บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่

บ้านไม้ยกพื้นสูงที่เปรียบดั่งงานศิลป์บนเนินเขา

บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่
บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่

บ้านไม้ยกพื้นสูงที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขาโล่ง เปิดรับลมได้ทุกทาง ที่ขาดไม่ได้ก็คืองานศิลปะของเจ้าของบ้านและของเพื่อนๆซึ่งประดับประดาอยู่ทั่วบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้เปรียบได้กับงานศิลป์ขนาดย่อมที่ตั้งอยู่บนเนินเขา

เจ้าของ – ออกแบบ : รองศาสตราจารย์เกศ ชวนะลิขิกร

 

มีคนเคยบอกไว้ว่าการชมงานศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนว่าจะจินตนาการสิ่งที่ตัวเองเห็นออกมาเป็นอย่างไร เฉกเช่นประติมากรรมชิ้นใหญ่บนเนินเขาในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่หลังนี้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ด้านศิลปะของ รองศาสตราจารย์เกศ ชวนะลิขิกร ศิลปินแนวแอ๊บสแตร็คท์และอาจารย์ของนักศึกษาสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย

“ผมได้บ้านหลังนี้มาอย่างน่าประหลาดใจ เหมือนพรหมลิขิตที่จู่ๆวันหนึ่งก็มีพ่อค้าเจ้าของเขียงหมูในตลาดเดินเข้ามาบอกขายที่ดินขนาดสามไร่ในราคาถูกมาก จึงตกลงซื้อไว้ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร แต่ก็บังเอิญอีกที่ได้ซื้อยุ้งข้าวเก่าของชาวบ้านในเวลาต่อมา ซึ่งไม้เก่าทั้งหมดมีคุณภาพดีมากๆ เลยรื้อแล้วมาประกอบร่างใหม่เป็นบ้านหน้าตาอย่างที่เห็นครับ”

บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่
งานศิลปะขนาด 300 ตารางเมตรบนเนินเขา โดดเด่นด้วยการออกแบบตัวบ้านให้มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร เพื่อบ่งบอกตัวตนของเจ้าของบ้าน

บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่

บ้านไม้ บ้านเชียงใหม่
บริเวณหน้าบ้านแบ่งแยกการใช้งานด้วยระดับพื้นที่แตกต่างกัน ส่วนที่ยกพื้นสูงใช้เป็นที่รองรับแขกและรับประทานอาหาร ขณะที่พื้นซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าใช้เป็นลานกิจกรรมและที่ทำงานศิลปะ
บันได
ผนังบ้านชั้นล่างประดับงานศิลปะของเจ้าของบ้านแบบพองาม
บันได
เจ้าคุกกี้ สุนัขของคนดูแลบ้านยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่นอนเล่นอยู่ใต้ถุนบ้าน จากตรงนี้มองเห็นเส้นสายของบันไดที่เรียบง่ายแต่ใช้งานได้ดี

มุมนั่งเล่น

ศาลา ศาลาไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้
มุมพักผ่อนภายในศาลาโปร่งๆซึ่งมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้เก่า รอบๆปลูกต้นไม้ซึ่งเจ้าของบ้านชื่นชอบ เพื่อสร้างบรรยากาศน่าสดชื่น
มุมนั่งเล่น เฟอร์นิเจอร์ไม้
บริเวณหน้าห้องทำงานจัดวางชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้รับรองแขกในบางครั้ง ส่วนนี้เพิ่มลูกเล่นให้ดูน่าสนใจด้วยการเลือกใช้ไม้สลับเฉดสี เหนือหน้าต่างประดับกระจกสีแบบโบราณ เจ้าของบ้านยังนำภาพศิลปะมาตกแต่งส่วนนี้เพื่อลดความแข็งของเส้นตรงของไม้และลูกกรงเหล็ก
ห้องทำงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้
ภายในห้องทำงานมีเพียงโต๊ะและเก้าอี้ไม้แบบโบราณ มีช่องหน้าต่างมองออกไปเห็นต้นไม้ด้านนอกดูสบายตา
อีกฝั่งหนึ่งของห้องทำงานวางตู้เก็บของและจักรยานคันเก่งไว้สำหรับขี่ออกกำลังกาย หรือ ใช้ไปจ่ายตลาดใกล้บ้าน เป็นการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องพึ่งน้ำมัน แถมได้สุขภาพดีด้วย
มุมนั่งเล่น ห้องนอน
ห้องนอนทำประตูบานกว้างเปิดรับแสงแดดยามเช้า วางเก้าอี้นุ่มๆไว้นั่งชมวิว เจ้าของบ้านบอกว่ามานั่งตรงนี้ทีไรเผลอหลับโดยไม่รู้ตัวทุกที
ห้องนอน
ที่นอนถูกเก็บไว้อย่างมิดชิด เหลือเพียงพื้นบ้านโล่งๆ เจ้าของบ้านเลือกนอนกางมุ้งแทนการติดมุ้งลวดที่อาจบังวิวสวยๆจากภายนอก
มุมทำงาน
อีกฝั่งหนึ่งของห้องนอนวางโต๊ะเก้าอี้ทำงานไว้ตรงกับประตูบานใหญ่อีกบาน จะเห็นว่าเจ้าของบ้านตั้งใจให้ตัวเองมองเห็นภาพบรรยากาศภายนอกตลอดเวลา
ห้องครัว ประตูไม้
ผนังส่วนห้องครัวออกแบบให้เกิดพื้นผิวที่แตกต่างกัน 4 อย่าง ทั้งประตูพื้นผิวไม้ซีดๆ ผนังอิฐโชว์แนว ระแนงไม้ระบายอากาศ และผนังปูนฉาบสีเทาวาดลายตอนปูนยังไม่แห้ง ทั้งหมดนี้ช่วยให้บ้านดูมีความสวยแบบเฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร
ห้องครัว
ห้องครัวขนาดเล็กแต่มีอุปกรณ์ทำครัวครบครัน
ห้องครัว
ด้านหลังเป็นครัวเปิดที่มีเพียงตู้กับข้าวแบบโบราณซึ่งใช้เก็บจานชามและเครื่องครัว ถึงจะเรียบง่ายแต่ก็ดูดี
ห้องน้ำ
เจ้าของบ้านนำภาพผลงานมาสเตอร์พีซราคากว่าหกหลักกับโปสเตอร์นิทรรศการมาประดับไว้ในห้องน้ำ โดยให้เหตุผลว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจากมนุษย์เป็นผู้ตีมูลค่าให้ทั้งสิ้น เป็นสัจธรรมที่เจ้าของบ้านไว้เตือนตัวเอง
ห้องน้ำ
ภายในห้องน้ำที่กว้างขวาง เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าประกอบจากไม้เก่า ด้านบนมุงหลังคากระเบื้องลอนใสเพื่อไล่ความชื้นและให้แสงส่องผ่านได้ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในตอนกลางวัน

นอกจากฝีแปรงที่ฝากร่องรอยบนผืนผ้าใบอย่างอิสระเสรีประกอบกับงานศิลปะจัดวางในผลงานศิลปะหลายต่อหลายชิ้นของอาจารย์เกศแล้ว บ้านหลังนี้ก็เป็นงานศิลป์อีกชิ้นหนึ่งที่ท่านลงมือออกแบบด้วยตัวเอง

“ผมวาดภาพบ้านจากความรู้สึกว่าตัวเองอยากอยู่อย่างไร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นต้นไม้และภูเขา จึงได้ภาพบ้านที่เปิดโล่ง รับลมได้ทุกทาง มีห้องนอนพอให้ซุกหัวนอนกับที่ทำงานเล็กๆน้อยๆ ส่วนครัวจะแยกออกมาจากตัวบ้าน แต่ก็มีฟังก์ชันครบถ้วน เผื่อให้ภรรยามาใช้เวลามาพักผ่อนที่นี่ โดยมีทั้งครัวฝรั่งซึ่งมีเตาอบและเตาแก๊สใช้งานได้สะดวกกับครัวไทยด้านหลังที่ทำเตาอั้งโล่ไว้นอกบ้าน เผื่อไว้สำหรับทำบาร์บีคิวปิ้งย่าง เวลามีเพื่อนๆศิลปินหรือลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยมเยียน แต่ตัวผมเองใช้แค่เตาไมโครเวฟสำหรับอุ่นอาหารก็พอแล้ว ชั้นบนของห้องครัวเป็นห้องน้ำ ผมทำระเบียงทางเดินเชื่อมกับห้องนอน ชอบอารมณ์ที่เดินออกมารับลมนอกบ้าน รู้สึกเหมือนบ้านไทยโบราณที่จะแยกส่วนครัวและห้องน้ำไว้ด้านนอกเป็นสัดเป็นส่วน

 “สำหรับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านก็ซื้อต่อจากชาวบ้าน เป็นของเก่าจริงๆและมีไม่มาก อย่างห้องนอนมีเพียงฟูกกับหมอนก็นอนได้แล้ว แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คืองานศิลปะของตัวเองและของเพื่อนๆซึ่งประดับประดาอยู่ทั่วบ้าน อีกสักพักผมจะทำแกลเลอรี่ในบริเวณใกล้ๆบ้านนี่แหละ ไว้สำหรับติดงานศิลปะเอาไว้ดูเองบ้างอวดเพื่อนๆบ้าง สนุกดี”

น้ำเสียงเรียบๆไร้โทนสูงต่ำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์ศิลปินท่านนี้เอ่ยจบลงพร้อมด้วยรอยยิ้มใจดี บรรยากาศน่าสบายของบ้านหลังนี้ชวนให้ปลดปล่อยพันธนาการจากภาระอันหนักอึ้ง และเปิดรับความอบอุ่นของขุนเขากับเสียงเพรียกของต้นไม้ใบหญ้าได้อย่างเต็มที่ ณ วินาทีนี้ไม่มีแม้แต่เสียงของนาฬิกาให้ได้ยิน เพราะดูเหมือนเวลาจะได้อันตรธานไปตั้งแต่เราย่างเท้าเข้ามาที่นี่แล้วละ

ทางเดิน
ทางเดินด้านข้างบ้านทำหลังคายื่นออกมาเพื่อกันฝนสาด เลือกใช้กระเบื้องลอนคู่แบบใส ทำให้บ้านไม้ดูโมเดิร์นขึ้น
ประตูไม้ ประตู
บ้านที่ทำจากไม้เก่านั้นส่วนที่ต้องโดนแดดโดนฝน เช่น ผนัง หรือราวระเบียงควรเคลือบสีเนื้อไม้กันผุ แต่อาจเว้นส่วนบานประตูไม้ให้ดูดิบๆเก่าๆให้ดูตัดกัน เพื่อเก็บบรรยากาศแบบย้อนยุคเอาไว้

 

เรื่อง : j E e d WonDeR

ภาพ : ราสิเกติ์ สุขกาล, อดิเดช ชัยวัฒนกุล

บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงที่อยู่ติดกับทุ่งนาและมีภูเขาเป็นฉากหลัง

บ้านไม้ริมน้ำที่ซื้อมาในราคา 80,000 กับวิวที่ทำให้เข็มนาฬิกาเดินช้าลง

รวม 5 บ้านไม้ไทยใต้ถุนสูง เอาใจคนรักบ้านไม้แบบไทยไทย