SUPACHAI KLAEWTANONG

คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ คือหนุ่มชาวใต้ที่ตัดสินใจกลับมาตามฝันที่บ้านเกิด จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มต้นเส้นทางดีไซเนอร์อิสระ หลังจับ งานด้านการออกแบบมาหลายแขนง ก่อนพบว่า กรงนกท้องถิ่นคือวัตถุดิบที่ช่วยเติมพลังสร้างสรรค์ให้เขาได้อย่างน่าทึ่ง

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณศุภชัยคือดีไซเนอร์ที่มีแพสชั่น และเข้าใจการทํากรงนกชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง หลังผันตัวสู่การเป็นดีไซเนอร์อิสระ เขาก็ออกท่องยุทธภพอบรมเวิร์คชอปงานออกแบบกับผู้ประกอบการต่างๆ และราวกับเป็นพรหมลิขิตเมื่อมีโอกาสได้ เรียนรู้การทํางานของช่างพื้นถิ่นชั้นครูโดยบังเอิญ จากการจับคู่ทําโปรเจ็กต์พัฒนาโปรดักต์กับผู้ประกอบการกรงนกรายหนึ่งในโครงการอัตลักษณ์สร้างสรรค์เมื่อ 3 ปีก่อน ไม่นานจากนั้นก็มีโอกาสทํางานร่วมกับคนทํากรงนกอีกคนในโครงการ OTOP Premium Go Inter และได้เข้าไปคลุกคลีกับช่าง จนเกิดคำถามในใจว่า “เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากเทคนิคการทำกรงนกดั้งเดิมได้หรือไม่” ก่อนคำถามเหล่านั้นจะค่อยๆ คลี่คลายลงเมื่อเขาลงมือสเก็ตช์แบบส่งประกวดในงานนวัตศิลป์นานาชาติ 2015 ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจแค่มาประกวด แต่สิ่งที่หวังขึ้นนั้นกำลับมีคุณค่ามากกว่า

“ตอน OTOP เราทดลองเปลี่ยนกรงนกให้กลายเป็นที่แขวนเครื่องประดับขนาดกะทัดรัด เพื่อตีตลาดญี่ปุ่น โดยมีโอกาสได้ไปเห็นทีมช่างทำกรงนกชั้นสูงมีราคา ไปจนถึงกรงโหลมาตรฐาน มันตอบโจทย์ความคิดเราได้หมด! พอมีงานประกวดของนวัตศิลป์ โจทย์ครั้งนั้นคือ Inspired by Wisdom เราก็มานั่งลิสต์ว่ามีภูมิปัญญาท้องถิ่นใดบ้างที่สามารถนํามาออกแบบได้ ตั้งแต่กรงนก ลิเภา เครื่องถม ลูกปัดมโนราห์ แต่เราก็เลือกกรงนก เพราะหนึ่ง เรามีพื้นความรู้ สอง เรารู้จักกับกลุ่มช่างทํากรงนกฝีมือดีในท้องถิ่น และสาม เรามีกรงนกเป็นโจทย์ในใจที่ทดไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว”

craftmen01

 

แทนที่จะนําเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการทํางานคราฟต์ดั้งเดิมอย่างที่ช่างฝีมือคุ้นเคย คุณศุภชัยกลับเลือกนําเทคนิคแบบเดิมมาทําให้เกิดความท้าทายครั้งใหม่ ลบภาพฟอร์มของกรงนกที่คนเคยรู้จักด้วยการหยิบรูปทรงของลูกจากมาใช้ไปพร้อม ๆ กับเปลี่ยนฟังก์ชันให้กลายเป็นโคมไฟ

“เราค้นหาว่ารูปทรงแบบไหนที่มีฟอร์มดึงดูดใจ มีที่มาที่ไป พร้อมกับมีความเป็นท้องถิ่นใต้ จึงมาลงเอยที่ลูกจาก ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นถิ่นของทางใต้ และซ่อนไว้ซึ่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมากมาย เช่น นําผลจากมาทําขนม ใบนําไปมุงหลังคา ยอดนําไปทํางานหัตถกรรม”

ด้วยฟอร์มที่ไม่มีใครคิดหรือทํามาก่อน การสร้างโคมไฟลูกจากครั้งนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย “ตอนทํา Prototype เรา แบ่งงานกับช่างให้ไปทําการบ้านมาว่ามีเทคนิคท้องถิ่นอะไรบ้างที่ช่วยในการออกแบบ มันทําให้เราเรียนรู้ไปพร้อมกัน สําหรับผม ทักษะของช่างเป็นของมีค่า จึงจําเป็นที่เราต้องเข้าใจทักษะที่เขาสั่งสม เครื่องมือที่เขาใช้ และจริตของช่าง เรื่องเหล่านี้ไม่มีตํารา เรารู้ก็ต่อเมื่อลงไปคลุกคลีกับเขาจริง ๆ”

อย่างที่บอกเขาไม่ได้ตั้งใจแค่ส่งประกวด หลังผลงานโคมไฟลูกจากคว้ารางวัลสุดยอดนักออกแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ Innovative Craft Award 2015 คุณศุภชัยได้ต่อยอดผลงานด้วยการก่อตั้งแบรนด์ของตัวเอง ชื่อว่า “TIMA” และสร้างสรรค์โปรดักต์ใหม่ร่วมกับช่างพื้นถิ่นเพื่อสร้างผลงานสุดเซอร์ไพร้ส์ต่อไป

“เราไม่คิดแค่ประกวด เรายังอยากพัฒนามันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ฟอร์มใหม่ๆ หรือพัฒนาให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้านอื่นๆ ตอนนี้ก็กําลังดูภูมิปัญญาท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อนํามาทดลองงานชิ้นใหม่ในอนาคต เพราะความตั้งใจคือเราอยากให้งานคราฟต์ท้องถิ่นไปไกลสู่สากล”

 


 

เรื่อง : polarpoid
ภาพ : นันทิยา