เรียนรู้วิธีเพาะเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่นมาตรฐานออร์แกนิก เพื่อส่งออกต่างประเทศ

ปัญหาที่ต้องเจอในการปลูกเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่น

สมัยก่อนไม่สามารถปลูกสาหร่ายพวงองุ่นได้ทั้งปี จะมีปัญหาช่วงหน้าฝน (กันยายน-พฤศจิกายน) กับหน้าร้อน (เมษายน-พฤษภาคม) ที่ฟาร์มแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มปริมาณบ่อเลี้ยงและเพิ่มกำลังการผลิตทดแทนในกรณีที่บ่อใดบ่อหนึ่งเสียหาย หรือตายทั้งบ่อ ก็ยังมีผลผลิตจากบ่ออื่นมาช่วย นอกจากนี้ยังทดลองใช้สแลนพรางแสงช่วยในช่วงฤดูร้อน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงศึกษาหาข้อมูลอยู่

ที่เห็นเป็นก้อนกลมคล้ายตะไคร่น้ำเป็นสาหร่ายอีกชนิดเรียกว่า “สาหร่ายเส้น” หรือ “สาหร่ายคีโตมอร์ฟา” ที่อาจจะติดมากับต้นพันธุ์ หรือติดมากับน้ำทะเลที่สูบเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นศัตรู เพราะโตเร็ว บังแสง กินอาหารเก่ง แย่งอาหารสาหร่ายพวงองุ่น ศัตรูอีกตัวคือ “สาหร่ายไส้ไก่” ให้กำจัดโดยการเก็บทิ้งด้วยมือ

ประโยชน์ สาหร่ายพวงองุ่น

สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่นิยมกินสด มีรสชาติดี แถมยังราคาค่อนข้างสูง ถูกจัดว่าเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีเพราะเต็มไปด้วยสารอาหาร อุดมด้วยเกลือแร่และวิตามินหลายชนิด ทั้งวิตามิน A, B1, B2, C, E และมีเบต้าแคโรทีน มีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ถึง 40% ของกรดอะมิโนรวม ซึ่งใกล้เคียงกับในไข่และโปรตีนจากถั่วเหลือง

นับว่าเป็น 1 ใน 5 อาหารแนะนำ สำหรับผู้ที่ไปเยือนเมืองโอกินาว่า เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดข้างต้นจึงทำให้สาหร่ายพวงองุ่นถูกเรียกขานว่าเป็น longevity seaweeds กันเลยทีเดียว 

ขั้นตอนการรับประทานและการเก็บรักษา

  1. ห้ามนำสาหร่ายแช่เย็นเด็ดขาด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 25-30°C จะสามารถเก็บไว้ได้ 5-7 วัน (ขึ้นกับสภาพอากาศ ถ้าร้อนมากอาจจะคายน้ำและตายเร็วกว่าปกติ)
  2. ควรนำออกมาเท่าที่จะรับประทานเท่านั้น สาหร่ายที่เหลือควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด
  3. ควรล้างน้ำสะอาดอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เนื่องจากเป็นสาหร่ายน้ำเค็ม ทุกขั้นตอนเลี้ยงในน้ำทะเลซึ่งจะมีรสเค็ม และนำมาจุ่มน้ำเย็นเพื่อความกรอบ
  4. ไม่ควรราดน้ำจิ้มทิ้งไว้บนสาหร่าย เพราะอาจทำให้สาหร่ายไม่กรอบและสด
  5. ถ้ามีลักษณะฝ่อไม่มีน้ำ ยังสามารถรับประทานได้ แต่ถ้าเริ่มมีกลิ่นเหม็นคล้ายผักเน่านั่นแสดงว่าเสียแล้ว

ปัจจุบันทางฟาร์มมีการแปรรูปให้อยู่ในลักษณะดีไฮเดรต เป็นการทำให้แห้งโดยที่คุณค่าอาหารทุกอย่างยังคงอยู่ครบ ส่วนหนึ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในช่วงฤดูฝนที่ไม่มีสาหร่ายสดจำหน่าย โดยจะผลิตไว้ก่อนช่วงฤดูฝน และเพื่อแก้ปัญหาจากการขนส่งระยะไกลในการส่งออก โดยสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 1 ปี

สาหร่ายดีไฮเดรต 1 ซอง มีน้ำหนัก 100 กรัม ราคา 120 บาท นำไปแช่น้ำแล้วจะพองกลับมา 3.5 เท่า ในการผลิตแบบดีไฮเดรตต้องใช้สาหร่ายสด 3-5 เท่า ขึ้นกับขนาดต้นและขนาดเม็ดของสาหร่าย ยอดขายอยู่ที่ปีละ 30,000 ซอง ส่งออกไปขายกว่า 10 ประเทศ

นอกจากสาหร่ายพวงองุ่นแล้วที่ฟาร์มยังทำ “สาหร่ายผักกาดทะเล” ซึ่งเป็นสาหร่ายที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นพร้อมๆ กับสาหร่ายพวงองุ่น เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูงกว่าสาหร่ายพวงองุ่นถึง 30% แต่ต้องผ่านความร้อนก่อนนำมากิน มีความอุมามีในตัว มีกลิ่นหอม รสสัมผัสจะเหมือนสาหร่ายวากาเมะแต่ไม่หนึบเท่าเพราะใบบางกว่า แนะนำให้เลี้ยงแบบปล่อยลอยและอยู่ในที่ร่ม

“สาหร่ายขนนก” เป็นสาหร่ายที่อยู่ในทะเลตามธรรมชาติที่ขึ้นชื่อมานานแล้วทางภาคใต้ พบมากที่จังหวัดกระบี่ โดย รศ.ดร.มัณฑนา นวลเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกจังหวัดกระบี่ ปลูกเป็นฟาร์มอยู่ที่นั่น ทางฟาร์มติดต่อขอนำมาทดลองเลี้ยงบ้าง เผื่อในอนาคตจะผลิตเป็นสาหร่ายเศรษฐกิจ ในกรณีที่สาหร่ายพวงองุ่นมีปัญหาหรือมีน้อย สาหร่ายขนนกสามารถนำมารับประทานสดได้เหมือนสาหร่ายพวงองุ่น

“ที่ฟาร์มของเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม เราตั้งใจอยากจะเพาะเลี้ยงสาหร่ายหลายชนิดเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับคนที่สนใจ ยินดีต้อนรับคณะนักเรียน นักศึกษา คณะครูอาจารย์ ไม่เฉพาะเรื่องสาหร่ายพวงองุ่น รวมไปถึงการทำเกษตร การทำประมง เรื่องดินเรื่องน้ำ การดูแลจัดการฟาร์ม ธุรกิจฟาร์ม รวมไปถึงเรื่องการตลาด สามารถติดต่อล่วงหน้าเข้ามาได้ที่

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส / กรานต์ชนก บุญบำรุง

อยากให้รู้ก่อนเริ่มเลี้ยงด้วย 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “แหนแดง”

Tammada Garden ฟาร์มออร์แกนิก ที่ส่งสินค้าเกษตรในรูปแบบ “ผูกปิ่นโต”