บ้านอิฐบล็อกเรียบง่าย

บ้านสร้างเองจากอิฐบล็อก สวย เรียบง่าย น่าสบาย

บ้านอิฐบล็อกเรียบง่าย
บ้านอิฐบล็อกเรียบง่าย

บ้านอิฐบล็อก เรียบง่าย หลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำงานศิลปะ โดยเจ้าของบ้านได้วางแปลนและลงมือก่อสร้างตั้งฐานรากไปจนถึงโครงหลังคาเองทั้งหมด จึงเข้าใจรายละเอียดทุกจุดของบ้านอย่างดี

“บ้านคือที่ซึ่งจิตวิญญาณเติบโต” นี่คือคำกล่าวและแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติอันลุ่มลึกของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปราชญ์ชาวเยอรมัน ในเรื่องที่อยู่อาศัยและความคิดอันเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกชื่อก้องโลกอย่างหลุยส์ คาห์น กล่าวเป็นวลีสวยๆที่ว่า “อิฐอยากเป็นอะไร”

นี่คือมุมมองของเจ้าของบ้านหลังนี้ที่หยิบยกแนวคิดดังกล่าวมาสะท้อนตัวตนผ่านวัสดุในการก่อสร้าง เช่น โลหะและคอนกรีตบล็อกต่างๆที่ก่อตัวขึ้นเป็นบ้าน ซึ่งแสดงตัวตนได้อย่างตรงไปตรงมา

บ้านอิฐบล็อกเรียบง่าย
สวนกลางบ้านทำแบบง่ายๆด้วยการปลูกหญ้าคลุมดิน และจัดวางงานศิลปะที่เป็นฝีมือคุณบอยเองไว้กลางลาน เป็นการแทนค่าของน้ำในแบบนามธรรม
ลานหน้าบ้าน
ลานหน้าบ้านออกแบบให้บื่นยาวออกมาสำหรับขยายพื้นที่ทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้พักผ่อนหรือเป็นมุมรับประทานอาหารแทนในบ้านได้เป็นอย่างดี
เจ้าของบ้านเพิ่มรายละเอียดให้ผนังปูนธรรมดาๆดูมีเรื่องราวโดยการก่ออิฐเว้นช่องบนผนังเป็นรูปตัวอักษร ม ม้า ช่วยให้เกิดการถ่ายเทของอากาสและแสงผ่านผนังทึบสู่ภายในบ้าน
ทางเข้าบ้าน
ช่องทางเข้าบ้านที่ดูจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ช่วยทำให้ลมพัดผ่านตัวบ้านได้ดีและฝ้าเพดานที่สูงโปร่ง ทำให้อากาศเย็นสบายได้ตลอดทั้งวัน

บ้านคอนกรีตอิฐบล็อกที่พูดถึงหลังนี้เป็นของ คุณบอย – จิระเดช มีมาลัย ศิลปินและอาจารย์พิเศษผู้มีผลงานประติมากรรมจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายภรรยาคือ คุณยิ่น -พรพิไล มีมาลัย ก็เป็นศิลปินและอาจารย์พิเศษเช่นเดียวกัน จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบ้านจึงเต็มไปด้วยความน่าสนใจ เพราะจากกระบวนการคิดที่ไม่เหมือนใคร ทำให้บ้านหลังนี้เป็นมากกว่าคำว่า “บ้าน”

บ้านอิฐบล็อกเรียบง่าย หลังนี้สร้างขึ้นมาจากความต้องการจะมีที่ทำงานศิลปะเป็นสำคัญ ถ้าต้องทำงานในกรุงเทพฯจะไม่ค่อยสะดวกนัก คุณบอยจึงเลือกมาสร้างในพื้นที่บ้านคุณแม่ที่จังหวัดราชบุรี บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ มีโจทย์ว่าจะสร้างอย่างไรให้เข้ากับตัวบ้านเดิมได้ คุณบอยจึงศึกษาทิศทางลม ฝน และแสงแดด จากการมาทดลองเฝ้าสังเกตการณ์จนได้ข้อสรุปว่าควรเลือกออกแบบอาคารเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่สูงโปร่ง มีช่องเปิดโล่งด้านหน้าและหลังบ้านเพื่อรับลมและวางตัวอาคารต่อจากอาคารเดิมที่เป็นรูปตัวแอล (L) จนเกิดเป็นรูปตัวยู (U) เพื่อโอบล้อมให้เกิดพื้นที่ว่างของสวนกลางบ้านสำหรับใช้งานร่วมกันได้ทั้งหมด

เนื่องจากโครงสร้างที่สูงจึงสามารถแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็นสองส่วน ด้วยการทำชั้นลอยบนคานตงไม้และโครงเหล็ก ส่วนพื้นปูด้วยไม้แยกสัดส่วนสำหรับนอนกับส่วนพักผ่อน ชั้นล่างทำเป็นส่วนพักผ่อนที่เปิดรับมุมสวนหลังบ้าน
มุมนั่งเล่น
ด้วยความที่เจ้าของบ้านทำงานศิลปะ ดังนั้นจึงออกแบบพื้นที่ว่างโล่งๆเหมือนแกลเลอรี่ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เกือบทั้งหมดออกแบบให้ดูคล้ายประติมากรรมด้วยวัสดุที่เหลือจากการทำโครงสร้างบ้าน ช่วยทำให้ประหยัดงบได้มาก
ผนังเปิดโล่งช่วยให้ภายในบ้านปูนสีเทาๆดูมีชีวิตชีวาจากแสงและมุมสวนมากขึ้น ส่วนพื้นมีการลดระดับและใช้วัสดุต่างๆเพื่อเปลี่ยนอารมณ์จากพื้นปูนขัดมันภายในสู่พื้นหินกรวดโรยออกไปสู่สนามหญ้าด้านนอก
กั้นกำแพงปูนที่สวนด้านนอกเพือสร้างสนามหญ้าที่เป็นส่วนตัวขึ้นในพื้นที่บ้าน และปูแผ่นซีเมนต์คอนกรีตเป็นจังหวะสลับกับพื้นหญ้าให้ดูแปลกตา
นอนกับพื้น
ห้องนอนเรียบง่ายแต่แสนจะเย็นสบายด้วยแนวคิดของการอยู่บ้านเรือนไทยที่มีช่องลมผ่านใต้ถุนสูงและใต้หลังคา การเปิดช่องลมมากๆทำให้ไม่ร้อนและเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นแค่เบาะกับมุ้งกันยุงก็อยู่ได้สบาย
ครัว
ทำช่องเปิดโล่งให้ควันระบายออกมากที่สุด และเพื่อให้แสงเข้ามาในห้องได้จึงเลือกใช้กระจกฝ้าที่บานกรอบเป็นเหล็ก ส่วนเคานเตอร์เตาและอ่างล้างจานเป็นงานก่อด้วยปูนแบบสมัยใหม่ให้ใช้งานสะดวก
ห้องน้ำ
ห้องน้ำออกแบบเป็นเอ๊าต์ดอร์รับบรรยากาศสวนโดยการทำหลังคาในส่วนอาบน้ำให้โปร่งแสง เพิ่มความไม่ธรรมดาด้วยชุดอ่างล้างหน้าและกระจกเงาที่คุณบอยลงมือออกแบบและทำเอง

พื้นที่กลางบ้านใช้เป็นที่แสดงงานศิลปะกับมุมพักผ่อนที่ทำช่องเปิดโล่งใหญ่ทางทิศใต้รับมุมมองสวนและลมเข้าสู่ภายใน ทำให้บ้านเย็นสบายทั้งวัน ส่วนด้านบนทำเป็นห้องนอนบนชั้นลอย มีเบาะที่นอนและมุ้งที่เรียบง่าย อยู่อย่างสมถะไม่ตกแต่งอะไร พร้อมกับมุมส่วนระเบียงระแนงไม้ที่ยื่นออกไปสำหรับนั่งเล่นพักผ่อนนอกตัวบ้านรับวิวสวนและช่วยกรองแสงให้บริเวณใต้ถุนอีกด้วย สำหรับชั้นล่างแบ่งห้องฝั่งทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่ฝนสาดน้อยกันทำห้องน้ำที่มีหลังคาเปิดโล่ง ส่วนห้องในฝั่งทิศตะวันตกเป็นห้องเวิร์คชอปงานเหล็กและไม้ที่มีโถงสูงและมีประตูใหญ่และกว้างพอที่จะเคลื่อนย้ายงานศิลปะชิ้นใหญ่ๆของคุณบอยได้สะดวก สำหรับอาคารที่จอดรถเดิมถูกต่อเติมเป็นห้องสมุดและเวิร์คชอปขนาดเล็กของคุณยิ่น แต่มีอุปกรณ์ครบครับสำหรับงานเชื่อมโลหะและอุปกรณ์ทำงานจิเวลรี่ที่มีเครื่องประดับและประติมากรรมชิ้นเล็กๆจัดไว้หลายโต๊ะสำหรับให้ลูกศิษย์ได้แวะเวียนมาทำงานภาคปฏิบัติจริงๆได้

“เราวางแปลนและลงมือก่อสร้างตั้งฐานรากไปจนถึงโครงหลังคาเองทั้งหมดทำให้เข้าใจรายละเอียดทุกจุดของบ้าน บ้านหลังนี้ใช้งบเริ่มต้นน้อยมากแค่ 3 แสนบาท หากสร้างในกรุงเทพฯคงทำไม่ได้ เพราะเราใช้วัตถุดิบทั้งแรงงานช่างและวัสดุจากในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประหยัดและดูกลมกลืนกับบ้านอื่นๆในท้องถิ่นด้วย แต่ช่างท้องถิ่นก็ทำให้ปวดหัวเหมือนกัน เพราะเขาจะมีทักษะที่ถนัดเองอยู่แล้ว หากจะให้ทำวิธีใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคยจะต้องลงมืออธิบายหรือทำให้ดู ก็เป็นข้อดีอีกอย่างที่เราได้ทดลองศึกษารายละเอียดการทำไปเรื่อยๆ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ มือจับ ประตู กลอน ต้องออกแบบและทำขึ้นมาใช้เองทั้งหมดตามความต้องการ”

มุมอ่านหนังสือ
มุมอ่านหนังสือนี้ดูมีเสน่ห์ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เข้ากันได้ดีกับบรรยากาศในท้องถิ่น อย่างงานเฟอร์นิเจอร์หวาย พรมหวาย หีบไม้ หรือแม้แต่ชั้นวางหนังสือก็ยังใช้ไม้ดิบและเหล็กที่ไม่ทำสีให้กลมกลืนด้วย
ห้องทำงาน
ห้องทำงานและเวิร์คชอปเครื่องประดับของคุณยิ่นที่เน้นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายและแบ่งพื้นที่ทำงานได้สะดวก อากาศถ่ายเทได้ดี
หน้าต่างบานกระทุ้ง
หน้าต่างบานกระทุ้งแบบบ้านไทยก็ถูกนำมาใช้ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้นด้วยไอเดียคุณบอย
ขั้นบันไดทำจากโครงสร้างเหล็ก และมีเหล็กพับยึดนอตกับแผ่นไม้เป็นขั้นเหยียบ ทำให้ถอดเปลี่ยนซ่อมแซมได้ง่าย
พื้นที่ว่างด้านข้างบ้านที่เป็นมุมอับ ไม่สวย ถูกปรับให้ดูแปลกตาด้วยการก่อผนังแบ่งสัดส่วน วางแผ่นซีเมนต์เป็นจังหวะพร้อมกับทำขอบปูนสำหรับนั่งพักผ่อนได้สบายๆ

ผลสุดท้ายบ้านที่ดูเหมือนจะไม่เสร็จหลังนี้ก็ได้อธิบายความหมายของความเพียงพอและพอเพียงสำหรับการอยู่อาศัยพร้อมๆไปกับการทำงานศิลปะได้อย่างดี ส่งผลให้บ้านเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจของเจ้าของ เพราะคำว่าบ้านที่สมบูรณ์นั้นไม่ได้อยู่แค่การมีงานตกแต่งครบเท่านั้น


เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณจิระเดช – คุณพรพิไล มีมาลัย

เรื่อง : HOOOOO…ROOM

ภาพ : จิระศักดิ์, วิรุฬห์

สไตล์ : ประไพวดี

บ้านอิฐบล็อกที่อยู่สบายในสภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อน

บ้านอิฐบล็อก ทึบนอก โปร่งใน