Distar Fresh Plant Factory

เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ปลูกผักให้สะอาดจนไม่ต้องล้างด้วยระบบ Plant Factory

Distar Fresh Plant Factory
Distar Fresh Plant Factory

ปลูกผักอย่างไรให้มีความปลอดภัยสูง มีผลผลิตคงที่ สามารถทำได้ขนาดนี้เชียวหรือ?

โรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory คือ การปลูกพืชในอาคารแบบปิด มีข้อดีตรงที่สามารถป้องกันศัตรูพืช สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคได้ต่ำ จึงไม่มีความจำเป็นในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นสาเหตุของสารเคมีปนเปื้อนในผัก ทำให้ ระบบการปลูกพืชในระบบนี้ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยสูง

ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้เราได้มี Plant Factory แห่งใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้ ที่มีชื่อว่า Distar Fresh ตั้งอยู่ที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และ มีโอกาสได้พูดคุยกับสองผู้ก่อตั้ง Distar Fresh คุณกฤษณะ ธรรมวิมล และ คุณสานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ (เชน) จะมาเล่าให้เราฟังกันว่าปลูกผักให้สะอาดจนไม่ต้องล้างนั้นเป็นอย่างไร

Plant Factory
คุณเชน (ซ้าย) คุณกฤษณะ (ขวา) สองผู้ก่อตั้ง Distar Fresh

คุณกฤษณะ (ขวา) ผู้บริหารระดับสูงสุด Wangree Fresh Plant Factory Startup และ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรงปลูกพืชแนวตั้ง กล่าวว่า “แต่ก่อนที่จะมี Distar Fresh ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมมีฟาร์มอยู่ที่จังหวัดนครนายก ที่ชื่อว่า Wangree Fresh เป็นฟาร์มต้นแบบที่จำหน่ายผัก แต่ด้วยปัญหาโรคโควิทที่ระบาดจึงทำให้ต้องยุติฟาร์มไป

“ในช่วงที่หยุดไปนั้นก็ได้รับทุนจากต่างประเทศในการทำวิจัย จึงได้มีโอกาสมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรงงานผลิตพืช จนมาถึงจุดหนึ่ง ที่พบว่า การปลูกพืชด้วยระบบนี้ สามารถทำได้จริง ถ้าทำในปริมาณที่มีจำนวนมากซึ่งจะส่งผลให้มีต้นทุนที่ถูกลง

คุณเชน ผู้บริหารระดับสูงสุด วัย 25 ปี ของบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด กล่าวว่า “ปกติผมเป็นคนไม่กินผัก พอได้รับประทานผัก จากระบบที่อาจารย์ปลูกปรากฏว่าไม่ขมเลย อาจารย์ก็พูดว่า การปลูกผักในระบบนี้มันจะ ทำให้ผักไม่เครียด มันเลยไม่มีฟลาโวนอยด์ที่ออกรสชาติขม แล้วตอนนี้ผมก็มี Distar Care ที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และ ตั้งเป้าไว้ว่าอยากทำบ้านพักคนชรา ยิ่งถ้ามีกิจกรรมการปลูกผักใน Plant factory น่าจะสนุกสนานมาก เพราะว่า เป็นการเกษตรออกแรงน้อย อยู่ในห้องแอร์ไม่ต้องตากแดดตากฝน”

คุณกฤษณะ อธิบายหลักการทำงานของโรงงานผลิตพืช ว่า “การปลูกพืชในระบบนี้ เปรียบเสมือนโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีปัจจัยในการปลูกที่ชัดเจน โดยมีการควบคุมปัจจัยการผลิตด้วยกัน 5 อย่าง ประกอบไปด้วย แสง คาร์บอนไดออกไซด์ กระแสลม ระบบปุ๋ย และ อุณหภูมิ นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันความแปรปรวนจากสภาพแวดล้อม ศัตรูพืชต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการทำเกษตร ส่งผลให้สูญเสียผลผลิตมากถึง 20 – 40% ของผลผลิตทั้งหมด จึงทำให้การปลูกพืชในระบบนี้มีผลผลิตที่คงที่”

การปลูกผักแบบโรงงานผลิตพืช มีความแตกต่างจากการปลูกผักทั่ ๆ ไป คือ

  1. ห้องปลูกผักแบบปลอดเชื้อ
  2. น้ำสำหรับพืชเป็นน้ำกรอง Reverse Osmosis
  3. ปุ๋ย อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงสายไฟก็เป็น Food grade

ผักที่ลูกค้าซื้อไปก็ไม่จำเป็นต้องล้าง เพราะ ในการปลูกใบของผักจะไม่มีการได้สัมผัสกับน้ำ หรือ ปุ๋ยเลย จึงมั่นใจได้ในความสะอาด และ เรายังจัดส่งให้กับผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างขนส่ง

“แสงไฟ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ในการปรุงอาหารของพืช และ เป็นข้อจำกัด ในการปลูกผักแบบโรงงานผลิตพืช ด้วยเช่นกัน เพราะ ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ในการปลูกผัก เราจึงเปิดไฟในช่วง Time of Use Tariff (TOU) ก็คือช่วงที่ค่าไฟถูก เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 – 9.00 น. เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่พืชต้องการ 14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งปัจจุบันกำลังค้นหาวิธีการ ที่จะช่วยในการลดค่าไฟ โดยการลดเวลาการเปิดไฟสำหรับพืช เพื่อ ให้สอดคล้องกับความต้องการแสงไฟของพืช”

อาคารที่ปลูกผักด้วยระบบ Plant Factory ของ Distar Fresh

“Distar Fresh จำหน่ายผักในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เปิดสาขาแรกอยู่ที่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับ หมู่บ้านจัดสรร โดยมีคอนเซ็ปต์ คือ ปลูกผักในพื้นที่ที่น้อย และ อยู่ใกล้กับผู้บริโภค เพื่อ ให้ผู้บริโภคสามารถกินผักที่สดที่สุด และ มีแผนจะขยายไปสาขาที่ 2 ใกล้กับห้างสรรพสินค้า The nine พระราม 9”

เตรียมรางปลูกผักในระบบโรงงานผลิตพืช

“เรามีโรงงานผลิตพืช ที่มีกำลังการผลิตเดือนละ 10 ตัน ภายในพื้นที่เพียง 400 ตารางวา ที่เราสามารถทำได้ขนาดนี้เพราะ เราทำธุรกิจในแบบ Inhouse research ก็คือ เราเป็นเกษตรกร เราจึงต้องสร้างฟาร์มผักของเราเอง ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัย จึงทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะไม่ได้เป็นการซื้อระบบจากที่อื่นมา”

สองผู้ก่อตั้ง บริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค เกี่ยวกับความปลอดภัยของผักที่ปลูกในระบบนี้ จึงเปิดให้คนภายนอกสามารถเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมการปลูกผัก

คุณเชน เล่าว่า “ทางเราทำการตลาดโดยเปิด Open House ให้คนที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมกันได้ มาดูวิธีการปลูก อนาคตเราก็จะทำเป็นสถานศึกษา ใครที่อยากรู้ว่าผักปลูกอย่างไร เราเชื่อว่าเป็นการสื่อสาร กับ สังคมให้เข้าใจ และ มั่นใจในทุกขั้นตอนการผลิต ว่าผักของเราสะอาดจริงลูกค้าก็จะสบายใจที่จะรับประทาน

ต้นอ่อนผักชี ที่ปลูกด้วยระบบโรงงานผลิตพืช

“ซึ่งในอนาคต เราจะจัดจำหน่ายผัก ให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิก โดยที่เราเก็บเกี่ยว และ จัดส่งให้ลูกค้าถึงหน้าบ้านภายใน 3 ชั่วโมง และ จัดส่งในทุกๆ 3 วัน ทำให้ลูกค้าได้ผักที่สดใหม่ตลอด แต่ช่วง 30 วันแรกของการสั่งซื้อลูกค้าต้องรอ เพราะเราพึ่งหย่อนเมล็ดแล้วเมื่อครบ 30 วันลูกค้าก็จะได้รับผัก

ตอนนี้ เรามีสมาชิกอยู่ 50 ครอบครัว แต่เรายังไม่ได้ขอเก็บเงิน เราเก็บเพียงข้อมูลเพื่อใช้ในการสร้างแผนการจัดส่งผัก เราจะได้รู้ว่าตรงไหนมีกลุ่มลูกค้าอยู่ จะได้ขยาย สาขา Distar Fresh ตามพื้นที่ที่ลูกค้าอยู่ เราจะไม่ทำฟาร์มใหญ่แล้วส่งจากที่เดียว”

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข

ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ สู้วิกฤติแบบฟาร์มโกติ๊ก จ.ภูเก็ต

Farmshelf แปลงผักอัจฉริยะทำงานอย่างไร ดีจริงไหม?