มโนภาพของ ที่ว่าง กับโครงร่างแห่งความทรงจำ

ว่ากันว่าสถาปนิกคือผู้ออกแบบ “ ที่ว่าง ” เป็นผู้สร้างมโนภาพโดยหยิบจับพื้นที่ว่างเปล่าในอากาศมาปรับแต่ง สร้างสภาวะที่เหมาะสม แล้วเรียงร้อยที่ว่างเหล่านั้นเข้าด้วยกันจนกลายเป็นสิ่งก่อสร้าง เป็นบ้านที่เราใช้อยู่อาศัย ที่ว่างที่ดีจึงมิใช่แค่เพียงเอาไว้ใช้สอยภายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ต้องตอบสนองความรู้สึก ความพึงพอใจ และเข้ากันได้กับบริบทโดยรอบอย่างกลมกลืน เหมือนเช่นบ้านที่ผมมีโอกาสมาเยี่ยมชมในครั้งนี้

ที่ว่าง

บ้านสองชั้น 2 หลังซึ่งสร้างอยู่บนที่ดินผืนเดียวกันย่านถนนบางนา-ตราด หลังหนึ่งเป็นบ้านเก่าของครอบครัวซึ่งผ่านการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยและตกแต่งใหม่บางส่วน อีกหลังเป็นบ้านใหม่เอี่ยมเพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ โดยก่อสร้างบนพื้นที่สีเขียวเดิมของบ้านหลังแรก ทว่าทั้งสองหลังนี้ก็มีการเชื่อมโยงถึงกันทั้งในเรื่องมิติของมุมมองและการใช้สอย คุณลิงก์ – เอกลักษณ์ สถาพรธนพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ Lynk Architect Co.,Ltd. เจ้าของบ้านและสถาปนิก เล่าถึงการก่อสร้างที่นี่ให้ฟังว่า

“ตอนแรกตั้งใจปรับปรุงบ้านหลังเดิมให้ใหญ่ขึ้น คิดจะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นบ้านหลังใหญ่เต็มพื้นที่ แต่พอเวลาผ่านไปก็นำมโนภาพในตอนแรกกลับมาคิดใหม่ จึงเก็บบ้านหลังเดิมและบรรยากาศเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด ออกแบบบ้านหลังใหม่เพิ่มเติมเข้าไป แม้จะต่างยุคต่างสไตล์ แต่ทั้งหมดต้องเชื่อมโยงถึงกัน”

บ้านหลังใหม่สไตล์โมเดิร์นมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 350 ตารางเมตร มองจากภายนอกดูเหมือนนำกล่อง 3 ใบต่างขนาดมาจัดวางร่วมกัน การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในใช้สีขาว – เทา ร่วมกับวัสดุกรุผนังบนชั้นสองซึ่งทำจากอะลูมิเนียมสีน้ำเงินอมเทา สร้างความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ให้บ้านหลังนี้ ผมสะดุดตากับโถงหน้าประตูซึ่งทำเป็นตู้เก็บของขนาดใหญ่ร่วมกับชั้นเก็บรองเท้าที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของบันได เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่าได้อย่างแนบเนียนและลงตัว

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-05-877x1024

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-04-756x1024

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-06-685x1024

ไฮไลต์ของบ้านคงหนีไม่พ้นโถงรับแขกเพดานสูงซึ่งมีมุมมองต่อเนื่องไปยังระเบียงไม้ขนาดใหญ่บนชั้นสอง คุณลิงก์ยังสร้างความน่าสนใจให้บันไดหลักของบ้านด้วยการออกแบบเป็นโครงสร้างคานยื่นเหล็ก ซ่อนโครงสร้างแม่บันไดคอนกรีตเสริมเหล็กไว้ในกำแพง ทำให้บันไดดูเบาลอยเป็นพิเศษ

ผมเดินชมบ้านหลังนี้อยู่นานและพบว่าที่นี่แทบไม่มีจุดอับแสงในบ้านเลย เพราะสถาปนิกออกแบบช่องเปิดได้อย่างทั่วถึง ร่วมกับการทำช่องแสงสกายไลต์บนเพดานตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและดูสวยงาม คุณลิงก์เล่าเพิ่มเติมว่า

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-11

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-12

 

“เดิมพื้นที่ด้านข้างของบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างกันจะเป็นส่วนจอดรถและทางเข้าหลัก ต่อมาปรับให้ประตูทางเข้าหลบไปอยู่ริมซ้ายและขวา เปิดพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นสวนสีเขียวขนาดใหญ่ กลายเป็นมุมนันทนาการระหว่างบ้านทั้งสองหลัง”

ในส่วนของบ้านหลังเดิมคุณลิงก์พยายามปรับแต่งเท่าที่จำเป็นและเก็บรายละเอียดที่สำคัญเอาไว้ให้มากที่สุด เช่น ของตกแต่งสไตล์จีนโบราณซึ่งนำมาจัดวางใหม่ให้เข้ากับการตกแต่งแบบโมเดิร์นที่คุณลิงก์ถนัด

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-01-826x1024

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-03-666x1024

VISION-OF-SPACE-LAYOUT-OF-MEMORIES-14-616x1024

การเข้าใจในบริบทของการออกแบบอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง นำมาซึ่งงานสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงเรื่องราวและที่ว่างต่างๆเข้าหากันได้อย่างไร้รอยต่อ มโนภาพของที่ว่างซึ่งสอดประสานเข้ากับโครงร่างแห่งความทรงจำ ทำให้บ้านหลังนี้มีบทสรุปของการออกแบบที่สมบูรณ์ครบถ้วน เป็นบ้านที่ได้ใจผมไปเต็มๆเลยครับ

 

เรื่องโดย : ศุภชาติ บุญแต่ง

ภาพโดย : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง