เรียนรู้วิธีเพาะเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่นมาตรฐานออร์แกนิก เพื่อส่งออกต่างประเทศ

จากปัญหาน้ำเสียของการทำประมงในจังหวัดเพชรบุรี สู่จุดเริ่มต้นการเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่น เชิงพาณิชย์ บนพื้นที่กว่า 81 ไร่ ด้วยมาตรฐานออร์แกนิก รวมถึงมีการต่อยอดและพัฒนา พร้อมส่งออกไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ที่ ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น Family Farm

คุณโอ – วรรภา อ่อนจันทร์ ผู้จัดการฟาร์มแห่งนี้ เล่าว่า “ฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่น ของเราทำมา 9 ปีแล้วครับ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ของ คุณลูกเกด-นันทิยา มานิช ผู้เป็นเจ้าของฟาร์ม เราเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลกลุ่มแรกๆ ที่เข้าอบรมและร่วมโครงการกับทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี เนื่องจากมีปัญหาน้ำเสียค่อนข้างมาก”

สาหร่ายพวงองุ่น
คุณโอ – วรรภา อ่อนจันทร์ ผู้จัดการ ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น Family Farm

ในช่วงแรกของโครงการก็เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ จนสำเร็จจึงพัฒนาต่อยอดสู่การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร สามารถเลี้ยงให้มีปริมาณมาก และผลผลิตที่ได้สะอาดมีคุณภาพดี จึงขยายให้แก่เกษตรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงสร้างอาชีพต่อได้

ราคาสาหร่ายพวงองุ่น

“ปัจจุบันสาหร่ายพวงองุ่น มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ราคาส่ง 10 กิโลกรัมขึ้นไป กิโลกรัมละ 150 บาท ยอดขายรวมส่งออกทั้งหมดจะอยู่ที่ 2,500-3,000 กิโลกรัมต่อเดือน แบ่งเป็นยอดขายภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นส่งออกไปต่างประเทศ”

จะเห็นได้ว่าราคาของสาหร่ายพวงองุ่นน่าสนใจไม่น้อย และผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่เน้นไปที่ส่งออก เนื่องจากทางฟาร์มสามารถผลิตได้ตามมาตรฐาน ซึ่งมีวิธีในการปลูกเลี้ยง การเก็บเกี่ยว รวมถึงการดูแลหลังเก็บเกี่ยว ไว้อย่างละเอียดเลยทีเดียว

สาหร่ายพวงองุ่น
ส่วนประกอบต่างๆ ของสาหร่ายพวงองุ่น

รู้จัก สาหร่ายพวงองุ่น

  • “ทัลลัส” เป็นลำต้นของสาหร่ายพวงองุ่น เป็นท่อยาวต่อกัน เติบโตในแนวราบคืบคลานไปตามพื้นและแตกแขนงได้
  • “รากฝอย” ทำหน้าที่ยึดเกาะพื้น ส่วนของแขนงนั้นจะตั้งตรงชี้ขึ้นด้านบน
  • รามูลัส” เปรียบเสมือใบของสาหร่ายลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารให้พืช มีขนาดเล็กสีเขียวใสเบียดกันแน่นรอบแขนง ทำให้มีลักษณะคล้ายช่อองุ่น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Sea Grapes ส่วนชาวญี่ปุ่นจะเรียกว่า Umi budo ซึ่งแปลว่า “องุ่นแห่งท้องทะเล”
  • “ต้นพร้อมเก็บเกี่ยว” สังเกตได้จากรามูลัสหรือใบ จะมีสีเขียวสด เต่งตึง
  • “ต้นอ่อน” จะตัดแต่งแล้วปล่อยสู่บ่อเลี้ยงเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่ต่อไป
  • “ต้นแก่” ส่วนใหญ่จะแคระแกรนจึงไม่เหมาะนำไปเลี้ยงต่อจะนำไปทำเป็นปุ๋ย 
สาหร่ายพวงองุ่น

วิธีเลี้ยง สาหร่ายพวงองุ่น

“เราเลี้ยงสาหร่ายในบ่อดินครับ ขนาดบ่อที่ฟาร์มเรามีขนาด 5 ไร่ บ่อลึก 1.5 เมตรและลาดเอียงไปจนลึกสุดที่ 1.8 เมตร ที่ต้องทำเป็น 2 ระดับ เผื่อในกรณีที่สภาพอากาศสภาพไม่เป็นใจ โดยสาหร่ายที่อยู่ในส่วนที่ลึกจะมีปัญหาน้อยกว่าส่วนที่อยู่ในโซนตื้น เนื่องจากขณะที่ฝนตกหนักน้ำจะมีการแยกชั้นกัน ถ้าทำให้มีความลาดเอียงภายในบ่อก็จะช่วยลดความเสี่ยง ช่วยเฉลี่ยส่วนได้ส่วนเสีย และพอสังเกตจะเห็นว่าเราจะทำคันดินเป็นระยะๆ เพื่อให้สาหร่ายมีที่ยึดเกาะในการเจริญเติบโต”

สาหร่ายพวงองุ่น

ในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นต้องมีการวัดค่าความเค็มของน้ำด้วยเครื่องมือทุกวัน ให้อยู่ที่ระดับ 28-32 ppt (part per thousand) เพื่อให้รสชาติไม่เค็มมากจนเกินไป และปัจจัยที่ทำให้ความเค็มของน้ำเปลี่ยนไป มาจากน้ำฝนและแสงแดด โดยฝนตกมากน้ำก็จะจืด ส่วนแดดร้อนจัดน้ำก็จะเค็ม ดังนั้นจึงต้องมีการถ่ายน้ำเพื่อปรับสภาพความเค็มทุกวัน ผ่านท่อที่ฝังไว้ด้านล่าง และ ต้องเช็คระดับความเค็มที่หน้าบ่อก่อนสูบทุกครั้งเสมอ

นอกจากนี้สาหร่ายมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสีย เมื่อสาหร่ายได้น้ำใหม่ก็จะคายน้ำเก่าในตัวที่สกปรกออกมาและกินน้ำใหม่เข้าไปแทน การถ่ายน้ำทุกวันจะทำให้สาหร่ายในบ่อสะอาดเสมอ ไม่มีการสะสมสิ่งสกปรกไว้ภายใน ส่วนน้ำทะเลที่ใช้ในบ่อเลี้ยงเราดูดตรงมาจากประตูน้ำ คือ ดูดตรงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากทะเลที่ปลอดสารพิษและไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมรอบข้าง ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าได้มาตรฐาน 

สาหร่ายพวงองุ่น

“เราซื้อต้นพันธุ์มาจากกรมประมงโดยตรง วิธีปลูกเหมือนดำนาข้าวเลยครับ ปล่อยน้ำให้เหลือสักประมาณครึ่งแข้ง ปลูกห่างกันกอละ 1 เมตร ขนาดกอที่จะปลูกก็ให้อยู่ประมาณมือคนปลูกจับถนัด หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ต้นจะเริ่มเกาะพื้นดินและจะโตเลื้อยไปตามผิวดิน แตกกิ่งแขนงชูขึ้นไปเรื่อยๆ อายุเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 75 วัน”

“ขณะที่เก็บสาหร่ายต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ในการเก็บ ในการสัมผัสรู้สึกถึงความยาวและความสมบูรณ์ของต้นที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวได้ โดยคนเก็บจะลอยตัวอยู่ ไม่เหยียบพื้นเพราะที่พื้นบ่อเต็มไปด้วยสาหร่าย ถ้าเหยียบจะหักเสียหายได้”

สาหร่ายพวงองุ่น

ที่นี่ใช้ระบบต้นพันธุ์แบบหมุนเวียน คือ หลังจากที่เก็บสาหร่ายขึ้นมาจะตัดแต่งส่วนที่พร้อมทานให้ลูกค้า ส่วนที่ใช้ไม่ได้ เช่น ต้นที่แก่ หรือ ต้นอ่อน จะย้ายไปเลี้ยงในบ่อต่อ แต่ที่มีอายุมากจะเริ่มแคระแกร็นจะต้องรื้อปลูกใหม่ โดยเฉลี่ยก็สามารถใช้ปลูกได้นานถึง 1 ปี

นอกจากนี้สาหร่ายพวงองุ่นที่นี่เลี้ยงแบบออร์แกนิก สาหร่ายที่ฟาร์มต้องอาศัยกินอาหารคือแพลงก์ตอนที่อยู่ในน้ำทะเลโดยตรง ในบางช่วงที่น้ำใสมากหมายถึงมีแพลงก์ตอนในน้ำไม่เพียงพอ สาหร่ายก็จะขาดอาหาร ต้นก็จะแคระแกร็นเร็วกว่าปกติ ต้องรื้อบ่อปลูกกันใหม่

ในการรื้อบ่อปลูกใหม่จะต้องปล่อยน้ำออกให้หมด ไถปรับหน้าดินขึ้นมาใหม่เพื่อบำรุงดิน และฆ่าพวกสาหร่ายและวัชพืชต่างๆ ที่ติดอยู่เดิมให้ตายไป จากนั้นโรยปูนขาวและตากแดดทิ้งไว้ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค 

สาหร่ายพวงองุ่น

ส่วนการเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่นนั้น ที่ฟาร์มจะเก็บสาหร่ายตามออเดอร์เท่านั้น โดย 100% ที่เก็บขึ้นมาจะใช้ได้เพียงแค่ประมาณ 40% เท่านั้น อย่างถ้าวันนี้มีออเดอร์ 100 กิโลกรัม ก็จะเก็บขึ้นมาประมาณ 200 กิโลกรัม จะไม่เก็บขึ้นมาเผื่อทีละมากๆ สาเหตุเป็นเพราะอะไรเดี๋ยวตามไปดูกันต่อ

สาหร่ายพวงองุ่น

ขั้นตอนพักฟื้นและทำความสะอาด สาหร่ายพวงองุ่น

“หลังจากเก็บขึ้นมาแล้วก็จะเอาไปพักไว้ในอ่างปูนแช่น้ำทะเลอีก 1 คืน เพื่อให้สาหร่ายปรับตัวและพักรักษาตัวเพื่อปิดบาดแผล เนื่องจากเวลาเก็บเกี่ยวสาหร่ายจะแยกขาดออกจากกอ จะคายน้ำออกเป็นจำนวนมาก หลังจากผ่านไป 1 คืน ก็จะตักสาหร่ายถ่ายไปใส่อ่างเล็ก เพื่อทำการตัดแต่งคัดเลือกเฉพาะต้นสีเขียวที่สมบูรณ์เพื่อส่งขาย ส่วนต้นที่ใช้ไม่ได้ก็จะถูกนำกลับไปปลูกใหม่ ต้นที่เสียจนใช้งานไม่ได้ก็จะถูกนำไปทำปุ๋ย”

“ต้นที่ถูกตัดแต่งคัดเลือกมาแล้วจะถูกย้ายไปแช่ในอ่างปูนแช่น้ำทะเลอีก 48 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดและรักษาบาดแผลจากการถูกตัดแต่งอีกครั้ง ในระหว่างนี้ น้ำในอ่างปูนจะถูกถ่ายเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาจนกว่าน้ำจะใสสะอาด โดยสังเกตจากฟองอากาศที่ผิวบ่อ ถ้าน้ำยังสกปรกอยู่ฟองอากาศก็จะยังสกปรก โดยปกติจะไปเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 4-5 ครั้ง”

สาหร่ายพวงองุ่น

“เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ น้ำที่ใช้ในการปรับตัวและรักษาตัวของสาหร่าย จะต้องเป็นน้ำทะเลสำหรับให้สาหร่ายปรับตัวโดยเฉพาะ และทุกขั้นตอนต้องอยู่ในถังที่มีระบบสกิมเมอร์ คือ ต้องให้ออกซิเจนในน้ำตลอดเวลาเพื่อให้สาหร่ายยังคงมีชีวิต โดยใช้ตัว supercharge ปล่อยลมไปตามท่อ และใช้ O2 Bubble ใส่ไว้ในท่อยางทรงกลมที่ปลายท่อ ซึ่งเป็นตัวผลิตและปล่อยออกซิเจน”

“นอกจากนี้ยังมีระบบหมุนเวียนน้ำและมีระบบอัลตราไวโอเลต (UV) และโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เรียกว่าเป็นการทำความสะอาดแบบใช้ฟองละเอียด ซึ่งในอ่างแช่ถึงแม้จะไม่มีสาหร่ายอยู่ก็ต้องเปิดระบบสกิมเมอร์ตลอดเวลาเพื่อเลี้ยงแพลงก์ตอนที่อยู่ในน้ำที่ดูดมาจากบ่อไม่ให้ตาย นี่คือคำตอบว่าทำไมเราถึงไม่เก็บสาหร่ายขึ้นมาครั้งละมากๆ เห็นต้นเล็กๆ แบบนี้เรื่องมากน่าดู”

สาหร่ายที่จะแพ็คต้องปั่นสะบัดน้ำออกให้แห้งสนิท ห้ามไม่ให้มีน้ำเกาะ ซึ่งจะช่วยชะลอการคายน้ำของสาหร่ายได้ เนื่องจากสาหร่ายที่แห้งจะไม่ต้องการออกซิเจนก็สามารถอยู่ได้

หลังจากนั้นแพ็คลงกล่องแล้วจะมีการตรวจสอบอีกครั้ง จากนั้นแพ็คในถุงซิปขนาด 1 กิโลกรัม ถ้ามากกว่า 5 กิโลขึ้นไปจะใส่ในกล่องโฟม โดยใส่แผ่นซับของเหลวรองด้านล่าง