KYOMACHI HOUSE บ้านหลังเล็ก อยู่สบายได้ทั้งสี่ฤดู

การออกแบบบ้านของญี่ปุ่นมักมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เจ้าของ บ้านหลังเล็ก ขนาด 110 ตารางเมตรนี้ ได้สัมผัสกับทั้งสี่ฤดูของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่

บ้านหลังเล็ก Minakuchi-juku เป็นหนึ่งถนน 53 สายซึ่งอยู่ใน Tokaido ถนนโบราณตั้งแต่สมัยเอโดะ ที่ทำหน้าที่เชื่อมเมืองหลวงเก่าเกียวโต เข้ากับเอโดะ หรือโตเกียวในปัจจุบัน ถนนแห่งนี้อยู่ในเมือง Shiga จังหวัดทางทิศตะวันออกของเกียวโต และเป็นที่ตั้งของบ้านหลังกะทัดรัดหลังนี้ ที่มีชื่อว่า Kyomachi House ซึ่งออกแบบโดย Hearth Architects โดยคุณ Yoshitaka Kuga ที่เคยมีผลงานลง room หลายต่อหลายหลัง

แบบบ้านญี่ปุ่น

บ้านหลังเล็กขนาด 110 ตารางเมตรแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนพอดี และเนื่องจากพื้นที่ดินตั้งอยู่เคียงข้างถนนชุมชนหน้าแคบ จึงไม่สามารถสร้างบ้านหลังใหญ่ได้ อีกทั้งปัญหาในเรื่องทิศทาง เพราะหัวมุมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นทิศทางที่รับแสงแดดเต็มๆ สถาปนิกจึงออกแบบให้ส่วนนี้เป็นสวนภายในบ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องแสงแดดแล้ว ยังเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมส่วนตัวแบบย่อมๆ ภายในบ้านด้วย โดยมีคีย์หลักเป็นต้นไม้ใหญ่ใจกลางสวน

นอกจากหน้าที่ให้ร่มเงากับพื้นที่ ความสำคัญของต้นไม้ คือการเป็นศูนย์กลางของบ้าน ที่สามารถมองเห็นได้จากทุกจุด ตั้งแต่หลังบ้านจนถึงข้างบนบ้าน ช่วยสร้างมิติที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน ในฤดูร้อน ต้นไม้ต้นนี้จะเป็นร่มเงากำบังให้สมาชิกในบ้านร่มเย็น ส่วนในฤดูหนาว ใบไม้ร่วงหล่นทั้งหมด เป็นการเปิดโอกาสให้แสงอาทิตย์เข้ามาอาบไล้สร้างความอบอุ่นให้กับสมาชิกในบ้าน

แบบบ้านญี่ปุ่น แบบบ้านญี่ปุ่น

การออกแบบบ้านใช้ความชาญฉลาดของการออกแบบบ้านญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเสมอ นำมาปรับใช้ให้ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้ในขณะเดียวกับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ ด้วยการดัดแปลงภูมิปัญญาบางส่วนจากบ้านโบราณของเกียวโตที่เรียกว่า มาชิยะ มาใช้อย่างการใช้ไม้ระแนงหน้าบ้านบังตา หรือ ทาเตโกะ พรางตาในส่วนสวนหย่อมหน้าบ้าน

ส่วนหัวมุมอีกฝั่งหนึ่ง เปิดช่องออกสู่ริมถนนอย่างกว้างขวาง ยกระดับขึ้นให้พอดีกับระยะนั่ง ถัดจากส่วนสวนตรงนั้นเข้าไปอีก ก็เป็นห้องรับประทานอาหาร ซึ่งสามารถนั่งหย่อนขาชมสวนส่วนตัวของบ้านได้เช่นกัน โดยจัดวางแผ่นหินสำหรับวางรองเท้าที่มีชื่อว่า คุทสึนุงิอิชิ อย่างบ้านญี่ปุ่นแบบที่เราชินตา

โต๊ะรับประทานอาหาร

นอกจากส่วนสวนของห้องรับประทานอาหารที่เชื่อมต่อกับด้านนอกแล้ว ส่วนห้องนั่งเล่นก็เปิดช่องว่างหน้าต่างความสูงจากพื้นดินพอดีระยะนั่งสำหรับนั่งเล่นได้ทั้งครอบครัว หรือจะปิดบานเลื่อนในฤดูหนาวเพื่อป้องกันลมโกรกแรง ก็ยังรับบรรยากาศนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งสามารถมองเห็นได้จากพื้นที่ครัว แม้เด็กๆ จะเล่นสนุกในห้องนั่งเล่น คุณแม่ก็ยังสอดส่องได้อย่างใกล้ชิด

มุมห้องครัว มุมนั่งเล่น มุมห้องครัว

แม้กระทั่งขึ้นมาชั้นสอง ส่วนระแนงบังตาก็ยังเป็นผู้ช่วยสำคัญที่ดึงเอาธรรมชาติเข้ามาไว้บนห้องนอน โดยมีระเบียงเป็นส่วนคั่นกลางก่อน และนับเหมือนระเบียงเป็นส่วนหนึ่งภายในบ้าน หากต้องการปิดรับแสง ก็เพียงปิดบานเลื่อนกระจก ปิดผ้าม่าน ก็นอนได้อย่างเต็มอิ่ม

ส่วนด้านฟีดแบ็คจากครอบครัวนั้น ทุกคนรู้สึกมีความสุข พวกเขารู้สึกประทับใจและอยู่สบายมากกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก เพราะได้สัมผัสกับทั้งสี่ฤดูของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ทราบกันดีว่า ชาวญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผันของฤดูกาล เสมือนเป็นการเตือนว่า เวลาผันผ่านไปแล้วผ่านทางใบไม้ที่เปลี่ยนสี การเตรียมตัวพบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด พร้อมกับการชมความสวยงามของฤดูกาลคือสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในหัวใจคนญี่ปุ่นทุกรุ่นจวบจนปัจจุบัน

ออกแบบ : Yoshitaka Kuga บริษัท Hearth Architects
Website: http://hearth-a.com
Facebook: HEARTH.ARCHITECTS


เรื่อง skiixy
ภาพ : HEARTH.ARCHITECTS