ใคร ๆ อาจมองว่าการ วิธีปลูกมะเขือเทศ อินทรีย์ นั้นยุ่งยาก เพราะมีโรคแมลงรบกวนมากจนทำให้ไม่ได้ผลผลิต แต่ความจริงแล้วเพียงแค่คุณเข้าใจว่ามะเขือเทศต้องการอะไร โดยเฉพาะเมื่อสามารถเตรียมดินปลูกให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ควบคู่กับการป้องกันโรคแอนแทรคโนสที่เป็นปัญหาหลัก เท่านี้ก็จะช่วยให้มะเขือเทศออกผลได้สวยงามดังใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี
สำหรับมือใหม่ที่อยากเรียนรู้ วิธีปลูกมะเขือเทศ ในสวนหลังบ้านเพื่อรับประทานเอง แบบไม่ใช้สารเคมี เรามีเทคนิคดี ๆ จากคุณกัมปนาท เนตรภักดี ผู้เขียนหนังสือ My Little Farm Vol.8 ผักสลัดปลูกง่าย มาฝากกัน
มะเขือเทศที่เลือกปลูก
มะเขือเทศถือเป็นผลไม้หรือผักกินผลที่ได้รับความนิยมบริโภคกันทั่วไป มีหลายพันธุ์ที่นิยมปลูก ทั้งมะเขือเทศสีดา มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศเชอร์รี่ และมะเขือเทศราชินี รวมทั้งมะเขือเทศพันธุ์พื้นบ้านของไทย ซึ่งทุกพันธุ์ต่างมีสารไลโคปีน (Lycopene) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังมีสีสันหลากหลาย รับประทานผลสดได้ทั้งยังนำไปปรุงประกอบในเมนูต่าง ๆ แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและแผลในปาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือทำให้ปวดศีรษะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนได้
สำหรับพันธุ์มะเขือเทศที่คุณกัมปนาทแนะนำในบทความนี้ล้วนเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง ตลาดมีความต้องการทั้งเพื่อบริโภคและนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ได้แก่
- เยลโลว์พลัม (Yellow Plum Tomato) มะเขือเทศผลสีเหลือง ขนาดผลไม่ใหญ่มาก รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสด
- แบล็กเชอร์รี่ (Black Cherry Tomato) มะเขือเทศเชอร์รี่ผลสีน้ำตาลดำ รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสด
- ซานมาร์ซาโน (San Marzano Tomato) มะเขือเทศผลยาวรี เนื้อแน่น รสหวาน นิยมรับประทานสดและใช้ทำซอสมะเขือเทศ
- มะเขือเทศ บิ๊กท้อ มะเขือเทศท้อ ผลค่อนข้างกลมสีส้ม ผิวผลเป็นมัน รสเปรี้ยวอมหวาน นิยมใช้ปรุงอาหาร
- มะเขือเทศ บิ๊กกลม มะเขือเทศผลใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสดและทำอาหาร
เทคนิคปลูกมะเขือเทศแบบไร้สารเคมี
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าต้องการปลูกมะเขือเทศเพื่อนำไปทำอะไร เช่น รับประทานสด แต่งจานอาหาร หรือประกอบอาหาร จากนั้นก็เลือกพันธุ์ปลูกตามวัตถุประสงค์
มะเขือเทศเป็นไม้เลื้อยอายุสั้น ต้องการแสงในการเจริญเติบโตค่อนข้างมาก ถ้าให้ดีพื้นที่ปลูกควรได้รับแสงตลอดวันหรืออย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 75-90 วัน ซึ่งวิธีปลูกที่แนะนำนี้สามารถปรับใช้กับการปลูกมะเขือเทศได้ทุกพันธุ์
วิธีเพาะเมล็ด
วัสดุเพาะเมล็ดใช้ดินร่วนหรือดินที่สามารถหาได้ ร่อนผ่านตะแกรงหรือตะกร้าตาถี่ ขุยมะพร้าวร่อน แกลบดำ และปุ๋ยหมักร่อนหรือปุ๋ยมูลไส้เดือน อย่างละ 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน จากนั้นนำมาใส่ลงในถาดเพาะหรือกระถางขนาเล็ก แล้วเพาะเมล็ดมะเขือเทศลงไป รดน้ำให้ชุ่ม วางถาดเพาะเมล็ดในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นกล้ามีอายุ 7 วัน ให้นำออกไปวางบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มที่และรดด้วยน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพื่อปรับสภาพต้นกล้าให้แข็งแรง เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วันก็ย้ายปลูกลงแปลงหรือลงกระถาง
การปลูกลงแปลง
- เตรียมหลุมปลูกขนาดอย่างน้อย 2 เท่าของขนาดตุ้มดินต้นกล้า รองก้นหลุมด้วยมูลนกกระทาหรือมูลไก่หมักประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม แล้วกลบดินหนา 1 นิ้ว
- ใส่มูลไส้เดือน ขี้เถ้าไม้ฟืน แร่ฟอสเฟต อย่างละ 1 กำมือ และชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงประมาณ 2 ช้อนชา (หรือตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์)
- วางต้นกล้าลงปลูก กลบดินให้มิดตุ้มดิน พร้อมทำค้างเพื่อช่วยพยุงต้น รดน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจนดินแฉะในครั้งแรก แล้วรดน้ำตามปกติในวันถัดไป
- เมื่อต้นมีอายุ 3-4 สัปดาห์จะเริ่มผลิดอกออกผล สามารถทยอยเก็บผลเมื่อเริ่มสุกประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกทั้งผล

การปลูกในกระถาง
เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีที่ดินในการทำแปลงปลูก โดยเฉพาะเมื่อต้องการปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน การปลูกมะเขือเทศแนะนำให้ใช้กระถางปลูกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้วขึ้นไป
- วัสดุปลูกที่ใช้ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก 3 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากับกาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
- เติมวัสดุปลูกลงกระถาง ใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน ขี้เถ้าไม้ฟืน แร่ฟอสเฟต อย่างละ 1 กำมือ และชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงประมาณ 2 ช้อนชา (หรือตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์)
- วางต้นกล้าลงปลูก กลบวัสดุปลูกให้มิดตุ้มดิน พร้อมทำค้างเพื่อช่วยพยุงต้น รดน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจนดินแฉะในครั้งแรก แล้วรดน้ำตามปกติในวันถัดไป
- เมื่อต้นมีอายุ 3-4 สัปดาห์จะเริ่มผลิดอกออกผล สามารถทยอยเก็บผลเมื่อเริ่มสุกประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกทั้งผล
การดูแลอื่นๆ
– การดูแลโดยทั่วไปรดน้ำวันละครั้ง ประมาณ 1 ลิตรต่อต้น
– หากเตรียมดินดีตั้งแต่แรกก็แทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม เพราะมูลสัตว์ปีก เช่น มูลนกกระทา มูลไก่หมัก มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมซึ่งมะเขือเทศต้องการสูง ช่วยให้ออกดอกติดผลและผลมีรสชาติดี
– มะเขือเทศเป็นพืชที่ต้องการธาตุแคลเซียมสูง อาจให้ปุ๋ยทางใบทุก 15 วัน เพื่อเสริมธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เพิ่มความแข็งแรงให้ต้นด้วยก็ยิ่งดี
– หากไม่ทำค้างหรือไม้หลัก อาจใช้เชือกช่วยพยุงต้นก็ได้ (คล้ายการพยุงต้นเมลอน) โดยเริ่มโยงเชือกเมื่อต้นมะเขือเทศสูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือสังเกตว่าต้นเริ่มเอนล้มก็ได้
โรคแมลงศัตรูและการป้องกัน
วิธีป้องกันศัตรูพืชที่ดีที่สุดต้องเริ่มตั้งแต่เตรียมดิน โดยเฉพาะการปลูกกลางแจ้งซึ่งมักมีโรคและแมลงหลบพักอยู่ทั่วไป แม้ว่าการปลูกแต่ละครั้งจะเกิดความเสียหายบ้างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด
คุณกัมปนาทเลือกปลูกมะเขือเทศในแปลงกลางแจ้งช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการปลูกพืชผักนานาชนิด แต่สำหรับผู้ปลูกที่มีโรงเรือนกันฝนสามารถนำเทคนิคการปลูกและดูแลมะเขือเทศไปปรับใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยเน้นใช้สารชีวภัณฑ์ในทุกขั้นตอนการปลูกเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แก่พืช

มะเขือเทศมักพบโรคใบจุด โรคโคนเน่า ผลเน่า และโรคแอนแทรคโนส สามารถใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงที่มีจำหน่ายทั่วไป โรยบริเวณโคนต้นทุก 15 วัน
แมลงศัตรูที่พบมาก ได้แก่ เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และหนอนเจาะผล แนะนำให้ใช้ทั้งเชื้อราเมธาไรเซียม (Metarrhizium anisopliae) เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เชื้อราพาซิโลมัยซิส ไลลาซินัส (Paecilomyces lilacinus) และแบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) ในการป้องกันกำจัด การใช้สารชีวภัณฑ์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เทคนิคการใช้ ช่วงเวลาที่ใช้ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด การเก็บรักษาชีวภัณฑ์ ฯลฯ ทั้งยังมีผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์หลายราย ราคาและคุณภาพก็แตกต่างกัน ก่อนใช้จึงควรศึกษาให้ละเอียด
เรื่อง อังกาบดอย
ภาพ ธนกิตติ์ คำอ่อน, กัมปนาท เนตรภักดี
เทคนิคปลูกมะเขือเทศ ให้อร่อยและออกผลเยอะ
ปลูกผักเหล่านี้ควรเว้นระยะให้ห่างกัน!
รู้ทันโรคพืชและเทคนิคดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ
อัปเดตข่าวสารงานเกษตรทำฟาร์มได้ที่บ้านและสวน Garden&Farm
วิธีปลูกมะเขือเทศ