บ้านไทย

7 แบบ บ้านทรงไทย เปลี่ยนให้ทันสมัยแต่อยู่สบายดังเดิม

บ้านไทย
บ้านไทย

แม้ว่าแบบ บ้านทรงไทย จะมีหลายรูปแบบ และแตกต่างตามแต่ภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศและวัฒนธรรมประเพณีเป็นตัวแปรสำคัญ

แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า แบบบ้านทรงไทย /เรือนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรือนไทยภาคเหนือ เรือนไทยภาคกลาง หรือเรือนไทยอีสาน ก็ล้วนแต่มีความสวยงามเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ผนัง รูปแบบการจัดวาง รวมถึงชนิดของไม้ วัสดุหลักที่ใช้ประกอบเป็นตัวเรือน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือการวางผังเรือนตามแบบครอบครัวใหญ่ที่คนไทยแต่โบราณที่เมื่อลูกหลานแต่งงานออกเรือนแยกย้ายไปมีครอบครัว แต่จะปลูกเรือนเพิ่มให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน เกิดเป็นกลุ่มเรือนขนาดใหญ่และเรียกขานกันว่า เรือนหมู่

เรือนหมู่ จะประกอบไปด้วยเรือนใหญ่หรือเรือนประธานซึ่งเรือนนอนของเจ้าของบ้านหรือพ่อแม่ ส่วนเรือนหลังที่ 2 3 หรือ 4 ก็จะไล่ขนาดลดลั่นลำดับตามความสำคัญ เรือนแต่ละหลังจะมี “ชานแล่น” เป็นตัวเชื่อมให้แต่ละหลังเดินไปมาหาสู่กันได้ อย่างในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นเรือนหมู่คหบดี เรือนของพี่หมื่นเดช และเรือนของแม่การะเกดอยู่ในกลุ่มเรือนหมู่หลังเดียวกัน โดยมีเรือนหลังใหญ่ของ พระยาโหราธิบดีและคุณหญิงจำปา อีกหลังเป็นเรือนประธาน แน่นอนว่าคนที่จะปลูกเรือนขนาดใหญ่แบบนี้ได้ต้องมียศถาบรรดาศักดิ์ระดับคหบดีชั้นสูงนั่นเอง

บ้านไทย
ภาพจากละคร บุพเพสันนิวาส

หากเป็นสมัยปัจจุบัน เรือนพี่หมื่นเดชจะมีหน้าตาเป็นอย่างนั้น เรามีตัวอย่างแบบเรือนหมู่ให้ชมกันค่ะ

บ้านไทย แบบบ้านทรงไทย

ชมเรือนหมู่สมัยใหม่ อยู่ได้จริงในยุคปัจจุบัน  

เว็บไซต์บ้านและสวนเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่ชื่นชอบเรือนไทยอยู่ แม้ว่าจะหาได้ยาก และช่างฝีมือที่ประณีตก็มีน้อยลงก็ตาม แต่ก็มีเจ้าของบ้านหลายๆ ท่าน สถาปนิกหลายๆ คน หันมาสะสมที่ละส่วนของตัวบ้านแล้วนำมาประกอบกันเป็นเรือนไทยประยุกต์ที่ดูทันสมัย ไม่เชย แข็งแรง และอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรือนไทยล้านนา ที่นิยมใช้ หลองข้าว หรือเรือนเก็บข้าวของชาวนามาดัดแปลงเป็นเรือนไทยสวยๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยว่ามี เรือนไทยประยุกต์แบบไหนสวยถูกใจกันบ้าง

1 ความคลาสสิกที่น่าอภิรมย์  

บ้านทรงไทยใต้ถุนสูง บ้านไทย แบบบ้านทรงไทย
แบบบ้านทรงไทย
ห้องนอนในบ้านทรงไทย แบบบ้านทรงไทย

วิลล่า มหาภิรมย์ เป็นอีกหนึ่งโรงแรมที่มีเรือนไทยภาคกลางถึง 20 หลังและมีอายุร่วมร้อยปี ซึ่งทยอยขนส่งมาเป็นชิ้นๆ จากจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วนำมาประกอบต่อ ซ่อมแซม และบูรณะโดยฝีมือช่างไทยผู้ชำนาญการ พร้อมกับเติมแต่งฟังก์ชันให้รับกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่จากมุมมองของนักเดินทางผู้มากประสบการณ์ถึง 3 ท่านที่ร่วมหุ้นกัน ได้แก่ คุณปรีชา ตรรกพงศ์ คุณนัฐวุธ โรจนพันธกุล และคุณพิษณุ สว่างเนตร โดยมี คุณจำเนียร ทองมา ศิลปินและประติมากร คอยให้คำแนะนำ ช่วยให้การประยุกต์ฟังก์ชันของเรือนไทยโบราณนี้มีความร่วมสมัยที่ชวนอัศจรรย์ใจมากขึ้น บนพื้นที่ 3 ไร่ ในย่านประวัติศาสตร์แถววัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่

เรือนไทยแต่ละหลังคือบ้านพักที่ให้ความเป็นส่วนตัวสูงสุด แม้จัดวางต่อเนื่องราวกับเป็นหมู่บ้านน้อยๆ แต่ก็อยู่ในมุมที่ไม่รบกวนกันและกัน ทุกหลังมีพื้นที่สวนและร่มเงาไม้ใหญ่ พร้อมโถงนั่งเล่นขนาดกว้างบริเวณใต้ถุนบ้านของตัวเอง ซึ่งตกแต่งด้วยเครื่องเรือนที่สวยแตกต่างกันไป ปรับประยุกต์หลายเรื่อง ทั้งการเพิ่มผนังแบบ Double Wall เพื่อเสริมฉนวนกันความร้อนไว้ตรงกลาง การทำกรอบหน้าต่างติดกระจกเพิ่ม การเติมฟังก์ชันใช้งานสมัยใหม่เพื่อให้อยู่สบาย และโดยเฉพาะการออกแบบห้องน้ำสไตล์โมเดิร์นที่สว่างสะอาดตาด้วยหินอ่อน เพิ่มสัมผัสของความหรูหราและทันสมัย เข้ามาไว้ภายในเรือนไทยได้อย่างเหนือระดับ  อ่านต่อ คลิก


 2 รีโนเวทใหม่ให้เป็นแบบดั่งเดิม

บ้านไทย แบบบ้านทรงไทย
บ้านไทย แบบบ้านทรงไทย
 

บ้านหลังนี้ดูโดดเด่นและแตกต่างจากบ้านหลังอื่นในโครงการอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นบ้านที่เจ้าของเลือกรีโนเวทจากบ้านจัดสรรธรรมดาให้เป็นบ้านไม้เรือนไทยล้านนา ตัวบ้านตกแต่งด้วยไม้เนื้อแข็งผสมกับคอนกรีตกรุหินแม่น้ำ ล้อมรอบด้วยสวนสไตล์ทรอปิคัล ซึ่งปลูกไม้พื้นเมืองอย่างเสม็ดแดงและหมากเขียว รับกับทางเดินคอนกรีตตกแต่งพื้นผิวด้วยกรวดแม่น้ำทอดไปสู่ทางเข้าบ้าน ซึ่งตกแต่งด้วยเชิงบันไดตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ถัดไปคือสวนและเรือนรับรองหลังเล็กที่ดัดแปลงมาจากหลองข้าว (เรือนเก็บข้าว) อันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านล้านนา เจ้าของคือ คุณแทนธรรม รักขิตพินิจดุลย์ ซึ่งตัดสินใจดัดแปลงบ้านจัดสรรสไตล์โมเดิร์นหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านสไตล์ล้านนาประยุกต์

โดยแปลนการใช้งานเดิมมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพื่อให้เป็นสัดส่วนและมีพื้นที่สำหรับพักผ่อนมากขึ้นรับกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน เช่น ห้องโถงสำหรับรับประทานอาหารที่ลดขนาดเคาน์เตอร์เตรียมอาหารให้เล็กลง เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับโต๊ะอาหารที่ใหญ่มากขึ้น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวัสดุกรุผิวเป็นไม้ทั้งหมด อ่านต่อ คลิก


  3 เรือนไทยล้านนาริมน้ำ

บ้านไทย
 

ด้วยทำเลที่ตั้งของ บ้านสไตล์ล้านนา ซึ่งอยู่บนโค้งลำน้ำแม่ตะมานที่ไหลมาจากเทือกเขาสูงของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีเสน่ห์น่าหลงใหลนับตั้งแต่ได้เห็นครั้งแรก ออกแบบโดย คุณอดุลย์ เหรัญญะ สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบภายนอก และมี คุณยุทธนา เหมาะประสิทธิ์ นักออกแบบตกแต่งภายในที่นำของตกแต่งสไตล์ชนเผ่า มาสร้างบรรยากาศให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมและเติมเสน่ห์ให้ตัวบ้านมากยิ่งขึ้น

ภายในพื้นที่ได้แยกตัวบ้านออกเป็น 3 หลังเรียงไปตามหน้ากว้างของที่ดิน เรือนใหญ่สุดเป็นเรือนพักสำหรับเจ้าของบ้าน ถัดไปเป็นเรือนสปา ซึ่งมีขนาดย่อมกว่าทุกหลัง สุดท้ายคือเรือนรับแขก ทุกหลังต่างตั้งชิดแนวของลำน้ำและออกแบบให้เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียว ซึ่งโดดเด่นด้วยรูปทรงของหลังคาซ้อนกันสองชั้นแบบล้านนา แต่ประยุกต์ให้ดูเรียบง่ายขึ้น และมุงด้วยแป้นเกล็ด สำหรับตัวเรือนจะยกระดับจากพื้นดินขึ้นประมาณ 4-5 ขั้นบันไดเท่านั้น แตกต่างจากบ้านสไตล์ล้านนาทั่วไป อ่านต่อ คลิก 


4 คลอเคลียไปกับทิวเขา

บ้านไทย แบบบ้านทรงไทย

บ้านไม้ เรือนไทยล้านนาประยุกต์หลังนี้ อยู่บนเส้นทางคดเคี้ยวของถนนสายหางดง-สะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสวยงามของธรรมชาติซ่อนอยู่ระหว่างสองข้างทาง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ในหุบเขาที่มีความชันจนแทบไม่เห็นที่ราบโดยธรรมชาติเลย แต่ก็ช่วยเติมเสน่ห์ให้ บ้านไม้ หลังนี้ได้ดี เจ้าของคือ พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ

จากที่ตั้งของบ้านเป็นเนินชัน จึงออกแบบพื้นที่ใช้สอยแยกกันไปตามแต่ละระดับ ส่วนที่เตี้ยที่สุดทำเป็นศาลาโล่งสำหรับจอดรถของแขกผู้มาเยือน สูงขึ้นไปอีกระดับก่อนถึงตัวบ้านเป็นที่จอดรถหลักและส่วนเก็บของ ซึ่งทำเป็นหลังคาเรียบ เหนือขึ้นไปด้านบนคือระเบียงอเนกประสงค์ จัดวางโต๊ะอาหารตัวใหญ่ใช้เป็นมุมรับรองแขกได้ และสุดท้ายคือตัวบ้าน  อ่านต่อ คลิก 


 5 ความละเมียด เป็นเช่นนั้น

เรือนไทย บ้านไทย
 

อีกหนึ่งความงามสุดประณีตคือ บ้านตถตา ของ คุณหมอต่อง- นายแพทย์ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร และคุณหมอเกด – แพทย์หญิงจิตราภรณ์ ความคนึง ซึ่งทั้งสองคุณหมอต้องการที่ดินที่ติดถนนและอยู่ริมน้ำ รวมถึงเดินทางไปโรงพยาบาลน่านได้สะดวก แต่ต้องมีบรรยากาศเงียบสงบและแวดล้อมด้วยธรรมชาติ บ้านจึงหลอมรวมทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต และลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเรือนไม้พื้นถิ่นเอาไว้ โดยตั้งชื่อบ้านเรือนไทยล้านนาหลังนี้ว่า บ้านตถตา หมายถึง เป็นเช่นนั้นเอง

คุณเก๋ง – นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด คือผู้ออกแบบบ้านหลังนี้เล่าว่า สถาปัตยกรรมของตัวบ้านว่าเป็นเรือนพื้นถิ่นประยุกต์ที่เลือกเฟ้นไม้เก่าจากบ้านในท้องถิ่นมาออกแบบใหม่ โดยไม่ทิ้งงานฝีมือเชิงช่างของล้านนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสองคุณหมอสนใจมาตั้งแต่ต้น แม้ตอนแรกตั้งใจจะใช้โครงสร้างคอนกรีตผสมไม้ แต่สุดท้ายก็เลือกใช้ไม้เกือบทั้งหมด อ่านต่อ คลิก 


6 ระยิบระยับด้วยศิลปะชั้นยอด

บ้านทรงไทย ครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านไทย เรือนไทย
 

Marndadee Heritage Village Resort อีกหนึ่งโรงแรมขนาดเล็กที่รวบรวมของเก่าสะสมแบบโบราณไว้ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง และตัวเรือนซึ่งเป็นหลองข้าว ประกอบขึ้นเป็นบ้านพักวิลล่าส่วนตัว ตั้งอยู่ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางความชุ่มฉ่ำพร่างพรมบนผืนหญ้าและเน้นความเขียวชอุ่มของพืชนานาพรรณ พร้อมไอหมอกที่ลอยขึ้นเหนือแม่น้ำปิงซึ่งตัดผ่านด้านหน้าโรงแรมพอดี

ตัวอาคารที่พักของที่นี่มี 3 แบบให้เลือกตามความชื่นชอบ อาคารใหญ่หลังแรกที่มองเห็นจากทางเข้าคือ “อาคารชิโนโคโลเนียล” ผสานสีสันสดใสสไตล์โอเรียนทัลกับสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยมีบรรยากาศเบื้องหน้าเป็นนาขั้นบันได ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านพักส่วนตัว “หลองข้าว” ยกเอายุ้งข้าวเรือนไม้แบบล้านนามาปรับปรุงให้อยู่อาศัยได้อย่างสบาย เหมาะกับการพักผ่อนแบบเป็นครอบครัว และด้านในสุดกับ “อาคารลานนาโคโลเนียล” ซึ่งรับแรงบันดาลใจการออกแบบจากกลุ่มอาคารสไตล์ตะวันตก ที่ยังคงกลิ่นอายริมฝั่งแม่น้ำปิงย่านวัดเกตในยุคที่ล้านนามีการค้าขายกับฝรั่ง อ่านต่อ คลิก 


7 เก่าใหม่รวมกันก็ยังเงียบสงบ

บ้านไทย
เรือนไทย
 

ในย่านพระราม 2 อันเป็นแถบชานเมืองที่วิถีชีวิตของชาวเมืองที่เรียบง่าย ผู้คนและชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ ผสมปนเปไปกับความเจริญที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา บ้านหลังนี้ไม่ได้มีดีแค่การออกแบบที่ผสมผสานภูมิปัญญาของบ้านไทยให้เข้ากับเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบันเท่านั้น แต่ที่ดินผืนนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันอาศรมศิลป์มา ออกแบบจัดสรรให้เป็นบ้านพักสวัสดิการของครูในสถาบัน ให้สามารถมีบ้านบนที่ดินของตัวเองได้ในราคาต้นทุน โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านบางครุ’ ที่แปลว่า บ้านพักครู”เจ้าของบ้านคือคุณป้อม จรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ ออกแบบโดย คุณเก๋ง นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจากอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์

บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างถูกว่าบ้านในประเภทเดียวกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้ความอนุเคราะห์เรื่องไม้และช่างทั้งหมดจากสถาบันอาศรมศิลป์ โดยนำไม้เก่ากลับมาใช้ใหม่มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไม้ใหม่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คุณใหญ่ พี่สาวของคุณป้อมยังออกไอเดียนำเศษไม้ที่เหลือจากงานก่อสร้างมาทำเป็น เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านด้วยตัวเองอีกด้วย ยิ่งช่วยลดงบประมาณลงได้มาก แถมยังมีเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ ไว้ใช้งานอีกด้วย อ่านต่อ คลิก

อ่านต่อ : 14 ไอเดียตกแต่งบ้านเรือน

อ่านต่อ : ข้อดีข้อเสียของบ้านไม้ 

รวบรวม : JOMM YB.

รวม บ้านไทย ร่วมสมัยที่อยู่สบายทั้งกายและใจ

5 บ้านไทยดีไซน์ทันสมัย อยู่เย็น เป็นสุข

รวมแบบบ้านไม้ใต้ถุนสูง อบอุ่น เย็นสบายสไตล์ไทยๆ