โรงเรือนแคคตัส

สร้างบ้านให้น้องหนาม โรงเรือนแคคตัส และไม้อวบน้ำ 3 แบบ 3 สไตล์

โรงเรือนแคคตัส
โรงเรือนแคคตัส

แคคตัสและไม้อวบน้ำถือว่าเป็นไม้ประดับยอดนิยมมาทุกยุคทุกสมัย การปลูกไม้กลุ่มนี้ให้ได้ผลดีนั้น โรงเรือน มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับต้นไม้มากที่สุด เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตสวยงามแบบที่ต้องการ

นอกจากโรงเรือนจะใช้เป็นที่ปลูกเลี้ยงเพาะชำต้นไม้แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งสวนได้ด้วย สำหรับการทำ โรงเรือนแคคตัส กับไม้อวบน้ำมีข้อแตกต่างกันดังนี้

โรงเรือนแคคตัส ต้องการแสงสว่างเต็มที่ควรใช้วัสดุมุงหลังคาแบบโปร่งแสงและไม่มีร่มเงาของต้นไม้มาบังมากนัก จะทำเป็นโรงเรือนแบบปิดหหรือแบบเปิดก็ได้ ข้อดีของโรงเรือนแบบปิดคืออุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงทำให้แคคตัสสร้างหนามได้เต็มที่และสวยงามกว่าโรงเรือนแบบเปิด แต่ก็ควรระวังในบางฤดูกาลที่แดดแรงเกินไปอาจจะพิจารณาใช้วัสดุพรางแสงเข้ามาช่วย เช่น ซาแรน ม่าน เป็นต้น

โรงเรือนไม้อวบน้ำ ไม่ควรทำโรงเรือนแบบปิดที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปจะให้ต้นเฉา ไม่สวยงาม ควรเลี้ยงในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทดี มีลมพัดเย็นสบาย

อย่างไรก็ตามหากปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกหรือทำขายเล็กๆน้อยๆ ไม้ทั้งสองชนิดนี้สามารถปลูกเลี้ยงร่วมกันได้ สำหรับผู้ที่สนใจอยากสร้างโรงเรือน เรามีไอเดียการทำโรงเรือนแคคตัสและไม้อวบน้ำ 3 แบบ 3 สไตล์ มาฝาก พร้อมเคล็ดลับดีๆสำหรับคนชอบปลูกให้นำไปใช้ดูแลต้นไม้ที่บ้านกัน

Greenhouse 1 : โรงเรือนแคคตัส กลิ่นอายยุโรป

คุณนุย-สุภศักดิ์ ดิษยบุตร เจ้าของโรงเรือน แห่ง Siam Cactus อันเลื่องชื่อในแวดวงคนรักแคคตัสและไม้อวบน้ำ และประธานชมรมกระบองเพชรและไม้อวบน้ำแห่งประเทศไทย  คุณนุยสร้างโรงเรือนไว้หลายหลัง มีทั้งโรงเรือนที่เพาะเลี้ยงต้นไม้ไว้จำหน่ายโดยเฉพาะและโรงเรือนที่ตั้งใจสร้างไว้โชว์ไม้สวย ๆ ดัดแปลงมาจากโรงเรือนต่างประเทศ แต่ออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศและการใช้งานจริงในเมืองไทย

โรงเรือนแคคตัส

ตัวโรงเรือนเปิดโล่ง ข้อดีคือทำให้วัสดุปลูกแห้งเร็ว ไม่ร้อนเท่าโรงเรือนระบบปิด ภายในโรงเรือนเน้นวางพรรณไม้สีสันสดใสกลุ่มไม้เนื้อแข็งเพราะแดดแรง ถ้าวางไม้เนื้อนิ่มอาจจะทำให้ไม้ตายนึ่งได้ กลุ่มที่เลี้ยงในโรงเรือนจะมีทั้งแคคตัสและไม้อวบน้ำที่เลี้ยงง่ายหลายสกุล เช่น Melocactus, Pilocereus, Mamillaria, Astrophytum, Agave, Gasteria, Aloe, Alluaudia, Pachypodium การดูแลรดน้ำ 4-5 วันครั้ง หากพบแมลงพวกเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง จะใช้สตาร์เกิลจีโรยในกระถางหรือฉีดยาบ้าง

โรงเรือนแคคตัส

ขนาดโรงเรือน : 6 x 8 x 5 เมตร

วัสดุ: โรงเรือนก่ออิฐโชว์แนว ประตูและผนังใช้เหล็กกล่องเชื่อมเป็นตารางสี่เหลี่ยมปล่อยโล่ง หลังคาจั่วสองชั้นมุงแผ่นลอนคู่ใส ส่วนขอบทั้งหมดปิดทับหลังคากระเบื้องลอน

งบประมาณ : 170,000 บาท รวมโต๊ะวางต้นไม้

หมายเหตุ : ค่าก่อสร้างโรงเรือนคือราคาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ควรเช็คราคาค่าก่อสร้างในปัจจุบันประกอบ

มีการลงเสาเข็มก่อนสร้างโรงเรือน ตัวโรงเรือนใช้เสาคอนกรีตกรุอิฐมอญ ส่วนผนังก่ออิฐโชว์แนวสูงขึ้นมา 70 เซนติเมตร วางโครงเหล็กกล่องเชื่อมเป็นตารางสี่เหลี่ยมเหมือนเฟรมกระจกวางทับบนผนังที่ทำไว้ รอบด้านเปิดโล่ง หลังคายกสูง ทำหลังคาแบบจั่วสองชั้นทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี แม้ว่าจะใช้หลังคาใสเพื่อเปิดรับแสงเต็มที่แต่ภายในโรงเรือนก็ไม่ร้อนเกินไป พื้นโรงเรือนปูแผ่นพื้นคอนกรีตลายตารางของ SCG สลับกรวด และซื้อโต๊ะคอนกรีตหล่อสไตล์ยุโรปมาวางต้นไม้จำนวน 8 ตัว

Tips สูตรวัสดุปลูกแคคตัสและไม้อวบน้ำจาก Siam Cactus

ดินร่วน เช่น ดินใบก้ามปูดินขุยไผ่ร่อน, ขุยมะพร้าวร่อน, ขี้เถ้าแกลบ, พีทมอส, หินภูเขาไฟเบอร์00, เพอร์ไลท์อย่างละ 1 ส่วน พร้อมด้วยแกลบดิบ, ทรายหยาบ, เวอร์มิคูไลท์อีกอย่างละ ¼ ส่วน ใช้วัสดุรองก้นกระถางใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หินภูเขาไฟเบอร์ 01, กาบมะพร้าวสับเบอร์ 01-02 หรือถ่านทุบ แต่สำหรับผู้ที่ปลูกเลี้ยงจำนวนมากและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์สามารถลดสัดส่วนวัสดุปลูกเหลือเพียง 5 อย่าง คือ ดิน, ขุยมะพร้าว, ขี้เถ้าแกลบ, ทราย และแกลบดิบในอัตราส่วนเดียวกันข้างต้น

ฝั่งที่ชิดผนังโรงเรือนทั้งสองด้านทำโต๊ะวางต้นไม้ตัวยาว ด้านล่างทำชั้นเก็บกระถางต่าง ๆ ทั้งใช้งานและจัดวางเป็นพร็อปส์เพื่อความสวยงาม

Greenhouse2 : โรงเรือนแแคคตัส ของนักสะสมที่ฝันจะสร้างสวนพฤกศาสตร์แคคคัสในบ้าน

คุณโจ๋น-อนุภาพ พงษ์นะเมตตา ผู้กำกับโฆษณาและนักสะสมแคคตัสตัวยง ภายในพื้นที่ของ Jone’s Garden คาเฟ่กลางสวนบรรยากาศสุดชิค ที่เสิร์ฟอาหารพื้นเมืองแท้ๆของภาคตะวันออก ณ ทุ่งควายกิน  อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภายในสวนตั้งใจปลูกแคคตัสและไม้อวบน้ำจัดบรรยากาศให้ดูเหมือนสวนพฤกษศาสตร์แคคตัสย่อม ๆ

โรงเรือนแคคตัส

โรงเรือนขนาด 6 x 12 x 8 เมตร หลังคาจั่วสูง โครงกัลวาไนซ์ (เหล็กชุบสังกะสี) ซึ่งทนต่อการกัดกร่อนและทนสนิมได้มากกว่าโรงเรือนเหล็ก เนื่องจากที่นี่อยู่ใกล้ทะเลจึงมีไอเค็มที่อาจจะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย ส่วนหลังคาและผนังใช้แผ่นโปร่งแสงลอนใสกรุทั้งหมดเพื่อช่วยประหยัดงบ เว้นผนังบางช่วงใส่ตาข่ายพลาสติกเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี โรงเรือนหลังนี้ตั้งใจจัดโชว์เพื่อให้ลูกค้าที่มาคาเฟ่สามารถมาเดินชมและถ่ายรูปในสวนได้

โรงเรือนแคคตัส

ขนาดโรงเรือน : 6 x 12 x 8 เมตร

วัสดุ : โรงเรือนโครงกัลวาไนซ์ (เหล็กชุบสังกะสี) หลังคาและผนังกรุแผ่นลอนใสปิดขอบด้วยอะลูมิเนียม พื้นโรงเรือนโรยกรวด 

Budget : 350,000 บาท

หมายเหตุ :ควรเช็คราคาค่าก่อสร้างในปัจจุบันประกอบ

โรงเรือนแคคตัส

เพราะตั้งใจว่าจะจัดสวนด้วยไม้ทะเลทรายจึงต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ส่วนที่ปลูกไม้เหล่านี้ถมสูงขึ้นมาและปรับสโลปให้น้ำระบายได้เนื่องจากที่นี่มีฝนตกค่อนข้างชุก

โรงเรือนแคคตัส

Tips การผสมดินปลูกสำหรับแคคตัสที่ปลูกลงดิน

  • การปลูกแคคตัสลงดิน ใช้หลักการเดียวกับที่ปลูกลงกระถาง คือ วัสดุปลูกต้องระบายน้ำดีเป็นอันดับแรก  กระบะต้นไม้ที่อยู่ในโรงเรือนจะใช้วัสดุปลูกกรวด หินภูเขาไฟ และถ่าน 3 นำมาผสมกับดินอย่างละครึ่งใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยละลายช้า ผสมให้เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำไปใส่กระบะด้านใน
  • ส่วนแคคตัสที่ปลูกนอกโรงเรือนจะปรับพื้นที่เป็นเนินให้น้ำไหลระบายได้เร็ว วัสดุปลูกจะไม่ใช้หินภูเขาไฟเพราะต้นทุนสูง แต่จะใช้ทรายก่อสร้างผสมกับดิน หว่านปุ๋ยละลายช้าและปุ๋ยคอก กลุ่มต้นไม้ที่ปลูกกลางแจ้งได้ดี ได้แก่ โอพันเทีย ซากัวโร่ อากาเว่ เป็นต้น

Greenhouse 3 : โรงเรือนแคคตัส ไม้แสนอบอุ่นริมระเบียง

คุณกุ๊กไก่-ช่อเฟื่องฟ้า  ศรีดอกรัก ชอบต้นไม้ในกลุ่มไม้อวบน้ำโดยเฉพาะกุหลาบหินชนิดต่างๆ ที่ดูนุ่มนวลอ่อนหวานและปลูกเลี้ยงมากว่า 8 ปีแล้ว เมื่อย้ายบ้านมาอยู่บ้านใหม่จึงจัดมุมระเบียงบนชั้นสองให้กลายเป็นมุมปลูกต้นไม้โดยสั่งโรงเรือนมาจากเพจ I-DO เฟอร์นิจอร์ ของแต่งบ้าน DIY มาประกอบที่หน้างาน

โรงเรือนแคคตัส

โรงเรือนไม้หลังคาทรงโดมมุงพลาสติก ด้านข้างมีหน้าต่างบานกระทุ้งเปิด-ปิดได้ ส่วนประตูและ ผนังโรงเรือนด้านล่างกรุมุ้งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ภายในโรงเรือนมีชั้นไม้มาพร้อมโรงเรือนเป็นรูปตัวยู (U) วางบนพื้นอิฐมอญที่ปูทับพื้นระเบียง

โรงเรือนแคคตัส

ขนาดโรงเรือน : 2.2 x 3 x 2.3 เมตร

วัสดุ : โรงเรือนโครงไม้ยางนาเคลือบสีย้อมไม้ หลังคากรุพลาสติกคลุมยาวลงมาด้านข้าง 1 ช่อง ส่วนที่เหลือกรุมุ้งกันแมลงช่วยให้อากาศถ่ายเท และกรุซาแรนสีเงินกรองแสงเพิ่มเติม พื้นปูอิฐมอญ

งบประมาณ : 23,000 บาท (เช็คราคาปัจจุบันที่ เพจ I-DO เฟอร์นิจอร์ ของแต่งบ้าน DIY)

Tips ดูแลกุหลาบหิน

  • กุหลาบหินไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไปเพราะใบจะเขียว ให้ใส่เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนเหมาะกว่า
  • เทคนิคการรดน้ำกุหลาบหินใช้กระบะทรายมาวางรองกระถางและรดน้ำลงในทรายให้ความชื้นค่อยซึมเข้าไปในกระถาง เมื่อสังเกตว่าทรายแห้งจึงค่อยรดน้ำลงไปใหม่
  • วิธีขยายพันธุ์กุหลาบหิน นำใบมาชำวางนอนลงบนวัสดุปลูก ไม่นานจะสังเกตเห็นรากและหน่อเล็กๆแตกออกมาเมื่อหน่อเริ่มโตและใบเหี่ยวแล้วจึงย้ายปลูกลงกระถาง

หาแบบโรงเรือนและเคล็ดลับการปลูกต้นไม้ในโรงเรือน และจัดต้นไม้ในบ้านดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ หนังสือ  “โรงเรือนในสวน ต้นไม้ในบ้าน” สำนักพิมพ์บ้านและสวน

เรื่อง วรัปศร

ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย , สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

เรื่องต้องรู้ในการสร้างโรงเรือน สำหรับปลูกผัก และทำงานในสวน

แปลงดอกไม้กินได้ ในสวนหลังบ้าน ปลูกอย่างไรให้สวย