ทันทีที่เห็นภาพ โรงเรือนปลูกผัก ออร์แกนิก ของแพทย์หญิงรังสิมา-นายแพทย์ชาญชัย พิณเมืองงาม ที่อุดมไปด้วยผักสดหลายชนิดในบรรยากาศที่ดูสะอาดตา ทำให้นึกถึงเทรนด์ Farm to Table ที่เป็นอีกกระแสแรงในต่างประเทศขึ้นมาทันที และก็เป็นอย่างที่คิดเพราะแนวคิดของการปลูกผักทานเองของคุณหมอมีจุดประสงค์ไม่ต่างกันกับรูปแบบ Farm to Table คือได้อาหารที่มีความปลอดภัย สดใหม่ ตรงตามฤดูกาล
คุณหมอเล่าประสบการณ์การสร้าง โรงเรือนปลูกผัก ออร์แกนิก ด้วยความยินดีว่า “เริ่มจากคุณหมอผู้ชายชอบทานผักสดนอกบ้านค่ะ แล้วเกิดอาการท้องเสีย บวกกับจะออกไปทานข้าวนอกบ้านเราสองคนก็ไม่ค่อยมีเวลา หมอก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีให้มีผักกินสด ๆ ใหม่ ๆ ทานเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงด้วย จะซื้อผักตามท้องตลาดกว่าจะมาถึงเรานั้นก็ไม่สดแล้ว ไหนจะสารเคมีตกค้างอีก เลยทดลองหาวิธีปลูกผักเองค่ะ ”
แต่กว่าจะได้แปลงผักสวนครัวที่สมบูรณ์แบบนี้ คุณหมอใช้เวลาเรียนรู้ ฝึกหัด ทดลอง และอดทนมานานกว่า 3 ปี โดยมีคุณครูคนสำคัญชื่อว่า Google



โครงสร้างโรงเรือน
เริ่มต้นคุณหมอเสิร์จ Google หาข้อมูล ไปเจอแบบแปลงผักหลังบ้านในต่างประเทศสวย ๆ ก็ทดลองปลูกในกระถางก่อน แล้วพอเริ่มสนุกบวกกับได้ที่ดินข้างบ้านมาเพิ่ม จึงขยายมาเป็นปลูกลงแปลง ทำเป็นโรงเรือนอย่างจริงจังบนที่ดิน 70 ตารางวา โรงเรือนปลูกผัก แบ่งเป็น 3 หลัง ใช้โครงสร้างเหล็กมุงหลังคาโปร่งแสงด้วยไฟเบอร์กลาส และแผ่นพอลิคาบอร์เนต ตัวหลังคาทำหน้าที่ช่วยบังแดดให้ผัก เช่นเดียวกับโรงเรือนปลูกผักชาวสวนที่มุงด้วยแผ่นสแลนสีดำ แต่คุณหมออยากให้สวนผักดูสะอาดสวยงามจึงจะใช้เฉพาะช่วงที่แดดแรงจัดอย่างฤดูร้อนเท่านั้น แล้วเลือกใช้พัดลมไอน้ำ และกางมุ้งขาวช่วยลดความร้อนอีกที
การแบ่งโซนในสวน คุณหมอเล่าว่า ตนเองนั้นไม่ใช่มืออาชีพจึงเลือกทำไปทีละส่วน แบ่งตามชนิดของผักที่เลือกปลูก เพื่อกำหนดที่ตั้งของแปลงผัก โดยทั่วไปแล้วผักกินใบจะชอบแสงเช้า ส่วนผักกินผลจะชอบแดดจัด จึงมีทั้งส่วนที่เปิดโล่งและมุงหลังคา นอกจากนี้ยังกำหนดมุมใช้งานอื่น ๆ อย่างโซนหมักปุ๋ยผสมดิน โซนเก็บอุปกรณ์ทำสวน อ่างสำหรับล้างมือ ล้างผัก และที่ขาดไม่ได้คือมุมพักผ่อนหย่อนใจ ที่คุณหมอบอกว่าเราทำงานเหนื่อย ๆ เครียด ๆ ก็อยากมีมุมไว้นั่งชมสวนผักของเรา จึงมีทั้งซุ้มศาลา และลำธารน้ำเล็ก ๆ ในโรงเรือนปลูกผักแห่งนี้ด้วย


รูปแบบแปลงผัก
“Raised beds Garden ของหมอดัดแปลงไอเดียที่มาเป็นแบบของเราค่ะ ตอนแรกก็ให้ช่างทำแปลงซีเมนต์เป็นกระบะก่อน ความสูงก็ประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ต่อมาก็รู้ว่าความสูงมันน้อยไปก้มเงยไม่สะดวก เลยทำแปลงใหม่เพิ่มให้มีความสูงมากขึ้น ใช้บล็อกอิฐที่เหลือจะทำรั้วบ้านก่อเป็นแปลงขนาดใหญ่ สูงเกือบเท่า ๆ โต๊ะอาหาร จะปลูกผักที่มีรากลึกก็ได้ เปลี่ยนดินปลูกใหม่ก็สะดวก แต่ในบางมุมหมอเองก็ต้องการความสวยงาม จึงมีแปลงผักจากตะแกรงหินกรวดแม่น้ำรูปทรงฟรีฟอร์ม แปลงผักจากอิฐมอญผสมด้วย ระยะห่างของแต่ละแปลงกว้างกว่า 1 เมตร ปูด้วยแผ่นทางเดินสำเร็จรูป หมอเลือกให้กว้างขวางไว้ก่อนจะได้เดินได้สะดวก เวลาลากกระสอบดิน เดินรดน้ำดูแล ทำได้คล่องและปลอดภัยมากกว่า”
รูปแบบของค้างสำหรับผักเลื้อยในสวนแห่งนี้ ก็ดูจะเก๋ไม่เบา โดยคุณหมอสร้างโครงเหล็กทรงสี่เหลี่ยม แล้วใช้เชือกสานเป็นตาข่าย ปล่อยให้ผักเลื้อยไต่ตามเชือก ทั้งช่วยบังแดดให้แปลงผักที่อยู่ด้านล่างได้ด้วย ระดับความสูงอยู่ในระดับสายตา ให้มองเห็นผลขณะเก็บได้ชัด ๆ





ชนิดผักที่ปลูก เลือกที่ชอบและปลูกได้จริง
“อย่างแรก ๆให้เลือกผักที่ตนเองชอบทานก่อนค่ะ หรือคนในครอบครัวชอบ แล้วค่อยเลือกผักที่ใช้ทำอาหารประจำ และผักตามฤดูกาล เลือกให้เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเราด้วยค่ะ ที่นี่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ผักกินใบอย่างคะน้า ผักกวางตุ้ง ก็ปลูกได้ แต่ผักเมืองหนาว อย่างสลัด มะเขือเทศ ก็จะไม่งามเท่าช่วงฤดูหนาว สวนของหมอในช่วงฤดูหนาวผักจึงสวยมาก ต่างช่วงฤดูร้อนอย่างเห็นได้ชัด
“ในสวนมีทั้งผักที่เป็นพืชระยะกลางอย่าง ชะอม ตะไคร้ มะนาว ปลูกครั้งเดียวเก็บทานได้ตลอด และผักที่เป็นพืชระยะสั้น มีตามฤดูกาลบ้าง อย่าง แตงกว่า มะเขือเทศ คะน้า ต้นหอมผักชี มะระจีน แครอท หัวไชเท้า เมล็ดพันธุ์ก็หาซื้อได้ง่าย ๆ ในท้องตลาด บางครั้งเพื่อน ๆ ก็ให้มา หรือจะสั่งซื้อเป็นซองตามอินเทอร์เน็ตก็มี ชนิดไหนเราไม่รู้วิธีปลูกก็ถามคุณครู Google เลยค่ะ ข้อมูลมีมากมายให้เราทำตามได้ อย่างแครอทก็ปลูกง่าย หมอทำคลิปของคุณธงชนะ พรหมมิ ซึ่งสอนดีมาก ทำตามไม่ยาก ทำให้เราเข้าใจว่าพืชกินหัวคือรากผักที่เติบโต หากให้อาหารที่เหมาะสม เมืองร้อนอย่างบ้านเราก็ปลูกได้สบาย”
•ชนิดผักและแบบสวนสำหรับปลูกผักพื้นบ้าน
•ปฏิทินปลูกผัก ปลูกอย่างไรให้มีผักกินทั้งปี

ไปดูขั้นตอนการปรุงดิน ทำปุ๋ยอินทรีย์ ระบบรดน้ำ และป้องกันแมลง ในหน้า2