เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร? กับ 8 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ “ปุ๋ย”

เคยสงสัยกันไหมว่า เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร และต้องใส่เท่าไหร่ มีหลายประเภทให้เลือกใช้ ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่พอยังมีหลากหลายสูตร หลายธาตุอาหารที่ระบุไว้หน้าซอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะถ้าไม่ระวังพืชอาจเสียหายหรือถึงขั้นตายได้

โดยสิ่งที่เราต้องทำ คือ ตามใจต้นไม้ ตามใจพืชผักที่เราปลูก โดยศึกษาความต้องการธาตุอาหารของพืชในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงหลักในการเลือกว่าจะใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ ประเภทของปุ๋ยแต่ละชนิด และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปุ๋ยที่ไม่ควรพลาด เพื่อทำให้คำถามที่ว่า เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร ให้กระจ่างได้ในที่สุด

เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร

1 I ปุ๋ยคืออะไร? ปุ๋ยมีประโยชน์อย่างไร?

ปุ๋ย คือ สารที่ใส่ลงไปในดินเพื่อช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามได้ดีขึ้น ประกอบไปด้วย ธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชต้องการหรือทดแทนธาตุอาหารที่พืชขาดแคลน รวมถึงช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย เพิ่มจุลินทรีย์ในดินเพื่อช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ ส่งผลให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ปรับปรุงค่า pH ในดินให้เหมาะสมต่อพืช

ดังนั้น โดยรวมแล้ว เราใส่ปุ๋ยก็เพื่อให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเสมือนอาหารเสริมสำหรับพืช เพื่อช่วยให้พืชสมบูรณ์แข็งแรง

NPK

2 I ธาตุอาหารของพืชมีอะไรบ้าง? NPK คืออะไร?

แต่ก่อนจะใส่ปุ๋ยใดๆ เราควรต้องรู้จักอาหารของพืช หรือ แร่ธาตุที่พืชใช้สำหรับในการเจริญเติบโตทางดิน มีทั้งหมด 17 ชนิด แบ่งเป็น ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุเสริม ซึ่งธาตุอาหารทั้ง 3 ส่วนนี้ พืชจำเป็นต้องใช้ทั้งหมด แต่ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าใช้ปริมาณเท่าไหร่ โดยธาตุอาหารหลักจะใช้ปริมาณมากที่สุด รองลงมาเป็นธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ตามลำดับ

  • ธาตุอาหารหลัก (NPK) เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการมากที่สุด และมักจะไม่เพียงพอ จึงต้องใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารเหล่านี้ ประกอบไปด้วย
    • ไนโตรเจน (N) – ช่วยในการเจริญเติบโตทางลำต้น กิ่งก้าน ใบ เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับพืช ทำให้ใบพืชมีสีเขียวสด ซึ่งพืชผักที่รับประทานต้นและใบควรได้รับธาตุ ไนโตรเจนมากที่สุด
    • ฟอสฟอรัส (P) – ช่วยสร้างรากฝอย รากแขนงให้กับพืช กระตุ้นการออกดอก ออกผล รวมถึงการสร้างเมล็ด
    • โพสแทสเซียม (K) – ช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน อีกทั้งเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบไปสู่ผล ช่วยให้ผลมีรสชาติหวานและคุณภาพดี
  • ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุอาหารที่พืชใช้น้อยกว่า และไม่ค่อยขาดแคลนในดินทั่วไป ประกอบไปด้วย
    • แคลเซียม (Ca) – ช่วยให้ผนังเซลล์แข็ง ผลไม่แตก กิ่งไม่หัก ขั้วดอกขั้วผลไม่หลุดร่วง
    • แมกนีเซียม (Mg) – เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโน ไขมัน วิตามิน และน้ำตาล
    • กำมะถัน (S) – เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน วิตามินและโปรตีน ช่วยสร้างคลอโรฟิลล์
  • ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการเพียงเล็กน้อย ประกอบไปด้วย
    • โบรอน (B) – ช่วยในการออกดอก ผสมเกสร ช่วยให้ติดผลและย้ายน้ำตาลมาสู่ผล รวมถึงพัฒนาการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์
    • สังกะสี (Zn) – ช่วงสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์และแป้ง
    • ทองแดง (Cu) – ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
    • เหล็ก (Fe) – ช่วยสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ รวมถึงการสังเคราะห์แสง
    • คลอรีน (Cl) – มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับฮอร์โมนพืช
    • แมกกานีส (Mn) – ช่วยสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
    • โมลิบดีนัม (Mo) – ช่วยตรึงไนโตรเจนให้กับพืช และสังเคราะห์โปรตีน
    • นิกเกิล (Ni) – เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ ช่วยการงอกของเมล็ด
เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร

3 I ปุ๋ยเคมี กับ ปุ๋ยอินทรีย์ ต่างกันอย่างไร? เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร?

ปุ๋ยเคมี (Chemical fertilizer) เกิดจากสารอนินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้นมา ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเกล็ดหรือเม็ดกลม มีสีต่างๆ และละลายน้ำได้ดี ทำให้เวลาใช้ปุ๋ยชนิดนี้แล้ว พืชสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการธาตุอาหารของพืชในขณะนั้น และมีการระบุธาตุอาหารของปุ๋ยเป็นตัวเลข 3 ตำแหน่ง เช่น 25-7-7 หมายถึง ปุ๋ยชนิดนี้ประกอบไปด้วย ไนโตรเจน 25% ฟอสฟอรัส 7% และ โพสแทสเซียม 7% แต่ปุ๋ยเคมีก็มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างดินได้ หรือเพิ่มจุลิทรีย์ในดินได้

ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic fertilizer) เกิดจากสารอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายจากธรรมชาติ จนพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนใหญ่มาจาก มูลสัตว์ ซากพืชซากสัตว์ อุดมไปด้วยอินทรีย์วัตถุจึงสามารถปรับโครงสร้างของดินได้ดี และสามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ด้วยตัวเอง แต่มีข้อจำกัด คือ ธาตุอาหารน้อยเมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมี ทำให้ต้องใช้ในปริมาณมาก รวมถึงมีสารอาหารที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก

ดังนั้น เพื่อลดข้อด้อยของปุ๋ยทั้ง 2 ประเภท การใช้ร่วมกันจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมในการบำรุงพืช โดยส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนเริ่มปลูกพืช และใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงอายุต่างๆ ของพืช

4 I ตัวเลขหน้าซองปุ๋ยคืออะไร?

เป็นตัวเลขที่ระบุอัตราส่วนธาตุอาหารหลักที่อยู่ภายในปุ๋ย โดยเลขที่อยู่ซ้ายที่สุด คือ ไนโตรเจน ตัวเลขที่อยู่ตรงกลาง คือ ฟอสฟอรัส และ ตัวเลขที่อยู่ด้านขวา คือ โพแทสเซียม เป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ

ตัวอย่างที่ 1 ปุ๋ยที่ระบุ 25-7-7 คือ สูตรปุ๋ยที่เน้นบำรุงลำต้นให้อวบใหญ่ บำรุงใบให้เขียวสด เนื่องจาก มีไนโตรเจนอยู่ 25% ซึ่งเป็นธาตุที่มีสัดส่วนมากที่สุด นอกจากนั้น คือ ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม อยู่ที่ 7% ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า จึงมีส่วนช่วยสร้างรากฝอย รากแขนงให้กับพืช กระตุ้นการออกดอก รวมถึงช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีนด้วย

ตัวอย่างที่ 2 ปุ๋ยยูเรีย หรือ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ใช้สำหรับเน้นบำรุงลำต้นให้อวบใหญ่โตไวโดยเฉพาะ เนื่องจากมีไนโตรเจนอย่างเดียว 46% และไม่มีธาตุอาหารหลักตัวอื่นเลย จึงเหมาะสำหรับพืชผักที่ต้องการไนโตรเจนสูงอย่างผักกินใบ เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชี คะน้า กวางตุ้ง

เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร

5 I วิธีการให้ปุ๋ยพืชทำอย่างไร?

ให้โรยรอบทรงพุ่มของพืช เพราะรากของพืชจะแผ่ตามทรงพุ่ม ซึ่งบริเวณนั้นจะมีรากฝอย ทำหน้าที่ดูดธาตุอาหารจะอยู่บริเวณนั้นได้ดีที่สุด หรืออีกวิธีหนึ่งสำหรับปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว จะใช้รองก้นหลุมปลูกผสมคลุกเคล้ากับดินด้านล่างเพื่อปรับโครงสร้างดิน และพืชสามารถดูดธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น

รวมถึงการเลือกธาตุอาหาร ก็สำคัญเช่นกัน โดยจะใส่ตามช่วงอายุของพืช เนื่องจากพืชนั้นในขณะที่เจริญเติบโต ก็ต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน โดยช่วงแรกที่ต้นยังเล็กอยู่ จะใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน(N) เป็นหลัก เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ให้พืชโตไว จนเมื่อพืชมีอายุมากขึ้น ถึงช่วงที่เริ่มติดตาดอก จะใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส(P) เพื่อช่วยกระตุ้นการออกดอก ออกผล และเมื่อพืชเริ่มติดผลแล้ว จึงใส่ปุ๋ยที่มีโพสแทสเซียม(K) ช่วยสังเคราะห์น้ำตาล ทำให้ผลมีรสชาติหวานอร่อย

จะเห็นได้ว่า ช่วงอายุ ฤดูกาล ล้วนแล้วส่งผลต่อความต้องการธาตุอาหารของพืชในช่วงนั้นๆ ถ้าใส่ตามความต้องการของพืช จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมบูรณ์ หรือในทางกลับกันถ้าช่วงที่พืชติดตาดอก แล้วใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง แทนที่จะติดตาดอก พืชจะแทงใบใหม่แทน ทำให้ได้ดอกที่น้อยและผลที่ได้น้อยตามมาด้วย

เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร

6 I ปุ๋ยสำหรับฉีดพ่น แตกต่างกับ ปุ๋ยที่โรยลงดินอย่างไร?

ปุ๋ยแบบนี้จะอยู่ในลักษณะของเหลวสำหรับผสมกับน้ำและใช้ฉีดพ่นเป็นละออง เพื่อให้สารอาหารต่างๆ สามารถถูกดูดซึมผ่านปากใบของพืชได้ทันที ช่วยให้เห็นผลได้รวดเร็วกว่าแบบโรยลงดิน เพราะไม่ต้องผ่านรากในการดูดซึมและลำเลียงผ่านลำต้นมาสู่ใบพืชหรือผล

ซึ่งวิธีการนี้ยังนำมาประยุกต์ใช้กับธาตุอาหารที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ในพืชได้ หรือ การใส่ธาตุอาหารในดินแล้วส่งผลต่อผลไม้ได้น้อย เช่น แคลเซียม ปัจจุบันจึงมีปุ๋ยที่มีส่วนผสมของแคลเซียมที่ใช้สำหรับฉีดให้กับพืช ในช่วงที่พืชเริ่มติดผล เพื่อให้ขั้วเหนียวไม่หลุดร่วง ผิวของผลไม้ไม่ปริแตกได้ง่าย โดยเฉพาะกับมะเขือเทศ ที่ผิวเปราะบางถ้าขาดแคลเซียมก็มักจะปริแตกได้ง่าย

7 I ปุ๋ย AB คืออะไร? เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร?

นับว่าเป็นอีกประเภทหนึ่งของปุ๋ยเคมีในรูปแบบน้ำ ซึ่งนิยมใช้ในการปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ รวมถึงสามารถใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืชทานผล อย่าง เมล่อน แตงโม มะเขือเทศ ก็ได้เช่นกัน โดย ปุ๋ย A และ B จะประกอบไปด้วยธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต ขึ้นอยู่กับแต่ละสูตร ว่าเหมาะสำหรับปลูกผัก หรือ พืชทานผล

วิธีการเตรียม ปุ๋ย AB สำหรับการปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ : ใช้ปุ๋ย A ปริมาณ 5 ซีซี ผสมเข้ากับน้ำ 1 ลิตร คนกระจายให้ทั่วกันก่อน จึงค่อยใส่ปุ๋ย B ปริมาณ 5 ซีซี ผสมตามเข้าไปอีกที

ข้อควรรู้เกี่ยวกับปุ๋ย AB : หลังจากที่ผสมปุ๋ย A กับ B เข้ากันแล้ว จะมีอายุเก็บรักษาได้แค่ 4 เดือน เนื่องจากฟอสฟอรัสและแคลเซียม พอผสมกันแล้วจะทำตกตะกอน ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่พืชไม่สามารถดูดซึมได้ และเป็นสาเหตุที่ว่าทำไม ปุ๋ย A และ B ต้องแยกกัน รวมถึงต้องเก็บรักษาไม่ให้โดนแสงแดด เพราะจะทำให้ธาตุอาหารบางตัวเปลี่ยนรูปและพืชนำไปใช้ไม่ได้

8 I ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก แตกต่างกันอย่างไร?

ปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด แต่แตกต่างตรงที่วัตถุดิบในการใช้ทำปุ๋ย โดยมีรายละเอียดตามนี้

ปุ๋ยคอก –  เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์ต่างๆ ประกอบด้วยอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์ ส่วนใหญ่จะเป็นมูลจากการทำปศุสัตว์ เช่น มูลวัว ไก่ เป็ด สุกร ซึ่งมาจากอาหารที่สัตว์ผ่านกระบวนการย่อยสลายจากระบบย่อยอาหาร

ปุ๋ยหมัก – เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ในครัวเรือนมาแปลงสภาพให้เป็นปุ๋ย ช่วยลดปัญหาขยะอาหารจากครัวเรือนได้ดี โดยมีส่วนผสมเพิ่มเติมเป็นมูลสัตว์ ซึ่งมูลสัตว์จะมีจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายเศษอาหารต่างๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยได้

ปุ๋ยพืชสด – เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชตระกูลถั่วในแปลงเกษตรเพื่อบำรุงดิน โดยพืชตระกูลถั่วจะมีความพิเศษในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศด้วยไรโซเบียมอยู่ที่บริเวณราก และเมื่อพืชตระกูลถั่วเริ่มออกดอกก็ให้สับและไถกลบเพื่อบำรุงดิน

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีเพิ่มเติม ก็สามารถหาซื้อหนังสือ ปุ๋ยเคมี Chemical Fertilizer กันได้เลย

ควรใช้ ปุ๋ยเคมี อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วิธีทำปุ๋ยหมักตะกร้า ทำง่าย ประหยัดงบ