สีสันคลาสสิก

สีสันคลาสสิก … เมื่อวันวาน

สีสันคลาสสิก
สีสันคลาสสิก

งานสถาปัตยกรรมถือเป็นงานศิลปะที่สะท้อนถึงอารยธรรม วิถีชีวิต รูปแบบการอยู่อาศัย ตลอดจนบ่งบอกเทคโนโลยีของวัสดุและการก่อสร้างในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเลือกใช้ สีสันคลาสสิก

สีสันคลาสสิก ในงานสถาปัตยกรรมในอดีตที่เราพบเห็นตามย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสไตล์คลาสสิก กอทิก เรอแนซองซ์ อาร์ตเดโค หรือแม้แต่โคโลเนียล ที่เราคุ้นเคยกันดีในยุคหลัง ล้วนมีความงดงามร่วมสมัยและมีรูปลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงรูปทรงและการประดับประดาอย่างสวยงามเท่านั้น การเลือกกลุ่มสีมาใช้กับตัวอาคารก็มีความน่าสนใจและไม่ค่อยพบเห็นกันมากนักในปัจจุบัน เราจึงมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อเป็นไอเดียให้แฟน ๆ บ้านและสวน ได้ลองนำไปประยุกต์ใช้กัน มาดูกันครับว่ามีกลุ่มสีอะไรบ้าง

บ้านโคโลเนียล
บ้านไม้โคโลเนียล
บ้านไม้โบราณ

กลุ่มสีงาช้างและสีเหลืองคลาสสิก (Ivory & Classic Yellow)

จัดเป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล สดใส และสบายตา เรามักเห็นว่าอาคารในยุคเก่านิยมใช้กลุ่มสีนี้ เพราะในสมัยก่อนผงสีที่นำมาฉาบทาตัวอาคารภายนอกมักเป็นสีเหลืองตุ่น ต่อมาจึงได้พัฒนาไปสู่การใช้สีทาอาคารที่เป็นสารสังเคราะห์อย่างในปัจจุบัน  

เราอาจเพิ่มลูกเล่นด้วยการใช้สีขาวเป็นสีตัดขอบบัวของผนังและพื้น รวมถึงลายประดับตกแต่งต่างๆ หรือจะใช้สีอื่นๆ กับส่วนของประตู หน้าต่าง และช่องเปิดระบายอากาศ เช่น เขียวอมน้ำเงิน แดง เขียวเข้ม หรือสีน้ำตาลของเนื้อไม้ ก็ช่วยเพิ่มรายละเอียดให้ตัวอาคารดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

บ้านสีเหลือง
อาคารของพระยาพาลาซโซ หรือ “บ้านบางยี่ขัน” ซึ่งเลือกใช้สีงาช้างร่วมกับสีขาว เมื่อแสงแดดส่องกระทบกับ ตัวอาคารก็ทำให้บรรยากาศดูสว่างสดใสและนวลตา
สีสันคลาสสิก
พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร บริเวณผนังใช้สีเหลือง แล้วตัดขอบด้วยสีขาวในส่วนที่เป็นองค์ประกอบ ประดับอาคาร เพิ่มความน่าสนใจด้วยการใช้สีเขียวอมน้ำเงินกับประตู และช่องแสงด้านบน
สีสันคลาสสิก
ตึกมนุษยนาควิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นงานศิลปะแบบกอทิกที่ใช้คู่สีเหลือง- ขาว ร่วมกับสีน้ำตาลแดงของหน้าต่างไม้จริง ซึ่งใกล้เคียงกับสีแดงของหลังคา

กลุ่มสีขาวกับมิติแห่งแสงและเงา (White and Shade Shadow)

สีขาวถือเป็นสีพื้นฐานที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยก่อนจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับความงามที่ลึกซึ้งมากกว่า กล่าวคือสถาปัตยกรรมรูปแบบคลาสสิกจะมีลวดลายและการประดับประดาบนรูปด้านอาคาร โดยออกแบบให้มีความตื้น- ลึกของระดับระนาบอาคาร การใช้สีขาวจะช่วยให้เห็นความสวยงามของแสงและเงาที่เกิดขึ้นบนตัวอาคารได้ชัดเจนที่สุด แต่เพื่อไม่ให้ดูน่าเบื่อเกินไปก็มักมีการนำสีอื่นๆ มาใช้ร่วมด้วย เช่น เทา เขียวอ่อน เขียวอมเหลือง หรือสีน้ำตาลของไม้

ผนังสีขาวของอาคารโครงการบ้านสีลม กรุงเทพฯ นำสีเทาอ่อนๆ มาใช้เน้นจังหวะการประดับประดาของตัวเสา และกรอบประตู ร่วมด้วยกรอบประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมสีดำแบบโมเดิร์นที่ดูเข้ากันได้ดี
พระตำหนักจันทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระตำหนักจันทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร การใช้คู่สีขาวและเขียวอมเหลืองกับอาคารทางศาสนา ให้ความรู้สึกสบายสายตา
ประตูบานเฟี้ยมและช่องแสงลวดลายฉลุไม้ เครือเถาตรงหน้าประตูของอาคารพระยาพาลาซโซ ใช้สีขาวที่เรียบง่ายร่วมกับสีน้ำตาลของเนื้อไม้
ลวดลายประดับประดาบนผนังและกรอบหน้าต่างที่ใช้สีขาวของอาคารคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ ย่านบางรัก ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดของคิ้วบัวต่างๆ อย่างชัดเจน

กลุ่มสีฟ้าครามและสีเขียวน้ำทะเล (Cloud Blue & Sea Green)

สีฟ้า น้ำเงิน และเขียวเป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น เป็นอิสระ และโปร่งสบาย มักนำไปใช้กับบ้านพักตากอากาศในสมัยก่อน โดยใช้ร่วมกับสีขาว ฟ้าอ่อน หรือฟ้าเข้ม เพื่อเพิ่มสีสันและลูกเล่น เป็นคู่สีที่ดูสวย น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยพบเห็นในปัจจุบัน แนะนำให้ใช้โทนสีฟ้าพาสเทล หรือไม่ก็นำสีขาวมาช่วยเบรกความรู้สึก ลดทอนสัดส่วนของสี หลีกเลี่ยงการใช้โทนสีเขียว หรือน้ำเงินเข้มมากๆ กับทั้งผนัง เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดเกินไป

เทวาศรม หัวหิน รีสอร์ต
อาคารเทวาศรม หัวหิน รีสอร์ต ใช้สีขาวเป็นสีพื้น ร่วมกับสีฟ้าอ่อนและฟ้าครามตรงประตูและหน้าต่าง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และดูหรูหราไปในตัว
ภายในห้องที่ใช้สีขาว การเติมสีฟ้าอ่อนๆเฉพาะตรง กรอบและบานประตูก็ช่วยให้ห้องดูอบอุ่นและสดใสขึ้น
บ้านพระนนท์
ห้องพักผ่อนส่วนกลางของบ้านพระนนท์ ย่านถนนสาทร นำสีเขียวอ่อนสไตล์พาสเทลมาใช้ และขับเน้นด้วยสีเขียวเข้มของชุดกรอบหน้าต่าง เป็นการใช้สีเขียวที่ปรับความอ่อน – เข้มของสีให้ต่างกัน แต่สร้างความน่าสนใจได้ดี

กลุ่มสีชมพู สวยหวานคลาสสิก (Dusky Pink)

สีชมพูให้ความรู้สึกอ่อนหวานและคลาสสิก แต่การเลือกคู่สีสดนี้มาปรับใช้กับห้องและอาคารให้ดูสวยงามลงตัวเป็นเรื่องค่อนข้างยาก สีภายนอกอาคารในสมัยก่อนมักเลือกใช้สีชมพูโทนอ่อนๆ แบบพาสเทล (สีปูนแห้ง) ร่วมกับสีพื้นอย่างสีขาว บ้านจึงดูสวยหวานและไม่อึดอัด เราอาจนำโทนสีชมพู เข้มๆ มาสร้างบรรยากาศให้ภายในบ้านดูสวยหวานก็ได้ แต่ควรคำนึงถึงปริมาณแสงสว่าง เนื่องจากโทนสีเข้มจะทำให้ภายในบ้านดูอึดอัด การออกแบบค่าความส่องสว่างของระบบไฟ รวมถึงกำหนดขนาดของช่องเปิดประตูหน้าต่างที่เหมาะสมจะช่วยให้ห้องดูโปร่งและสว่างขึ้น

บ้านสุทธภักติ
บ้านสุทธภักติ จังหวัดพะเยา บ้านทรงหลังคาปั้นหยาที่ใช้คู่สีที่สวยหวานอย่างสีเหลืองอ่อน เป็นสีพื้นหลักของอาคาร ใช้สีชมพูอ่อนตัดขอบ เน้นรายละเอียดตามโครงสร้างเสาและชุดกรอบหน้าต่าง ช่วยให้บ้านดูอบอุ่น ดูไม่เรียบจนเกินไป
ภายในโถงรับแขกของบ้านพิสิษฐ์กุลในจังหวัดพะเยา ที่ใช้กลุ่มสีชมพูอ่อนและกลางร่วมกัน ช่วยให้บ้านสว่างสดใส ไม่มืดทึบ (ภาพจากหนังสือ ๑๘๓ มรดกสถาปัตยกรรม ในประเทศ เล่ม 2 โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ)
 
พระยาพาลาซโซ
ห้องสมุดของอาคารพระยาพาลาซโซ เลือกใช้สีชมพูในโทนเข้มขรึม ร่วมด้วยพื้นไม้ และเฟอร์นิเจอร์สีอ่อน  พร้อมเจาะช่องทำประตู หน้าต่าง ก็ช่วยให้ห้องดูสว่างขึ้นและไม่อึดอัด

เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง

ภาพ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน, นิตยสารแพรว

รวมแบบบ้านโคโลเนียลหลังงาม สวยละเมียดสะกดใจ

เที่ยวชม 3 วังที่ซ่อนอยู่