โรงเรือนปลูกผักออร์แกนิก สร้างสวนหลังบ้านให้เป็นอาหารชั้นดี

หลังจากผสมดินแล้วใช้พลาสติกคลุมหน้าดินไว้เพื่อให้จุลินทรีย์ได้เติบโต ประมาณ 2 สัปดาห์ก็ปลูกผักได้

สำคัญที่สุดก็คือ ดิน

“ดิน คือกุญแจสำคัญของการปลูกผักสวนครัวค่ะ ตอนแรก ๆ หมอก็ท้อใจค่ะ ทำไมเราปลูกไม่สวยเหมือนคนอื่นเขา จนมาค้นพบว่า อ๋อ เป็นเพราะดินที่ใช้ปลูก ดินดีปลูกอะไรก็งาม เราก็ไปถามคุณครู Google อีกเช่นเคยค่ะ คราวนี้เจอครูป้อม ศิริกุล ซื่อต่อชาติ สอนการปรุงเดิน ได้สูตรผสมดินมาคือใช้ดิน ผสมปุ๋ยคอกมูลวัว ใส่ใบไม้แห้งที่เก็บจากสวนหน้าบ้าน ใส่ใบไม้สด รดน้ำหมักชีวะภาพ หรือEM ช่วยย่อยใบไม้สด เติมกากน้ำตาลเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ ผสมไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ ก็ใช้ได้ พอปลูกผักแล้วเห็นความต่างอย่างชัดเจนเลยค่ะ ผักฟูสวยอย่างเห็นได้ชัด ดีใจมากก็ตอนแบ่งปันให้น้อง ๆ ที่โรงพยาบาลค่ะ บอกว่าผักสลัดของหมอทำไมกรอบแบบนี้ สดใหม่ ไม่เหมือนที่จำหน่ายในตลาดเลย”

ต้นกล้าอ่อนควรได้รับดินที่มีสารอาหารครบ

“ดินสำหรับปลูก หมอรวมถึงดินเพาะเมล็ดด้วยนะคะ บางคนอาจจะให้ความสำคัญเฉพาะตอนที่ปลูกลงแปลงเท่านั้น แต่หมอคิดว่าผักที่จะสวยงามเติบโตดี ต้องเริ่มจาก “เมล็ดที่สมบูรณ์งอกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม” ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะต้นอ่อน หากรากที่งอกใหม่ไม่แข็งแรง ไปเจอดินดีแค่ไหนก็โตไม่เต็มที่ แต่ถ้ารากดี เจอดินดี ก็โตเร็ว หมอจึงผสมดินให้ได้ธาตุอาหารครบตั้งแต่ตอนเป็นต้นกล้าเลยค่ะ”

•สูตรมาปรับปรุงและฟื้นฟูดินในสวน

 

ระบบน้ำหยดในแปลงผัก

ท่อให้น้ำเลี้ยงราก ปักให้มียอดเหนือดินแล้วรดน้ำลงไปในท่อ

ระบบน้ำ

การรดน้ำสวนมี 2 ระบบคือระบบน้ำหยด เดินท่อลงแปลงผักโดยตรง ที่ตั้งเวลาเปิด-ปิดอัตโนมัติ ช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลสวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคุณหมอก็ชอบลดน้ำเองเสียมากกว่า เพราะอยากดูแลชื่นชมผักที่กำลังเจริญเติบโตไปด้วย ส่วนอีกรูปแบบเป็นระบบพ่นไอหมอก ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิให้บริเวณภายในโรงเรือนให้เย็นลง อันนี้ก็เป็นผลดีตอนเข้าไปทำสวนด้วยจะได้ไม่รู้สึกร้อนเกินไป

ทริคการให้น้ำอีกจุดคือ การให้น้ำทางท่อ ผักบางชนิดอย่างมะเขือเทศที่ปลูกอยู่ในแปลงมีรากหยั่งลึกทำให้น้ำที่รดนั้นซึมเข้าถึงได้ยาก การให้น้ำทางท่อคือการใช้ท่อพีวีซีเจาะรูแล้วเสียบลงไปยังบริเวณรอบ ๆ โคนต้น ให้เหลือปลายท่อสำหรับรดน้ำลงไป น้ำก็จะเข้าถึงรากต้นไม้ได้ดีขึ้น

•วิธีรดน้ำต้นไม้แบบประหยัดน้ำด้วย ระบบน้ำหยด และผองเพื่อน
•ข้อควรรู้สักนิด…ก่อนติดสปริงเกอร์

 

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่คุณหมอทดลองผสมเอง

ปุ๋ย อาหารหลักของสวนผักออแกนิค

ผักปลอดสารพิษ แน่นอนว่าอีกปัจจัยสำคัญคือการให้ปุ๋ย ในแปลงผักของคุณหมอไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด แต่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ แทน

“เริ่มแรกใช้ปุ๋ยหมักที่ได้มาเจ้าหน้าโรงพยาบาลที่คุณหมอทำงานอยู่ค่ะ ไปขอซื้อมาใช้ในช่วงเริ่มต้น แต่พอใบไม้ในบ้านเยอะก็เริ่มทำปุ๋ยหมักเอง เป็นปุ๋ยหมักใบไม้แห้งแบบไม่กลับกอง สูตรของอาจารย์ที่แม่โจ้ อันนี้ก็เสิร์จเจอจากคุณครู Google เช่นกัน แล้วก็มีใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำหมักชีวภาพ และทำปุ๋ยเองจากเศษอาหารในครัวเรือน ตอนนี้ก็มีทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งกำลังทดลองทำตามสูตรที่คนอื่น ๆ ใช้น้ำจากบ่อบัวในสวนผสมกับไข่ น้ำปลา ผงชูรส ใส่ขวดพลาสติกใส ตากแดดไว้ พอได้สีแดงเข้มก็เป็นอันใช้ได้ ”

•ไปรู้จักปุ๋ย ทั้ง”ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี” ต่างกันอย่างไร
ปุ๋ยหมัก
มุมผสมปุ๋ยหมักใบไม้แห้งแบบไม่กลับกอง
สูตรการให้ปุ๋ยอีกแบบคือ “ปุ๋ยบุพเฟ่แปลงผัก” วิธีนี้เป็นไอเดียที่น่าสนใจทีเดียวคือ การใช้ตะกร้าพลาสติกฝังลงไปในแปลงปลูกแล้วเทเศษอาหารในครัวเรือน และเศษใบไม้ลงไป ใส่น้ำหมักชีวภาพช่วยดับกลิ่น และย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย รากผักที่เป็นรากฝอยจะยื่นตัวมาดูดซึมปุ๋ยเอง
บุพเฟ่แปลงผัก
ปุ๋ยบุพเฟ่แปลงผัก มีตะกร้าปุ๋ยหมักอยู่ตรงกลาง
บุพเฟ่แปลงผัก
เศษอาหารและใบไม้ในตะกร้า บุพเฟ่แปลงผัก
วิธีกันแมลง โครงมุ้งทำจากท่อพีวีซี ดัดโค้งง่าย ๆ ส่วนมะระห่อด้วยผ้ามุ้งเช่นกัน คุณหมอเรียกเล่น ๆ ว่า มะระเจ้าสาว

แมลง ศัตรูผักตัวร้าย

เพราะเป็นแปลงผักที่ไม่ใช้สารเคมี แมลงและสัตว์ต่างจึงรุกล้ำเข้ามาในสวนได้ง่าย จนครั้งหนึ่งคุณหมอเจอหนอนผีเสื้อ และแมลงรุมกินผักไม่เหลือจึงหาวิธีป้องกันคือ การกางมุ้งให้แปลงผัก

“เรารู้สึกว่าการป้องกันมันง่ายกว่ารักษา เหมือนการรักษาโรคค่ะ การป้องกันไม่ให้แมลงมาเกาะมาวางไข่มันง่ายกว่า ความจำเป็นบังคับเราไม่อยากเจอหนอน เจอแมลง ดูแลยาก จึงเลือกกางมุ้งดีกว่า เริ่มแรกเราใช้มุ้งสำหรับคนที่ใช้กันยุงตามบ้านค่ะ สีชมพูเหลืองฟ้าเขียววางสลับกันสีสันมุ้งมิ้งมาก ใครเห็นก็ต้องอมยิ้ม ตอนหลังมันเริ่มเปื่อย หมอเลยเลือกใช้มุ้งที่ใช้ทำโรงเรือนเลยดีกว่า ซื้อเป็นม้วนมาเย็บเอง โครงมุ้งก็ซื้อท่อ PVC ที่โฮมโปรหน้าบ้าน เป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟนะคะ ขนาดเล็ก อ่อนดัดง่าย  ถ้าใช้ท่อประปาจะแข็งเกินไปดัดไม่ไหว บางจุดก็ใช้เส้นลวดดัดเป็นตัวยูเสียบเข้าไปก็ง่ายเหมือนกัน เราชอบงานช่างอยู่แล้วทำเองเลยดีกว่ามันได้ดั่งใจแบบที่เราต้องการ”

•กำราบเพลี้ยแป้งในสวนให้สิ้นฤทธิ์แบบไม่ใช้สารเคมี

 

คุณหมอรังสิมา เจ้าของสวนผักออร์แกนิคหลังบ้าน

ความสุขจากสวนผักหลังบ้านในโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิกแห่งนี้ คุณหมอเล่าด้วยแววตาแห่งความชุ่มใจว่า

“มันเหมือนเป็นชีวิตใหม่อีกชีวิตที่เพิ่งค้นพบเลยค่ะ เป็นความสุขทางใจที่ได้เห็นคุณหมอผู้ชายทานผักที่เราปลูก ชอบดูเขากินผักอร่อย ๆ ของเรา เราเองก็ได้อาหารปลอดภัย สดใหม่ เดินไปตัดจากสวนได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราเองจะไม่ชอบทานผักเลยก็ตาม”

จบหักมุมอยู่สักนิด! แต่เห็นความสุขความตั้งใจของคุณหมอแล้ว สะท้อนให้เห็นเลยว่า เกษตรอินทรีย์ในเมืองที่มี โรงเรือนปลูกผัก เป็นของตนเอง ก็ไม่ไกลเกินความสามารถที่จะปลูกผักออร์แกนิกเช่นเจ้าของสวนผักแห่งนี้ได้  อย่างที่คุณหมอบอกไว้ว่า”คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้เช่นกัน”


เรื่อง JOMM YB

ภาพ ธนกิติ์ คำอ่อน

 


สวนผัก จัดสวย ปลูกประดับบ้านเป็นอาหารประจำครัว

สวนผักหลังบ้าน สำหรับเจ้าตัวเล็ก

รู้จักเกษตรทฤษฎีใหม่ ในวิถีคนเมือง