บ้านในสถาปัตยกรรม โมเดิร์นทรอปิคัล ริมน้ำแม่กลอง

ครอบครัวอารยอสนี เติบโตและประกอบธุรกิจที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มายาวนาน จึงตั้งใจจะสร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่ที่ตนเองและครอบครัวมีความผูกพันมาตลอด กระทั่งได้ที่ดินผืนงามติดกับคุ้งน้ำ ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำสายสำคัญ 2 สาย อันเป็นเส้นทางหลักที่นักท่องเที่ยวมักนั่งเรือโดยสารไปทำบุญ 9 วัด และชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน  ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งดังกล่าว  จึงเป็นโจทย์ท้าทายให้สถาปนิกจาก D minus plus B ต้องออกแบบบ้านหลังใหม่สไตล์ โมเดิร์นทรอปิคัล ที่โดดเด่น หรือเป็นภาพจำให้แก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ราวกับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่จะถูกกล่าวถึงในอัมพวา พร้อมๆ กับตอบโจทย์การอยู่อาศัยในทุกแง่มุม

เนื่องจากบ้านหลังนี้ทางครอบครัวอารยอสนีตั้งใจจะให้เป็นบ้านที่อยู่ประจำ พื้นที่ใช้สอยจึงมีขนาดใหญ่ถึง 1,500 ตารางเมตร โดยใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างนานถึง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ทั้งนี้ทางเจ้าของบ้านได้เปิดโอกาสให้สถาปนิกเสนอไอเดียได้อย่างเต็มที่ เพียงแค่ขอให้บ้านอยู่แล้วรู้สึกโปร่งโล่งในสไตล์ โมเดิร์นทรอปิคัล สามารถรับวิวและธรรมชาติอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ของอัมพวาได้อย่างเต็มที่

เมื่อได้โจทย์เบื้องต้นมาแล้ว สถาปนิกจึงเริ่มกำหนดตำแหน่งพื้นที่ใช้สอย และขนาดห้องต่าง ๆ ไปพร้อมกับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกไปพร้อมกัน ส่วนพื้นที่ใช้สอยถูกแบ่งอย่างชัดเจนด้วยกำแพงขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าหลักของบ้าน นอกจากจะสร้างเพื่อความเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอก ไม่ให้มองเข้ามาเห็นพื้นที่ส่วนตัวในบ้านแล้ว ยังใช้กำแพงหินนี้ช่วยสร้างมุมมองที่เรียกว่า Surprise Space ก่อนเปิดเข้าไปพบกับโถงทางเดินที่สามารถมองทะลุไปยังแม่น้ำแม่กลองได้ โดยสถาปนิกได้วางตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอยไว้ทั้งสองฝั่งโถงทางเดินที่มีลักษณะเป็นพื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร ฝั่งซ้ายเป็นห้องนอนแขก ห้องเกม และสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าแม่น้ำและบ้านได้ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ส่วนฝั่งขวามือกำหนดให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับครัว ลิฟต์ และบันไดนำไปยังห้องนอนทั้ง 3 ห้อง ที่ชั้น 2

สระว่ายน้ำเป็นหนึ่งในโจทย์หลักจากทางเจ้าของบ้าน สถาปนิกจึงเลือกวางตำแหน่งของสระให้ขนานไปกับตัวบ้าน เพื่อสร้างความเชื่อมต่อด้านความรู้สึกให้เสมือนแม่น้ำและสระว่ายน้ำนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน

โดยทั้งห้องเกม และห้องนั่งเล่น สถาปนิกได้ออกแบบให้กรุผนังด้วยกระจกใสขนาดใหญ่จนจรดฝ้าเพดาน ซึ่งมีความสูงกว่า 3  เมตร สำหรับการชื่นชมวิวภายนอก และพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าได้เต็มสายตา ข้อดีอีกประการหนึ่ง เนื่องจากโซนนี้อยู่ทางทิศตะวันออก จึงทำให้ตลอดช่วงบ่ายได้รับร่มเงาตามธรรมชาติ การใช้งานในพื้นที่นี้จึงไม่ร้อน อีกทั้งการกรุกระจกใสยังช่วยเปิดรับวิวคุ้งน้ำของแม่น้ำทั้งสองสายที่มาบรรจบกันได้อย่างเต็มที่

แม้ทางสถาปัตยกรรมบ้านอารยอสนีจะเป็นในสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล แต่สถาปนิกก็พยายามออกแบบโดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาปรับใช้ เช่น การตีความบ้านไทยใต้ถุนสูงมาปรับใช้กับบ้านหลังนี้ เห็นได้จากพื้นที่ชั้น 1 ที่ดูคล้ายกับเป็นใต้ถุนบ้านที่ปิดล้อมด้วยกระจกใส แล้วเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร และสวนขนาดใหญ่ คล้ายเป็นพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับแจกจ่ายฟังก์ชันไปสู่ส่วนต่าง ๆ ในด้านสถาปัตยกรรมทางสถาปนิกตั้งใจให้รูปลักษณ์ของอาคารมีความสัมพันธ์กับฟังก์ชันภายใน จึงออกมาในรูปแบบการกรุไม้สักภายนอก เว้นจังหวะตามช่องเปิด และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เพื่อไม่ให้บ้านทั้งหลังเกิดความรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวจากกระจกใสที่กรุอยู่เกือบรอบบ้าน 

    

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญ คือบริเวณห้องนอนหลักที่ยื่นออกไปจากโครงสร้างถึง 5 เมตร (Cantilever) เพื่อให้ขณะที่อยู่ในห้องนอนนั้น เสมือนกำลังลอยอยู่เหนือน้ำได้ และให้พื้นที่ใต้ห้องนอนเป็นส่วนนั่งเล่น ใช้ห้องนอนทำหน้าที่แทนชายคาบ้าน เพื่อสร้างร่มเงา และกันละอองฝน นอกจากนั้นในการเลือกใช้วัสดุก็มีความใส่ใจไม่แพ้กัน ด้วยการเลือกใช้ไม้สักเป็นวัสดุหลักทั้งภายนอกและภายใน เพราะต้องการให้สีน้ำตาลและลวดลายจากเนื้อไม้ตามธรรมชาติ ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับบ้าน สมกับเป็นที่พักอาศัยสำหรับครอบครัวอย่างแท้จริง

___

ภาพ: Nattakit Jeerapatmaitree
เรื่อง: Ektida N.
.
เจ้าของ: คุณชัยวัฒน์ อารยอสนี
ออกแบบ: D minus plus B โทร. 08-3084-3708 โดยคุณศุภกิจ ปานสวัสดิ์ และคุณพงศ์ศักดิ์ โตนวม
วิศวกรรมโครงสร้าง: Chanachat Apichartyakul (C-Design)

ชมภาพเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร room ฉบับ 194


CASA CLOUD บ้านที่เชื่อมโยงธรรมชาติสู่พื้นที่ภายใน