PASTEL TERRAZZO เทอร์ราซโซ สีพาสเทล เทรนด์วัสดุมาแรง

ว่ากันว่า เทอร์ราซโซ สีพาสเทล กำลังมาแรง! เราอาจจะพบว่าหินอ่อน (ทั้งแท้และเทียม) คือวัสดุที่ได้รับความนิยม และสร้างความตื่นเต้นได้ไม่น้อยในแวดวงงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่หินอ่อนสีขาวกับโลหะทองแดงสุดหรู หรือการปะทะของหินอ่อนสีเขียวกับทองเหลืองลุคแปลกตา

แต่อีกหนึ่งเทรนด์วัสดุที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ หินขัด หรือ เทอร์ราซโซ (Terrazzo)เห็นได้จากงานออกแบบระดับโลก ตั้งแต่การตกแต่งภายใน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ก็ล้วนดูเหมือนจะสนุกสนานกับการใช้ เทอร์ราซโซ วัสดุสุดฮิตจากยุค 70’s ตามกระแสลุคสีพาสเทล 

เทอร์ราซโซสีพาสเทล
The Budapest Cafe ในเมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝีมืิอการออกแบบของ Biasol ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สีสดใสของ Wes Anderson โดดเด่นด้วยการผสมผสานหลากวัสดุ และแน่นอนว่า เทอร์ราซโซ คือพระเอก (Photo: James Morgan)
เทอร์ราซโซ
การเลือกใช้ชุดสีพาสเทล ที่ให้อารมณ์ย้อนยุค ดูสดใสเหมือนฉาบไล้ด้วยแสงแดด (Photo: James Morgan)

Did You Know?

งานหินขัดหรือ เทอร์ราซโซ เป็นการสร้างพื้นผิวอาคาร โดยใช้เกล็ดหินขนาดต่างๆ ผสมกับซีเมนต์ขาว และสีผสมซีเมนต์ (ชนิดฝุ่น) หรืออาจเพิ่มวัสดุอื่นๆ เช่น เปลือกหอย เศษกระจก เรซิ่น ฯลฯ ได้ด้วย โดยงานหินขัดแบ่งได้สองประเภทคือ แบบหล่อในที่ และแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน

เทอร์ราซโซ มีอายุอานามกว่า 6 ทศวรรษ เป็นเทคนิคที่คิดค้นขึ้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 โดยช่างชาวอิตาเลียนในเมืองเวนิส สมัยนั้นราชวัง และบ้านคหบดีนิยมปูพื้นด้วยหินอ่อนแผ่นใหญ่ แต่สำหรับพื้นที่ที่ต้องการประหยัดงบประมาณ ช่างจะนำเศษหินอ่อนที่เหลือมาวางกระจายบนผิวดินพร้อมกดอัดให้แน่น สร้างพื้นผิวในลักษณะคล้ายโมเสค 

เทอร์ราซโซ
The Brutalist Playground สนามเด็กเล่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมช่วงหลังสงครามที่แข็งกระด้างสไตล์ Brutalist ในอังกฤษ ผลงานของ Assemble และศิลปิน Simon Terrill (Photo:© Tristan Fewings / Getty Images for RIBA)
เทอร์ราซโซสีพาสเทล
งานศิลปะที่เล่นได้นี้เป็นส่วนหนึ่งใน RIBA Architecture Gallery วัสดุทั้งหมดทำจากโฟมในลวดลายคล้าย เทอร์ราซโซ สีพาสเทล ความขัดแย้งระหว่างรูปทรงที่แข็งกระด้างเมื่อแรกเห็น กับวัสดุที่อ่อนนุ่มเมื่อสัมผัส (Photo: © Tristan Fewings / Getty Images for RIBA)

และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เทคนิคนี้ได้รับการพัฒนาให้เหมาะกับการก่อสร้าง และใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกาช่วงปี 1970 ก่อนจะค่อยๆ เฟดหายไปในช่วงปลายทศวรรษนั้น

เทอร์ราซโซ
แม้จะเป็นโปรเจ็คต์เมื่อปี 2015เทอร์ราซโซก็นำเทรนด์ในโลกแฟชั่นเช่นกัน ช็อป Valentino ในนิวยอร์กเรียบหรูด้วยพื้นผิวเทอร์ราซโวสีเทาโมโนโครม ออกแบบโดย David Chipperfield Architects

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดวุ่นวาย ทั้งจากปัญหาสงครามและเศรษฐกิจ  เราจึงได้เห็นเทรนด์การใช้สีพาสเทลที่สดใสราวกับโลกในฝัน อ่อนโยน และปลอบประโลมจิตใจ รวมถึงเทรนด์สีโมโนโครมที่มาพร้อมความสงบมินิมัล หากย้อนกลับไปสักห้าปี เทอร์ราซโซสีพาสเทล คงไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ สำหรับงานออกแบบ แต่ด้วยเทรนด์มินิมัลในชุดสีพาสเทลที่กำลังมาแรงนี้ เทอร์ราซโซ จึงได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพ หลอมรวมความโมเดิร์นเข้ากับความร่วมสมัยจนกลายเป็นดีไซน์สะดุดตา

เทอร์ราซโซสีพาสเทล
Maison Kitsuné ช็อปแบรนด์เสื้อผ้าในปารีสโดดเด่นด้วยพื้นผิวกรุวัสดุเทอร์ราซโซหินอ่อนสำเร็จรูป Marmoreal ซึ่งคิดค้นโดย Max Lamb 

จริงๆ แล้วเทคนิค เทอร์ราซโซ ไม่ได้แตกต่างไปจากในอดีตมากนัก เพียงแต่เทคโนโลยีวัสดุที่ก้าวหน้า และการใช้เรซิ่นเข้ามาแทนการใช้ซีเมนต์ ช่วยให้ เทอร์ราซโซ กลายเป็นตัวเลือกวัสดุที่ตอบโจทย์การตกแต่งก่อสร้างได้หลากหลายยิ่งขึ้น ระนาบพื้น ผนัง เป็นเหมือนผ้าใบผืนใหญ่สำหรับงานศิลปะที่ไร้ข้อจำกัด สร้างความต่อเนื่องระหว่างพื้น และผนังได้อย่างกลมกลืนไร้รอยต่อ

อีกทั้งเกล็ดวัสดุก็สามารถปรับเปลี่ยน เลือกใช้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เศษกระจกเงา เกล็ดหินอ่อน เกล็ดหินแกรนิต เปลือกหอย เรซิ่น ไปจนถึงวัสดุเรืองแสง สร้างมิติแปลกใหม่ให้กับสเปซ

Nous : Restaurant & Flowers ร้านอาหารและร้านดอกไม้ที่ออกแบบโดย Studio 0321 กรุพื้นผิวภายในด้วย เทอร์ราซโซสีพาสเทล อ่อนหวาน แพทเทิร์นเกล็ดหินขนาดใหญ่ให้ลุคโมเดิร์นที่แตกต่าง (Photo: Meat Mountain)
(Photo: Meat Mountain)

เดย์เบด และสตูลที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องประดับออกแบบโดย Bina baitel โครงสร้างทองเหลืองรองรับเบาะหุ้มผ้าลายเทอร์ราซโซ ด้วยรูปทรงเรขาคณิต เมื่อผสมผสานกับลวดลาย เทอร์ราซโซสีพาสเทล จึงให้ลุคร่วมสมัย

นอกจากสไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ความยืดหยุ่นในการใช้งานในหลากหลายพื้นที่อย่างไร้รอยต่อ ความทนทานคืออีกจุดแข็งของ เทอร์ราซโซ ที่ทำให้วัสดุนี้หวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เห็นได้จากการใช้งานในพื้น และผนังห้องน้ำและห้องครัว ซึ่งทนทานต่อความชื้นได้ดี

นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้ เทอร์ราซโซ ในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งได้หลากหลาย และด้วยเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม เราจึงได้เห็นหลากหลายวัสดุเลียนแบบลวดลายของ เทอร์ราซโซ ไม่ว่าจะในรูปของวอลล์เปเปอร์ สิ่งทอหรือวัสดุคอมโพสิตอื่นๆ

คอลเล็คชั่นของเล่นในลุค เทอร์ราซโซสีพาสเทล ที่เกิดจากการรีไซเคิลของเล่นเก่าล้วน 100% ผลงานของแบรนด์ ecoBirdy สอนให้เด็กๆ รู้จักเศรษฐกิจยั่งยืน และการรีไซเคิล
Bowl 2.1 หนึ่งในคอลเล็คชั่นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งจากโปรเจ็คต์ Alhambra Terrazzo กลิ่นอายวัฒนธรรมป๊อปจากยุค 80s ฝีมือการออกแบบของ Alvaro Catalan de Ocon ดีไซเนอร์จากมาดริด
Nara 2.1 โต๊ะข้างที่เกิดจากการผสมผสานวัสดุอย่างขวดแก้ว หินอ่อน ซีเมนต์ และเรซิ่นสี สะท้อนถึงวัสดุเทอร์ราซโซผสมเศษแก้วที่คิดค้นโดย Shiro Kuramata เมื่อปี 1983 ส่วนสีสันได้แรงบันดาลใจจากผนังกรุเซรามิกสีของพระราชวัง Alhambra ในสเปน
Vase 2.1

ด้วยกระบวนการผลิตเทอร์ราซโซที่เกิดจากการหลอมรวมเกล็ดวัสดุหลากหลายชนิด ทำให้สามารถใช้เศษวัสดุรีไซเคิลต่างๆ มาเป็นส่วนประกอบได้ง่าย แนวคิดของเทอร์ราซโซ จึงเอื้อต่อกระแสการออกแบบเพื่อความยั่งยืนด้วย ทุกวันนี้ เราอาจพบเห็นเทรนด์การใช้เทอร์ราซโซสำหรับพื้นที่ภายใน หรือเฟอร์นิเจอร์โดดเด่นกว่าพื้นที่ภายนอก แต่บางทีปีหน้าเราอาจได้เห็น เทอร์ราซโซรูปแบบใหม่ในงานสถาปัตยกรรมมากขึ้นก็เป็นได้!

เรื่อง MNSD

อ่านต่อ : จับตา 4 เทรนด์ออกแบบตกแต่ง แห่งปี 2018