ความรู้คู่สวน

รวบรวม 10 ฟาร์มรู้คู่สวน โดนใจนักปลูก ep.4

ความรู้คู่สวน
ความรู้คู่สวน

ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก๋าก็ต้องมีเคล็ดลับความรู้คู่สวนอยู่เสมอ เพื่อให้พืชผักที่ปลูกเจริญงอกงามน่ามารับประทานอยู่ตลอด

จึงได้รวบรวม 10 ฟาร์มรู้คู่สวน เพื่อดูแลพืชผักให้ง่ายยิ่งขึ้นและเข้าใจถึงธรรมชาติของการปลูกผักว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง รวมทั้งเคล็ดลับดีๆ ไว้ใช้ในสวนกัน เอาหล่ะ เตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็น #นักปลูก ต้องพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ

ฟาร์มรู้คู่สวน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ รดน้ำตอนเที่ยง ช่วยให้ผักสลัดขมน้อยลง

ธรรมชาติของผักสลัดนั้นจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นที่ให้รสชาติขม โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน รดน้ำไม่เพียงพอ ปล่อยให้ดินแห้ง จะส่งผลให้ผักเหี่ยว เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นของน้ำยางในต้นผักสูง พอรับประทานไปก็เกิดรสชาติขมได้

เราสามารถ ลดความขมได้ง่ายๆ เพียงแค่รดน้ำเพิ่มในตอนเที่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ผักเหี่ยว โดยให้สังเกตสภาพอากาศในแต่ละวัน ถ้าวันไหนแดดร้อนก็มีแนวโน้มว่าผักอาจจะเหี่ยวได้ก็ให้รดน้ำเพิ่ม และน้ำที่รดต้องไม่ร้อน ก่อนรดน้ำอย่าลืมเช็คอุณหภูมิของน้ำด้วยนะ ส่วนวันที่เมฆเยอะ ไม่ค่อยโดนแดด อากาศไม่ร้อน ผักไม่เหี่ยวแสดงว่าน้ำและความชื้นที่เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรดเพิ่ม

ข้อมูลจากหนังสือ “ผักนอกปลูกง่ายทำได้ทุกฤดู

ฟาร์มรู้คู่สวน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ ซาแรนแต่ละสีใช้งานแตกต่างกัน

ซาแรน หรือ ตาข่ายกรองแสง (Shading Net) ที่ใช้สำหรับกรองแสง ลดความร้อนให้กับพื้นที่ปลูกพืช ลดความแรงของลมและน้ำฝน ซึ่งเมื่อก่อนเราจะก็เคยเห็นแต่ซาแรนสีดำกับสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีของซาแรนให้ออกมาหลากหลายสีมาก ทั้ง สีดำ สีขาว สีเทาเงิน สีเขียว เพื่อใช้งานที่แตกต่างกัน ได้ดังนี้

สีดำ – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ ซาแรนสีดำเป็นสีที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดความกว้างและอัตราการกรองแสงให้เลือกที่หลากหลาย สามารถหาซื้อได้ง่าย

สีขาว – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ มีข้อดีที่แสงสามารถผ่านได้มากกว่าสีดำ นอกจากนี้สามารถลดอุณหภูมิได้อีกด้วย จึงเหมาะสำหรับพืชที่ต้องการแสงมากแต่ไม่ชอบอุณหภูมิที่สูง

สีเทาเงิน – แสงที่ได้เป็นแสงขาวตามธรรมชาติ ใช้สำหรับกรณีที่ต้องการพรางแสงในฤดูฝนช่วงที่มีลมและฝนแรงที่อาจส่งผลให้พืชเสียหายได้ ด้วยคุณสมบัติของซาแรนสีเทาเงินที่มีเส้นเทปทึบแสงน้อยกว่าซาแรนสีดำ จึงสามารถใช้ซาแรนสีเทาเงิน 80% ซึ่งเทียบเท่ากับซาแรนพรางแสงสีดำ 60% เพื่อให้แสงผ่านได้ 40% แต่มีความทนทานมากกว่า

สีเขียว – แสงที่ได้เป็นแสงสีเขียว ซึ่งเป็นแสงที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงนิยมใช้เพื่อให้พืชยืดตัวสูงขึ้น ต้องการให้พืชมีกิ่งก้านยาวขึ้น นอกจากนี้ช่วยลดการเกิดตะไคร่น้ำในบ่อได้อีกด้วย

ฟาร์มรู้คู่สวน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ การคลุมดิน ช่วยให้ปลูกผักง่ายขึ้น

การคลุมดิน (Mulching) เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลดินที่สำคัญ ช่วยให้รักษาความชื้นในดินไว้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศแห้งแล้งแบบนี้ ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของดินไม่ให้ร้อนจนเกินไป สามารถควบคุมปริมาณวัชพืชได้ ช่วยลดการชะล้างของธาตุอาหาร เพิ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุภายในดิน ซึ่งประเภทของวัสดุคลุมดินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้ดังนี้

1. ใช้อินทรีย์วัตถุเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งสามารถย่อยสลายเป็นสารอาหารให้กับพืชได้ ทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า จึงเหมาะสำหรับพืชอายุสั้น วัสดุที่ใช้คลุมดินจะให้ดีเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุน ได้แก่ ฟางข้าว มะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ใบไม้แห้ง เปลือกไม้

2. ใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นวัสดุคลุมดิน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าอินทรีย์วัตถุ มีหลายสเปกด้วยกันตั้งแต่อายุการใช้งาน 1 ปี ไปจนถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับความหนาของวัสดุและสารเคลือบป้องกัน UV สามารถคลุมได้ตั้งแต่พืชอายุสั้นไปจนถึงไม้ยืนต้น หรือใช้คลุมพื้นดินในแปลงที่เป็นทางเดินก็ได้เช่นกัน

3. ใช้พืชเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งจะนิยมใช้เป็นพืชตระกูลถั่วที่โตเร็ว มีอายุคลุมดินที่ยาวนาน เหมาะสำหรับแปลงที่เป็นต้นไม้ใหญ่ อย่างสวนผลไม้ สวนปาล์ม ซึ่งพืชตระกูลถั่วนอกจากจะคลุมดินได้แล้วยังช่วยบำรุงดิน ด้วยความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากไรโซเบียม แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ ในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการดูแลกว่าที่พืชจะครอบคลุมทั้งพื้นที่

ฟาร์มรู้คู่สวน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ ฤดูร้อนผักแพง เพราะแมลงและภัยแล้ง

ในช่วงที่อากาศร้อนโดยเฉพาะพืชผักที่ชอบน้ำอย่าง ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย พริกสด ถั่วฝักยาว มะระ ผักกาดหอม กวางตุ้ง เป็นต้น จะมีราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง และจำนวนของแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่ความต้องการผักยังคงเท่าเดิม รู้อย่างนี้แล้ว มาปลูกผักกันดีกว่าจะได้ไม่ต้องซื้อผักในช่วงราคาแพง ซึ่งมีวิธีการดูแลที่ต้องเตรียมตัวตามนี้

ใช้ซาแรนพรางแสง สำหรับพืชที่ไม่ค่อยทนร้อน โดยใช้ซาแรนพรางแสง 50% เพื่อป้องกันความร้อน แต่พืชก็ยังคงต้องการแสงแดดเต็มวันอยู่ดี ระหว่างกางซาแรนให้ดูทิศทางของแดดให้ดีด้วยนะ

– สำหรับพืชที่ปลูกในกระถาง ไม่ควรวางไว้บนพื้นปูน เพราะในช่วงเย็นพื้นปูนจะคลายความร้อนออกมาทำให้รากพืชที่อยู่ด้านล่างสุกได้ ทางที่ดีวางไว้บนพื้นไม้หรือใช้อิฐรองเพื่อไม่ให้กระถางสัมผัสกับพื้นปูนจะดีกว่า

– แมลงศัตรูพืชสารพัดเพลี้ย ไม่ว่าจะเป็น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ไรแดง ถ้าพบเป็นจำนวนมากให้เรา ตัดแต่งส่วนที่มีการระบาดมากทิ้งออกไป

– หลังจากที่รดน้ำช่วงเย็นแล้ว ให้ ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นประจำ โดยเชื้อราจะเข้าไปในตัวของแมลงและทำให้แมลงตาย

ฟาร์มรู้คู่สวน

ฟาร์มรู้คู่สวน รู้หรือไม่ กิ่งแขนงมะเขือเทศ นำมาล่อรากแล้วปลูกต่อได้

กิ่งแขนงหรือกิ่งกระโดง คือ กิ่งที่เกิดตรงบริเวณซอกใบของต้นมะเขือเทศ ซึ่งการตัดกิ่งแขนงออกจะช่วยให้ผลมะเขือเทศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งแขนง นอกจากนี้ช่วยให้ทรงพุ่มของต้นมะเขือเทศโปร่งลดการเกิดโรค และช่วยให้แสงแดดส่องถึงใบที่อยู่ด้านล่างได้

แต่ถ้าไม่ตัดกิ่งแขนงออกก็จะทำให้ผลมะเขือเทศมีขนาดของผลและจำนวนน้อยลง เพราะต้นมะเขือเทศจะส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งแขนงด้วย ดังนั้นถ้าเห็นกิ่งแขนงให้ตัดออกทันที และให้ตัดออกเป็นประจำเพราะกิ่งแขนงจะเกิดออกมาอยู่เรื่อยๆ

แต่ถ้าเรายังมีพื้นที่เหลือ แล้วอยากได้ต้นมะเขือเทศเพิ่มก็ปล่อยให้กิ่งแขนงยาว ประมาณ 15-20 ซม. แล้วค่อยตัดออก จากนั้นก็นำกิ่งแขนงมาตัดใบออกบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำ แช่น้ำทิ้งไว้ทันที และนำไปวางไว้ที่ร่ม หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน รากจะเริ่มงอกออกมาก็นำไปอนุบาลในกระถางไซส์ 4 นิ้ว แล้วพอเริ่มโตจนรากเต็มกระถางก็ย้ายปลูกในกระถางไซส์ 12 นิ้วต่อได้เลย

ซึ่งการนำกิ่งแขนงมาปักชำมี ข้อดี คือ ทำให้ติดดอกออกผลได้ไว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายต้น และถ้าต้นมะเขือเทศที่ใช้เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ต้นที่ได้จะเหมือนต้นแม่ 100% ทำให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ ที่สำคัญยังประหยัดอีกด้วย