เดินป่า

วัฒนธรรมใหม่ของการเดินป่าที่ยั่งยืน Fjallraven Thailand Trail 2019

เดินป่า
เดินป่า

จากดอยธงสู่หมื่อหะคี

          เส้นทางวันที่ 3 จากดอยธงสู่หมื่อหะคี หมู่บ้านไกลปืนเที่ยงที่แสนกันดาร เป็นเส้นทางที่เราเดินเท้าไกลที่สุดในโปรแกรมนี้ มีระยะทางถึง 19 กิโลเมตร ที่ระดับความสูง 930 เมตรจากระดับทะเล ที่ “หมื่อหะคี” มีจุดชมดวงอาทิตย์ตกดินที่สวยงามไม่แพ้สองจุดที่เดินผ่านมา ซึ่งในภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “ดินแดนแห่งอาทิตย์อัสดง” ไกด์ท้องถิ่นบอกเราขำๆว่านี่อาจไม่ใช่ดินแดนที่ดวงอาทิตย์ตกดินสวยที่สุด แต่เป็นเพราะว่ากว่าจะเดินทางมาถึงที่นี่ดวงอาทิตย์ก็ตกดินไปนานมากแล้ว ที่นี่ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างกลมกลืน ที่สำคัญยังมีกาแฟรสชาติดีให้ชิมอีกด้วย

จากหมื่อหะคีสู่สบโขง

          เส้นทางวันที่ 4 จากหมื่อหะคีเราจะเดินผ่านป่าและนาบนดอยของชาวบ้านลดระดับความสูงสู่หมู่บ้านริมน้ำที่สบโขง ซึ่งเป็นภาษาเหนือ “สบ” แปลว่า มาพบประสบกัน พอมาใช้กับแม่น้ำจึงหมายถึงแม่น้ำโขงมาพบกับแม่น้ำสายอื่น หรือการเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำโขงและเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเงานั่นเอง

ถือเป็นเส้นชัยของการเดินป่าในครั้งนี้ ตลอดเส้นทางเดินจะเห็นร่องน้ำที่ไหลผ่านตามซอกเขา เห็นลำธารเล็กๆ จนใหญ่ขึ้นกลายเป็นแม่น้ำเงาที่ใสเป็นกระจก เป็นแหล่งรวมอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของทุกสรรพสิ่ง เรามาแวะพักที่จุดสิ้นสุดการเดินป่าที่โรงเรียนชื่อ “ล่องแพวิทยา” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วยังไม่มีถนนตัดมาถึงหมู่บ้านนี้ ถนนที่ใกล้ที่สุดคือหมู่บ้านอุ้มโล๊ะซึ่งอยู่ห่างจากสบโขงไป 12 กิโลเมตร จะสัญจรได้ก็เฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น เวลาที่ครูมาสอนเด็กๆในหมู่บ้านต้องเดินเท้ามาจากหมู่บ้านอุ้มโล๊ะ เวลาสอนเสร็จก็ต่อแพล่องกลับไปตามแม่น้ำเงา ที่จุดนี้เราจึงมีโอกาสได้ลองนั่งแพล่องแก่งไปตามลำน้ำ บอกเลยว่าเป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจดีจริงๆครับ    

หลังเดินป่าจนจบครบทุกสถานีแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้ว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้พิชิตอะไรเลย”

เพราะเส้นทางนี้ชาวบ้านก็ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ภูเขาก็ยังอยู่อย่างนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือการได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้เกิดการเดินป่าอย่างยั่งยืนและอยากให้หลายคนทำตาม การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่การห้ามไม่ให้คนมาสัมผัสธรรมชาติ แต่เป็นการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การที่ชาวบ้านได้ผลตอบแทนเป็นเงินจากป่าที่พวกเขาใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยร่วมกันมาช้านาน ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาตั้งใจดูแลรักษาป่าไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมความงามต่อไป

การเดินป่าในครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันเอาชนะกัน ไม่มีการจับเวลา แต่เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่มนุษย์ในเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการได้เอาชนะใจตัวเอง สำหรับผมแล้วนี่เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์และควาทรงจำดีๆที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยครับ สำหรับผู้สนใจอยากเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้บ้าง เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/MaeNgowTrekking

 

เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

ภาพ: ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

 

ขอขอบคุณ

Fjallraven Thailand Trail

Thailand out door

มูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด