หลักการออกแบบ โคก หนอง นา ใจความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ถอดบทเรียนผ่านการลงมือทำ โคก หนอง นา ของอดีตคนเมืองพนักงานออฟฟิศ สู่การเป็นเกษตรกรเข้าปีที่ 5 การออกแบบพื้นที่ชีวิต พื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นโคกหนองนาตามสายตาของสถาปนิกที่โรงนาเอิญโฉมเกษตรอินทรีย์ จังหวัดสุรินทร์

โรงนาเอิญโฉมเกษตรอินทรีย์ เน้นทำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 จากการเรียนรู้ตลอดกระบวนการ ทำให้เข้าใจว่า โคก หนอง นา ที่เคยได้ยินตามสื่อต่างๆ นั้น ชื่อเหมือนกันแต่คิดและทำไม่เหมือนกัน

เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณแบบไม่เข้าใจ และเกิดความล้มเหลวไม่ได้ตามคาดหวัง สิ่งที่ต้องตระหนักตั้งแต่แรก หัวใจที่สำคัญมากที่สุดที่ไม่ควรมองข้าม คือ “การตั้งโจทย์ ศึกษาวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน” ยกตัวอย่างเช่น ทำเพื่อการพึ่งพาตนเอง สร้างแหล่งอาหาร และเก็บกักน้ำ สร้างรายได้ ปลดหนี้ รักษาภูมิปัญญา ป้องกันภัยพิบัติ หรือศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น หลังจากนั้น สำรวจศักยภาพของที่ดินทั้งด้านภูมิศาสตร์และภูมิสังคม และศักยภาพของตนเอง ศึกษาเรื่องการจัดสรรพื้นที่ พร้อมทั้งการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ

เมื่อความสัมพันธ์ของพืช คน สัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพมีความเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว จากนั้นให้ศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ในกระบวนการออกแบบวางแผนผัง

โคก หนอง นา

1.สำรวจพื้นที่ตามหลักภูมิศาสตร์และภูมิสังคม ก่อนอื่นเราต้องรู้ศักยภาพพื้นที่แปลงของเราให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ทิศต่างๆ เหนือ ใต้ ออก ตก ความสูงต่ำของพื้นที่ จุดไหนสูงต่ำ จุดลุ่มน้ำ ความลาดชันของพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งสำคัญต่อ “การบริหารจัดการน้ำ” ทั้งน้ำใช้และน้ำเสียภายในแปลง

ดิน รู้ชนิดของดินและคุณภาพดินในปัจจุบัน ว่ามีความสมบูรณ์มากแค่ไหน เพื่อวางแผนการบำรุงดินให้เหมาะกับการปลูกพืช ต้นไม้ต่างๆ 

น้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ เพื่อทำระบบกักดินดีและกักน้ำในพื้นที่ พร้อมลดการชะล้างพังทลายของดิน อีกทั้งเราต้องรู้พฤติกรรมทิศทางน้ำไหลผ่านที่ดินข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ไปรบกวนหรือสร้างความเสียหายต่อที่ดินข้างเคียง รวมทั้งคุณภาพของน้ำ แหล่งน้ำมาจากส่วนใดบ้าง และหากแปลงที่ดินของเราไม่มีการชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝน เราต้องรู้ปริมาณน้ำต่อปี (กี่ลูกบาศก์เมตร) โดยหาข้อมูลได้จาก Application ที่น่าเชื่อถือ เช่น Ricult , คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (thaiwater.net) เป็นต้น การจัดการน้ำในพื้นที่ให้พอตลอดทั้งปี เราจะเก็บน้ำได้ทั้งบนโคก ในหนอง และในนา ซึ่งมีสูตรคำนวนความสามารถในการเก็บน้ำของแต่ละพื้นที่นั้นๆ ได้

ลม ทิศทางการพัดผ่านของลม และชนิดของลมมีผลต่อการจัดวางตำแหน่งโครงหลัก และโครงย่อย ที่ต้องจัดวางให้คล้อยตามธรรมชาติ เช่น พื้นที่นา ปกติเราวางรับลมฝน ลมฝนจะมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 

ไฟ สุดท้ายคือเรื่องแสงแดด ทิศทางของแสงแดดที่มีผลต่อพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยแสงอาทิตย์อ้อมใต้นานถึง 8 เดือน

โคก หนอง นา

2. สำรวจความต้องการ ความถนัดและความชอบของคนในพื้นที่ ปริมาณความต้องการอาหารและการใช้งานพื้นที่ (ที่อยู่อาศัย เพาะปลูก สัตว์เลี้ยง และทางสัญจร) ขอเน้นการวางทางสัญจรที่ต้องเชื่อมกิจกรรมแต่ละกิจกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อดูแลบำรุงรักษา จัดการเพื่อดูแลบำรุงรักษาพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง หรือช่วงฤดูเก็บเกี่ยวต้องเข้าไปถึงพื้นที่ ซึ่งอย่างน้อยควรมีขนาดความกว้างให้รถเข็นขนย้ายได้สะดวก แปลงที่ทำนาอินทรีย์จะใช้วิธีไถกลบ งดเผาฟางและตอซังพืช พื้นที่กิจกรรมนั้นต้องมีทางสัญจร ทางเข้าถึงได้กว้างอย่างน้อย 2 เมตร หรืออย่างน้อยให้รถไถเดินตามเข้าออกได้สะดวก

3.ลดต้นทุนการผลิต ด้วยการวางแผนผลิตปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย (ทั้งแห้งและน้ำ) ข้อนี้สำคัญมาก ผู้เขียนผลิตอาหารดินเอง ผ่านกระบวนการหมักทั้งสูตรน้ำและสูตรแห้ง เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และ“เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช”

4.ระบบจัดการน้ำด้วยธรรมชาติเพื่อลดการใช้ท่อนาโนพลาสติก โดยใช้การทำร่องน้ำ ทำเหมืองฝายเล็กๆ เสมือนรากฝอย ส่งน้ำและอาหารให้ดินและพืช รวมถึงเป็นการกระจายความชื้นให้พื้นที่ได้ด้วย

5.จัดสมดุลธรรมชาติ ที่ดูแลรักษาง่าย ใช้เวลาน้อยสอดรับกับพฤติกรรมของเราทำให้เราบริหารจัดการได้ ควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง

ข้อมูลทั้งหมดใช้ในกระบวนการออกแบบผังบริเวณของแปลง เพื่อจัดวางกลุ่มกิจกรรมให้เกิดเป็น โครงหลักของพื้นที่โคก พื้นที่หนอง และพื้นที่นา พร้อมกับการบริหารจัดการน้ำที่สัมพันธ์กับโครงย่อย

โคก หนอง นา

พื้นที่โคกหรือตำแหน่งพื้นที่สูงที่สุดของแปลง ให้เป็นพื้นที่ส่วนของอาคารถาวร เช่น บ้านพักอาศัย บ้านเป็ด บ้านไก่ บ้านแนะนำให้หันด้านแคบอยู่ในแกนตะวันออกและตะวันตก เน้นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บน้ำมากขึ้น ยิ่งโคกสูงยิ่งกระจายน้ำได้มากขึ้น โคกสามารถดูดซับน้ำ 30-80% สลับกับผักสวนครัว ผลไม้กินได้ ที่สำคัญต้องง่ายต่อการจัดการ

พื้นที่หนอง โดยปกติสามารถเก็บกักน้ำได้คำนวนที่ความลึกที่อย่างน้อย 5 เมตร หักพื้นที่ตะพักของบ่อ 30% ด้วย ทั้งนี้เราสามารถขุดหนองเล็กๆ ก่อนได้ตามความจำเป็น โดยให้อยู่ในพื้นที่ลุ่มหรือต่ำ

พื้นที่นา ก็สามารถเก็บน้ำได้ โดยการทำคันนาทองคำ สูง 1 เมตร เราสามารถทำการขุดดินเพื่อทำคันนาทองคำภายในพื้นที่

หลังจากนั้น ไม่ควรละเลยที่จะดูแลแปลงเกษตรให้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการห่มฟาง คลุมดินหนาประมาณฝ่ามือแนวนอนเพื่อรักษาความชื้นให้ดิน และหมั่นรดน้ำหมัก อาหารดินและพืชรสชาติต่างๆ สุดท้ายเรื่องการปลูกดอกไม้ล่อแมลง เพื่อให้ระบบนิเวศน์ดูแลกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ มีความสำคัญมากๆ เช่นกัน

โคก หนอง นา
โคก หนอง นา

โรงนาเอิญโฉมเกษตรอินทรีย์เป็นการออกแบบ “Work life Harmony” พื้นที่แห่งชีวิต ทำงานได้ ดูแลครอบครัวได้ ดูแลธรรมชาติได้ เป็นพื้นที่ที่เดียวกัน ลดผลกระทบและสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จนกลายเป็น Learning space สร้างพื้นที่เรียนรู้ทั้งสำหรับตนเอง เปิดให้เครือข่ายได้เรียนรู้จากสถานที่จริงได้อีกด้วย

GURU รับเชิญ : คุณอุ๊ อุราวัลย์ รุกขไชยศิริกุล

จบการศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และปริญญาโท ใบที่ 2 คณะ Business Design ที่ Domus Academy Milan, Italy.

ปัจจุบัน ทำอาชีพเกษตรกร สถาปนิก พนักงานบริษัท ศิษย์เก่าโครงการพึ่งตนเพื่อชาติรุ่น 14 (เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ) และ Smart New Gen เครือข่าย สวทช.และธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

วิธีแยกเพศมะละกอ และช่วงเวลาเก็บผลที่ทานอร่อย

ออกแบบพื้นที่ทำเกษตรในแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”

มาสวมบท “หมอพืช” ตรวจสุขภาพผักและทำความรู้จัก“โรคพืช”