resort-nan

Patamma resort ฟื้นฟูป่า ริมน้ำน่าน สู่ รีสอร์ท แบบวิลล่าพื้นถิ่นร่วมสมัย

resort-nan
resort-nan

ป่าทำมา รีสอร์ท แบบวิลล่าริมแม่น้ำน่าน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ตีความให้ความร่วมสมัย ในพื้นที่ที่ตั้งใจสร้างเป็นป่าของชุมชน

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: IF (Integrated Field) 

เริ่มจากแนวคิดตั้งต้นในการฟื้นคืนป่าให้พื้นที่ริมน้ำ โดยมีอาจารย์จุลพร นันทพานิช แห่งป่าเหนือสตูดิโอ สถาปนิกผู้ทำงานออกแบบที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติ ช่วยเข้ามาปรับสภาพที่ดินในส่วนที่ติดกับริมแม่น้ำ ทั้งการปลูกต้นไม้ทุกชนิดใหม่จากต้นกล้า ไม่ใช้วิธีล้อมต้นใหญ่มาปลูก เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติร่วมทำงาน รอเวลาให้ต้นไม้ค่อยๆ เติบโต ให้ป่าฟื้นฟูตัวเองนานนับปี จากนั้น IF (Integrated Field) จึงเข้ามาออกแบบอาคาร รีสอร์ท ไปพร้อมกับการสร้างป่าแห่งนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วางอาคารเปิดรับวิวแบบพานอรามา

ทีมสถาปนิกจาก IF (Integrated Field) เข้ามาคิดผังการวางอาคารในพื้นที่ริมน้ำที่ถูกปรับเป็นป่า โดยวางอาคารหลัก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาคารส่วนต้อนรับ มีห้องอาหาร “ป่ากำกิ๋น” เป็นภาษาเหนือแปลว่าป่าของกิน ทรงอาคารมีที่มาจากรูปทรงของหินที่พบได้บริเวณริมแม่น้ำ รายละเอียดแทบทุกจุดของโครงการ เกิดจากการลงพื้นที่ชุมชนของทีมออกแบบ นำไปสู่การต่อยอดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นงานร่วมสมัยที่น่าสนใจ ซ่อนอยู่ในดีไซน์ของตัวอาคาร ทรงหลังคา เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงวัสดุ เรียกได้ว่าทุกองค์ประกอบมารวมตัวกันก่อตัวเป็น “ป่าทำมา” ที่ถูกทำขึ้นมาอย่างตั้งใจ และพอดี

อาคารห้องพัก มีทั้งหมด 9 หลัง แบ่งเป็น 2 ไทป์ คือ Sky Loft Villa ที่มีชั้นลอย สามารถเปิดบานเปิดบนเพดานเพื่อรับแสงหรือดูดาวได้ และ Lagoon Villa ที่เป็นห้องห้องใหญ่ชั้นเดียวรับวิวมุมกว้าง อาคารทั้งหมดวางตัวขนานไปกับแม่น้ำ โดยเฉพาะอาคารส่วนกลางที่เป็นทรงสามเหลี่ยมทำให้รับวิวได้รอบด้านแบบพานอรามา

ผังอาคารจากทรงของหินแม่น้ำ

ผังอาคารห้องพักมีที่มาจากรูปทรงของหินริมแม่น้ำที่เป็นทรงรี ขอบโค้งมนไปตามสายน้ำที่ไหลผ่าน ผนังห้องพักทั้งหมดขึ้นจากดินในพื้นที่มาอัดแน่นทั้งแผง ไม่ใช้วิธีก่ออิฐ เมื่อล้อมเป็นวงรี ตามขนาดความกว้างพอดีสำหรับห้องพัก จะสามารถรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาได้พอดีโดยไม่ต้องมีเสาอยู่กลางห้อง ทำให้ได้ห้องกว้างใช้งานได้เต็มที่ และสีผนังที่ออกมาก็เอกลักษณ์เฉพาะที่นี่ เป็นการทดลองของสถาปนิก และ บ้านดิน ลาแตร์ la terre ที่ทำผนังดินดัดโค้ง Rammed-earth walls ซึ่งมาทดลองที่หน้างาน ทำเป็นผนังรับน้ำหนักโดยไม่ใช้เสา

ค้นคว้าหาความพื้นถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าอันแท้จริงจากชุมชน

รายละเอียดแทบทุกจุดของโครงการ เกิดจากการลงพื้นที่ ค้นคว้าหาความพื้นถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าอันแท้จริงจากชุมชนในจังหวัดน่านของทีมออกแบบ นำไปสู่การต่อยอดเป็นงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบร่วมสมัยที่น่าสนใจ ซ่อนอยู่ในดีไซน์ของตัวอาคาร ทรงหลังคา เฟอร์นิเจอร์ วัสดุ และรายละเอียดงานสถาปัตยกรรม

อีโค่ลักชัวรี่ 

เมื่อความหรูหรา คืนความสมดุลแก่ธรรมชาติได้ นี่คือตัวอย่างที่น่าสนใจของการออกแบบเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษแก่ผู้มาเยือน ในขณะสร้างธุรกิจที่ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพิ่มพูนให้ชุมชนเข้มแข็งไปพร้อมกัน

ที่ตั้ง
Patamma 
72 หมู่ 6 ถนนป่าทำมา ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

เรื่อง: Natthawat Klaysuban
ภาพ: W Workspace