser & Neave Holdings Bhd (F&NHB) and Fraser and Neave, Limited (F&NL) Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (SABECO) บริษัท ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท แสงโสม จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต จำกัด Generali Life Assurance (Thailand) Plc Richard Koh Fine Art Nova Contemporary Warin Lab Silver lens Gallery Flowers Gallery บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายพันธมิตร ทุกภาคส่วน

สำหรับ room Guide ครั้งหน้า แน่นอนว่าเราจะพาทุกท่านไปชม มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 อย่างแน่นอน รอติดตามได้เลย

ภาพ: Sitthisak Namkham

เรียบเรียง: Wuthikorn Sut

ผลงาน There’s no Place (2020) โดย จักกาย ศิริบุตร ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ที่กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับชะตากรรมของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัยจากสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ที่กลายเป็นคนแปลกหน้าและเป็นชาวต่างชาติในทุกแห่งหนที่พวกเขาเหยียบย่างไป ด้วยประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยงานเย็บปักผ้าที่เป็นการร่วมสร้างสรรค์ของเด็กๆ ผู้เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านั้น
ผลงาน Story from Plateau (2019) โดย บุญโปน โพทิสาน (Bounpaul Phothyzan) ศิลปินร่วมสมัยสัญชาติลาว กับประติมากรรมจัดวางที่ตีแผ่เหตุการณ์ในสงครามอินโดจีน ในช่วงเวลาที่กองทัพอเมริกันทิ้งระเบิดในลาวกว่า 2 ล้านตัน ศิลปินหยิบเปลือกโลหะของลูกระเบิดที่เก็บกู้จากทุ่งนาที่เต็มไปด้วยวัตถุระเบิด มาฉลุเป็นลวดลายที่บอกเล่าเรื่องราวของประชาชนผู้บริสุทธิ์ผู้ต้องบาดเจ็บและล้มตายจากซากระเบิดที่ยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้
ผลงานวิดีโอแสดงสด โดย กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินศิลปะแสดงสดชาวไทย ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในฐานะแรงงาน ทั้งแรงงานในบ้าน และแรงงานอุตสาหกรรม ที่ถูกกดทับและเอารัดเอาเปรียบในสังคมชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้คน หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ผลงานของเธอยังเชื่อมโยงค่านิยมเกี่ยวกับคุณค่าของผู้หญิงตะวันออก เข้ากับประวัติศาสตร์อาณานิคมระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลี ผ่านกิจกรรมสามัญอย่างการอาบน้ำได้อย่างน่าสนใจ
ผลงาน The State of Absence – Voices from Outside (2020 – ปัจจุบัน) โดย เจือง กง ตึง (Truong Cong Tung) ศิลปินร่วมสมัยชาวเวียดนาม กับผลงานศิลปะจัดวางจากวัตถุในธรรมชาติอย่าง น้ำเต้า อันเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติของเวียดนาม วัตถุเหล่านี้ส่งผ่านน้ำและพรายฟองออกมา เพื่อเป็นตัวแทนของเลือดและลมหายใจ วัตถุเหล่านี้ถูกจัดวางบนผืนทรายอันเป็นตัวแทนของผืนแผ่นดินและทะเลอันเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิตทั้งมวล
ผลงาน Our Place in Their World (2023 – 24) โดยสองศิลปินร่วมสมัยชาวไทย จิตติ เกษมกิจวัฒนา กับ นักรบ มูลมานัส กับผลงานวิดีโอแอนิเมชันจัดวางที่ประกอบสร้างจากภาพปะติดปะต่อทับซ้อนจากข้อมูลที่ศิลปินสืบค้นจากประวัติศาสตร์ของเวนิส และร่องรอยทางประวัติศาสตร์จากผลงานศิลปะที่ตกแต่งในพื้นที่แสดงงาน กับการสำรวจประวัติศาสตร์ของสามัญชนชาวสยามผู้มีโอกาสเดินทางไปยังโลกตะวันตก หลอมรวมกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอันวิจิตรพิสดารและน่าพิศวง ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลอันไพศาล
ผลงานศิลปะจัดวางโดย อัลวิน รีอามิลโล (Alwin Reamillo) ศิลปินร่วมสมัยสัญชาติฟิลิปปินส์ ที่ถักทอกระแสวัฒนธรรมผ่านการปะติดปะต่อวัตถุเก็บตกเหลือทิ้ง เข้ากับรูปเคารพทางศาสนาที่หยิบมาจากฉาก มรรคาศักดิ์สิทธิ์ (Station Of The Cross) หรือเส้นทางสู่กางเขน 14 ภาพของพระเยซูคริสต์ เพื่อสำรวจประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคม ที่มักใช้ศาสนาอ้างความชอบธรรมในการรุกรานและยึดครองแผ่นดินของชนชาติอื่น
ผลงาน Déjà vu: When the Sun Rises in the West (2022) โดย นที อุตฤทธิ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย กับผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่หลอมรวมแนวคิดของโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน โดยตั้งสมมติฐานถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับอารยธรรมกรีกโบราณ เพื่อสำรวจและตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์และความเหลื่อมล้ำระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม อีกทั้งยังล้อไปกับธีมหลักของ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 อย่าง “ชาวต่างชาติในทุกแห่งหน” (Foreigners Everywhere) ที่คนต่างชาติต่างถิ่นแปลกหน้าปรากฏในพื้นที่ทางศาสนาทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ราวกับเป็นภูติผีหรือวิญญาณเร่ร่อนล่องลอยมาหลอกหลอนเจ้าบ้านถึงเหย้าเรือนก็ไม่ปาน
ผลงาน Déjà vu: When the Sun Rises in the West (2022) โดย นที อุตฤทธิ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย กับผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่หลอมรวมแนวคิดของโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน โดยตั้งสมมติฐานถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธเจ้ากับอารยธรรมกรีกโบราณ เพื่อสำรวจและตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์และความเหลื่อมล้ำระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคม อีกทั้งยังล้อไปกับธีมหลักของ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 อย่าง “ชาวต่างชาติในทุกแห่งหน” (Foreigners Everywhere) ที่คนต่างชาติต่างถิ่นแปลกหน้าปรากฏในพื้นที่ทางศาสนาทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ราวกับเป็นภูติผีหรือวิญญาณเร่ร่อนล่องลอยมาหลอกหลอนเจ้าบ้านถึงเหย้าเรือนก็ไม่ปาน
ผลงาน Terang Boelan (Moonshine) (2022) โดย จอมเปท คุสวิดานันโต (Jompet Kuswidananto) ศิลปินร่วมสมัยชาวอินโดนีเซีย กับศิลปะจัดวางที่ประกอบสร้างขึ้นจากกองเศษซากปรักหักพังของโคมไฟระย้า เปียโน และเศษกระจกจนดูคล้ายกับเกาะกลางมหาสมุทร อันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซีย ที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก หรือแม้แต่เป็นภาพแทนของชนชั้นนำในอินโดนีเซียเหล่าวีรบุรุษสงครามผู้ปลดแอกประเทศจากลัทธิอาณานิคม อภิสิทธิ์ชนที่กดทับประชาชนด้วยกันเอง
ผลงาน Calling for the Rain (2021) โดย คไว สัมนาง (Khvay Samnang) ศิลปินร่วมสมัยชาวกัมพูชา กับวิดีโอจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก มหากาพย์รามายณะ ผสมผสานกับนิทานที่ศิลปินเล่าให้ลูกๆ ฟังก่อนนอน และพิธีบวงสรวงธรรมชาติเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณของชนพื้นเมือง โดยเล่าเรื่องราวของเหล่าบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ในป่าที่ร่ายรำบวงสรวงเพื่อขอฝนและต่อสู้กับภัยคุกคามจากมังกรไฟ อันเป็นอุปมาอุปมัยถึงประเทศมหาอำนาจผู้ตัดไม้และทำลายธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน