ห่มดิน-แห้งชาม-น้ำชาม หลักการเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช พืชเลี้ยงเรา

วิธี “เลี้ยงดิน” ( คลุมดิน ) ตามคำสอนของ อาจารย์ยักษ์คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่กล่าวไว้ว่า “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ต่อด้วยให้พืชเลี้ยงเรา” ซึ่งเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติล้วนคุ้นเคยกับวิธีนี้เป็นอย่างดี

โดยธรรมชาติพืชจะรับสารอาหารผ่านทางราก ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใต้ดิน หากเรารักษาความอุดมสมบูรณ์ของสารอาหารพืชที่อยู่ใต้ดิน ด้วยการ คลุมดิน ห่มดิน เลี้ยงดิน ได้ สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้นานาพันธุ์ก็จะมีแหล่งอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืนได้ หลักการคลุมดิน ห่มดิน-แห้งชาม-น้ำชาม สามารถทำตามได้และเหมาะสำหรับปลูกพืชทุกชนิด

ก่อน คลุมดิน เลี้ยงดิน ต้องรู้จักดินกันก่อน

ดิน เป็นทรัพยากรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมาก เพราะมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินเพื่อการดำรงชีพ ครอบคลุมปัจจัยทั้ง 4 ไม่ว่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งสร้างอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค มากไปกว่านั้นยังสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านการสร้างแหล่งอาหารของมนุษย์ผ่านการทำเกษตรกรรม

เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายดิน ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อดิน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดิน นั้นเป็นหัวใจสำคัญที่จะรักษาดินเอาไว้ได้ เพื่อประโยชน์ที่หลากหลายข้างต้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า ห่มดิน หรือ คลุมดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการปรับปรุง รักษา ดินให้อุดมสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

คลุมดิน

องค์ประกอบดินดี

ความอุดมสมบูรณ์ในดินต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างนั้น และองค์ประกอบนั้นทำหน้าที่อย่างไรบ้าง และมีตัวช่วยอะไรบ้างที่ช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เรามาเริ่มที่องค์ประกอบและหน้าที่ขององค์ประกอบนั้นๆของดินที่เอื้อต่อความอุดมสมบูรณ์กันก่อน ดินจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน คือ

อากาศ 25% ช่วยให้ดินมีลักษณะโปร่งหรือมีรูพรุน ทำให้การระบายอากาศได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการสร้างพลังงาน การเจริญเติบโต และการหายใจของสิ่งมีชีวิตภายในดิน

น้ำ 25% ช่วยละลายแร่ธาตุต่าง ๆ ภายในดินและช่วยลำเลียงสารอาหารจากรากไปสู่เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของพืช และทำหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายใน ให้ดินอยู่ในสภาวะสมดุล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเจริญเติบโตของพืช

อนินทรีย์สาร 45% เป็นส่วนประกอบของแร่ธาตุต่าง ๆ ภายในดิน ที่เกิดจากการผุพังหรือการสึกกร่อนทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพของหิน

อินทรีย์สาร 5%  เป็นส่วนประกอบที่เกิดจากการเน่าเปื่อยหรือการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกัน หรือ “ฮิวมัส” (Humus) รวมถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือน แมลง จุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในดิน องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าใจลักษณะของเนื้อดิน (Soil Texture) รวมถึงคุณสมบัติในการเป็นแหล่งกำเนิดของธาตุอาหารต่าง ๆ ของพืชในแต่ละพื้นที่ได้

จากปัจจัยข้างต้นแล้ว เรายังมีตัวช่วยที่สามารถรักษาหน้าดิน ฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ ปรับปรุงดินหรืออนุรักษ์ผิวดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ รักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน ด้วยการห่มดินหรือคลุมดินที่เราใช้หลักการ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” เป็นวิถีกสิกรรมธรรมชาติมาแต่โบราณ เป็นการทำให้ดินสมบูรณ์ เพื่อให้พืชสามารถดึงสารอาหารในดินไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืชได้เจริญเติบโตต่อ ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศที่เลียนแบบธรรมชาติมาประยุกต์ใช้

คลุมดิน เลี้ยงดิน

ขั้นตอนการห่มดิน คลุมดิน ทำอย่างไร

การเลียนแบบธรรมชาติด้วยการสร้างให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ หรือการ ห่มดิน คลุมดิน ทำได้โดยการนำวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น ฟาง ต้นกก เปลือกข้าวโพด ใบหญ้า เศษใบไม้ มาคลุมหน้าดิน ประโยชน์เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินและช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุ เพิ่มอาหารให้จุลินทรีย์ในดิน

ส่วน “แห้งชาม น้ำชาม ” เป็นการใช้ปุ๋ยหมักแห้ง (แห้งชาม) โรยให้ทั่วบริเวณที่ห่มดิน แล้วรดด้วยปุ๋ยหมักน้ำหรือน้ำหมักสมุนไพรรสจืด (น้ำชาม) ซึ่งเป็นน้ำหมักที่ใช้หน่อกล้วย หรือผักบุ้งมาหมัก เพื่อช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายและเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน

โดยธรรมชาติของต้นไม้ส่วนมาก จะแตกรากอ่อนก่อนแล้วตั้งไปขึ้นเป็นพุ่ม เมื่อเข้าฤดูฝนก็แตกใบอ่อนและกิ่งก้าน เมื่อเข้าฤดูหนาวก็สลัดใบออกตกลงมาห่มดิน รักษาความอบอุ่นในดินพร้อมทั้งกักเก็บความชื้น ดินจึงไม่แห้งแม้มีลมหนาว น้ำที่ระเหยจากดินจะมาติดอยู่ใต้ใบไม้ที่ห่มดินไว้ เกิดเป็นความชื้นและราขาวช่วยย่อยสลายใบไม้เหล่านั้น กลายเป็นอาหารให้รากต้นไม้ได้ดูดซึม ซึ่งจะทำให้ดินทุกสภาพและแต่ละพื้นที่สามารถกลับมามีชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

คลุมดิน เลี้ยงดิน

วิธีการห่มดิน

เริ่มด้วยการห่มดินด้วยฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ รอบโคนต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้น โดยเว้นให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ ห่มให้หนา 1 คืบ หรือประมาณ 1 ฟุต ทำเป็นวงเหมือนโดนัท แนะนำควรห่มดินในช่วงเวลาที่ดินยังมีความชื้นสะสมอยู่ในปริมาณหนึ่ง เสร็จแล้วตามด้วยโรยปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) ในอัตรา 1 ต้น ใส่ 1-3 กก.(แล้วแต่ต้นเล็กใหญ่)  ห่างจากโคนต้นไม้ 1 ฟุตเสมอ หรือรอบทรงพุ่ม หลังจากนั้นให้รดน้ำหมักชีวภาพรสจืดผสมกับน้ำให้เจือจาง ในอัตรา 1:200 (น้ำหมัก 1 ส่วน กับ น้ำเปล่า 200 ส่วน) ซึ่งเป็นการเติมจุลินทรีย์ให้ดิน ทั้งนี้อัตราส่วนที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน

ห่มดินในที่ดินผืนใหม่ที่เพิ่งขุดปรับพื้นที่ หรือดินที่เสื่อมสภาพ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินก่อนเริ่มการเพาะปลูก วิธีการคือ ห่มฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ ให้หนาอย่างน้อย 1 ฟุต ทั้งแปลง โรยด้วยปุ๋ยคอก แล้วราดรดด้วยน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำเข้มข้น อัตราส่วน 1 : 10 ซึ่งจะทำให้ดินที่แห้งแข็งกลับมามีความชุ่มชื้นได้ใหม่ (ฟางห่มคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำในดิน ปุ๋ยคอกที่ใส่เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ น้ำหมักทำหน้าที่ย่อยสลายทั้งปุ๋ยและฟาง ให้กลายเป็นอินทรียวัตถุได้เร็วขึ้น) ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ควรปลูกพืชใด ๆ เพราะน้ำหมักที่เข้มข้นอาจทำให้ต้นไม้ตายได้

ผลดีที่ได้ ประโยชน์มากมาย

ประโยชน์ของการห่มดินหรือคลุมดินมีมากมาย ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ต่างๆ เป็นอาหารของสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ เป็นต้น ซึ่งสัตว์จำพวกนี้ช่วยพรวนดินให้ดินร่วนซุย และมูลของสัตว์ดังกล่าวนั้นสามารถเป็นปุ๋ยให้พืชได้อีกตามลำดับ สามารถช่วยรักษาความชื้นของดิน เมื่อวัสดุธรรมชาติคลุมดินต่างๆ ย่อยสลายจะกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นปุ๋ยให้กับพืช ส่วนประโยชน์ของจุลินทรีย์นั้น จะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนอยู่ถึง 78% ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ช่วยย่อยแร่ธาตุที่อยู่ในหิน ลูกรัง ทราย เช่น ธาตุอาหาร กลุ่ม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ฟอสฟอรัส เป็นต้น ช่วยผลิตฮอร์โมนให้พืช และช่วยผลิตสารป้องกันโรคพืช

คลุมดิน

โดยปกติการห่มดินหรือ คลุมดิน นั้นเป็นวิธีการปรับปรุงดิน รักษาหน้าดินให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ในทุกๆ พื้นที่ได้ หรือทุกๆ ประเภทดิน เพียงแต่ระยะเวลาในการหมักจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพของดิน

เรื่องและภาพประกอบ : ลิตานาวา

จุลินทรีย์ในดินสำคัญอย่างไร

หลักการออกแบบ โคก หนอง นา ใจความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm