ครัวไทย

รวม แบบครัวไทย สวยเรียบๆ แต่ทำกับข้าวอร่อยมาก 

ครัวไทย
ครัวไทย

ครัวไทย มักดีไซน์มาให้พร้อมใช้งานหนัก เพราะการทำอาหารของคนไทยค่อนข้างสมบุกสมบัน ต้องทั้งโขลก ทุบ ตำ ย่าง ต้ม ผัด แกง และทอด มันถึงจะอร่อย จนทำให้หลายครั้งต้องแอบเอาไปหลบอยู่มุมหลังบ้าน ทั้งที่จริงๆแล้ว ครัวไทย เองก็มีเสน่ห์น่าสนใจ

การออกแบบ ครัวไทย มักสะท้อนผ่านการเลือกใช้วัสดุบ้านๆอย่างไม้ ปูน รวมถึงมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการทำครัวมากมาย บางอย่างก็กลายเป็นไอเท็มในตำนานของครัวไทยไปเลย เราได้รวมแบบ ครัวไทย ที่สวยแบบเรียบง่าย เห็นแล้วชวนให้นึกถึงวิถีการกินของคนไทยในสมัยก่อน ทว่าก็มีการประยุกต์ให้ใช้งานได้ดีในปัจจุบันด้วยมาให้ชมเป็นไอเดียกัน

Tips ครัวไทย

ตำแหน่งพื้นที่ : ตำแหน่งที่ตั้งมักอยู่ด้านหลังหรือด้านข้างที่ระบายอากาศได้ดี ควรมีช่องเปิดเพื่อระบายกลิ่นและควัน
จากการทำอาหาร พร้อมทั้งควรได้รับแสงแดดเพื่อไม่ให้อับทึบ ซึ่งทิศที่เหมาะสมที่สุดสำหรับห้องครัวคือทิศตะวันตก
เนื่องด้วยเป็นทิศที่มีแสงแดดสาดส่องในช่วงบ่าย ซึ่งความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดเชื้อรา ลดกลิ่นอับชื้นได้อีกด้วย

วัสดุ : ควรเป็นเคาน์เตอร์ปูนเพื่อรองรับงานหนัก และพื้นผิวที่เป็นเคาน์เตอร์ต้องทนต่อสภาพกรดด่าง ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ควรเลือกวัสดุที่มีรูพรุนซึ่งจะทำให้คราบฝังแน่น ควรเลือกใช้หินสังเคราะห์หรือกระเบื้องแทนเพื่อความทนทาน

ข้อควรคำนึง : การระบายอากาศ การดูแลความสะอาด และความแข็งแรง

ตำแหน่งของครัวไทยโบราณมักแยกออกจากตัวบ้าน เพื่อลดปัญหาทั้งกลิ่นและควัน ครัวไทยห้องนี้ก็เช่นกัน แต่เพิ่มความเก๋ด้วยการออกแบบให้เกิดพื้นผิวที่แตกต่างกัน 4 อย่าง ทั้งประตูพื้นผิวไม้ซีดๆ ผนังอิฐโชว์แนว ระแนงไม้ระบายอากาศ และผนังปูนฉาบสีเทาวาดลายตอนปูนยังไม่แห้ง ช่วยให้ดูสวยแบบมีเอกลักษณ์
ชมทุกมุมของบ้านหลัง คลิก
ครัวไทยนี้ตั้งอยู่ด้านหลังบ้าน มีการนำรายละเอียดการออกแบบของบ้านไทยพื้นถิ่นอย่างฝาระบายอากาศและการยื่นชายคามาใช้ได้อย่างสวยงาม
ชมทุกมุมของบ้านหลัง คลิก
ฝาไหลบริเวณห้องครัวที่เลือกเปิด-ปิดได้ง่ายและปลอดภัย ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ห้องครัวไทยในบ้านไม้ที่แบ่งสัดส่วนการใช้งานได้ดี มีทั้งพื้นที่ล้าง พื้นที่ปรุง พื้นที่เตรียมอาหาร และพื้นที่จัดเก็บ ซึ่งใช้โครงคร่าวผนังไม้เป็นชั้นสำหรับวางเครื่องปรุงในตัว นอกจากนี้ยังใช้ไม้ในองค์ประกอบทุกส่วนเพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศของบ้านไทย ไม่ว่าจะเป็นฐานอ่างล้างจาน ที่วางเตา และโต๊ะเตรียมอาหาร
ชมทุกมุมของบ้านหลัง คลิก
ครัวไทยในพื้นที่จำกัด เลือกทำเคาน์เตอร์ที่มีโครงสร้างจากปูนเพื่อความทนทาน แม้มีข้าวของที่ต้องจัดเก็บมากมาย แต่ก็สามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างมีระบบระเบียบ
ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวไทยที่นำวัสดุสมัยใหม่อย่างหินแกรนิตมาใช้กรุผนังในส่วนเตาไฟ ซึ่งสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ทำให้คราบสกปรกไม่ฝังแน่น ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น   
ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
เคาน์เตอร์กลางในครัวกลิ่นอายไทยๆที่ใช้เป็นทั้งโต๊ะกินข้าวและส่วนเตรียมอาหารได้ในตัว ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
แพนทรี่สไตล์บ้านๆที่มีเพียงตู้กับข้าวแบบโบราณซึ่งใช้เก็บจานชามและเครื่องครัว ถึงจะเรียบง่ายแต่ก็ดูดี ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
แพนทรี่ที่มีการใช้งานอย่างครัวฝรั่ง แต่แฝงด้วยกลิ่นอายไทยๆ ผ่านการจัดเก็บอุปกรณ์จักสานพื้นถิ่นอย่างเป็นระเบียบ  ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวไทยมักจะมีเครื่องปรุงและอุปกรณ์หลากหลาย จึงควรมีฟังก์ชันการใช้งานเสริม เช่น ชั้นเก็บจาน ชาม  ครก กระทะ โดยอาจทำชั้นบิลท์อินติดผนัง นอกจากนี้การมีช่องหน้าต่างเพื่อเพิ่มการถ่ายเทอากาศ พร้อมเพิ่มช่องแสงด้วยหลังคากระเบื้องลอนใส ก็ทำให้ห้องดูโปร่งสว่าง และน่าใช้งานยิ่งขึ้น ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
เชื่อกันว่าการหุงหาอาหารด้วยเตาถ่านจะได้รสชาติที่อร่อยกว่าการใช้เตาแก๊ส โดยเฉพาะในบ้านต่างจังหวัดที่ปรุงอาหารพื้นถิ่นด้วยวิธีดั้งเดิม ครัวไทยแบบนี้จึงต้องออกแบบให้เปิดโล่ง เพื่อระบายกลิ่นและควันได้ดี เพิ่มกิมมิกด้วยการนำวัสดุจักสานมาใช้เป็นภาชนะในการใส่ถ่านและฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงในการหุงหา ส่วนด้านบนออกแบบเป็นที่แขวนอุปกรณ์ในครัวและจัดเก็บวัตถุดิบอย่างกระเทียมและหอมแดง ซึ่งช่วยป้องกันมอดแมลง เป็นการถนอมอาหารไปในตัว ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวไทยที่แบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ห้องครัวแบบใช้งานจริงที่ดูมีเสน่ห์แบบบ้านๆ โดยเฉพาะตู้กับข้าวไม้เก่า ไอเท็มในตำนานของครัวไทย  ที่เห็นเมื่อไรก็อมยิ้มได้ทุกครั้ง ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
เขียงไม้ไซส์บิ๊กที่มาพร้อมฐานรอง ช่วยให้กิจกรรมการหั่น สับ และทุบวัตถุดิบในการปรุงสามารถทำได้สะดวกขึ้น ถือเป็นอีกไอเท็มคู่ครัวไทยที่มีไว้ก็อุ่นใจเสมอ
ออกแบบอ่างล้างผักหรืออ่างล้างจานซึ่งต่อเนื่องไปกับพื้นที่สวนเกษตรด้านล่าง โดยการเลือกใช้ไม้สักมากรุเป็นตัวอ่าง พร้อมทำรางระบายน้ำจากลำไม้ไผ่ พาดจากห้องครัวลาดไปยังพื้นที่ต้นกล้วยด้านล่างไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ได้อีกด้วย ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ชุดครัวไม้สำหรับเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว โดยปิดส่วนท็อปด้วยหินแกรนิต และเพิ่มโต๊ะไม้ขนาดยาวไว้สำหรับเตรียมอาหาร ส่วนผนังใช้เทคนิคฝาไหลมาใช้เพื่อเป็นช่องเปิดรับแสงและลม ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ใช้งานไม้เก่ามาตกแต่งในครัว แต่ออกแบบให้มีเส้นสายที่ทันสมัย ภายใต้โครงหลังคาเหล็กทรงจั่วที่กรุด้วยวัสดุสีสว่างเพื่อไม่ทำให้ห้องครัวดูมืดทึบเกินไป ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวไทยที่เปิดให้ระบายอากาศได้ดี ด้วยการทำหน้าต่างและผนังระแนงไม้ ทำเคาน์เตอร์ปูนเปลือยที่ประยุกต์เตาโบราณมาใช้เป็นเตาแก๊ส ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
มุมเตาหินสีเขียวแบโบราณ ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวเป็นหัวใจหลักที่ใช้ทั้งปรุงอาหาร พื้นที่รับประทานอาหารร่วมกัน และรับแขกไปในตัว ตกแต่งด้วยโต๊ะกลางที่ดัดแปลงจากโต๊ะจัดเลี้ยง แต่เปลี่ยนท็อปให้เป็นกระเบื้องเพื่อสามารถเช็ดล้างได้สะดวกขึ้น ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก
ครัวเป็นแบบผสมระหว่างครัวปูนไทยๆ กับสไตล์โมเดิร์น และสถาปนิกยังออกแบบช่องแสงแบบฝาไหลผสมกับหน้าต่างบานกระทุ้งเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติ ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ คลิก

เรียบเรียง : Tarnda

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room และ my home

11 ข้อควรรู้ และไอเดียดีๆ สำหรับแบบครัวไทย

ต่อเติมครัวไทย หลังบ้านทาวน์โฮม แบบถ่ายเทกลิ่น