บ้านอิฐบล็อกที่อยู่สบายในสภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อน

นี่คือบ้านตึกแถวของสถาปนิกที่เลือกปรับตัวเองเข้าหาสภาพแวดล้อม (โดยไม่รอให้สภาพแวดล้อมปรับตัวเข้าหา)

หลังจากที่เราเคยนำเสนอผลงานบ้านตึกแถว Tan Phu House (อ่านต่อได้ที่นี่ https://www.facebook.com/roomfan/posts/10158662784531419) ที่ k59 atelier เปลี่ยนภาพจำตึกแถวหน้าแคบ ตอนลึก ทึบตัน เป็นบ้านเปิดโปร่ง พร้อมแปลงปลูกผักสวนครัวบนชั้นดาดฟ้าในกรุงโฮจิมินห์มาแล้ว คราวนี้เราลองมาดูบ้านและพื้นที่สำนักงานในบ้านของพวกเขาเองกันบ้าง

k59 home& atelier

k59 home and atelier ตั้งอยู่ในกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา นี่คือบ้านตึกแถวบนถนน Huynh Tan Phat ถนนสายหลักของย่าน Can Gio ที่ต้องผจญกับปัญหาฝุ่นเเละมลภาวะต่าง ๆ จากบริบทรอบ ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

k59 home& atelier

รักษาขนบในวิถีปัจจุบัน

ทีมสถาปนิกจึงพยายามออกแบบพื้นที่ใช้สอยของพวกเขาให้ก้าวข้ามปัญหานี้ ไปพร้อมกับการรักษาขนบธรรมเนียมเดิมของบ้าน ซึ่งต้องมีพื้นที่บูชาพระพุทธหรือห้องพระ และพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลาย โดยแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็นในบ้านลักษณะเเบบตึกแถวที่มีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ เเต่พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ฟังก์ชันการใช้งานให้ออกมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ภาพบ้านไม้ก่อตัวขึ้นจากโครงสร้างคอนกรีตและผนังคอนกรีตบล็อก คือภาพในความคิดที่ถูกถ่ายทอดออกมา ตำแหน่งศูนย์กลางของบ้านคือพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งทีมงานตั้งใจให้ที่นี่เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาวัฒนธรรมเดิมให้คงอยู่ในวิถีปัจจุบัน

เเละด้วยที่ตั้งของบ้านอยู่สุดทางของตรอกสองตรอกที่บรรจบกันเป็นทางตัน ชั้น 1 จึงออกแบบให้เกิดพื้นที่ที่มีการไหลเวียนอากาศได้ดี พร้อมแบ่งบ้านออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ระหว่างกลางของบ้านทั้งสองฝั่ง ส่วนด้านหน้าของบ้านประกอบด้วยห้องพระ สำนักงาน และสวนผัก ส่วนหลังเป็นพื้นที่ส่วนตัวรวมถึงห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่ซักรีด

ปรับตัวเองเข้าหาสภาพแวดล้อม

พื้นที่สุขาภิบาลและห้องซักรีดถูกวางตำแหน่งไว้ชิดฝั่งคลอง เพื่อให้แสงแดดและอากาศบริสุทธิ์หมุนเวียนเข้ามาได้ทั่วถึง โดยออกแบบช่องว่างของอาคารและเพดานสูงโปร่งแบบดับเบิ้ลสเปซ ช่วยให้มีพื้นที่ลื่นไหลเชื่อมโยงกันอย่างอิสระ พร้อมออกแบบระบบประตูบานเฟี้ยมเฟรมเหล็กกรุกระจกทั้งบาน เพื่อเปิดรับลมและพื้นที่สีเขียวริมระเบียงช่วยกรองฝุ่นและเสียงรบกวนได้อย่างดี

พวกเขาบอกว่า “เราชอบการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา”

“การอาศัยอยู่ในเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นและไม่น่าอยู่นักไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องตัดการเชื่อมต่อกับภายนอกและปิดประตูหนีโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน เราต้องการความยืดหยุ่นและความเอื้ออาทรในการออกแบบ โครงสร้างกึ่งทึบกึ่งโปร่งนี้ จึงมีส่วนช่วยให้อาคารสามารถหายใจได้ แทนที่จะใช้ผนังทึบตัน หรือกระจกทั้งหมดแบบปิดตาย เราเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้คน (วัฒนธรรม) ธรรมชาติ และสังคมยังคงอยู่ต่อไป”

ออกแบบ: k59 atelier
เรียบเรียง: ND24
ภาพ: Courtesy of k59atelier