จากแปลงผักก่อนนอนสู่สวนครัวข้างบ้านของสไตลิสต์และกราฟิกดีไซเนอร์

กิจกรรมก่อนนอนที่เข้าไปสำรวจโลกเกษตรกรในอินเทอร์เน็ตของคุณน้อง บุญยวีร์ บุนนาค ได้พาเธอมาไกลจากแค่การ ปลูกผักพื้นที่น้อย จากเศษผักที่หลงเหลือจากการทำครัว ขยับขยายมาสู่แปลงผักข้างบ้าน แปลงคีย์โฮล นานาปุ๋ยหมัก และมุม Work space สำหรับเพาะกล้า บนพื้นที่ขนาดเล็ก ที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ก่อนที่คุณน้องจะหันมา ปลูกผักพื้นที่น้อย เรารู้จักเธอในบทบาทของสไตลิสต์ตกแต่งบ้าน Sistermade by Nong เจ้าของแบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ Punchwhale แม่ครัวทำอาหาร Nong’s table ที่บริการเฉพาะโทรจองล่วงหน้า แต่อีกหนึ่งส่วนของชีวิตเธอคือนักปลูกมือใหม่ที่ออกตัว (แรงๆ ) ว่า ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ทดลองปลูก และสนุกไปกับทุกอย่างที่ลงมือทำ

ปลูกผักพื้นที่น้อย

“มันก็เริ่มจากช่วงโควิดหนักๆ ค่ะ ก็หันมาปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ แล้วก็เริ่มสนใจเอาผักเหลือๆ จากการทำครัวมาปลูกต่อ ทดลองทำดูว่าเราจะปลูกรอดไหม มันจะโตให้เราได้เก็บอีกรอบ ไม่ต้องซื้อผักพวกนี้อีก อย่างขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น หรือจะเป็นหัวสับปะรด ก็ลองๆ ปลูกค่ะ มันก็โตให้เราเห็น”

ความสำเร็จจากการ Regrow ทำให้สไตลิสต์สาวเริ่มหาความรู้เรื่องการปลูกจากเหล่าเกษตรกรยูทูบ และออกท่องโลกการทำฟาร์ม ในช่วงเวลาก่อนนอนแทบทุกคืน ก่อนที่คุณปั้น ชาคริต ศุภคุตตะ สามีของเธอจะแนะนำให้ไปเรียนปลูกผักอย่างจริงจัง และเธอก็ทำตามอย่างไม่ขัดขืน

แรงสนับสนุนของคนข้างกาย ไลฟ์สไตล์ของทั้งสองที่มีแพชชั่นเป็นเรื่องเดียวกัน กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แปลงผักข้างบ้านค่อยๆ เติบใหญ่ ผ่านเรื่องราวที่ทั้งคู่ดำเนินเรื่อง เติมสร้างทีละนิด เปลี่ยนสวนข้างบ้านมือสองให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง และตอนนี้ทั้งคู่เริ่มได้เก็บผลผลิตจากสวนเล็กๆ ที่ปลูกเองสู่เมนูอาหารในครัวเป็นที่เรียบร้อย

ปลูกผักพื้นที่น้อย

จากการทดลองทำ สู่การทดลองเรียน

คุณน้องเล่าย้อนไปถึงยุคเริ่มแรกก่อนเริ่มปลูกผัก หลังจากจริงจังกับการอ่านนานาบทความ ศึกษาจนมั่นใจว่าปลูกได้ แต่พอลงมือทำ กลับไม่เป็นอย่างที่คิด

“ในช่วงทดลองปลูกเอง ปลูกแล้วมันไม่สำเร็จ ปลูกแล้วมันตาย เราก็ไปเจอช่องยูทูบชื่อว่า ‘เกษตรกรชาวบ้าน’ เขาสอนทำน้ำหมักสอนทำวิธีไล่แมลง เข้าไปอ่านข้อมูลในเว็บบ้านและสวน เรียกว่านอนดูทุกคืนเลยค่ะ ผ่านไปสักพักเริ่มสั่งอุปกรณ์เกษตรจากแอปมาทำ จนพี่ปั้นบอกว่าถ้าสนใจขนาดนี้ลองเรียนดูไหม เราเลยซื้อคอร์สเรียนปลูกผักเพจ ’เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน’ เรียนกับคุณครูพี่แอน สไตล์พี่แอนส่วนใหญ่เน้นเรื่องปลูกผักสลัดหรือผักที่ใช้กินในชีวิตประจำวัน เรียนรู้เรื่องวิธีเพาะเมล็ด บ่มเมล็ด วิธีทำน้ำหมักนั่นนี่ แล้วก็กลับมาลงมือทำ”

“หลังเรียนจบคอร์สก็มีไฟมากค่ะ ความรู้มันก็ชัดขึ้น กลับมาลองทำหลายๆ อย่างเอง ได้เรียนรู้วิธีหลาย ๆ อย่างจากครูพี่แอน อย่างวิธีแก้ปัญหาศัตรูพืช เมื่อก่อนเวลาเราเจอเพลี้ยมาเราก็แค่เอาออก หลังเรียนเราก็รู้ว่าสามารถใช้ชีวภัณฑ์ได้นะปลอดภัยไม่ใช่สารเคมี ซึ่งก่อนนี้เราไม่รู้จักเลยว่าชีวภัณฑ์คืออะไร”

ปลูกผักพื้นที่น้อย

ปลูกผักพื้นที่น้อย แบบทำเองทุกขั้นตอน

การมีโรงเรือนเล็กๆ สำหรับเป็นพื้นที่เพาะกล้าและเก็บอุปกรณ์น่าจะเป็นความฝันของคนปลูกผักหลายๆ คน เช่นเดียวกับคุณน้องที่เธอเองก็อยากมีโรงเรือนเล็กๆ ไว้ในสวนข้างบ้าน แต่พอพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ฟังก์ชันที่เหมาะกับการใช้ชีวิตคือสิ่งสำคัญมากกว่าความฝัน

“เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นระเบียงที่ไม่ค่อยได้ใช้งานอยู่ในทิศตะวันตก ตอนแรกจะเป็นทำโรงเรือน แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะมันอาจจะจริงจังไป เราอาจจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ด้วย และก็ยังปลูกไม่เก่งขนาดนั้น แล้วก็ไปได้ไอเดียจากอินฟลูชาวเกาหลีที่เขาปลูกดอกไม้ เราเห็นว่าน่ารัก มีพื้นที่เล็ก ๆ เอาไว้จัดเก็บอุปกรณ์ เราเลยประยุกต์การจัดวางมาจากเขาเป็น Work Space เล็กๆ ที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่ เก็บอุปกรณ์ทำสวน เก็บปุ๋ย เป็นมุมเพาะกล้า พี่ปั้นช่วยออกแบบกันสองคน”

มุมต่อเติมข้างบ้านภายใต้งบประหยัด ขนาด 2 x 2.5 เมตร ยกพื้นให้สูงเท่ากับระเบียงด้วยโครงเหล็กยิปซั่ม กรุหลังคาและผนังด้วยแผ่นอะคริลิกสีขุ่น ควบคุมปริมาณแสงที่มาพร้อมกับความร้อนไม่ให้สูงเกินไป ออกแบบชั้นแขวนและเก็บอุปกรณ์ตามถนัด วางโต๊ะทำงานให้เป็นพื้นที่เพาะกล้า

ปลูกผักพื้นที่น้อย

คีย์โฮลจิ๋ว มิกซ์ตามใจที่ไม่มีสูตรสำเร็จ

หลังจากท่องโลกอินเทอร์เน็ตมาเต็มเอี่ยว สิ่งหนึ่งที่เธอเก็บไอเดียกลับมาและอยากทำในสวนคือคีย์โฮล ซึ่งปรับประยุกต์จากวัสดุเหลือใช้มาเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น เศษลังกระดาษ กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง กระถางพลาสติกเก่า ซึ่งคีย์โฮลของคุณน้องยังมีความเก๋ด้วยการวางกระถางดินเผาสำหรับเป็นแก้มลิง เก็บน้ำให้พืชผักที่ปลูกรอบข้างอีกด้วย

ปลูกผักพื้นที่น้อย

นานาพืชผัก ปลูกผักพื้นที่น้อย อย่างละนิด

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากสวนครัวแห่งนี้คือพืชผักอย่างละต้นสองต้น ปลูกคละกันในแปลง บางส่วนปลูกในกระถาง จึงดูไม่เป็นระเบียบเท่าใดนัก แต่นั่นคือการปลูกตามแบบที่คุณน้องถนัด

“ชนิดผักที่ปลูกจะเริ่มจากดูแบบค่ะ ผักอันไหนที่ออกดอกมาแล้วเราเห็นว่าสวย ดูจากว่าเราชอบกินอะไร ก็ลองปลูกอันนั้นแต่สุดท้ายพอลองทำจริงแล้วไม่รอด เลยมาปลูกพริก ปลูกมะเขือเทศอะไรแบบนี้ค่ะ เมื่อก่อนเอาของเหลือจากในครัวมาปลูกใช่ไหมคะ แต่ตอนนี้ถ้าเห็นลูกมันสวย ๆ ในซุเปอร์มาร์เก็ตก็จะซื้อมาแบ่งกินด้วยแบ่งปลูกด้วยค่ะ”

มะเขือเทศฟักทองที่กำลังแตกผลเป็นทรงฟักทองให้เห็น มะละกอต้นสูงที่ออกผลห้อยยาว หรือจะเป็นมะเขือม่วงที่เริ่มเป็นเบบี๋ลูกเล็กรอวันสมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว ผักพื้นบ้านอย่างกระเพา โหระพา ที่เจ้าของสวนปล่อยให้ติดดอกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ ดอกไม้สีสดไว้ล่อแมลงทั้งคอสมอส บานชื่น กุหลาบ เหล่านี้คละกันอยู่ในสวนเล็กๆ ข้างบ้าน ส่วนผักกินใบที่สวนอื่นนิยมปลูกนั่นคุณน้องบอกว่า ขอฝึกมืออีกนิด!

สารพัดปุ๋ยหมัก และดินปลูก ทำเอง ใช้เอง

ด้วยไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ที่แยกขยะในครัวเรือนเป็นกิจวัตร นอกจากการแยกขยะอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมักแล้ว เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นในสวนยังถูกเปลี่ยนให้เป็นดินปลูก และยังผ่านประสบการณ์การทำสารพัดน้ำหมักเพื่อใช้เองในสวนด้วย

“เราเริ่มทำน้ำหมักเพราะเกษตรกรยูทูปเขาทำคลิปสอน เราก็ทำตามบ้าง ทำใช้เองแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่พอมาใช้แล้วรู้สึกได้ว่าต้นไม้เราออกดอกออกผลดี วัตถุดิบไม่ใช้ของเหลือในครัวเลยค่ะ ซื้อปลา ซื้อของใหม่มาทำ แล้วลองไปขายเล่นๆ ชื่อแบรนด์ Grow veggies Grow ตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้ขายนะคะแต่ทำแล้วก็รู้สึกแฮปปี้ดี”

นอกจากน้ำหมักปลาที่ทำเพื่อจำหน่ายแล้ว ในมุมหลังบ้านของเธอยังเต็มไปด้วยสารพัดปุ๋ยหมัก ไม่ว่าจะเป็น แกลบ ขุยมะพร้าว กากมะพร้าว น้ำหมักปลา น้ำหมักหวานจำพวกผลไม้กล้วย จุลินทรีย์จอมปลวก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ

ความสุขจากวิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน จะปวดหลัง ปวดขา ก็ทนได้

ผลผลิตจากสวนที่มีปริมาณน้อยแต่ได้เก็บในทุกวัน อาจจะเป็นพาร์ตหนึ่งของความสุขที่คนปลูกได้รับ แต่คุณน้องเธอบอกเราไว้มากกว่านั้น

“การปลูกผักปลูกต้นไม้ มันฝึกระเบียบวินัยเรามากๆ จากแต่ก่อนนอนดึกตื่นเช้า ตื่นมาก็คว้ามือถือ แต่พอเราหันมาปลูกผักปลูกต้นไม้เราค่อย ๆ ห่างจากมือถือ เราต้องคอยใส่น้ำหมัก ให้ปุ๋ยทางใบซึ่งต้องทำตอนก่อน 9 โมงเช้า ตอนเย็นก็ต้องคอยดูว่ามีเพลี้ยไหม มันเป็นการฝึกระเบียบวินัยมากๆ แต่มันก็คลายเครียดนะคะ ให้ความสนุก เรายังอยากทำไปเรื่อย ๆ อยากทำทุกวัน ไม่อยากไปไหน ถ้าไปเที่ยวก็ห่วงผักห่วงสวน เพราะมันต้องดูแล เวลาทำงานหน้าคอมเบื่อ ๆ พอออกมาดูแปลงผักนิดเดียวก็หายแล้วค่ะ ปลูกแล้วปวดหลัง ปวดขา เราก็ไม่บ่นนะ เพราะชอบ”

อ่านเรื่องราวของคุณน้องคุณปั้น พร้อมด้วยคนปลูกผักทานเองอีกมากมายในหนังสือ FarmHouse สวนเกษตรในบ้าน สั่งซื้อออนไลน์

เรื่อง JOMM YB

ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm

สวนสิริน แปลงผักเช่าปลูก พื้นที่เล่นกับลูกและ ปลูกดอกไม้กินได้

สวนครัวที่ปลูกให้คนรัก กับแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ต้องเร่งรีบ