ไก่ซิลกี้ และไก่สวยงามอื่นๆ ในโรงเรือนที่เน้นทำง่าย ราคาถูก แต่ดูดี

ความน่ารักของ ไก่ซิลกี้ (Marco Silkie) ที่มีขนฟู ตัวกลม และมีสีสันหลากหลาย อาจทำให้ใครที่พบเห็นหลงเสน่ห์ได้ง่าย ๆ และอยากได้มาเป็นสัตว์เลี้ยงเพิ่มความสวยงามให้แก่สวน แต่รู้หรือไม่ว่าไก่ซิลกี้ยังมีผองเพื่อนผู้น่ารักอีกหลายสายพันธุ์ เหมาะนำมาเลี้ยงเพื่อประดับตกแต่งสวน และสร้างความเพลิดเพลินอย่างสัตว์เลี้ยงทั่วไป

ครั้งนี้เรามีโอกาสได้มาเยือน Chicken Village ฟาร์ม ไก่ซิลกี้ และไก่สวยสวยงามที่มีกว่า 10 สายพันธุ์ในโรงเรือนที่คุณวิวัฒน์ อุตอามาตย์ ลงมือสร้างเอง โดยแต่ละหลังใช้งบประมาณหลักพันบาทเท่านั้น  ซึ่งเขาตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไก่สวยงามในอนาคตอันใกล้ หลังจากที่เขาเลือกอาชีพเลี้ยงไก่เป็นงานประจำมานานกว่า 5 ปี จนมั่นใจในองค์ความรู้ และต้องการส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ ที่สนใจอยากเลี้ยงไก่สวยงามเหล่านี้

ไก่ซิลกี้

ไก่ซิลกี้เลี้ยงอย่างไร ต้องทำโรงเรือนแบบไหน หากอยากเลี้ยงต้องเตรียมตัวอย่างไร เราจะพาไปทำความรู้จักกันอย่างละเอียด พร้อมกับทำความรู้จักไก่สวยงามพันธุ์อื่นไปพร้อม ๆ กัน

แบบเล้าไก่ เล้าไก้ซิลกี้

รู้จัก ไก่ซิลกี้

ซิลกี้ (Marco Silkie) ไก่สวยงาม เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่นิยมเลี้ยงเพื่อกินเนื้อ หรือเก็บไข่ ลักษณะที่สวยงามของไก่สายพันธุ์นี้คือ มีลำตัวที่กลม ขนฟู หางเป็นพุ่ม มองด้านข้างจะเป็นรูปหัวใจ ตามธรรมชาติไก่ซิลกี้มีขน 4 แบบ คือ ขนใบเรียบ ขนใบย้อนกลับ ขนซิลกี้ และขนซิลกี้ย้อนกลับ ส่วนสีมีตั้งแต่สีขาว เทา น้ำตาล ทั้งแบบสีเดียว สีผสม และลายบาร์โค้ด ซึ่งเป็นสีขนแบบใหม่ที่คุณวิวัฒน์ผลิตได้เอง

ไก่ซิลกี้

“ธรรมชาติของซิลกี้ไม่ชอบที่ชื้น อากาศร้อนอยู่ได้ อากาศหนาวอยู่ได้ แต่ระวังอย่าให้สัมผัสกับความชื้น ขนที่เป็นขนไหมจะแห้งช้า และเสี่ยงต่อการเกิดโรค ถ้าเปียกก็จะต้องรีบไดร์ให้แห้ง ปกติผมจะอาบน้ำให้ไก่อยู่เสมอ ทุกสายพันธุ์อาบน้ำได้ แต่ช่วงหน้าฝนไก่จะผลัดขน ขนจะฟูสวยที่สุดในหน้าหนาว ตัวจะกลมเหมือนต่างประเทศ หากอยากเลี้ยงให้สวยเหมือนต่างประเทศคือต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น”

ไก่ซิลกี้

“ช่วงอายุของไก่ซิลกี้ที่เหมาะนำมาเลี้ยงคือ อายุ  1 เดือน ส่วนอายุที่เติบโตเต็มที่พร้อมสำหรับออกไข่และผสมพันธุ์อยู่ที่ 7-8 เดือน ก่อนผสมพันธุ์ตัวเมียจะมีขนปุกปุยสวยงามมาก แต่พอผสมพันธุ์แล้วจะเริ่มเสียฟอร์ม เสียสภาพ เพราะขั้นตอนการผสมพันธุ์ไก่ตัวผู้จะขึ้นจิกตัวเมีย ทำให้หลังไม่มีขน หากไม่ผสมพันธุ์ไก่ ไก่ตัวเมียก็จะออกไข่ปกติ เฉลี่ยวันเว้นวัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของไก่ เพียงแต่ปริมาณจะไม่มากมายเท่ากับไก่พันธุ์ไข่ที่ฟาร์มต่าง ๆ เลี้ยงไว้เพื่อเก็บไข่”

ไก่ซิลกี้ เล้าไก้ซิลกี้

เล้าไก่ต้อง สวย ถูก และดี 

เล้าไก่ที่นี่มีทั้งแบบหลังคาจั่ว และหลังคาเพิงหมาแหงน ต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 2,200 และ 3,500 บาท ที่ราคาถูกเช่นนี้เพราะคุณวิวัฒน์ทำเอง ใช้ของเก่าบ้างใหม่บ้าง เซฟให้ต้นทุนต่ำที่สุด พยายามทำให้สวย ราคาถูก และดูดี โดยก่อบล็อกคอนกรีตให้สูง 2 ชั้น ทำพื้นข้างล่างเป็นพื้นปูน แล้วนำทรายท็อปรองพื้นสำหรับให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ย ติดลวดกรงไก่โดยรอบ ด้านบนมุงด้วยหลังคากระเบื้องคอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้

คุณวิวัฒน์แนะนำว่า หากเลี้ยงไก่ซิลกี้ในเล้าเดียวกัน ควรให้ไก่ตัวผู้มีจำนวนน้อยกว่าตัวเมีย สัดส่วน 1 ต่อ 4 คือไก่ตัวผู้ 1 ตัว ต่อไก่ตัวเมีย 4 ตัว หากอยู่ในสัดส่วนที่เท่ากัน 1:1 ไก่จะผสมพันธุ์กันทั้งวัน และควรคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสม หากจะผสมพันธุ์ไก่ อย่าเลือกให้ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เพราะอาจจะเหยียบตัวเมียตายได้ แต่หากเลี้ยงเพียงตัวเมียเพื่อความเพลิดเพลินและออกไข่ ก็ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงตัวผู้ควบคู่กัน

ไก่ซิลกี้ แบบเล้าไก่ เล้าไก้ซิลกี้

ความสะอาดช่วยปลอดกลิ่น ปลอดโรค 

ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงไก่คือ โรคระบาด ซึ่งจะมาในทุกช่วงของปี โดยเฉพาะฤดูฝน ซึ่งจะมีทั้งโรคหลอดลม หวัด อหิวาตกโรคในไก่  ส่วนช่วงหน้าร้อนอาจเกิดโรคไข่หวัดนกระบาดเป็นระลอก โดยช่วงที่เจอโรคระบาดจำเป็นต้องต้อนไก่เข้ากรงให้หมด แล้วกางมุง เปิดเฉพาะตอนทำความสะอาดเท่านั้น โดยปัจจัยเรื่องความสะอาดในโรงเรือนนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างดี

“เล้าไก่ที่นี่จะใช้ทรายรองพื้น หากทรายเสื่อมสภาพจะเก็บทรายออก แล้วพ้นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง การใช้ทรายจะดูแลง่ายกว่าแกลบ แถมยังไม่ต้องเจอกับปัญหาไรเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในแกลบ เวลาพ่นยาฆ่าไร ไรจะไปซ่อนอยู่ด้านล่างทำให้กำจัดได้ยาก แต่ถ้าหันมาใช้ทรายจะไม่เจอปัญหานี้

“พอทรายหมดสภาพควรเปลี่ยนใหม่ ระยะเวลาการใช้งานอยู่ที่จำนวนไก่ว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าไก่มากกว่าก็จะหมดสภาพเร็ว หากมีทั้งมูลไก่ และเศษอาหารรวมอยู่เยอะ จะต้องเก็บกวาดออกบ่อย ๆ หรืออาจจะล้างก็ได้ ถ้าไม่ล้างก็กวาดออกได้หมด แล้วก็ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันโรค H2N1 ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เวลาพ่นควรพ่นในเล้าให้ทั่ว เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละครั้ง เศษทรายจะนำไปทิ้งที่หลุมแล้วกลมดิน เป็นการถมที่ไปในตัว ก่อนกลบจะต้องราดน้ำยาฆ่าเชื้ออีกทีหนึ่ง ทรายจากเล้าไก่จะไม่ถูกนำไปใช้ซ้ำ ต้องทิ้งทันที เพราะมีเชื้อโรค ถ้าไม่ราดน้ำยาฆ่าเชื้อก็ให้ใช้ปูนขาวแทนได้ แต่ถ้าเป็นน้ำยาจะซึมดีกว่า”

ไก่ซิลกี้ แบบเล้าไก่ เล้าไก้ซิลกี้

งู ศัตรูไก่ ป้องกันได้

งู คือศัตรูคู่อาฆาตของไก่ โดยเฉพาะบริเวณที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาเช่นนี้ คุณวิวัฒน์ เลือกป้องกันโดยราดน้ำยากันงู ตะขาบ แมงป่อง รอบ ๆ สวน สัตว์พวกนี้พอได้กลิ่นน้ำยาจะไม่เข้ามาใกล้ หากมีเข้ามาก็จะเจอบล็อกคอนกรีตกั้นไว้ งูจะมองไม่เห็น ก็จะเลื้อยหนีไป อีกอย่างคือควรเลือกตะแกรงกรงไก่ที่มีตาถี่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้งูเลื้อยเข้ามาได้

ไก่ซิลกี้

ก่อนเลี้ยงซิลกี้ต้องรู้ใจซิลกี้

คุณวิวัฒน์แนะนำเพิ่มเติมว่า “อาหารสำหรับไก่ซิลกี้ควรเป็นอาหารสำเร็จรูป สำหรับไก่เนื้อแรกเกิด มีโปรตีนสูงเพราะเขาต้องใช้โปรตีนไปสร้างขน สร้างรูปทรง ควรให้วิตามินและแคลเซียมแยกเฉพาะสลับกันไป เมื่อซื้อไปแล้วควรให้อยู่ในกรงก่อนสัก 3 เดือน แล้วค่อยปล่อยลงพื้น บางคนซื้อไปอายุ 1 เดือน ก็ปล่อยลงสนามหญ้าเลยแบบนั้นไม่ดี จะเป็นผลเสียต่อไก่ เพราะภูมิคุ้มกันในไก่ยังแข็งแรงไม่มากพอ ควรอนุบาลในกรงไปก่อน การอาบน้ำก็เช่นกัน ควรให้ไก่มีอายุ 3-4 เดือน ก่อนจึงค่อยอาบ และควรเลี้ยงในที่แห้ง อย่าให้ลมโกรก หากโตแล้วค่อยให้สัมผัสกับลมโกรกได้ ระวังอย่าให้เล้าอบและร้อน ไม่เช่นนั้นไก่จะตายได้

“หากเลี้ยงซิลกี้ 1 ตัว เขาจะติดเรา ยิ่งให้อาหารจากมือบ่อย ๆ เขาจะเชื่อง เห็นเราจะวิ่งมาหา เรียกก็วิ่งมา พวกนี้จะเป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นฝูง เมื่อไม่มีฝูงเขาจะเห็นเราเป็นจ่าฝูง แต่หากมีฝูงเขาจะไปอยู่ในฝูงของเขา แต่จะเลี้ยงซิลกี้ตัวเดียว หรือเลี้ยงหลายตัวก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้เลี้ยง”

นอกจากซิลกี้ ยังมีไก่อื่นๆ ที่น่าเลี้ยงด้วย

แม้ว่าไก่ซิลกี้จะได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ที่ Chicken Village ยังมีไก่สายพันธุ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ มีขนสวยงามน่ามอง หากจะเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินก็ทำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

ไก่โปแลนด์

ไก่โปแลนด์ (Polish Chicken) อีกหนึ่งไก่สวยงามที่มีขนปุกปุยฟูเหมือนไม้ปัดขนไก่

ก่บาร์พลีมัทร็อค

ไก่บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock) ไก่สวยงามที่ออกไข่ดก มีไข่ให้เก็บอยู่เรื่อย ๆ

ไก่บราห์ม่า

ไก่บราห์ม่า (Brahma) สายพันธุ์ตุรกี เป็นไก่ลำตัวขนาดใหญ่ และมีขนที่เท้า เพื่อป้องกันความหนาวเย็นตามสภาพอากาศของถิ่นกำเนิด พอมาอยู่เมืองไทยขนาดจะเล็กลงเพราะอากาศร้อน

ไก่โอนากาโดริ

ไก่โอนากาโดริ (Onagadori) ไก่หางยาวของญี่ปุ่น ควรเลี้ยงให้อยู่แค่กรงละ 1 ตัว ขนาดตัวจะโตมาก และควรมีคอนไก่ให้ยืนทิ้งหาง หางของเขาจะยาวเลื้อยเป็นสง่า หากเลี้ยงที่พื้นหางจะหลุดไม่สวยงาม

ไก่เวียนดอตต์

ไก่เวียนดอตต์ (Wyandotte) ราชินีไก่ไข่ สายพันธุ์จากอังกฤษ

ไก่มินิโคชิน

ไก่มินิโคชิน (Mini Cochin) ไก่ขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม

แม้ว่า Chicken Village จะยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่คุณวิวัฒน์ก็ยินดีพูดคุยให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงไก่ และจำหน่ายพันธุ์ไก่สวยงามหลายชนิด สำหรับผู้สนใจได้นำไปเลี้ยงที่บ้าน หรือที่สวน เพื่อความเพลิดเพลิน เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ  แถมยังเก็บไข่มารับประทานได้ด้วย

เรื่อง JOMM YB

ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

จะเลี้ยงไก่ทั้งที อย่าลืมสร้างเล้าไก่ดีๆ ให้ไก่ออกไข่ด้วย

ความจริงจังหลังโควิด-19 เมื่อสถาปนิกเริ่มเลี้ยงไก่กว่า 100 ตัว

อัพเดทเรื่องราวดีๆได้ที่เฟซบุ๊คบ้านและสวน