“รั้ว” ไม่เพียงแสดงขอบเขตและป้องกันบ้านจากเหล่ามิจฉาชีพเท่านั้น ยังช่วยส่งเสริมบ้านให้น่าดูได้อีกด้วย เราได้รวม แบบรั้วบ้าน สวยๆ รวมถึงมีข้อควรพิจารณาก่อนการทำรั้วมาฝาก
มองสำรวจรอบบ้าน
รั้วใช้กั้นพื้นที่ระหว่างในและนอกบริเวณบ้าน จึงต้องดูสภาพแวดล้อมที่ต่อเนื่องกันสำหรับเลือก แบบรั้วบ้าน ด้วย
สภาพแวดล้อมดี ไม่มีฝุ่นละอองและเสียงรบกวนมากนัก และสังคมรอบบ้านน่าอยู่ เหมาะกับการทำรั้วแบบโปร่งหรือกึ่งทึบกึ่งโปร่ง จะทำให้บริเวณบ้านโล่งสบาย อากาศถ่ายเทสะดวกและดูกว้างขึ้น หรือถ้ารั้วบ้านติดกับสวน อาจปลูกต้นไม้ให้ต่อเนื่องกันก็เหมือนได้สวนที่ใหญ่ขึ้น
สภาพแวดล้อมไม่ดี อย่างบ้านที่อยู่ติดถนนที่มีรถและคนพลุกพล่าน เหมาะกับการทำรั้วแบบทึบที่ทำด้วยวัสดุก่ออย่างอิฐบล็อก หรือปลูกแนวต้นไม้ที่พุ่มหนา ก็ช่วยป้องกันเสียง ฝุ่นละออง และความวุ่นวายได้
เลือกวัสดุอย่างไรดี
วัสดุที่ใช้ต้องมีความคงทน แข็งแรง และสามารถป้องกันบ้านได้
ถ้าชอบรั้วแบบโปร่ง ใช้วัสดุจำพวก
- ระแนงไม้หรือเหล็ก
- บล็อกแก้ว
- อิฐบล็อกช่องลม
- อัลลอย
- สเตนเลส
ถ้าชอบรั้วแบบทึบใช้วัสดุจำพวก
- ไม้เนื้อแข็ง
- กระเบื้องลายหิน
- ก่ออิฐโชว์แนว
อย่าลืมศึกษากฎหมาย
รั้วบ้านหรือกำแพงที่สร้างติดถนนหรือทางสาธารณะ สร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร วัดจากระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ แต่ถ้าสูงเกิน 3 เมตร ต้องเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่าความสูงของรั้ว
รั้วหรือกำแพงกั้นเขต ที่อยู่มุมถนนสาธารณะ ซึ่งความกว้างของถนนตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกำแพงกั้นเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับแนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่าๆกัน
เกร็ดความรู้เรื่องรั้ว
ต้นไม้ที่นิยมปลูกริมรั้ว
- ไม้พุ่ม เช่น โมก ชบา แก้ว พู่ระหง ไผ่
- ไม้ใบ เช่น ลิ้นกระบือ ไทรยอดทอง ฤ+ษีผสม เทียนทอง ไผ่เงิน
- ไม้ใบยาว เช่น พลับพลึงหนู การะเกด ว่านสี่ทิศ เตยหอม
- ไม้ดอกต้นเตี้ย เช่น พวงทองต้น พุดพิชญา บานเช้า สีนวล เทียนหยดญี่ปุ่น
หากรั้วบ้านล้ม ใครจะรับผิดชอบ
- รั้วบ้านที่ติดกับที่สาธารณะ เจ้าของบ้านเป็นผู้รับผิดชอบเอง (ถ้าล้มเอง)
- ถ้าเป็นรั้วเรากับเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะสร้างกึ่งกลางเขตที่ดิน จึงเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นถ้ารั้วพังลงมาเอง ก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำพัง (เช่น การถมดินเพิ่มตากรากของต้นไม้ หรือจากเหตุอื่นๆ) ผู้ที่เป็นต้นเหตุก็จะต้องเป็นคนซ่อม
ประตูรั้ว
- ควรทำประตูรั้ว 2 บาน บานเล็ก กว้าง 0.90 – 1 เมตร สำหรับคนเข้า-ออก และบานใหญ่กว้าง 4 – 6 เมตร สำหรับรถยนต์ อาจทำเป็นบานเปิดหรือบานเลื่อนก็ได้ แต่ไม่ควรทำบานใหญ่มาก เพราะน้ำหนักมากจะเปิดลำบาก
ไอเดีย แบบรั้วบ้าน ดีไซน์สวย
ไอเดียรั้วสวยจากหลากหลายวัสดุ
ไอเดียรั้วต้นไม้ สดชื่นสบายตา
ไอเดียเพิ่มฟังก์ชันให้รั้วบ้าน
เรื่อง : ศรายุทธ
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, สำนักพิมพ์บ้านและสวน, room