แปลงดอกไม้กินได้ในสวนหลังบ้าน ปลูกอย่างไรให้สวย

“สวนดอกไม้กินได้” มุมลึกในสุดของสวนในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงทั้งวัน กับดอกไม้หลากหลายสีสันที่แข่งขันกันเบ่งบานตอนช่วงเช้าในแปลงกระบะอิฐก่อ

หากเป็นสวนทั่วๆ ไป มุมหลังบ้านน่าจะถูกจัดวางให้เป็นแปลงผักสวนครัวที่ง่ายในการเก็บไปประกอบอาหารซึ่งวางตำแหน่งให้เชื่อมต่อไปยังห้องครัวได้ แต่สำหรับสวนหลังบ้านของ พล.ต.ท.สุธีร์ และคุณโสมอุษา เนรกัณฐี เลือกปลูกเป็น สวนดอกไม้กินได้ ตามความชอบของคุณเม็ดทราย นันท์นภัส เนรกัณฐี บุตรสาวของทั้งคู่เพื่อใช้ดอกไม้เหล่านี้เป็นของตกแต่งขนมหวานที่เธอกำลังหัดเรียนรู้ลงมือทำ

สวนดอกไม้กินได้
คุณเม็ดทราย นันท์นภัส เนรกัณฐี กับภารกิจเก็บดอกไม้ในช่วงเช้าของวัน ซึ่งการเก็บดอกไม้ให้อยู่ได้นานควรเก็บในช่วงเวลาไม่เกิน 10.00 น.
มุมสวนดอกไม้กินได้แบ่งกั้นด้วยกระบะปลูกและมีซุ้มทางเดินพาสู่ใจกลางสวน กั้นบังสายตาด้วยรั้วต้นไทรเกาหลี เป็นกำแพงสีเขียวที่ชวนมอง

การจัดวางเลย์เอ้าท์ในสวนมีความคล้ายคลึงสวนอิงลิชฟอร์มัลแต่ซ่อนความหวานในแบบวินเวจไว้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับมุมสวนสวยข้างบ้าน ดูเป็นระเบียบด้วยการดีไซน์แปลงปลูกให้พุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นจุดโคมไฟในสวน ของเดิมที่เคยมีมาก่อนที่จะรีโนเวทให้เป็นสวนดอกไม้กินได้ ล้อมพื้นที่ให้เป็นโซนชัดเจนด้วยแนวต้นไม้พร้อมกับซุ้มทางเข้าที่มีไม้เลื้อยกินได้อย่างต้นพวงชมพู และพวงชมพูดอกขาวพันเลื้อยเพิ่มความอ่อนช้อย ทั้งหมดผ่านไอเดียการออกแบบของคุณอรรถ ประพันธ์วัฒนะ และจัดสวนโดย Design Item ที่มีซิกเนอร์โดดเด่นในรูปแบบสวนสไตล์วินเทจอ่อนหวาน แต่คราวนี้ซ่อนดีไซน์ความโปร่งโล่ง องค์ประกอบน้อย เน้นเป็นระเบียบ ไว้ในพื้นที่มากขึ้น

แผ่นทางเดินวัสดุเดิมที่เคยมีปรับให้เข้ากับสไตล์ของสวนได้ไม่ยาก โรยหินแกลบรอบแปลงเพื่อให้ดูแลง่าย
ทาร์รากอน อีกหนึ่งสมุนไพรฝรั่งที่นิยมใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหาร ปลูกประดับสวนเพิ่มความสวยงามก็ได้เช่นกัน

“สวนดอกไม้กินได้แห่งนี้เป็นสวนรีโนเวทครับ จะมีของเดิมหลงเหลืออยู่บ้างอย่างพื้นทางเดิน ศาลาในสวน โคมไฟ การออกแบบจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายตรงที่จะใช้ของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ออกแบบอย่างไรให้เข้ากับสไตล์สวน แล้วก็ดูไม่ขัดแย้งกับสไตล์วินเทจ ทรงของที่ดินที่เป็นสี่เหลี่ยมคางหมูจะทำให้มองแล้วสวยทุกมุมได้อย่างไร เป็นที่มาว่าทำไมแปลงดอกไม้แต่ละแปลงจึงมีรูปร่างที่ต่างกัน แต่พุ่งเข้าหาจตุรัสที่เป็นจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นโคมไฟจากสวนเดิมที่มีอยู่ มองจากศาลาก็จะเห็นวิวสวนที่ไล่เฉดสีดอกไม้ วางม้านั่งสีขาวไว้ด้านนอกในร่มให้เป็นมุมนั่งเล่นได้ แต่มองจากมุมหลังบ้านก็จะเห็นภาพรวมของสวนในอีกมุมได้เหมือนกัน”

ขั้นตอนการเตรียมดินในกระบะปลูก ใน สวนดอกไม้กินได้

  1. ใส่ถ่านรองก้นกระบะปลูก เพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำ ความสูงประมาณ 10-15 % ของความสูงของกระบะ
  2. โรยกาบมะพร้าวสับเพื่อใช้สำหรับอุ้มน้ำหรือความชื้น ความสูงประมาณ 15-20 % ของความสูงของ
  3. ใส่ดินปลูกที่มีการปรับสภาพดิน มีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการเติบโตของไม้ดอก ในประมาณที่เหมาะสม โดยความสูงให้ดินต่ำกว่าขอบกระบะปลูกประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อความสวยงาม

หัวใจสำคัญในการทำแปลงดอกไม้กินได้ในสวนนี้คุณอรรถบอกไว้ว่ามี 2 ประเด็นคือระดับความสูงของแปลงปลูกซึ่งเลือกเป็นอิฐก่อและวัสดุปลูกที่ต้องปลอดภัยต่อต้นไม้และมนุษย์ ซึ่งธรรมชาติของไม้ดอกจะมีระบบรากสั้น 20-30 เซนติเมตร แปลงปลูกในสวนนี้จึงมีความสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร และ 40 เซนติเมตร อยู่ในระดับที่สามารถเก็บดอกไม้ได้สะดวก และในบางแปลงรองรับการนั่งได้ด้วยสัดส่วนที่เหมาะกับร่างกาย ส่วนอีกประเด็นคือก่อนปลูกจะรองก้นแปลงด้วยก้อนถ่านเพื่อช่วยระบายน้ำและใส่กาบมะพร้าวสับอีกชั้นเพื่อเก็บความชื้น จากนั้นใส่เครื่องปลูกที่ผ่านการปรับสภาพดินให้เหมาะแก่การปลูกพืช

ดอกไม้กินได้มีอะไรบ้าง

สวนดอกไม้กินได้

ความสวยงามของดอกไม้ในแต่ละแปลงก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการตกแต่งจานขนมหวานแล้ว ในสวนเองก็ต้องดูสดใสน่าเข้าไปใช้งาน การปลูกดอกไม้จึงเป็นคละเฉดสีให้เป็นเลเยอร์ทั้งสีขาวเหลือง ชมพู ม่วง และยังมีใบไม้กินได้อีกหลายชนิดปลูกผสม โดยตามลำดับความสูงต่ำทำให้แต่ละแปลงมีมิติทางสายตา

การไล่ลำดับของพรรณไม้ให้ดูมีมิติได้โดยการเล่นระดับ อย่างแววมยุราอยู่ด้านหน้า ส่วนแวววิเชียรที่สูงกว่าอยู่ด้านหลัง ทั้งยังเป็นการไล่เฉดสีอ่อนไปยังสีเข้มด้วย
ดอกไม้ในสวนที่เด็ดสดๆ มาตกแต่งขนมหวาน
สวนดอกไม้กินได้

ความสวยงามสดใสในสวนดอกไม้อาจจะทำให้หลายๆ คนสนใจอยากปลูกดอกไม้กินได้ไว้ปรุงแต่งเมนูอาหารเองอย่างเช่นสวนแห่งนี้ แต่การเลือกปลูกดอกไม้กินได้ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและศึกษาชนิดของพรรณไม้ให้รอบด้าน เพราะไม่ใช่ดอกไม้ทุกชนิดที่กินได้ และสำหรับบางคนก็เสี่ยงต่อการแพ้เกสรดอกไม้ได้เช่นกัน รวมถึงการดูแลที่ไม้ดอกที่มักมีอายุสั้นจึงต้องเปลี่ยนปลูกอยู่เสมอ ตำแหน่งที่ปลูกต้องมีแสงทั้งวัน การให้ปุ๋ยที่ต้องเน้นปุ๋ยอินทรีย์ปลอดสารเคมีเพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

อยากเลือกไม้ดอกปลูกในสวน หาข้อมูลได้จากหนังสือ รวมพันธุ์ไม้ดอก Flowering Plants

สั่งซื้อออนไลน์

ขอบคุณเจ้าของสวน : พล.ต.ท.สุธีร์ และคุณโสมอุษา เนรกัณฐี
ออกแบบ : คุณอรรถ ประพันธ์วัฒนะ
จัดสวน : Design Item
เรื่อง JOMM YB
ภาพ ศุกภร ศรีสกุล