เยี่ยม บ้านเจ้าชายผัก กับการทำเกษตรแบบไบโอไดนามิก

ระยะทางกว่า 14 ปี ของ บ้านเจ้าชายผัก โดยคุณปริ๊นซ์ นคร ลิมปคุปตถาวร ได้เดินมาไกลจากจุดเริ่มต้น ผ่านบทเรียนที่เกิดขึ้นบนผืนดินข้างบ้าน การทำงานกับธรรมชาติ รู้จักการปลูกพืชตามจังหวะธรรมชาติ หรือ เกษตรชีวพลวัต (bio-dynamic agriculture) ไปจนถึงการปลูกพืชตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งล้วนผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ไตร่ตรอง และทดลองทำเอง

ปัจจุบัน บ้านเจ้าชายผัก ยังคงเปิดห้องเรียนเป็นศูนย์อบรมที่เน้นเรื่องการปลูกพืชที่หลากหลาย ถ่ายทอดเทคนิควิธีการปลูกพืชผักให้งอกงามตามความรู้ที่เขาได้สั่งสมมา ทั้งจากตำรา วิชาเรียน การดูงานทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญคือได้จากประสบการณ์ที่เขาพยายามทดลองทำเอง เน้นให้คนที่มาเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกผักกินเอง ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของคนในครอบครัว ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และพลังชีวิตในอาหารที่ปลอดภัย

บ้านเจ้าชายผัก

มองให้ลึกซึ้ง ทำเกษตรอย่างเข้าใจ แบบ บ้านเจ้าชายผัก

คุณปริ๊นซ์ เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ในเมือง ตั้งแต่เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2552 ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนเริ่มทำโครงการ “สวนผักคนเมือง” ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ต้องการเเผยแพร่การพึงพาตัวเอง สร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน ทำเองในบ้านได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี โดยเขาเองได้ปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ข้างบ้านของเขาด้วย

“ในตอนเริ่มต้นผมเริ่มจากการปลูกผักข้างบ้าน เรากินอะไรก็ปลูกอันนั้น ปลูกในสิ่งที่ชอบ ในยุคนั้นเราต้องขนทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพยามที่จะปรับปรุงพื้นที่ของเรา ดินของเราให้มันดีขึ้น แต่พอทำไปเรื่อยๆ ผมก็พัฒนาวิธีการให้มันซับซ้อนน้อยลง ทำให้มันง่ายขึ้น พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เราพยามเน้นในจุดนี้ ที่สำคัญคือพยามทำให้มันเป็นธรรมชาติมากขึ้น ทำงานกับธรรมชาติให้มากขึ้นครับ

“แต่พอทำไปแล้วผมก็เกิดคำถาม วัชพืชที่โตอยู่ตามธรรมขาติเราจะเห็นว่ามันเติบโตแข็งแรงได้ดีโดยไม่ต้องดูแล ในขณะที่พืชผักที่เราเฝ้าดูแลทำไมมันถึงยังมีโรคมีแมลงมากวน ทั้งๆ ที่เราเองก็ใช้ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติแล้ว แสดงว่าจริงๆ แล้วเราเองก็ไม่รู้ว่าต้นไม้มันชอบอะไร ต้องการอะไรกันแน่ ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปรู้แทนต้นไม้ เอาความคิดเราไปใส่ เอาปุ๋ยไปใส่เพื่ออยากให้เขาโตไวๆ ไปบังคับให้เขาเป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็น”

คุณปริ๊นซ์ทบทวนสิ่งที่ทำ และคิดว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างคลาดเคลื่อนไปจากความตั้งใจของเขา เขาปรับวิธีคิดใหม่ หันกลับมามองธรรมชาติให้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น และใกล้ตัวมากขึ้น บางทีเครื่องไม้เครื่องมือและสิ่งต่างๆ ที่เราพัฒนากันขึ้นมา มันอาจจะไม่ได้ทำให้เราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และออกไปพ้นจากปัญหาที่เจอ ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันข้อมูลการทำปุ๋ย เรามีความรู้มีข้อมูลให้ศึกษาเรียนรู้กันมากมาย แต่เราขาดหลักบางอย่างที่จะเข้าใจมัน ว่าอะไรเป็นธรรมขาติ อะไรที่มันจะดีกับเรา ดีกับโลกด้วย ดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าอะไรคือธรรมชาติที่แท้จริง สิ่งต่างๆ ที่เราทำกันอยู่ เช่น การให้ปุ๋ยต่างๆ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำจริงหรือไม่

บ้านเจ้าชายผัก

ไบโอไดนามิก (Biodynamic) ปลูกพืชตามจังหวะธรรมชาติ ใน บ้านเจ้าชายผัก

“ตอนนี้ผมทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง เราใช้วิชาความรู้ ประสบการณ์ที่เราเรียนรู้จากพื้นที่เล็กๆ ที่บ้านไปทำในพื้นที่ใหญ่ขึ้น ใช้วิธีเดียวกันและมันก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกัน นาผมไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยหมัก ไม่ใช้ปุ๋ยคอก เราใช้ปุ๋ยที่มันงอกจากพื้นดิน เราไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้เขาเติบโตเองตามธรรมชาตินะครับ แต่เราทำงานกับธรรมชาติ

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างที่บ้านที่เราปลูกผัก เราปล่อยให้วัชพืชขึ้นแล้วค่อยตัดกลบฝังในดิน ปล่อยให้ย่อยสลายหมดในดิน กลายเป็นหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นปุ๋ยเป็นดิน แล้วค่อยปลูกพืชผักที่เราอยากปลูก โดยที่เราไม่ต้องใส่ปุ๋ยอื่นๆ เพิ่มอีก แค่รดน้ำพรวนดินก็พอ ปลูกพืชไปสัก 3-4 รอบ ก็หยุดพักปล่อยให้วัชพืชขึ้นแล้วก็ตัดกลบฝังในดินเหมือนเดิม ใช้วัชพืชเป็นปุ๋ย

“เมื่อก่อนเราต้องไปขนฟางจากนอกเมืองมาเก็บไว้ เอามาคลุมดินป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น ต้องไปสู้กับมัน คิดว่ามันไม่ดี อย่างการทำปุ๋ยหมักปัจจุบันผมก็ไม่ต้องทำแล้วแค่ตัดหญ้าแล้วฝังกลบลงดิน พอย่อยสลายหมดในดิน กลายเป็นหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ก็ปลูกพืชได้อย่างแข็งแรง เป็นการทำน้อยแต่ได้มาก สิ่งที่ผมเรียนรู้และทำอยู่ในตอนนี้ เป็นแนวทางที่มาเกือบ 100 ปีแล้วครับเรียกว่า เกษตรชีวพลวัต “

เกษตรชีวพลวัต (bio-dynamic agriculture) เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับจังหวะของชีวิต หรือพลังของชีวิต ส่งเสริมให้ชีวิตดำเนินไปในทิศทางตามจังหวะของธรรมชาติ ไม่ลดทอนหรือแทรกแซงพลังหรือศักยภาพของชีวิต ทั้งดิน พืช สัตว์ ตลอดจนมนุษย์ เป็นการเกษตรที่มุ่งเน้นการทำฟาร์มให้มีชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก ก่อให้เกิดอัตลักษณ์หรือตัวตนของสรรพชีวิต สรรพสิ่งต่างๆ ในฟาร์มขึ้นได้อย่างชัดเจน เช่น รสชาติ สีสัน คุณภาพต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะพื้นที่นั้นๆ ให้เกิดขึ้น

บ้านเจ้าชายผัก

ภูมิปัญญาโบราณที่มีมานานหลายร้อยปี บันทึกเรื่องราวของอารยธรรมเก่าไว้ มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้เกี่ยวกับปลูกพืชตามตำแหน่งดวงดาว ที่เรียกว่า “การปลูกพืชตามปฏิทินจันทรคติ” ไม่แนะนำให้เพาะปลูกหรือกิจกรรมใดๆ ในวันที่ดวงจันทร์โคจรตัดข้ามหน้าดวงอาทิตย์ซึ่งจะไปลบล้างอิทธิพลอันดีของดวงอาทิตย์ หรือส่งผลกระทบที่ไม่ดีลงมายังผืนดินบนโลกในช่วงเวลาที่มีการเพาะปลูกได้ รวมไปถึงวันที่เกิดคราสทั้งหลายด้วย สิ่งเหล่านี้พัฒนามาเป็นปฏิทินการเพาะปลูกตามแนวทางเกษตรชีวพลวัตที่ต่อยอดขึ้นมาจากปฏิทินจันทรคติแบบดั้งเดิมธรรมชาติของพืชอยู่ภายใต้ธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมันเองอีกทีหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติที่แวดล้อมเกิดจากสิ่งที่มีอิทธิพลต่อโลกใบนี้และจักรวาลข้างนอก การที่พืชหยั่งรากลงดินแล้วแผ่กิ่งก้านสู่ท้องฟ้า เกิดจากพลังที่มาจากดวงดาวและจักรวาลครับ

เตรียมดินให้พร้อม พึชผลก็งอกงาม

การทำเกษตรในเมืองต้องเข้าใจชีวิตต้นไม้ ชีวิตของเขาครึ่งหนึ่งก็ต้องอยู่กับดิน ถ้าดินไม่ดีเขาจะสุขภาพดีได้ยังไง

วิธีหมักดินในแบบของคุณปริ๊นซ์ คือ ผสมดินกับขี้วัวในอัตราส่วนเท่าๆ กัน หรืออย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งของดิน หากไม่มีดิน อาจซื้อดินถุงที่มีใบไม้เยอะหน่อย เช่นดินใบก้ามปู ใส่เศษหญ้าสดๆ เศษอาหาร คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้ชุ่มและรักษาความชื้นในดินไว้ให้สม่ำเสมอ ทิ้งไว้สักเดือน สังเกตดูว่าถ้าดินยุ่ยก็คือใช้ได้แล้ว

สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกผัก ก็ค่อยมาเรียนรู้ไปทำไปก็ไม่ใช่ปัญหา ต้องดูแลยังไง รดน้ำแค่ไหน ผักแต่ละอย่างมีวงรอบชีวิตยังไง ขยันพรวนดินสัปดาห์ละครั้งก็จะช่วยให้ไม่ค่อยมีหญ้าขึ้นแล้ว ปลูกผักไปได้สักหกเดือนก็ปล่อยให้หญ้าขึ้น ตัดกลบทิ้งไว้ให้เป็นปุ๋ยเป็นดินต่อไป

บ้านเจ้าชายผัก
บ้านเจ้าชายผัก

“สบายสบายบำบัด” สุขภาพที่ให้ธรรมชาติรักษา

ในช่วงโควิดระบาดที่มีการปิดบ้านปิดเมืองนั้นคุณปริ๊นซ์ก่อตั้งสหกรณ์ในชื่อ “The Living Gift” เพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่มีแนวคิดในทางเดียวกัน รวบรวมผลผลิตจากทั่วประเทศที่มีความหลากหลาย สร้างชุมชนผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เกื้อกูลกัน ทุกวันอังคารลูกค้าจะมารับผลผลิตที่สั่งไว้ที่บ้าน

บ้านเจ้าชายผัก

“ก่อนจะมีสหกรณ์เราก็พอมีผักในบ้านจำหน่ายให้คนที่ต้องการบ้างแต่ก็ไม่มากครับ ผมกับภรรยาก็สนใจเรื่องของการดูแลสุขภาพอยู่แล้วครับ ครอบครัวเราไม่ได้กินยาแผนปัจจุบันกันมา 15 ปีได้แล้วครับ เราไปโรงพยาบาลก็เฉพาะต้องไปทำในสิ่งที่เราทำเองไม่ได้ ไปใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เราไม่มี เราไม่ได้ปฎิเสธหมอนะครับ เพียงแค่เราดูแลลสุขภาพแบบพึ่งพาตัวเองได้ ใช้อาหารธรรมชาติ เราพบว่าการปลูกพืชที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นมันก็ช่วยเรื่องสุขภาพเราด้วย จากนั้นก็มีคนอยากกินแบบเรา กินตามเรา เริ่มจากพวกเพื่อนๆ แล้วก็บอกกันปากต่อปาก

“อาจารย์ของผมทั้งที่เป็นคนไทยและญี่ปุ่นต่างก็มีห้องเรียนลักษณะนี้ ผมเลยเปิดห้องเรียนดูแลสุขภาพขึ้นมา “สบายสบายบำบัด” หลักๆ เลยเราจะพูดเรื่อง “พลังชีวิต” ครับ เมื่อเราเจ็บป่วยแสดงว่าพลังชีวิตเราบกพร่อง เราต้องสังเกตร่างกายเราเพื่อให้รู้ว่าเราเจ็บป่วยได้ยังไง ทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อวัยวะต่างๆ สุขภาพดีก็คือสบาย ถ้าเจ็บป่วยเราก็เรียกว่าไม่สบาย ทิศทางของเราคือกลับไปสู่ความสบายดี ความปกติให้ได้ เริ่มจากปลูกพืชผักไว้กินเอง ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสบาย ของสุขภาพที่ดี แต่ถ้าไม่สบาย เราก็เอาธรรมชาติเข้ามาช่วยรักษาตัวเอาอีกทีครับ”

บ้านเจ้าชายผัก

เกษตรในเมืองสร้างรายได้?

คุณปริ๊นซ์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากพูดกันตามจริงแล้ว การปลูกพืชผักเพื่อจำหน่ายในเมืองคงไม่ใช่หนทางที่ทำให้เราร่ำรวย เราต้องสร้างรายได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การแปรรูป การให้บริการ การเพิ่มมูลค่า อย่างเช่นในปัจจุบันคุณปริ๊นซ์แตกยอดการปลูกผักไปสู่การสอนทำสวน ในชื่อของ Living Garden ที่รับให้คำปรึกษา และรับออกแบบจัดสวนครัวในบ้าน

 “บ้านเจ้าชายผัก” จะเปิดให้เข้าชมเพียงเดือนละครั้ง ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน เข้ามาหาความรู้ ช้อปปิ้งพืชพรรณ ผลผลิตที่เป็นมิตรกับสุขภาพ สินค้าแฮนด์เมด ทานอาหารอร่อยๆ ฟังดนตรีเพราะๆ พาเด็กๆ มาทำกิจกรรม ฟังนิทาน หรือหากสนใจอยากเรียนรู้การปลูกผัก หรือสนใจคอร์สต่างๆ ทั้ง “เกษตรกรรม พลังชีวิต”, “สบายสบายบำบัด”, “การปลูกพืชตามปฏิทินจันทรคติ” อยากมีแปลงปลูกผักที่ทั้งสวยและมีประโยชน์ในสไตล์เจ้าชายผัก หรืออยากเข้าชม เข้าอบรมพิเศษเป็นหมู่คณะ

สนใจเรียนรู้การทำเกษตรติดต่อได้ที่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก Veggie Prince City Farm 9 /711 สตรีวิทยา 2 ซอย 3 ลาดพร้าว 71 กทม. โทร. 09-2956-3994

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สวนป้าผิน สวนดอกไม้ กินได้ กลางกรุงเทพฯ

ชมแปลงผักบนระเบียงห้องนอน ที่ไต้หวัน