ฟื้นฟูป่า สร้างอาหารมั่นคง ดำรงวิถีชนฯ ด้วยแนวคิดเกษตรพอเพียง ที่ ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี

“ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” หนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ที่ได้นำองค์ความรู้จากแนวคิด เกษตรพอเพียง มาประยุกต์ใช้ทั้งการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับชุมชน

ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ได้มีการขับเคลื่อนผ่าน คุณซอ – ดำรัสสิริ ถิรังกูร ผู้ก่อตั้ง ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรีฯ (โดย ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานที่ปรึกษา) ที่ได้นำแนวคิดการทำ เกษตรพอเพียง มาผนวกรวมกับความมุ่งมั่นและความฝันในวัยเด็ก สู่จุดริเริ่มของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ในจังหวัดเพชรบุรี

เกษตรพอเพียง
คุณซอ – ดำรัสสิริ ถิรังกูร ผู้ก่อตั้ง ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรีฯ

คุณซอ เล่าว่า “อินเนอร์ของเราตั้งแต่เด็กอยากให้โลกนี้สวยงาม ด้วยความที่ชอบธรรมชาติ รักต้นไม้ เราอยากจะรักษาโลกนี้ไว้ก็เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม จนสุดท้ายเราได้คำตอบว่า จะนำพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรีมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเริ่มทำเกษตรตามแนวทางที่พระองค์ส่งให้ไว้กับประชาชน”

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 แปลงด้วยกัน แต่ยังคงนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับแต่ละแปลงเพื่อพัฒนาตามภูมิสังคม

  1. สวนป่าหนองซอท่ายาง – ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม บริหารน้ำ ทำเชื้อเพลิงทดแทน คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน พัฒนาจิตใจ
  2. อู่ข้าวอู่น้ำธงไชย – เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ฟื้นฟูจากพื้นที่นาเคมีเดิม บริหารน้ำ เป็นความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนในท่ามกลางเมือง
  3. คลังอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองเพ็ชร์ – อนุรักษ์สือสานวิถีชีวิตต่อยอดฐานทุกวัฒนธรรม

นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่ขมิ้นมะขาม โดย ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี Shop ยังนำวัตถุดิบจากชุมชนมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค สู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

เกษตรพอเพียง

เกษตรพอเพียง : อู่ข้าวอู่น้ำธงไชย

พื้นที่ทั้งหมด 64 ไร่ ตรงนี้เป็นที่ราบลุ่มในหมู่บ้านนาป่า อำเภอเมืองเพชรบุรี และรอบข้างทำนาเชิงเดี่ยวที่มีการใช้สารเคมี ในช่วงแรกจึงต้องพักเคมี 2 ปี และมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นอ่างกระทะ ทำให้ทำนาไม่ได้

เพื่อแก้ไขปัญหาและสามารถทำนาได้ ช่วงแรกจึงริเริ่มด้วยโครงการแก้มลิง เข้ามาช่วยลดปัญหาเพื่อเป็นจุดรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน อีกข้อดีหนึ่งของการทำแก้มลิง คือ มีน้ำสำรองให้ใช้ทั้งปี และที่แห่งนี้ก็ใช้น้ำเยอะมาก ทั้งการทำนาข้าวอินทรีย์ 25-30 ไร่ รวมถึงตรงที่เป็นโคก ก็ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็ใช้น้ำไม่น้อยเช่นกันพอปรับพื้นที่แล้วทุกอย่างลงตัว ในที่สุดที่นี่ก็นับว่าเป็นแปลงที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและโครงการมากที่สุด

เกษตรพอเพียง
บริเวณโคกมีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งไม้ไผ่เป็นไม้ใช้สอย มะม่วงเป็นไม้ผล
และปลูกไม้สักเป็นไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้
เกษตรพอเพียง

นอกจากไม้ผลที่นี่มีการเลี้ยงเป็ด 400 ตัว ไก่ 150 ตัว และมีห่านเลี้ยงเป็ดกับไก่อีกทีหนึ่ง เพื่อสร้างแหล่งโปรตีนจากไข่สัตว์ปีก อาหารสัตว์ ใช้แกลบ รำ แหนแดง แป้ง หยวกกล้วย หญ้าเนเปียสับ ข้าวเปลือก ผสมกันเพื่อใช้เป็นอาหารหลัก รวมถึงมีการปล่อยให้กินตามธรรมชาติในไร่ ส่วนมูลเป็ดที่ได้ก็นำไปผสมกับมูลวัวหมักกับเศษวัชพืชเพื่อเป็นปุ๋ยให้กับไม้ผลในสวน

เกษตรพอเพียง

ภายในพื้นที่มีการทำนาข้าวอินทรีย์ และเพื่อป้องกันสารเคมีจากแปลงนาข้างเคียง จึงมีการทำคูนอกคันนอก คูในคันใน รวมแล้วกว้างประมาณ 10 เมตร โดยบริเวณด้านนอกจะปลูกหญ้าเนเปียเป็นตัวกันสารเคมี ส่วนด้านในมีต้นธูปฤาษีบางส่วน ซึ่งสามารถช่วยบำบัดน้ำได้

เกษตรพอเพียง

มีการนำหญ้าแฝกมาใช้เป็นพี่เลี้ยงช่วยกันแสงแดด กันลม ช่วยคลายความชื้นให้กับต้นไม้รอบข้าง และผลจากการทดลองพบว่า ไม้ผลที่มีหญ้าแฝกเป็นพี่เลี้ยงเจริญเติบโตได้ดีกว่า ส่วนไม้ผลที่เติบโตแข็งแรงแล้ว จะย้ายหญ้าแฝกออกครึ่งหนึ่งเพื่อนำไปอนุบาลต้นอื่นต่อ ส่วนที่เหลือก็นำไปขยายพันธุ์

เกษตรพอเพียง
รวมถึงหญ้าแฝก ยังสามารถนำมาบำบัดน้ำได้ จากสระพักน้ำเข้ามาบำบัดด้วยขดหญ้าแฝก ที่มีการทำทางน้ำให้ขดไปขดมา
เพื่อให้หญ้าแฝกสามารถดูดซับสารพิษต่างๆ ได้ จากนั้นน้ำจึงค่อยไหลเข้าสู่สระน้ำด้านใน
เกษตรพอเพียง

นอกจากนี้การใช้หญ้าแฝกในการทำเกษตร เริ่มจากรอบบ่อน้ำจะปลูกหญ้าแฝกเพื่อกันการพังทะลายของหน้าดิน ใช้ปรับปรุงดินโดยการตัดหญ้าแฝกนำมาคลุมหน้าดิน นอกจากนี้หญ้าแฝกที่ตัดแล้วไปทำเป็นปุ๋ยหมักให้กับไม้ผลต่างๆ พอหญ้าแฝกอยู่ตัวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เนื่องจากมีรากที่หากินได้ลึก จึงสามารถดูดน้ำที่ซึมผ่านตัวบ่อมาได้อย่างดี

เกษตรพอเพียง
ส่วนใบหญ้าแฝกนอกจากจะทำปุ๋ยได้แล้ว สามารถนำมาทำเป็นตับหญ้าแฝก ใช้สำหรังมุงหลังคาได้
เกษตรพอเพียง
การจัดการน้ำโดยใช้โซล่าเซลล์ ในการปั๊มน้ำขึ้นแทงก์เพื่อกระจายน้ำกลับมาสู่แต่ละแปลง
รวมถึงน้ำที่บำบัดแล้วส่วนหนึ่ง ก็นำมากรองอีกครั้งใช้ทดแทนเป็นประปาได้
เกษตรพอเพียง

ดินรากไผ่หรือดินขุยไผ่แท้ๆ นั้นมาจากรากของต้นไผ่ โดยเริ่มจากปลูกต้นไผ่ให้คู่ขนานกัน จากนั้นนำเศษวัชพืช มูลวัว มูลไก่ มูลเป็ด มากองไว้ระหว่างต้นไผ่ เพื่อล่อให้รากไผ่แผ่ออกมาหาอาหาร จากนั้นใช้จอบสับรากไผ่ให้ขาด และคลุกเคล้ารากไผ่กับส่วนต่างๆ ให้เข้ากัน พร้อมกับรดราดด้วยจุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลาย ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็พร้อมนำไปเป็นวัสดุปลูกไม้ผลต่างๆ ได้

เกษตรพอเพียง

เกษตรพอเพียง : สวนป่าหนองซอท่ายาง

จากพื้นเสื่อมโทรมทั้งหมด 19 ไร่ ไม่สามารถปลูกพืชได้เลย จึงต้องฟื้นฟูสภาพ ดิน-น้ำ-ป่า หรือ Reforestation เพื่อให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การสร้างรายได้ไปสู่ชุมชน

ริเริ่มจากการจัดการหาแหล่งน้ำก่อน โดยในช่วงแรกจะขุดบ่อและใช้น้ำบาดาลในการสร้างความชุ่มชื้น เพราะไม่มีแม่น้ำใกล้เคียงเลย คุณซอมีเทคนิคส่วนตัว คือ จะต้องเติมน้ำให้เต็มบ่อตลอดเวลา และมีการแบ่งใช้น้ำให้พอทั้งปี จนกระทั่งได้เติมน้ำใหม่เมื่อเข้าถึงช่วงฤดูฝน

เกษตรพอเพียง
หญ้าก้นหอย ตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของดิน แสดงให้เห็นว่าน้ำข้างใต้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

พอเข้าสู่ช่วงปลายปีที่ 2 จากพื้นที่เสื่อมโทรม ใบไม้ใบหญ้าต่างๆ เริ่มมีสีเขียวมากขึ้น และพอเข้าสู่ปลายปีที่ 4 ก็เริ่มมีความชุ่มชื้น มีน้ำพอทั้งปี ดินและไม้ป่าต่างๆ ที่ปลูกไว้เริ่มอุ้มน้ำ ไม่ได้ใช้น้ำบาดาล มีเพียงแค่การใช้น้ำจากน้ำฝนนั้น

เกษตรพอเพียง

พอเข้าสู่ปีที่ 6 ป่าอุ้มน้ำได้อย่างเต็มที่ สังเกตได้จากต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีขึ้น จนเข้าสู่ปีที่ 7 ป่าเริ่มดูแลตัวเองได้ จึงเริ่มเปิดให้คนภายนอกมาศึกษาดูงานมากขึ้น มีนักเรียน มีเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ เพราะนอกจากการฟื้นฟูแล้ว จากนี้จะเน้นเรื่องการพัฒนาคนด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูสภาพโดยใช้หญ้าแฝก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ

ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 9 ป่าเริ่มสมบูรณ์มากขึ้น จึงมุ่งเน้นไปทางการพัฒนาเยาวชน รวมถึงมีนักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้ทำงานวิจัย พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

“พื้นที่นี้อยู่ใกล้กับชุมชนที่เราช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถปลูกผักส่ง Golden Place ได้ อยู่ใกล้กับสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย มูลนิธิชัยพัฒนา ในโซนนี้จึงเป็นพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและเกิดประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด”

เกษตรพอเพียง

แปลงสมุนไพร ใช้สำหรับปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้ในการทำน้ำหมักขับไล่แมลงในแปลงเกษตรอินทรีย์ รวมถึงมีสมุนไพรที่ใช้สำหรับแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคในครัวเรือน เช่น ยาหม่อง น้ำมัน สบู่ แชมพู น้ำส้มควันไม้ ตะไคร้กลั่น น้ำยาเอนกประสงค์

เกษตรพอเพียง
แปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ปล่อยให้ได้รับแสงแดดเต็มที่จะช่วยให้หญ้าแฝกแข็งแรง
ไว้สำหรับขยายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อนำมาช่วยชุมชนรอบๆ รวมถึงเป็นรายได้จากการขายกล้าหญ้าแฝก และทำตับหญ้าแฝก
ไม้ผลในป่าก็ต้องมี แต่ให้เว้นระยะของต้นไผ่ออกไปจะได้ไม่แย่งอาหาร ไม้ผลมีทั้ง มะนาว กล้วย มะม่วง
ไม้ไผ่สามารถนำมาเผาเป็นไบโอชา ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก ช่วยดูดความชื้นและเป็นแหล่งน้ำสำรองให้กับพืชได้
รั้วมะขามไว้กั้นเขตพื้นที่ จะปลูกโดยใช้เมล็ดมะขามมาโรยตามแนว เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ยังสามารถเด็ดยอดมาทำเป็นเมนูแกงใบมะขามได้ด้วย

คลังอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองเพ็ชร์

สมัยก่อนทั่วพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีจะมีต้นตาลเยอะ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปต้นตาลกลับมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ แต่โชคดีพื้นที่ในอำเภอบ้านลาดยังมีต้นตาลอยู่ และชุมชนใกล้เคียงก็มีคนที่สามารถขึ้นตาลได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่ทำอะไร สุดท้ายวิถีชีวิตเดิมก็จะหดหายไปเรื่อยๆ

ชุมชนแห่งนี้มีการทำนาขึ้นตาล โดยทำนาข้าวและปีนต้นตาลเพื่อเอาน้ำตาล หรือที่เรียกว่า “วิถีตาลโตนด” ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ หรือดูแลปากท้องเท่านั้น แต่ร่วมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิม ให้อยู่กับชุมชนต่อไป รวมถึงพัฒนาต่อยอดยอดพัฒนาสู่การท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เตาที่ใช้สำหรับเคี่ยวน้ำตาลโตนดแบบพื้นบ้าน
ภาพ : ไร่พอเพียงเพ็ชร์บุรี

นอกจากนี้มีการนำทฤษฎีใหม่ผสมผสานผนวกเข้ากับวิถีในชุมชนให้ยั่งยืน เสริมเรื่อง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คู่กับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถกระจายความเสี่ยง ปลูกไม้ผลชนิดอื่นเป็นรายได้เสริม ปลูกผักสวนครัวลดรายจ่าย จัดสรรพื้นที่ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการจัดการน้ำให้ดีขึ้น มีป่า และยังคงมีรายได้หลักจากข้าวกับตาล

คาเฟ่ขมิ้นมะขาม

คาเฟ่ที่รวบรวมวัตถุดิบต่างๆ มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า จากศูนย์เรียนรู้และชุมชน เป็นเสมือนเป็นแกนนำสำคัญในการพาสินค้าจากชุมชนมาเผยแพร่ สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคอย่างกว้างขวางมากขึ้น

โดยที่สวนป่าหนองซอท่ายาง จะมีร้านไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี Shop เป็นร้านค้าหลักของโครงการในชื่อ “ขมิ้นมะขาม” มีของใช้ต่างๆ จากโครงการส่วนพระองค์ และสินค้าอุปโภคจากชุมชน เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวด ยาหม่อง น้ำยาล้างจาน น้ำส้มควันไม้ เป็นต้น รวมถึงตอนเช้าจะมีเป็น น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ให้รับประทานด้วย จะเปิดเต็มตัวในช่วงเดือนตุลาคม 2567 นี้

นอกจากนี้ก็มีอีกที่หนึ่ง อยู่ที่คลังอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาพื้นถิ่นเมืองเพ็ชร์ ขมิ้นมะขาม โดย ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี Shop ซึ่งคาเฟ่ตรงนี้สามารถรองรับคนที่มาเที่ยวแก่งกระจานด้วย โดยมีสินค้าอุปโภคคล้ายกับที่สวนป่าหนองซอท่ายาง แต่มีสินค้าอื่นที่มาจากชุมชนรอบๆ พื้นที่นั้นด้วย เช่น น้ำตาลโตนดแท้ ข้าวอินทรีย์ เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงเป็นร้านอาหารพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบุรี เช่น แกงหน่อไม้ไก่บ้าน แกงใบมะขาม แกงหัวโตนด และถ้ามากันหลายคนก็สามารถจัดเลี้ยงได้

ขนมหวานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ขนมมูจิน้ำตาลโตนด กล้วยเชื่อมมะนาวแป้นเพชรบุรี ลอดช่องน้ำตาลข้น

บริเวณพื้นที่โดยรอบจะเป็นนาข้าวที่มีให้ดูตลอดทั้งปี แต่วิวจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ตั้งแต่นาข้าวที่ขียวขจีไปจนถึงช่วงที่ต้นข้าวจนเริ่มออกรวงเป็นสีเหลืองทอง พอเกี่ยวเสร็จก็จะเป็นก้อนฟางกระจายอยู่ทั่วแปลง จากนั้นชาวบ้านก็จะปล่อยวัวเดินมีเสียงกระดิ่งวัว ก๊องแก๊งๆ จนกระทั่งเริ่มทำนาใหม่และวนอยู่แบบนี้ตลอดปี

ส่วนด้านในเป็นคาเฟ่สามารถนั่งทานขนมและเครื่องดื่มได้ รวมถึงวัตถุดิบหลายอย่างส่งตรงมาจาก อู่ข้าวอู่น้ำธงไชย
การบำบัดน้ำด้วยผักตบชวาใส่กรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยายไปทั่ว ส่วนดอกก็สามารถเก็บมาประกอบอาหารได้

“เรามีหน้าที่เป็นแกนนำพาชุมชนไปให้คนอื่นรู้จัก เป็นตัวเชื่อมคนในชุมชนกับผู้บริโภค ทั้งในระดับของครัวเรือนกลุ่มเล็กๆ ไปจนถึงจังหวัดได้ เชื่อมทั้งเอกชน รัฐ และโครงการส่วนพระองค์ เรียกได้ว่า เป็นงานพัฒนาที่ขยายผลไปโดยที่ไม่ได้คาดคิด เราตั้งเป้าไว้แค่ส่วนร่วม แต่เราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นส่วนร่วมขนาดไหน”

“สุดท้ายเราก็จะมีความสุขในบั้นปลายชีวิตของเราด้วย อยู่ท่ามกลางชุมชนที่ทุกคนรู้จักสามัคคี เรามาอยู่กับหมู่บ้านถือว่าเป็นอะไรที่โชคดี”

สำหรับท่านใดที่สนใจสินค้าจากชุมชนหรือโครงการ สามารถติดต่อผ่านเพจเฟซบุ๊ก ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี Shop สินค้ามีราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท

 ส่วนใครที่สนใจอยากมาศึกษาและเยี่ยมชมสามารถติดต่อกับทางเพจเฟซบุ๊ก ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี

เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ? ไปรู้จักพร้อมหลักการเกษตรอื่นๆ

ปรับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ให้อยู่แบบพอดีและมีรายได้