เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ ต้องผลิตและเก็บอย่างไร

ว่ากันว่า เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ จะมีความแข็งแรง ต้านทานโรคได้ดี ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนัก เพราะเกษตรกรหลายคนได้เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ปลูกเพื่อให้ได้ผลิตที่มีคุณภาพ ได้ผักที่ปลอดภัย ซึ่งหากเลือกทำเกษตรอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้ปลูกก็ควรเป็นเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ด้วย

ในการทำเกษตรอินทรีย์ พันธุ์พืชควรจะต้องเป็นพันธุ์พืชที่หาอาหารเก่ง ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และต้านทานโรค-แมลงได้ มากกว่าพันธุ์พืชปกติทั่วไป เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ จึงต้องมีขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน ใช้งบประมาณสูง อีกทั้งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้หลายด้านมาประกอบกัน แต่หากเกษตรกรจะศึกษาเรียนรู้เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์เองก็ไม่ใช่เรื่องยาก

การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ ไม่แตกต่างจากการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยทั่วไป แต่พื้นที่ผลิตต้องธาตุอาหารที่พืชต้องการในช่วงของการผลิตเมล็ดพันธุ์ มีการควบคุมโรคที่อาจจะติดไปกับเมล็ด การควบคุมแมลงที่จะทำอันตรายกับต้นพืช และต้องเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์ที่สุด โดยมีหลักต้องรู้คือ

เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์

สิ่งที่ต้องรู้ในการผลิต เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์

ลักษณะการผสมเกสรของพืช ต้องรู้ว่าเป็นพืชผสมตัวเองหรือผสมข้าม เช่น พืชตระกูล พริก-มะเขือ พืชตระกูลถั่ว เป็นพืชผสมตัวเอง พืชตระกูลแตง เป็นพืชผสมข้าม เป็นต้น

การออกดอก จะต้องรู้ว่าพืชชนิดนั้น ออกดอกเมื่อไหร่ มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้พืชนั้นออกดอกหรือไม่ออกดอก

การป้องกันไม่ให้สายพันธุ์อื่นๆ มาผสมกับสายพันธุ์ที่ทำการผลิตเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้ โดยการปลูกให้ห่างจากพันธุ์อื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจจะใช้วิธีการปลูกเหลื่อมเวลา เพื่อไม่ให้ออกดอกพร้อมกัน หรือการกางมุ้ง การใช้ถุงครอบ เพื่อป้องกันลมและแมลง

การถอนพันธุ์ปนหรือพันธุ์ที่มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากพันธุ์เดิมออก ซึ่งต้องทำทุกๆ ระยะของการเจริญเติบโต ต้องนำออกจากแปลงโดยวิธีการถอน ซึ่งถ้าใช้วิธีการตัดอาจจะมีการแตกยอดออกมาใหม่ได้อีก

การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ จะต้องเก็บเกี่ยวให้ถูกเวลาและมีวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของเมล็ด มีสิ่งที่ควรคำนึงถึง ได้แก่

  • ช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสม พืชหลายชนิดปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ควรหลีกเลี่ยงที่จะให้ช่วงการเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วงฤดูฝน เพราะนอกจากฝนจะเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวแล้ว ความชื้นยังมีผลต่อคุณภาพเมล็ดและก่อให้เกิดโรคกับเมล็ดได้ง่าย
  • ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเมล็ดที่เหมาะสม คือ ช่วงที่มีปริมาณและคุณภาพเมล็ดดีที่สุด โดย การเก็บที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป หรือช้าเกิน จนเมล็ดร่วงหมด

ลักษณะของเมล็ดพันธุ์ที่ดี

1. ไม่มีสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง กรวด ทราย เศษผัก หรือเมล็ดพืชอื่น

2. ตรงตามพันธุ์ เป็นเมล็ดที่ไม่กลายพันธุ์ เช่น ตระกูลของมันมีผลสีเขียวอมชมพู เมื่อนำมาปลูกผลเป็นสีเขียวอมชมพูตรงตามพันธุ์เดิม

3. ไม่มีโรคและแมลง หากมีโรคหรือแมลงติดมา เมื่อนำไปเพาะกล้าเชื้อโรคในเมล็ดอาจจะแพร่ไปได้

4. มาจากตระกูลที่ดี คือ เมล็ดพันธุ์ที่มาจากตระกูลที่มีผลดกดี ขนาดและรูปร่างดี มีสี มีน้ำหนัก และรสดี

5. มีความสามารถในการงอกสูง สามารถเจริญเติบโตได้ดี

6. ทนทานต่อโรคและแมลง

วิธีทดสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ก่อนซื้อ

1. เอาเมล็ดพันธุ์ผักใส่ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ขันน้ำ หรือจาน แล้วเติมนํ้าลงไป เมล็ดที่เสียจะลอยนํ้า ส่วนเมล็ดที่ดีจะจมน้ำ

2. ใช้กระดาษฟางหรือกระดาษซับตัดให้พอดีกับจาน วางไว้ก้นจาน จากนั้นใส่น้ำพอชุ่มนับเมล็ดใส่ลงไป 100 เมล็ด แล้วเอากระดาษฟางหรือกระดาษซับปิดไว้อีกที ภายในเวลา 1-3 วัน เมล็ดจะงอก ให้สังเกตจำนวนการงอก หากอยู่ในระดับ 70-80% ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ถ้าเมล็ดงอก 80% ขึ้นไป ใช้ได้ดี แต่ถ้าต่ำกว่า 60% ลงมา ไม่ควรจะซื้อหามาปลูก

3. นำทรายใส่ในจานสังกะสีให้เต็มก้นจาน นับเมล็ดผักใส่ลงไป 100 เมล็ด รดน้ำให้พอชุ่ม เอาจานอีกใบครอบไว้ หมั่นรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน ภายใน 3 วัน ให้สังเกตจำนวนเมล็ดที่งอกเหมือนวิธีที่ 2

วิธีรักษา เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์

ขั้นตอนการเก็บรักษ้เมล็ดพันธุ์สำคัญ ต้องมีการลดความชื้นให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปควรลดความชื้นภายในเมล็ดให้เหลือไม่เกิน 10% เก็บในภาชนะที่สะอาดและป้องกันความชื้น ซึ่งควรมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 45-50% อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส โดยสามารถเก็บรักษาเมล็ดไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ แต่ต้องผนึกภาชนะบรรจุให้มิดชิด อย่าให้อากาศผ่านเข้าได้ วิธีนี้จะช่วยให้สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ได้นาน

เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์

ที่มา : คู่มือเกษตรกร รู้ไว้ใช้จริง ชุด ความรู้ในการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช โดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ภาพประกอบ : มนธีรา มนกลาง

เมล็ดพันธุ์ผัก หน้าตาแบบนี้ โตขึ้นเป็นผักชนิดไหนกันนะ??

11 หลักการทำเกษตรอินทรีย์แบบชิดธรรมชาติตามแนวคิด “เพอร์มาคัลเจอร์”

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm