เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ? ไปรู้จักพร้อมหลักการเกษตรอื่นๆ

แม้จะเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเกี่ยวกับหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่รู้หรือไม่ เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไรและยังมีแนวคิดการทำเกษตรอีกหลากหลายรูปแบบที่แพร่ขยายเป็นองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรนำไปปรับใช้

นอกจาก เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ยังมีอีกหลายแนวคิดการทำเกษตรให้ชวนค้นหา ทั้งเกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรฟื้นฟู วนเกษตร ฯลฯ ซึ่งในบทความนี้จะขอยกหลักการ ตัวอย่างแนวคิดของการทำ พร้อมหลักการอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จัก มาอธิบายแบบเข้าใจง่ายให้นำไปปรับใช้กับพื้นที่เกษตรที่มี

กษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร

เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) หมายถึงอะไร

เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ระบบเกษตรที่มีกิจกรรม การผลิตหลายชนิด ซึ่งรวมหลักการเกษตรผสมผสานและวนเกษตรเข้าด้วยกัน โดยเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 : การผลิต ,ขั้นที่ 2 : การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ,ขั้นที่ 3 : การร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และแหล่งพลังงาน

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง: การผลิต

ระบบเกษตรทฤษฎีใหม่เริ่มจากการจัดการที่ดิน ที่มีหลักการพื้นฐานจากเกษตรผสมผสาน เป็นรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก ประมาณ 10 – 20 ไร่ โดยทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ ที่สำคัญคือมีการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระบบซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ร้อยละ 30:30:30:10 โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรและพื้นที่เป็นสำคัญ

สัดส่วนพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

ส่วนที่ 1 : พื้นที่ 30% ให้ขุดสระสำหรับเก็บน้ำฝนธรรมชาติ

การขุดสระเผื่อเก็บน้ำฝนธรรมชาติ หรือใช้เก็บน้ำจากระบบชลประทานเพื่อใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง การใช้น้ำจะต้องเป็นไปอย่างประหยัด เช่น การตักรด การสูบส่งตามท่อยาง หรือการใช้ระบบน้ำหยดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้รูปร่างและขนาดของสระอาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น หากในพื้นที่ที่ฝนมีปริมาณมากทั้งปี หรือมีน้ำชลประทานเป็นหลักขนาดสระอาจจะน้อยกว่า 30% แต่หากต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำอาจขุดสระและบ่อหลายๆ บ่อก็ได้ แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วจะต้องใกล้เคียง 30%

ส่วนที่ 2 : 30% ใช้ปลูกข้าว ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย จึงควรปลูกข้าวให้พอกินตลอดปีและมีพื้นที่ทำนาในปริมาณ 30% ของพื้นที่ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วหากยังมีน้ำฝนและน้ำในสระ สามารถควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นและราคาดีเพื่อจำหน่ายได้อีกทาง

ส่วนที่ 3 : 30% ใช้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่ เลือกปลูกพืชต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามความต้องการ ไม่มีสูตรตายตัว โดยสามารถอิงจากความต้องการของสมาชิกในครอบครัว หรือแหล่งรับซื้อที่อยู่ในพื้นที่

ส่วนที่ 4 : 10% ใช้เป็นพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ถนนคันดิน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พื้นที่ส่วนนี้รวมถึงรวมคอกสัตว์เลี้ยง เรือนเพาะชำ โรงนาสำหรับเก็บผลิตผลเกษตร ปัจจัยการผลิต เครื่องมือเครื่องทุ่นแรง ฯลฯ และรวมสวนรอบบ้านที่ตกแต่งเพื่อความสวยงามเป็นอาหารใจด้วย

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่สอง : การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์

เมื่อทำเกษตรขั้นที่หนึ่งจนมีผลผลิตและสร้างรายได้ได้มากขึ้น เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมแรงกันส่งเสริมในเรื่องต่างๆ ทั้งการผลิตพืช การเตรียมดิน แปรรูปอาหาร การวางแผนจำหน่าย สาธารณสุข ยารักษาโรค ฯลฯ

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่สาม: การร่วมมือกับแหล่งเงิน บริษัทเอกชน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม

เมื่อกิจการขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองเจริญเติบโตขึ้น จะต้องพัฒนากิจกรรมเกษตรต่างๆ เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องติดต่อร่วมมือกับธนาคาร แหล่งเงินทุน หรือเอกชนอื่นๆ ให้มาลงทุน สนับสนุนสินค้าเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่น เกษตรขายข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกกดราคา หน่วยงานที่รับซื้อได้ซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นต้น

เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร จึงสรุปได้ว่า เป็นแนวทางการทำเกษตรเพื่อให้มีความมั่นคงทางรายได้ โดยเริ่มจากวิธีการจัดการพื้นที่ไปจนถึงขั้นตอนการหาตลาดจำหน่ายสินค้า ซึ่งรวมแนวคิดเกษตรผสมสานและวนเกษตรเข้าด้วยกัน

กษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร วนเกษตร

วนเกษตร (Agroforestry) [ เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ]

คือ รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นการจัดการนิเวศเกษตรเลียนแบบระบบนิเวศธรรมชาติของป่าไม้ ด้วยการผสมผสานระหว่างกิจกรรมการเกษตร ทั้งทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ประมง ให้เข้ากับการป่าไม้ เพื่อสร้างความหลากหลายในแปลงเกษตรกรรมตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป ทำเกษตรในพื้นที่เดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน หรือสลับช่วงเวลากันอย่างเหมาะสม โดยจะต้องมีกิจกรรมป่าไม้อยู่ในระบบ เช่น ป่าไม้-นาไร่สวน-เลี้ยงสัตว์ ,ป่าไม้-นาไร่สวน ,นาไร่สวน-ป่าไม้-เลี้ยงสัตว์ ,เลี้ยงสัตว์-ป่าไม้-นาไร่สวน ,นาไร่สวน-ป่าไม้ เป็นต้น

วนเกษตรมีการปลูกพืชยืนต้นเพื่อสร้างป่าในแปลง โดยมีเป้าหมายปลูกเป็นมรดกหรือหวังผลในระยะยาว โดยต้องจัดการแปลงวนเกษตรในเชิงโครงสร้างก่อน คือ การวางผัง การวางแนวหรือออกแบบการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แล้วตามด้วยการเลือกชนิดพืชและสัตว์

สำหรับรูปแบบการปลูกไม้ยืนต้นในระบบวนเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถเลือกชนิดและรูปแบบการปลูกในแปลงได้ตามวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ ลักษณะพื้นที่ และกิจกรรมในแปลง โดยจะไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรมีต้นไม้ใหญ่และพืชหลายระดับจะเป็นการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และช่วยให้ระบบนิเวศในป่ามีกลไกการควบคุมตัวเอง หรือจะเลือกพืชเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับพื้นที่ก็ได้เช่นกัน

เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน

เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) [ เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ]

กษตรผสมผสาน คือ ระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและหรือมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยกิจกรรมแต่ละชนิดจะต้องเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อย่างเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อมและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของการเกษตรผสมผสานเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้ เพื่อลดการพึ่งพาด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต และอาหารจากภายนอก ให้เกิดการประหยัดทางขอบข่าย เพิ่มรายได้จากพื้นที่เกษตรที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

หลักการสำคัญเกษตรผสมผสาน

1 มีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป และกิจกรรมทั้งสองชนิดต้องทำในเวลาและสถานที่เดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าให้เกิดกำไรสูงสุด

2 เกิดการเกื้อกูลกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกิจกรรม เช่น พืชกับพืช พืชกับปลาสัตว์กับปลา พืชกับสัตว์สัตว์กับสัตว์ ซึ่งลักษณะการเกื้อกูลกันของระบบเกษตรผสมผสานทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือที่เรียกว่าเป็นการประหยัดทางขอบข่าย (Economy of Scale) และลดการพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกในที่สุด

เกษตรผสมผสาน แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ตามองค์ประกอบของกิจกรรม คือ การปลูกพืชแบบผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน และการปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ โดยการจัดการไร่นาจะให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความหลากหลายของพืช สัตว์และทรัพยากรชีวภาพ การใช้ประโยชน์เกื้อกูลกัน เช่นการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ปุ๋ยคอกบำรุงพืชผัก ใช้เศษซากพืชผัก ใบไม้จากไม้ยืนต้นทำปุ๋นหมักเพื่อบำรุงดิน สามารถใช้พืชคลุมดิน ไถพรวนดินหรือใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย

เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming)

เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ เป็นระบบการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เน้นการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้เศษซากพืช มูลสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยพืชสด ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และใช้หลักการควบคุมศัตรูพืช โดยวิธีชีวภาพ (Biological Control) ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และเป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อม

หลักการสำคัญของเกษตรอินทรีย์

1.การอนุรักษ์นิเวศเกษตร และสิ่งแวดล้อม ด้วยการปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในฟาร์ม ทั้งสัตว์แมลง และจุลินทรีย์ ทั้งที่อยู่บนผิวดิน และใต้ดิน

2.การฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตร เกษตรอินทรีย์เน้นให้มีการฟื้นฟูสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แนวทางหลักในการฟื้นฟูนิเวศเกษตรคือ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้อินทรียวัตถุ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

3.การพึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำเกษตร เป็นการทำเกษตรตามครรลองของธรรมชาติ เรียนรู้และปรับระบบการเกษตรให้เข้ากับกลไกธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ วงจรการหมุนเวียนธาตุอาหาร วงจรการหมุนเวียนของน้ำ พลวัตของภูมิอากาศ และแสงอาทิตย์รวมทั้งสัมพันธ์กันของสิ่งมีชีวิต ทั้งในเชิงของการเกื้อกูล การพึ่งพา และห่วงโซ่อาหาร

4. การควบคุมและป้องกันมลพิษ ในระบบเกษตรอินทรีย์ต้องมีการป้องกันมลพิษต่างๆ จากภายนอกแปลงเกษตรกรรมไม่ให้ปนเปื้อน โดยการจัดทำแนวกันชน และแนวป้องกันบริเวณขอบแปลง และภายในแปลงจะต้องลดหรือป้องกันมลพิษที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น ให้มีระบบจัดการขยะ และน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกนอกฟาร์ม เป็นต้น

5. การพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต เกษตรอินทรีย์มีหลักที่มุ่งให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น หากเกษตรกรไม่สามารถผลิตได้เองก็สามารถหาซื้อได้จากนอกฟาร์มแต่ควรจะเป็นปัจจัยการผลิตที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

การจัดการเกษตรอินทรีย์ต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดความสมดุลและเกิดประสิทธิผลสูงสุดในการฟื้นฟูและรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศการเกษตร ได้แก่

1 การใช้วัสดุคลุมดิน โดยใช้เศษซากอินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้ฟางข้าว แกลบ ชานอ้อย มูลสัตว์ หรือ ปล่อยให้มีพืชปกคลุมในบริเวณที่ต้องการ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและอุณหภูมิในดิน ป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ควบคุมวัชพืช และเมื่อเน่าเปื่อยลงก็กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ด้วย

2 การปรับปรุงโดยใช้พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยไนโตรเจนในรูปที่พืชสามารถใช้ประโยชน์ได้และซากต้นถั่วยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรือ ปุ๋ยหมักได้ด้วย

3 การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หินแร่ และเศษวัสดุจากการเกษตร ธาตุอาหารที่อยู่ในเศษซากเหล่านี้จะหมุนเวียนกลับไปสู่ดินได้โดยไม้ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ

4 การลดการไถพรวน โดยให้มีการไถพรวนน้อยที่สุด หรือใช้การไถพรวนแบบอนุรักษ์ เพื่อลดการรบกวนกิจกรรมและปริมาณของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน

5 การผสมผสานการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เพื่อหมุนเวียนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ และจัดการทรัพยากรในแปลงเกษตรกรรมให้มีความเกื้อกูลกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการควบคุมศัตรูพืช และการเพิ่มอินทรียวัตถุ

6 การควบคุมศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชแมลงศัตรูพืช และโรคพืช เพื่อไม่ให้สารเคมีไปรบกวนหรือทำลายสิ่งมีชีวิตเล็กภายในดิน

เกษตรธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming)

ระบบเกษตรธรรมชาติ คือ รูปแบบการทำเกษตรที่นึกถึงระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เน้นการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ให้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ จึงเป็นระบบเกษตรกรรมที่สร้างผลผลิตพืชและสัตว์ให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยพยายามแทรกแซงการใช้ปัจจัยและเทคโนโลยีทางการผลิตต่างๆ ให้น้อยที่สุด ซึ่ง มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Mazanobu Fukuoka) เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดนี้

หลักการและเงื่อนไขของเกษตรธรรมชาติ

1.ไม่มีการไถพรวนดินด้วยเครื่องจักรกล เพราะถือว่าดินมีการไถพรวนโดยธรรมชาติจากการชอนไชของแมลงและสิ่งมีชีวิตเล็กในดิน การไถพรวนดินก่อให้เกิดการทำลายโครงสร้างของดิน

2.ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก แต่จะใช้พืชตะกูลถั่วคลุมดินหรือใช้ฟางข้าวคลุมดินได้

3.ไม่กำจัดวัชพืช แต่จะควบคุมปริมาณด้วยการปลูกพืชคลุมดิน หรือใช้ฟางคลุมดิน ช่วยลดการชะล้างพังทลายและลดการละเหยของน้ำ

4.ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่จะควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยกลไกธรรมชาติที่เชื่อว่า การปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุลในนิเวศวิทยาจะควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ด้วยตัวมันเอง

แนวคิดนี้ไม่ใช่ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกันเอง แต่เกษตรกรต้องทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือ และไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันควรจะเป็น

เกษตรธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติคิวเซ (MOA)

เกษตรธรรมชาติคิวเซ เป็นหลักการปรัญชาของโมกิจิ โอกาดะ (Mokichi Okada) เป็นหลักการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับดินมากๆ ตามหลักที่ว่า เกษตรธรรมชาติคือ การทำให้ดินมีชีวิต โดยเขาสังเกตดินที่อยู่ในป่าธรรมชาติ พบว่าผิวดินมีความแตกต่างกันเป็นชั้นๆ อันเกิดจากการย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งแบ่งเป็นชั้นดิน 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นใบไม้ปกคลุม ชั้นเริ่มผุพัง ชั้นเริ่มเน่าเปื่อยย่อยสลาย และชั้นดินดานไม่มีสารอาหาร ซึ่งชั้นใบไม้เริ่มเน่าเปื่อยย่อยสลายนั้นจะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่ ดินส่วนนั้นจะมีรากฝอยของต้นไม้และกลิ่นหอมเหมือนเห็ดเขาจึงเรียกดินนี้ว่า “ดินมีชีวิต”

หลักการทำเกษตรธรรมชาติคิวเซ

1 มีการคลุมดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เพื่อส่งเสริมให้จุลินทรีย์ในดินทำงานได้ดี ป้องกันการชะล้าง

2 ไม่ไถพรวนดิน เพราะจะทำลายการทำงานของจุลินทรีย์ ทำให้ดินแห้ง รวมถึงไม่กลับหน้าดินเพราะจะทำให้ดินที่สมบูรณ์พลิกกลับออกมาสู่หน้าดิน

3 ไม่ใช่สารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การไม่ใช้สารเคมีในการปลูกพืชจะเป็นการคืนธรรมชาติแก่โลกและดิน หรือหากมีการใช้ผสมผสานกับเกษตรธรรมชาติจะเป็นการคืนสภาพสู่ดินและไม่ยั่งยืน

แนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซถูกเผยแพร่ขยายในวงกว้างมากขึ้นเมื่อ โมกิจิ โอกาดะ ร่วมกับ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ ค้นพบเทคนิคการใช้ EM (Effective Microorganisms) ซึ่งมีจุลินทรีย์มากกว่า 80 สายพันธุ์ ซึ่งทำให้โครงสร้างดินดีขึ้นอย่างเห็นผลได้ชัด ทั้งยังป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่ง EM ที่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในชีวภัณฑ์ต่างๆ อย่าง จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำปุ๋ยโบกาฉิ เป็นต้น

กษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร เกษตรฟื้นฟู

เกษตรฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) 

เกษตรฟื้นฟู คือ ระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ผสมผสานนวัตกรรมที่ยั่งยืนเข้ากับประเพณีดั้งเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูดินและระบบนิเวศเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีปริมาณมากเพียงพอกับประชากรโลก ช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไป

เป้าหมายของเกษตรฟื้นฟู

-ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกคุกคามและเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

-ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าโดยการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่

-ช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการกักเก็บคาร์บอนในดินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

-ผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอต่อประชากรโลก

-ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรจากผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

หลักการและแนวปฏิบัติ

1.ลดการรบกวนดิน เมื่อดินถูกไถหรือไถพรวน โครงสร้างดินจะเสียหาย และเป็นการทำลายจุลินทรีย์ในดิน ลดความสามารถในการกักเก็บน้ำ การไม่ไถพรวนดิน (no-dig, no-till) จะช่วยรักษาความสมบูรณ์ในดินไว้

2.พืชปกคลุมตลอดทั้งปีป้องกันการพังทลายของดินและเพิ่มปริมาณคาร์บอน แนวคิดเกษตรฟื้นฟูจะปลูกพืชชนิดอื่นต่อทันทีหลังการเก็บเกี่ยว โดยสลับพืชเศรษฐกิจและพืชคลุมดิน ให้เป็นเหมือนมีฝาครอบธรรมชาติให้รากของต้นไม้เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินอยู่เสมอ

3.ปลูกพืชหมุนเวียน ให้มีความหลากหลาย การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำๆ กันในหลายๆ ปีจะทำให้ดินขาดสารอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชได้ง่าย แต่การปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยกำจัดการแพร่กระจายของสัตว์รบกวน และช่วยให้จุลินทรีย์ในดินเจริญเติบโตได้ดีด้วยสารอาหารที่ได้จากพืชหลากหลายชนิด เช่น ปลูกพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ดีอย่างพืชตระกูลถั่ว หรือปลูกพืชคลุมดินระหว่างแถวของพืชเชิงพาณิชย์ การปลูกแบบรีเลย์ (Relay planting) ที่เป็นการหยอดเมล็ดพืชชนิดถัดไปแม้ว่าเมล็ดพืชที่ปลูกก่อนหน้าจะยังเติบโตอยู่ก็ตาม รวมถึงการมีพื้นที่วนเกษตรที่เป็นสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับแมลงผสมเกสรและสัตว์ป่าที่เป็นประโยชน์อื่นๆ

4.การลดปัจจัยการผลิตทางชีวภาพและเคมี ด้วยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำเกษตร เช่น การสร้างคู่มือตารางใส่ปุ๋ยหรือดูแลพืชผล ใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพของดินเพื่อให้ทราบถึงคุณภาพและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการเพาะปลูกในปริมาณที่เหมาะสม   

5.ใช้ประโยชน์จากปศุสัตว์มาช่วยสร้างวงจรสุขภาพดินที่ดีได้ ใช้ประโยชน์จากสัตว์ต่างๆ ที่เลี้ยง เช่น วัว แพะ แกะ ไก่ หมู วัว อย่างใช้มูลสัตว์เหล่านี้เป็นปุ๋ยคอกบำรุงดิน ใช้เป็ด ห่าน เป็นสัตว์กำจัดวัชพืช พืชที่ปลูกคลุมดิน เศษซากพืชหลังจบฤดูเก็บเกี่ยวช่วยเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกรอบต่อไป

ในเมืองไทย เกษตรฟื้นฟูเริ่มได้เริ่มเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดย Udon Organic Farm ซึ่งคุณเจน เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์ (น้องเจนทำฟาร์ม) และคุณนิค – นิโคลัส อินเนส-เทเลอร์  คุณพ่อของเธอได้ร่วมกันนำเสนอหลักการทำเกษตรนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ อธิบายเข้าใจง่าย เป็นต้นแบบให้เกษตรกรอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยทั้งสองได้ทดลองทำในพื้นที่ฟาร์มจนเห็นผลสำเร็จมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการทำเกษตรแบบอื่นๆ ที่แพร่ขยายในระดับสากล เช่น แนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) หรือเกษตรชิดธรรมชาติที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรมสอดคล้องไปกับธรรมชาติไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (อ่านหลักการทำเกษตรเพอร์มาคัลเจอร์) ซึ่งการนำทฤษฎีและหลักการเกษตรต่างๆ ไปปรับใช้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล บ้างนำไปใช้เพียงบางส่วนที่ถนัดและเหมาะสมกับพื้นที่ บ้างก็ทดลองทำตามหลักแต่ละข้อของแต่ทฤษฎี  

เรียบเรียงจาก

หลักการและรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน : สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร 2562

เกษตรธรรมชาติประยุกต์ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช : ศูนย์ข้อมูลเกษตรธรรมชาติแม่โจ้

https://www.syngentagroup.com/regenerative-agriculture